- น้อมขวัญ สัมภาษณ์ - ดร.เสรี พงศ์พิศปริญญาโท ด้านปรัชญาและเทววิทยาจากประเทศอิตาลี ปริญญาเอก ด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยมิวนิก ประเทศเยอรมัน อดีต อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบัน ประธานมูลนิธิหมู่บ้าน และผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ผมคิดว่า ครูที่ผมได้ก็โชคดี เป็นครูที่ไม่ได้ให้แค่เนื้อหาการเรียน แต่ให้ประสบการณ์ชีวิต ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต สอนให้เรารู้จักคิด รู้จักตัดสินใจ ตอนเด็ก ๆ ผมเป็นคน อารมณ์รุนแรง ทะเลาะกับเพื่อน ตีกันกับเพื่อน บาดเจ็บบ้างนะครับ คนที่เป็นคนดูแลเป็นฝรั่ง คนอื่นเขานึกว่า โอ๊ย ! อย่างนี้ ต้องถูกจับส่งกลับบ้านแน่ แต่เขาไม่ได้ส่งกลับ เขาจะสอนเรา เขาบอกว่า มันไม่ควรเกิดขึ้นอีก เขาให้โอกาสไง ครั้งแรกก็จบ ครั้งสองก็ยังพอได้ แต่ไม่ถึงครั้งที่สาม คือว่าพวกผมตอนนั้นอายุ ๑๒-๑๓ แล้วครูสอนคณิตศาสตร์ สอนไม่เก่งเลย เราก็อยากจะเปลี่ยนครูใหม่ เพราะเราไปสอบเทียบโรงเรียนอื่นๆ โรงเรียนของรัฐ แล้วเราตั้งใจเรียน เราอยากได้ครูดีๆ ทีนี้วิธีทำของเราก็คือ มีคนที่เขียนเก่งคนหนึ่ง เขาเป็นคน ร่างจดหมาย ประโยคสุดท้ายผมจำได้ดีว่า "เราจะไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว" แล้วทุกคนก็เซ็นชื่อ ส่งไปให้อธิการ ทุกคนก็คิดว่า โอ้โห ! เด็กพวกนี้หัวรุนแรง ครูคนไทยคนหนึ่งเขาคิดว่าต้องส่งกลับบ้าน อยู่ไม่ได้แล้วพวกนี้ แต่ว่าฝรั่งเขาแปลกนะ เขาเรียกมาทีละคนเลย ทุกคนก็ไปหา เขาจะถาม หมดว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อถามเสร็จแล้ว เขาก็มีข้อสรุปออกมา ที่ทำทั้งหมดนี้ มันมีความตั้งใจดีเต็ม วิธีผิด บอกว่าอย่างนี้นะ คราวหลังถ้ามีปัญหาอะไร ต้องมาบอก มาคุยเลย ส่งตัวแทนมาคุยกัน ถ้าคุยกันไม่ได้ ก็ให้ทำจดหมายอย่างนี้มา ถ้ายังไม่ได้อีก ก็ให้เดินขบวน สอนอย่างนี้เราเข้าใจเลย เราเป็นเด็ก ไม่มีความมุ่งร้ายอะไรเลย คนที่เป็นครูนี้เขาจะให้วิธีคิด ให้สติ จะสอนวิธีเรียนซึ่งผมถือว่ามีความสำคัญ เขาไม่ได้สอนให้เราเพียงแต่ท่องจำ แบบนกแก้ว นกขุนทอง อย่างเดียว แต่สอนให้เรารู้วิธีเรียน เขาให้เครื่องมือเรามีวิธีเรียน วิธีคิด วิธีวิเคราะห์ พวกนี้ก็มีทั้งฝรั่งทั้งไทยก็เป็นความประทับใจในเรื่องนี้ ครูเหล่านี้เขาเป็นครูที่รักเราจริงๆ และก็อยากจะให้เราได้ดีจริงๆ ครูบางคนก็อาจจะทำโทษ เพราะว่าเราทำผิด ทำอะไรไปบ้าง เราจะรู้สึกว่าเขาทำโทษเราด้วยความรักจริงๆ เราไม่รู้สึกเสียใจ ผมมีครูเหล่านี้อยู่หลายคน ประทับใจ เขาก็เป็นแบบอย่างให้ตัวเองด้วยนะ อย่างเช่นว่า อาจารย์ผม ที่เยอรมันให้เวลาผมอาทิตย์หนึ่งตั้งครึ่งวันนะ ที่เขาเรียกว่าที่ปรึกษา วิทยานิพนธ์ ปริญญาเอก ภาษาเยอรมันเขาเรียกว่า dissertation father เป็นบิดา คือเขาจะถ่ายทอดหมด ให้กับเรา ผมได้สิ่งนี้มานะ ผมไปเรียนที่เยอรมัน ผมได้มามากสุดๆ จากอาจารย์ผมคนนี้แหละ งั้นเวลาวันนี้ ที่ผมเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ผมก็ให้เวลาลูกศิษย์ผมนะ แล้วผมก็รู้สึกว่า ถ้าเขาไม่มา ผมต้องเรียกมานะ หายไปไหน ทำไมไม่มาคุยกัน มีอะไรคุยกัน อยากจะดูว่า เรียนรู้ไปถึงไหนอย่างไร ครูในปัจจุบันเหรอ ผมไม่อยากจะโทษตัวบุคคลเท่ากับระบบ มันเป็นระบบที่เราไม่สามารถ ที่จะปรับระบบการเรียนรู้ ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ระบบการศึกษาโดยรวมมีปัญหา เพราะฉะนั้นครูซึ่งเคยมีภาพที่ดีในอดีต วันนี้ก็ต้องอยู่เป็นเหยื่อของระบบการบริโภค ครูเป็นหนี้ มากกว่าเพื่อน มีปัญหามากกว่าเพื่อน ต้องเป็นนายหน้าขายของมากกว่าเพื่อน และจะไปเอา สมาธิ มาทำงานได้อย่างไร ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ตัวเองก็จะเอาไม่รอดแล้ว จะมาแก้ปัญหา หนี้สินครูเหรอ โดยที่ระบบไม่เปลี่ยน โอ๊ะ ! เป็นไปไม่ได้ วิธีคิดต้องปรับ ความคาดหวังในตัวครูจะต้องเปลี่ยน จากการเป็นครูที่ปั๊มศิษย์ มาเป็นคนที่ช่วยให้เขาเรียนรู้เป็น ให้เขามีบรรยากาศ การเรียนรู้ที่ดี มีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ นี่ผมพูดถึงครูที่ดีของผม เป็นคนสร้าง แรงบันดาลใจ อันนี้สำคัญ คือให้เรามีกำลังใจและได้พลังลึก ๆ ไม่ใช่เป็นพลังใจ ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ว่าได้แรงบันดาลใจก็คือได้ปลุกปัญญา จะช่วยให้เราได้ทำอะไรต่อเนื่อง ไม่ได้ทำแบบทำไป ๆ เดี๋ยวเลิก วิธีการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้น่ะ ครูจะต้องให้ ไม่ใช่มานั่งสอนแบบเดิมอีก แบบเดิมนี้เขาเรียนเองได้นะ ผมว่า หนังสือที่เราอ่าน ศึกษา ก็อ่านได้ ศึกษาได้ แต่ว่าวิธีเข้าใจ วิธีวิเคราะห์ วิธีวิจารณ์ วิธีสังเคราะห์ให้มันเกิดอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมา เขาทำเป็นหรือเปล่า ตรงนั้น ต่างหาก ซึ่งเราจะต้อง ช่วยให้เครื่องมือ วันนี้ครูก็มีปัญหา เนื่องจากว่าปรับตัวไม่ได้กับระบบใหม่ ระบบก็ไม่ค่อยเอื้อ ใช่ไหม ปฏิรูปการศึกษาเราก็ไม่ได้เน้นเรื่องการเรียนรู้ เรามาเน้นเรื่องอะไรก็ไม่รู้อย่างที่เรารู้ ๆ กัน ครูมีบทบาทสูงนะผมว่า ถึงแม้วันนี้อาจจะไม่ใช่ เหมือนแต่ก่อน แต่ครูยังมีบทบาท ถ้าจะคาดหวัง แบบเดิมก็คือบทบาทในทางจิตวิญญาณ นี้เป็นการคาดหวัง ซึ่งในทางปฏิบัติ มันยาก แต่ว่าทำยังไงให้ครูเป็นคนที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และคนที่ช่วยให้เกิดวิถีปฏิบัติที่ดี ต่อชีวิตน่ะ ถ้าเป็นครูแบบนี้ได้น่ะ ใช่เลย นั้นก็คือคุณค่าของครู ไม่ใช่บอกว่านี้เป็นเรื่องพระ นั่นเป็นเรื่องหมอ ไม่ใช่ เป็นเรื่องเดียวกันนั่นแหละ ผมคิดว่า ต้องดูระบบภาพรวมให้เห็นชัดก่อนว่า การปฏิรูปการศึกษาวันนี้ เราต้องการให้เกิด การเรียนรู้ไปเพื่ออะไร เป้าหมายของการศึกษาคืออะไร เราต้องการให้เด็กของเรา เติบโตขึ้นมา เพื่อเป็นคนที่มีทักษะ คนที่เป็น technician คนที่มีความสามารถ และก็ไปรับจ้างหาเงิน แบบนั้นหรือเปล่า หรือว่าเราต้องการสร้างคนเป็นแบบแรก สร้างคนแล้ว ก็เมื่อมีคนที่มีคุณภาพแล้ว ก็มีทักษะเป็นเครื่องมือทำมาหากิน จริง ๆ แล้ว ในตะวันตกนะ การศึกษาของเขาเดิมทีในยุคกลางที่มีมหาวิทยาลัยใหม่ๆ มีสามขั้น เหมือนกับรูปสามเหลี่ยมนี้แหละ ฐานแรกก็คือเรียนปรัชญา ทุกคนต้องเรียนปรัชญา ก่อนจะไป เป็นหมอ ก่อนจะไปเป็นวิศวะ ก่อนจะไปเป็นนักอะไรก็แล้วแต่ต้องเรียนปรัชญาหมด ตอนที่สอง ก็มาเรียนอาชีพอย่างที่ว่านี้แหละ เป็นนักอะไรก็ต้องมาเรียน เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้เวลา เขาจะเรียนแพทย์ จะเรียนกฎหมาย ในยุโรป ต้องเรียนปรัชญาก่อน อันสุดท้ายนี้ ต้องเรียน เทวศาสตร์ วิชาเกี่ยวกับศาสนา ซึ่งเป็นสุดยอดที่จะต้องเรียน ทุกสิ่งที่เรียนมา เชื่อมโยงกับ คุณธรรม กับความดีงาม นั่นคือประวัติความเป็นมา ผมว่า วันนี้เราก็น่าจะมีทั้งสามอย่างเหมือนกันนะ องค์ประกอบของการเรียนรู้ ที่จะต้อง มีการเข้าใจชีวิต เข้าใจโลก เข้าใจมนุษย์ นี่อันที่หนึ่ง อันที่สองก็ต้องมีทักษะ ในการเรียนรู้ เฉพาะเรื่องในการทำงาน นี่ก็ต้องมี ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ทำทุกอย่างได้ ไม่ใช่ อยากจะไถนา ก็ต้องรู้วิธีไถนา อยากจะขับรถก็ต้องรู้วิธีขับรถ อยากจะเป็นอะไรก็ต้องเรียน แต่ว่าอันที่สาม ต้องมีตัวกำกับ ไม่มีตัวกำกับนี้มันก็เตลิดเปิดเปิง ต้องมีเรื่องคุณธรรมเรื่องศาสนา จะได้ถูกทิศ ถูกทาง แนะนำครูอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องการอ่าน เออ ! ผมว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ แค่อ่านก็ไม่มีใครอ่าน คนบ้านเรา อ่านหนังสือน้อย ผมคิดว่าเราต้องสร้างพ่อแม่พันธุ์ใหม่ ขึ้นมา แล้วก็ให้เกิดลูก พันธุ์ใหม่ขึ้นมา ลูกผมนี่ ตอนที่แม่เขาท้อง จนกระทั่งโตขึ้นมา เขาจะคุ้นเคยกับเสียงดนตรี เขาจะฟังดนตรีเบา ๆ ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่แล้ว เกิดออกมาก็ฟังดนตรีตลอด เพราะฉะนั้น เขาจะคุ้นกับดนตรีมาก เมื่อโตขึ้นมาหน่อย เขาก็เห็นคนอื่นเล่นดนตรีบ้าง เห็นพ่อแม่ เล่นดนตรีบ้าง เขาก็อยากจะเล่น เพราะฉะนั้น การเรียนดนตรีของเขา มันจะมาจากข้างใน เราไม่ได้ไปยัดเยียดเขา อ่านหนังสือก็เหมือนกันนะ ถ้าแม่กับพ่ออ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เล็ก ๆ เลย ให้ลูกได้เห็น แล้วก็อ่านอะไรสนุก ๆ ให้เขาฟัง จนกระทั่งเล่านิทาน อ่านนิทานให้เขาฟัง เขาจะรู้สึกว่า โอ้โฮ ! หนังสือ มีอะไรที่สนุกนะ มีอะไรที่เขาอยากอ่านเอง วันหนึ่งเขาก็อยากอ่านเอง การอ่านหนังสือนี้ เป็นเรื่องต้องปลูกฝัง ตั้งแต่เกิดเลย เราต้องสร้างลูกหลานพันธุ์ใหม่ ที่ให้เขาคุ้นเคยกับ วัฒนธรรมการอ่าน ซึ่งวันนี้โอ้โฮ ! หนักหนา สาหัสกว่าเดิมอีก แต่ก่อนนั้นรุ่นผมนี้ โอ๋ ! อ่านหนังสือ เป็นบ้าเป็นหลัง อ๊าน อ่าน อ่าน อ่าน อ่าน อ่าน โอ๊ย ! สนุกอ่าน เพราะมันไม่มี โทรทัศน์ ไม่มีวิทยุ ไม่มีอินเทอร์เน็ต แล้ววันนี้ ก็มีสิ่งเหล่านี้ ผมคิดว่า ต้องช่วยกันหาวิธี ให้ลูกหลานของเราสนใจเรื่องการอ่าน ลูกสาวผมนี่ ผมสอนเขาเขียนหนังสือ ตอนแรก ๆ เขารู้สึกว่าบังคับเขานะ แต่ว่าไม่นาน เขาก็รู้สึกว่า เออ ! มันดีนะ แล้วเขาก็เขียนด้วยความสนุก เออ ! เขาก็เขียนหนังสือได้ เหมือนคนอื่น เขียนได้ พูดได้ คือเห็นคุณค่า ทำยังไงเราจะให้เด็กเห็นคุณค่า ผมก็เลยพูดว่า ตราบใดที่เรายังไม่ได้ทำให้ลูกหลาน หรือเด็กเข้าใจเรื่องคุณค่า เราสอนเรื่องต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ ถ้าจะพูดเรื่องดนตรี เรื่องกีฬา เรื่องหนังสือ เรื่องอะไรก็แล้วแต่ หลายอย่างนี้ มันต้องมาจากใจ ไปบังคับเขาไม่ได้ ไม่มีอะไรที่จะไปสู้ทีวี อินเทอร์เน็ตได้ ถ้ามันไม่เกิดมาจากข้างใน การอ่านเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่ง ซึ่งมันทดแทนด้วยการดูไม่ได้ เพราะว่าการอ่านนี่เราจะหยุด เราจะถอยหลัง เราจะไปข้างหน้า เราจะทำอะไร ก็เรื่องของเรา เราสามารถที่จะควบคุม สิ่งตรงนั้นได้ มันเป็นจังหวะของเราที่กำหนด แล้วก็เราได้คิด ได้เลือก ขณะที่เราดูทีวี เราเลือกไม่ได้ มันไปแล้วก็ไป การอ่านนี่จำเป็นมากสำหรับชีวิต มันทำให้เราเป็นตัวของเรา แล้วทำให้มีเวลาคิด แล้วก็ speed (สปีด = ความเร็ว) ของคนมันไม่ใช่ speed แบบอินเทอร์เน็ต speed ของเราต้องไปตามจังหวะของตัวมันเอง ต้องคิดเอง ในการคิดนี้ใช้เวลา วันนี้ที่เราไม่คิด เพราะเราไม่มีเวลา เพราะถูกดึงไปตามจังหวะซึ่งเร็วมาก ทุกอย่างเร็วมาก คิดไม่ทัน ผมคิดว่าการอ่าน ทำให้เราจินตนาการได้ดีกว่า ผมเชื่อที่เพื่อนผมบอกว่า ก่อนที่จะไปถึง จินตนาการ ต้องฝันก่อน ฝันเสร็จแล้วมีจินตนาการ จินตนาการก็ถึงไปความรู้ ไปความรู้แล้ว ถึงกลายเป็นปัญญา ผมก็ต่อให้เขานะ ถ้าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เราจะต้องดูว่าอะไรสร้างจินตนาการ ผมว่าการอ่าน สร้างจินตนาการ มากที่สุด ดูทีวีดูอะไรต่ออะไรนี่ หลายอย่างหลายเรื่อง ยิ่งดูยิ่งปัญญาอ่อน มันน้ำเน่า ไร้สาระ มันเหมือนเรากินอาหารนะ ถ้าเลือกกินไม่ดี มันก็เป็นอาหารขยะ ผมว่าไม่มีสังคมไหนในโลกที่เป็นสังคมอ่านมาตั้งแต่เกิด ใช่หรือเปล่า เป็นสังคมบอกเล่า มาตลอด ถามว่าญี่ปุ่นนี่เขาเคยอ่านมาตั้งแต่เมื่อไร เขามีอักษรมาตั้งแต่เมื่อไร ถ้ามีก็มีแต่ คนในรั้วในวัง แล้วทำไมวันดีคืนดีประชาชนทั้งหมดอ่าน ไม่ใช่อยู่ดี ๆ มันเกิด ๑๕๐ ปีมาแล้ว ที่ฝรั่งทำนายว่า ประเทศไทยต้องเจริญกว่าญี่ปุ่น ปรากฏว่ามันไม่ใช่แล้ว เราก็พบว่า สิ่งที่เป็นหัวใจ ที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวหน้ามากกว่าเรา คือการศึกษา ผมไม่เคยเห็นประเทศไหนเลย ที่ทุกอย่างที่ข้างหน้า ออกมาเป็นภาษาเขาหมด และผมก็ไม่เคยเห็นประเทศไหนที่อ่าน อ่าน อ่าน อ่านไปทุกหนทุกแห่ง ไปรถใต้ดินก็ยังอ่าน ก้มหน้าก้มตาอ่าน ญี่ปุ่นเป็นนักอ่าน เพราะระบบการศึกษา ระบบการเรียนรู้ของเขา ทำให้เด็กอ่านหนังสือได้ อ่านหนังสือเป็น รักที่จะอ่านหนังสือ มันมาถึง ๑๕๐ ปีแล้ว เขาสร้างเรือดำน้ำ สร้างเครื่องบิน เป็นก่อนเราหรือเปล่า เราไม่สนใจวิทยาศาสตร์ เราไม่สนใจเรียนรู้ แล้วระบบการศึกษาของเรา