ธรรมะกับการเกษตร
- เสียงศีล
ชาตวโร -
กิจฺฉา วุตฺติ อสิปฺปสฺส
เกษตรกรส่วนมากยังลำบากยากจน เป็นหนี้สิน เพราะไม่เอาศิลปะ ความรู้ ภูมิปัญญาไทย สมัยปู่ย่าตายายมาใช้ คนสมัยก่อนรู้จักพึ่งตนเอง อยู่เย็นเป็นสุขกว่าคนสมัยนี้ ทำไร่ทำนา ก็ไม่ต้องใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์ มีวัวมีควายไว้ใช้ไถนา ลากรถ ลงแขกเกี่ยวข้าว ผลัดกัน เอาแรงสนุกสนาน ปู ปลา กุ้ง หอยที่เคยอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันถูกสารพิษ สารเคมี ทำลายไป หมดสิ้น ชาวนาต้องซื้อปุ๋ยซื้อเครื่องมือทุ่นแรง จ้างรถไถ จ้างรถเกี่ยวข้าว ต้องลงทุนสูง รายจ่ายมากกว่ารายรับ ทำนาแต่ละครั้งต้องกู้เงินมาทำโดยไม่คำนึงถึงดอกเบี้ยที่ตามมา สุดท้าย กลายเป็นวัวพันหลัก บีบคั้นจนสุขภาพจิตเกษตรกรเสื่อมลง คุณธรรมจริยธรรมอันเป็นรากแก้วของสังคมเริ่มหายไป ทุกคนมุ่งหาเงินเป็นหลัก มีการใช้ สารเคมี สารพิษกำจัด ศัตรูพืช โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ส่งผลให้ ผู้ไม่มีทางเลือก ได้รับสารพิษเหล่านี้ สะสมในร่างกาย จนเกิดโรคภาวะแห่งความเสื่อม อีกทั้งตัว เกษตรกรเอง ก็ตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อชีวิต และสุขภาพจาก การใช้สารพิษเหล่านี้ด้วย ทางพุทธศาสนาถือว่าจิตวิญญาณเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง เมื่อจิตวิญญาณเสื่อม ร่างกายก็ย่อม เสื่อมโทรมไปด้วย มนุษย์เป็นสัตว์สังคมซึ่งเชื่อมร้อยกันด้วยจิตวิญญาณ แต่การพัฒนาในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ จะมุ่งเน้นทางด้านวัตถุ โดยลืมเลือนการพัฒนา ทางด้าน จิตวิญญาณ ภาวะการเจ็บป่วยทางจิตจึงสูงขึ้น ส่งผลให้คน ในสังคมหันไปพึ่งสิ่งเสพติด ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ทำให้คุณภาพชีวิต เสื่อมลงไปอีก ผู้เขียนมีโอกาสจัดอบรมเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.ตามโครงการพักชำระหนี้ ของรัฐบาล มาเกือบ ๓ ปี อบรมมาได้ ๒๒ รุ่น จัดอบรมหลักสูตรสัจธรรมชีวิต ๔ คืน ๕ วัน โดยเน้น การแก้ปัญหา ทางด้านจิตภาพ และกายภาพ ควบคู่กันไป หรือใช้คุณธรรมนำความรู้ โดยเน้น คุณธรรมพื้นฐาน ๖ ประการคือ ๑. สะอาด คือ ปราศจากอบายมุข ผล สุขภาพจิตดีขึ้น ๒. ขยัน คือ มีความกระตือรือร้น มีอิทธิบาท ผล สามัคคี รักใคร่ร่วมมือกัน ๓. ประหยัด คือ ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ไม่ฟุ่มเฟือย ผล หนี้สินลดลง ๔. ซื่อสัตย์ คือ ความเป็นคนตรงไปตรงมา ผล เกิดความเชื่อถือของเพื่อนบ้าน ๕. เสียสละ คือ ช่วยเหลืองานของกลุ่มองค์กร ผล เกิดภาวะการเป็นผู้นำ ๖. กตัญญู คือ รู้จักตอบแทนผู้อื่น ผล เกิดการเกื้อกูลช่วยเหลือกัน นี่คือหลักสูตรพื้นฐาน ทางด้านจิตภาพ หรือด้านคุณธรรมซึ่งเราถือเป็นหลักของการอบรม ส่วนความรู้ ด้านกายภาพ ด้านอาชีพ จะยกตัวอย่างเป็นรายๆ ไป