คุยกับตัวเองมาหลายวันแล้วว่า ใบแรกฉบับนี้จะเขียนถึงเรื่องอะไรดี เพราะมีความรู้สึกในใจ มากมาย เกี่ยวกับ "ครู" และ "การศึกษา" มากจนตัดสินใจไม่ได้ว่าจะยกเรื่องไหนมาเขียน จนกระทั่งวันนี้ (๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๖) ได้ดูรายการ สี่แยกข่าวไอทีวี คุณอดิศักดิ์ ศรีสม สนทนากับ อาจารย์ ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ จุดใหญ่ใจความเป็นเรื่องการเมือง แต่อาจารย์เกษม ท่านพูดถึงผลงาน ด้านการศึกษา ของรัฐบาล ด้วยคำบอกเล่าของอาจารย์ย้ำ ความเห็นเดิม ของดิฉันที่ว่า กระทรวงศึกษาธิการ เรียนรู้ ช้ามาก อาจารย์เกษมท่านใช้คำว่า "ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง" อาจารย์เกษมเล่าเรื่อง หนังสือประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ แทนที่จะให้ครูอ่านหนังสือ หลาย ๆ เล่ม แล้วประมวลความรู้ไปสอนเด็ก แนะนำให้เด็กรับข้อมูล จากแหล่งความรู้ ที่หลากหลาย เด็กจะได้ รู้จักเลือก รู้จักพิจารณา ได้ด้วยตนเอง กระทรวงศึกษาธิการ กลับรับรองมาตรฐาน หนังสือเล่มเดียว อาจารย์ใช้คำว่า "แข็งตัว" ดิฉันขออนุญาต แถมว่า "ยึดมั่นถือมั่น" และ "ความคิดคับแคบ" เรื่องนี้ดิฉันข้องใจมานานแล้วว่า ทำไมกระทรวงศึกษาธิการจะต้องมีหนังสือเรียน คู่มือครู คู่มือการจัด กิจกรรม การเรียนการสอนทุกวิชา แล้วครูก็สอนตามหนังสือ ตามคู่มือ ทั้งที่การสอน ควรจะหลากหลาย ตามบริบทสังคม และ ความพร้อมของนักเรียน ครั้งหนึ่ง ที่ร้านหนังสือ ดิฉันเห็นคุณครูท่านหนึ่งกำลังซื้อหนังสือกิจกรรมแนะแนว คุณครูถามหา คู่มือครู โชคดี ที่คนขายหนังสือตอบว่า ไม่มี เป็นอีกเหตุการณ์ที่ทำให้ดิฉัน หมดหวังกับการศึกษาไทย ก็ในหนังสือ บอกกิจกรรม ทุกอย่างอยู่แล้ว จะเอาคู่มือครู ไปทำอะไรอีกหนอ ใจคอครูจะไม่คิดอะไรเองบ้างเลยหรือ คิดถึงอาจารย์เปลื้อง ณ นคร น่าเสียดายที่อาจารย์เสียชีวิตแล้ว ดิฉันเรียนภาษาไทยกับอาจารย์ ทางนิตยสาร 'ชัยพฤกษ์' ซึ่งเป็นนิตยสารสำหรับนักเรียน ที่สำนักพิมพ์ ไทยวัฒนาพานิช จัดพิมพ์ต่อเนื่องนับสิบ ๆ ปี น่าเสียดาย อีกเหมือนกัน ที่ปัจจุบันไม่ได้พิมพ์แล้ว ตอนนั้น ดิฉันเรียนชั้นมัธยม ได้อ่านหนังสือพบข้อมูล ไม่ตรงกัน เกี่ยวกับเรื่อง การเห่เรือ ก็เลยเขียน จดหมายไปถามว่า ทำไมหนังสือสองเล่ม ให้ข้อมูลไม่ตรงกัน อาจารย์ตอบใน 'ชัยพฤกษ์' แล้วก็ชม ดิฉันด้วยว่า "อ่านหนังสือเป็น" ท่านแนะนำให้รู้จักเปรียบเทียบ ข้อมูล จากหนังสือหลาย ๆ เล่ม ดิฉันโชคดี มีอาจารย์แนะนำให้อ่านหนังสือดี ๆ ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน แล้วทุกช่วงระดับ การศึกษา ก็มีครู ที่ทุ่มเท ให้กับการสอน เอาใจใส่ลูกศิษย์ มีชีวิตส่วนตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ชีวิตของดิฉัน แทบจะทุกย่างก้าว จึงเดินตามครู มาตลอด ครูที่ดิฉันเลือกแล้วว่าควรเจริญรอยตาม (แม้จะทำตามได้แค่เศษเสี้ยวธุลี ก็ยังอบอุ่นใจ ที่มีผู้นำพา ไปในทางอันเป็นกุศล) เป็นบุญเป็นกุศลของคุณครูทุกท่านที่เป็นแบบอย่างดี ๆ ให้คนรุ่นหลังดำเนินรอยตาม - ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๐ พฤศจิกายน - ธันวาคม ๒๕๔๖ - |