ไม่เน้นเรื่องพวกนี้ด้วย เราถึงก๊อปปี้ ก๊อปปี้เทคโนโลยี ซื้อเขาหมด เราสร้างรถเป็นเหรอ โตโยต้า ฮอนด้า ของเขาหมด ผมว่ามันต้องสร้าง ที่คนชอบว่าสังคมไทยเป็นสังคมตัวใครตัวมัน เอาตัวรอดเป็นยอดดี ทำงานเป็นทีมไม่เป็น ทำคนเดียวเป็นพระเอก ไม่จริงหรอก ถ้าในอดีตเราเป็นอย่างนี้ เราตาย ไปนานแล้ว แต่ในอดีตเรามีปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งช่วยกัน มีปัญหาข้าวยากหมากแพงก็ช่วยกัน มีปัญหาโจรผู้ร้ายก็ช่วยกัน มีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บก็ช่วยกัน มีลงแขก มีอยู่ร่วมกัน ทำงานเป็นทีมหมด ไม่ได้ต่างจากญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นเก่งกว่าเรา เพราะเขาสืบทอดความเป็นทีม การทำงานร่วมกัน ได้ดีกว่าเรา เราพอลงแขก มันก็เหมาะกับสังคมกับสมัยเก่า พอสังคมเปลี่ยน ลงแขกไม่เป็นอีก ทำให้มันมีรูปแบบใหม่ไม่ได้ สืบทอดตัวคุณค่าไม่ได้ ญี่ปุ่นสืบทอดได้ แม้จะเป็นบริษัท เขาก็สืบทอดความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นชุมชนแบบเก่าของญี่ปุ่น ที่พึ่งพาอาศัยกัน เขาหารูปแบบดีกว่า ให้แนะนำหนังสือ สอนลูกให้คิดเป็น คือผมอยากจะสื่อกับสังคมไทยว่า ผมมองโลก มองชีวิตอย่างไร โดยใช้หนังสือกับหนังเป็นสื่อแค่นั้นเอง แค่นั้นแหละ แล้วผมก็ได้รับ การขอร้อง จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการให้เขียนต่อ เขาให้เลือกว่า จะเขียนอย่างไร ผมก็บอกว่า ผมเขียนถึงลูก ไม่ได้เหรอ ลงในหนังสือพิมพ์รายวันอาทิตย์ละครั้ง ผมก็เลยตัดสินใจ ทดลองเขียนนำเสนอ เขาก็ยินดี และก็จะลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์มั้ง เดือนกุมภาพันธ์ทุกวันศุกร์ ผมจะเขียนถึง หนังเก่า ๆ หมดเลย ไม่ใช้หนังใหม่ ผมไม่ใช่นักวิจารณ์หนัง แต่ว่าผมจะมองดูโลกบางชนิด ออกทางเรื่องราว ซึ่งคนบางคน บางกลุ่ม เขาได้ประมวลมาในรูปแบบหนึ่งแล้ว โดยทำให้มัน เป็นเรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่อง ก็สะท้อนแง่มุมของชีวิตได้ดีพอสมควร ถ้าเขาไม่อ่านหนังสือ ดูหนังก็ได้ ผมถึงมีทางเลือกให้ แต่ว่าต้องดูให้เป็นก็แล้วกัน ดูเป็น หมายความว่า ดูให้เห็นความหมาย ผมบอกว่า ผมดูแล้ว ผมเห็นอันนี้นะ ถ้าคุณไปดูแล้ว คุณจะได้อย่างไรบ้าง เด็กวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เขาขอสัมภาษณ์ผม เพราะเขาเอาหนังสือของผม