ซึ่งเป็นความรู้ ที่จะช่วยให้เกษตรกร หรือผู้เข้าอบรม ให้พึ่งตนเองได้ต่อไป อิณาทานํ ทุกขํ โลเก การเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก พุทธภาษิตบทนี้ ผู้ที่กำลังอยู่ในภาวะหนี้สินคงจะซาบซึ้งใจดี ทุกวันนี้เกษตรกรกว่า ๙๐% ของประเทศ ยังเป็นหนี้สิน ต้องนอนผวา หลับตาไม่ลงเมื่อคิดถึงหนี้สินที่ยังคาคออยู่ จะหาเงิน ที่ไหนมาใช้หนี้ บางครอบครัว จะกินยังไม่มี หาเงินมาได้ก็ต้องใช้เขาหมด บางรายถูกยึดทรัพย์ ยึดที่ดิน เมื่อหาเงินใช้หนี้เขาไม่ทัน ต้องทุกข์ยาก ไปชั่วชีวิต ใครจะอาสาแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของแผ่นดินได้ รัฐบาล พยายามช่วย แต่ก็ช่วยได้แค่ พักชำระหนี้ให้เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตร) และโครงการนี้เอง ที่ทำให้ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี มีโอกาสอบรมเกษตรกรที่ทาง ธ.ก.ส. ส่งมาให้พัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักสูตร สัจธรรมชีวิต ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน เป็น ๑ ใน ๒๐ ศูนย์ทั่วประเทศ การอบรม ในระยะเวลา ๒ ปีเศษ ผลปรากฏว่าเกษตรกรหลาย ครอบครัวมีวิถีชีวิต ที่ดีขึ้น หมดหนี้สิน ไปหลาย ครอบครัวแล้ว โดยหลักสูตรของเราจะเน้นในเรื่องคุณธรรมนำความรู้ตื่นฟังธรรมตั้งแต่ ๐๔.๐๐ น. ฝึกทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และฝึกตามฐานงานต่างๆ อีก เช่น ทำน้ำยา อเนกประสงค์ ทำสบู่สมุนไพร ฯลฯ ที่ช่วยให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ เพราะการประหยัดรายจ่าย คือการเพิ่มรายได้ไปในตัว ผลปรากฏว่า เกษตรกรสามารถนำเอาความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ช่วยประหยัดรายจ่าย ไปได้ไม่น้อย ดังตัวอย่างของ คุณประทิน รุ่งเรือง จาก บ้านสระแจง อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี ได้มาอบรมในรุ่นที่ ๔ เมื่อวันที่ ๔-๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ หลังอบรมไปแล้ว ประทินเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ สิ่งใดทำเองได้ก็ทำเองหมด ไม่ต้องซื้อยาสระผม ไม่ต้องซื้อสบู่ ผงซักฟอก ทำน้ำยาอเนกประสงค์ใชัแทนปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงก็เลิกใชั เวลาผ่านไปปีเศษๆ หนี้ที่มีอยู่เกือบล้านก็หมด เพราะประทินปิดประตูซื้อ ของที่สามารถ ทำเองได้ก็มีแต่ขายลูกเดียว อบายมุขในครอบครัวไม่มี ปัจจุบัน ประทินเลิกกินเนื้อสัตว์ หันมากินมังสวิรัติ ก็ยิ่งประหยัด กินผักปลูกเองก็ปลอดภัย สุขภาพดีทั้งกายและใจ เป็นตัวอย่าง ให้แก่สังคม เวลามีงานอบรมก็อาสามาช่วยอบรมรุ่นน้องทุกรุ่น นี่คือ ครอบครัวตัวอย่าง หนึ่งในหลายครอบครัวที่พ้นทุกข์จากการเป็นหนี้เป็นสิน - ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๐ พฤศจิกายน - ธันวาคม ๒๕๔๖ - |