บทวิจารณ์ - ฟ้าเมือง ชาวหินฟ้า -
ความรู้เพื่อการแก้ปัญหาความยากจน


เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ความรู้คือ เครื่องมือสำคัญ ที่จะช่วยยกระดับฐานะของชีวิต ให้พ้นจากความยากจนได้

มีตัวอย่างของผู้คนจำนวนไม่น้อย ที่เกิดมาในครอบครัวฐานะยากจน แต่ด้วยความขยันใฝ่ศึกษา หาความรู้ ในที่สุดบุคคลเหล่านั้น ก็สามารถไต่เต้า ยกระดับฐานะของตนเอง จนประสบ ความสำเร็จในชีวิต ดังตัวอย่างประธานาธิบดีลินคอน ของสหรัฐอเมริกา หรือ เศรษฐีหลายคน ในเมืองไทย ที่เริ่มต้นสร้างฐานะตัวเองจากเสื่อผืนหมอนใบ เป็นต้น

รัฐบาลปัจจุบันได้ประกาศนโยบายจะแก้ปัญหาความยากจนของคนไทยให้หมดภายใน ๖ ปี และก็มีนโยบาย ใช้เงินที่ได้จากการขายหวยบนดิน สนับสนุนเป็นทุนการศึกษา ให้เด็กยากจนด้วย โดยมีสมมติฐานของความเชื่อที่ว่า การศึกษาจะเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ช่วยให้เด็กยากจนเหล่านี้มีความรู้ และสามารถอาศัยความรู้ ยกระดับฐานะของตนเอง และครอบครัว ต่อไปในอนาคต

สมมติฐานนี้น่าจะจริง แต่ก็ยังไม่น่าจะเป็นเงื่อนไขที่พอเพียงสำหรับการแก้ปัญหาความยากจน ทั้งนี้เพราะปัญหา "ภาวะความรู้สึกยากจน" มีความสลับซับซ้อนกว่าปัญหา "ภาวะความยากจน" ที่รัฐบาลกำลังจะแก้ไขด้วยนโยบายเอื้ออาทรต่างๆ

เคยมีการทดลองในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้นักศึกษาตอบแบบสอบถามว่า จะเลือกอะไร ระหว่าง

ก. การมีรายได้ปีละ ๕๐,๐๐๐ เหรียญ ในขณะที่คนอื่นๆ มีรายได้ปีละ ๒๕,๐๐๐ เหรียญ

ข. การมีรายได้ปีละ ๑๐๐,๐๐๐ เหรียญ ในขณะที่คนอื่นๆ มีรายได้ปีละ ๒๐๐,๐๐๐ เหรียญ

ผลปรากฏว่านักศึกษาส่วนใหญ่เลือกข้อ ก. ซึ่งการทดลองนี้สะท้อนให้เห็นว่า ภาวะความรู้สึก มั่งมี หรือยากจนนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวรายได้เพียงประการเดียว แต่ขึ้นอยู่กับ การเปรียบเทียบ เชิงสัมพัทธ์ (relative deprivation) กับรายได้ของคนอื่นๆ ในสังคมด้วย

การแก้ปัญหา "ภาวะความยากจน" ด้วยการทำให้ผู้คนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม จึงยังไม่พอเพียง ที่จะแก้ปัญหา "ภาวะความรู้สึกยากจน"ได้ และ "ภาวะความรู้สึกยากจน" ของผู้คนส่วนใหญ่ จะนำไปสู่ภาวะความไม่พอใจต่อนโยบายของรัฐบาล อันจะนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในที่สุด

ฉะนั้นถึงแม้หากรัฐบาลนี้ประสบความสำเร็จ ในการทำให้คนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น จนพ้นดัชนี ที่เป็นเกณฑ์วัดความยากจน แต่ถ้าหากช่องว่าง ความแตกต่าง ระหว่างรายได้ ของกลุ่ม คนร่ำรวยส่วนน้อย กับรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม ถ่างกว้างยิ่งกว่าเดิม มากขึ้นๆ ในกรณีเช่นนี้ ถึงแม้ "ภาวะความยากจน" ของคนไทยจะคลี่คลายลดน้อยลง ภาวะความรู้สึก ยากจน" (จากการเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่ร่ำรวยยิ่งๆ ขึ้นดังกล่าว) จะกลับขยายขอบเขต เพิ่มมากกว่าเดิม

แล้วสุดท้าย ความไม่พอใจของผู้คนก็อาจนำไปสู่การล้มรัฐบาล ทั้งๆ ที่ประสบความสำเร็จ ในนโยบายการแก้ปัญหา "ภาวะความยากจน" ตามที่ประกาศไว้ (แต่ล้มเหลวในนโยบาย การแก้ปัญหา "ภาวะความรู้สึกยากจน" ของประชาชนส่วนใหญ่)

ทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้น (Hierarchy of Needs) ของมาสโลว์ นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียง อาจช่วยอธิบาย ปรากฏการณ์นี้ได้

มาสโลว์เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความต้องการทางกายภาพ (Physiological Needs) เป็นพื้นฐาน เมื่อแสวงหา สิ่งตอบสนองความต้องการทางกายภาพได้ พอเพียงระดับหนึ่งแล้ว มนุษย์จะเริ่ม แสวงหาความมั่นคงปลอดภัย (Safety Needs) ในระดับถัดมา

และถ้าได้สิ่งตอบสนองความต้องการที่ช่วยให้รู้สึกมั่นคงปลอดภัยในระดับหนึ่งแล้ว มนุษย์ก็จะเริ่ม แสวงหาความยอมรับยกย่องจากสังคม (Social Needs) ต่อไปตามลำดับอีก

ด้วยเหตุนี้รัฐจึงมีหน้าที่ต้องทำให้ประชาชนมีรายได้อย่างน้อยในขั้นต่ำที่พอแก่การยังชีพ เพื่อตอบสนอง ความต้องการทางกายภาพของผู้คนในสังคม

ประการต่อมา รัฐเองจะต้องมีรายได้เพียงพอ สำหรับสร้างหลักประกันในชีวิต และทรัพย์สิน ของประชาชนด้วย เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าชีวิตมีความ มั่นคงปลอดภัย ทั้งจากการรุกราน ของศัตรูภายนอก หรือภัยคุกคามจากโจรผู้ร้ายภายใน รวมทั้งเวลาป่วยไข้ ก็มีหลักประกันว่า จะได้รับการดูแล รักษาพยาบาลตามสมควร เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนและรัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้นนั้น เป็นปัจจัย ที่ช่วยนำไปสู่การตอบสนองความต้องการ ๒ ระดับแรกนี้

แต่เมื่อประชาชนมีรายได้เพียงพอต่อการตอบสนองความต้องการทางกายภาพ และมีเงินออม เก็บไว้ใช้จ่ายยามจำเป็นเพื่อความมั่นคงของชีวิตแล้ว การเริ่มแสวงหาความยอมรับ จากสังคม หรือ การอยากดำรงชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในสังคม อันเป็นความต้องการในระดับถัดมานั้น จะเป็นสิ่งที่รัฐ ตอบสนองได้ยากขึ้น เพราะมีมิติที่สลับซับซ้อนเพิ่มขึ้น

สำหรับนักศึกษาที่ต้องการมีรายได้ ๕๐,๐๐๐ เหรียญ/ปี เพียงพอต่อการตอบสนอง ความต้องการ ทางกายภาพ และการสร้างความมั่นคงในชีวิตแล้ว การมีรายได้ ๕๐,๐๐๐ เหรียญ/ปี ขณะที่คนอื่นๆ มีรายได้แค่ ๒๕,๐๐๐ เหรียญ/ปี ย่อมสามารถเสริมความรู้สึก ได้รับการยอมรับยกย่อง จากสังคม (เพราะ"รวยกว่า" คนอื่นๆ) ได้เหนือกว่า การมีรายได้ เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น ๑๐๐,๐๐๐ เหรียญ/ปี แต่ "ยากจนกว่า" คนอื่นๆ ที่มีรายได้ ๒๐๐,๐๐๐ เหรียญ/ปี (ฉะนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่จึงเลือกคำตอบ ข้อ ก. แทนที่จะเป็นข้อ ข. ตามผล การทดลอง ที่กล่าวมาตอนต้น)

ในกรณีเช่นนี้ ความรู้สำหรับการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว จึงไม่เพียงพอ ต่อการแก้ปัญหาของมนุษย์

เพราะถ้านโยบายของรัฐบาลสนับสนุนให้คนกลุ่มหนึ่ง สามารถสร้างความร่ำรวยมากๆ เหนือคนอื่น (เพื่อสร้างความยอมรับยกย่องจากสังคม) ก็จะส่งผลให้ผู้อื่นๆ ในสังคม รู้สึกว่า ตัวเองด้อยความหมายลง หรือเกิดภาวะความรู้สึก "ยากจน" ลง โดยการเปรียบเทียบ กับบุคคลที่ร่ำรวยกว่า ดังกล่าว ทำให้รัฐไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ในการตอบสนอง ความต้องการ ทางสังคมของประชาชน

ในทางกลับกัน ถ้ารัฐใช้นโยบายควบคุมไม่ให้ ผู้คนมีฐานะทางเศรษฐกิจเหลื่อมล้ำกันมาก ผู้คนก็จะไม่มีโอกาสใช้ศักยภาพที่มีเหนือคนอื่น ในการสร้างความมั่งคั่ง และความยอมรับ ยกย่อง จากสังคม ส่งผลทำให้รัฐไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ในการตอบสนอง ความต้องการ ทางสังคมของผู้คนอีก

อาจเป็นเพราะปัญหาเขาควาย (Dilemma) ของการกำหนดนโยบายเพื่อตอบสนอง ความต้องการ ทางสังคม ของประชาชนดังที่กล่าวมานี้ พรรคการเมือง ที่เน้นนโยบายหนักไปในเชิงเศรษฐกิจ แบบทุนนิยมเสรี กับพรรคการเมืองที่เน้นนโยบายหนักไปในเชิงเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม จึงมักจะสลับกันเป็นรัฐบาล โดยไม่สามารถผูกขาดอำนาจได้อย่างยั่งยืนถาวร (เนื่องจาก ต่างก็ไม่สามารถ ตอบสนองความต้องการทางสังคม ของประชาชนได้อย่างบริบูรณ์)

ความรู้ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นทางออกจากปัญหาเขาควาย และช่วยแก้ปัญหาทั้ง "ภาวะความยากจน" และ "ภาวะความรู้สึกยากจน" นี้ได้

แต่ "เศรษฐกิจพอเพียง" แตกต่างจาก "เศรษฐกิจจำใจต้องพอเพียง"

ไม่ใช่เกิดตกงาน ไม่มีรายได้ แล้วจำใจต้อง กลับไปทำเกษตรที่ชนบทเพื่อให้มีผลผลิตพอยังชีพ โดยหากมีโอกาสเมื่อไร ก็พร้อมจะกลับไปแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวยมากๆ ในทันที อย่างนี้คือ "เศรษฐกิจจำใจต้องพอเพียง"

แต่ถ้ามีการฝึกลดละความต้องการส่วนเกินจำเป็นในชีวิตให้น้อยลง จนรู้จักความพอเพียง ในการบริโภค เมื่อสร้างผลผลิตได้เพียงพอต่อการยังชีพแล้ว ส่วนที่เหลือกินเหลือใช้ก็ขาย เป็นเงินออม เก็บไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น

หลังจากมีผลผลิตเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการทางกายภาพ (Physiological Needs) และตอบสนองความมั่นคงในชีวิต (Safety Needs) แล้วก็อาศัยเวลาและแรงงาน ซึ่งเป็นพลัง การผลิตส่วนเกิน ช่วยเหลือเกื้อกูลกลุ่มคนอื่นๆ ให้รู้จักการพึ่งตัวเอง ตามหลักเศรษฐกิจ พอเพียงแบบนี้บ้าง ตลอดจนเชื่อมโยงให้เกิดเครือข่ายของชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้บุคคลผู้นั้น ได้รับการตอบสนองความต้องการทางสังคม (Social Needs) โดยถึงจะไม่มีทรัพย์สินเงินทองมากๆ เหนือคนอื่น แต่ก็สามารถดำรงอยู่ในสังคม อย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับการยอมรับ ยกย่องจากคนจากคนอื่นๆ ในสังคมที่เขามีส่วนช่วยทำประโยชน์ให้ วิถีชีวิตแบบนี้ คือวิถีชีวิตแบบ "เศรษฐกิจพอเพียง" (อันแตกต่างจาก "เศรษฐกิจจำใจต้อง พอเพียง" แบบแรก)

ความรู้เพื่อการแก้ปัญหาความยากจน ตลอดจนแก้ปัญหา "ภาวะความรู้สึกยากจน" ตามแนว เศรษฐกิจพอเพียงนี้ จึงมีรากฐานอยู่ที่ความรู้ ในการทำให้ผู้คนสามารถ ลดละความต้องการ ส่วนเกินจำเป็นในชีวิต และเห็นช่องทาง ที่จะหันมาสร้าง ความยอมรับ ยกย่องจากสังคม ด้วยการใช้พลังแรงงานและเวลาส่วนเกินของชีวิต ช่วยเหลือเกื้อกูล สร้างประโยชน์สุข ให้แก่สังคมส่วนรวม

แทนการใช้พลังงานและเวลาส่วนเกินของชีวิต ทุ่มเทกับการกอบโกยแข่งขันกัน แสวงหา ความมั่งคั่งร่ำรวย ให้มากยิ่งๆ ขึ้นเหนือคนอื่น เพื่อตอบสนอง ความต้องการ ทางจิตวิทยา ในมิติทางสังคมของตนเอง

ถ้ารัฐบาลไม่หันมาสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ พอเพียง ตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างเหมาะสมถูกต้อง ลำพังความรู้ในการแก้ปัญหา ความยากจน แบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี จะไม่สามารถแก้ปัญหา "ภาวะความยากจน" และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แก้ปัญหา "ภาวะความรู้สึกยากจน" ของสังคมไทย ได้เป็นผลสำเร็จ แน่นอน

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๐ พฤศจิกายน - ธันวาคม ๒๕๔๖ -