ไปเป็นเนื้อหา ในการทำรายงาน ส่งอาจารย์ เขาสัมภาษณ์ยาว ผมทำยังไงอะไรบ้าง สื่ออะไร เขาบอกว่า เขาก็ไปดูหนังอย่าง ฮีโร่ ดูมาตั้งหลายหน เขามาอ่าน แล้วกลับไปดูใหม่ เอ๊ ! มันเห็นอีกแบบหนึ่ง เห็นหลายอย่าง ที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน บางครั้งเราก็ต้องให้คนอื่นช่วยบ้าง เมื่อเขาเรียนรู้วิธีดู วิธีอ่าน ทีหลังเขาไปอ่าน เขาไปดู เขาก็พอจะเห็นแนวว่าควรจะดู ควรจะอ่านยังไง ไม่ใช่ดูสนุกไปเรื่อย ๆ อย่างนี้มันไม่ได้ ผมบอกสองคนดูหนังเหมือนกัน ดูทีวีเหมือนกัน อ่านหนังสือเหมือนกัน คนหนึ่ง ฉลาดขึ้น แต่คนหนึ่งโง่ลง มันเป็นไปได้นะ มันเป็นไปได้ ถ้าดูแล้วถูกครอบงำตลอด คิดอย่างอื่นไม่เป็น คิดตามเขาหมด เพราะฉะนั้น เราก็แย่ลง เรื่องที่ผมให้ดูนะ ก็ไม่ให้เป็นหนังประเภทสอนอย่างเดียว เป็นหนังที่ได้รางวัลตุ๊กตาทอง เกือบทั้งหมด เป็นหนังดี มีคุณค่าด้วย มีคุณค่าไม่ใช่แต่เนื้อหาอย่างเดียว แต่เป็นการนำเสนอ เราต้องเลือก ไม่งั้นนะ จะดีเฉพาะเราอย่างเดียว เราเห็น เราประทับใจคนเดียว มันก็ไม่ได้ เวลาเรา จะแนะนำเขา ต้องแนะนำอะไรที่เขาน่าจะรับได้ ไม่ยากเกินไป ให้เขาย่อยไปด้วย ไม่ให้เขากินไปแล้วย่อยไม่ลง ยัดเยียดเขาไม่ได้ มันก็อยู่ในบริบท ในความสัมพันธ์ของเขากับเรา บางครั้ง เราก็คงต้องยอมเขาด้วย ในเรื่องที่เขาอยากจะดู หนังบางเรื่อง ซึ่งเรารู้สึกว่า มันไม่ค่อยเข้าท่า หรือว่าเราไม่ค่อยเห็นคุณค่าของมัน แต่อย่างน้อย ต้องมีกรอบให้รู้ว่า คงต้องพูดเรื่องคุณค่าตั้งแต่ต้น ถ้าเราพูดเรื่องคุณค่าได้ ไปพูดเรื่องอื่น มันก็ง่ายเข้า ผมอยากกลับไปดูหนังเก่า ๆ ของอิตาลี่ ซึ่งเป็นหนังดีมาก คนไม่ค่อยสนใจ คนลืม แต่ว่าถ้าเรา เอาเรื่องนี้มาพูด สามารถทำให้คนดูรู้สึก ไม่ดูถูกคนอื่นได้ มองคนอื่นด้วยความเข้าใจว่า แต่ละคน ก็ต้องการอะไรที่ดีสำหรับชีวิต เพียงแต่ว่าบางทีหาไม่เจอ หรือโชคไม่ดีอย่างพวกเรา มันจะช่วยให้เราปรับทัศนคติ แล้วก็อารมณ์ความรู้สึก มีวิธีมองคนอื่น ไม่ใช่มองดูคนจน ดูถูกคนจน เรื่องพวกนี้ซึ่งผมว่า ทำยังไง ถึงจะให้เด็ก ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ได้รู้จักคิด แล้วเขาจะค่อย ๆ รู้เรื่องพวกนี้ดีที่สุด ไม่ใช่มานั่งฟังเทศน์อย่างเดียว แต่ว่าอ่านหนังสือ ดูหนัง อันนี้มันจะค่อย ๆ สร้างระบบคุณค่า ที่ดีให้เขา - ดอกหญ้า
อันดับที่ ๑๑๐ พฤศจิกายน - ธันวาคม ๒๕๔๖ -
|