ปัจฉิมลิขิต - กอง บก. -


ที่โรงเรียนผู้นำ ตอนเช้าเมื่อพบกันก็จะมีการทักทายด้วยการสวัสดีเหมือนที่วัด ทำทุกวัน แต่ดิฉันรู้สึกอาย ก็เลยยังไม่ได้ทำทุกวัน ยกเว้นคนที่ทักทายก่อน ถ้าหาเหตุผลได้ ในขณะนั้น วันใดก็ทำได้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมต้องอาย
*** ธีราพร รัชตธนกุล/สระบุรี

- นั่นน่ะซิคะ ดิฉันเองก็ยังไม่กล้าทำความดีบางอย่างทั้งที่เป็นเรื่องง่ายๆ แล้วก็รู้อยู่ว่า เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่เรื่องไหว้นี่พอดีเป็นเรื่องที่ชอบมากอยู่แล้ว ทั้งชอบไหว้คนอื่นและดูคนอื่นไหว้ ยิ่งถ้าเป็นเด็กๆ ไหว้ จะรู้สึกเอ็นดูมาก เวลาดูโทรทัศน์เห็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ข้าราชการ นักการเมืองไหว้กัน ก็ชื่นชม

มีอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่จุฬาฯ อาจารย์เก่งมาก เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ เวลาดิฉัน นำหนังสือไปฝากอาจารย์ อาจารย์ขอบคุณพร้อมกับยกมือไหว้ ดิฉันรีบไหว้ตอบแทบไม่ทัน ปกติตัวเอง ก็ชอบไหว้อยู่แล้ว ยิ่งเห็นผู้ใหญ่ทำเป็นตัวอย่างเช่นนี้ ยิ่งตอกย้ำให้คงมั่นในการไหว้ รู้สึกเป็นกิริยาอาการที่อ่อนน้อมสุภาพมาก เป็นสัญลักษณ์ วัฒนธรรมไทย เป็นเอกลักษณ์ของ คนไทย ภูมิใจที่คนไทยทุกระดับชั้น ยังรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย



๑. ดิฉันโกรธคนง่าย อะไรนิดหน่อยไม่ถูกใจก็โกรธแล้ว ดิฉันทราบว่าธรรมะข้อ "เมตตา" จะช่วยแก้อารมณ์โกรธได้ แต่ในขณะที่กำลังโกรธอยู่ จิตใจไม่ทันนึกถึงเมตตาหรอกค่ะ พอจะมีวิธีอื่นอีกไหมคะที่จะทำให้เราเป็นคนใจเย็นขึ้น ไม่โกรธง่าย

๒. นรกจริงๆ สวรรค์จริงๆ มีหรือไม่ อยากทราบว่าคนตายแล้ว วิญญาณจะไปนรก หรือสวรรค์ก่อน หรือวิญญาณนั้นจะไปเกิดใหม่เลย
*** อำไพ ลือสุขประเสริฐ / ตรัง

๑. แต่ก่อนดิฉันเป็นคนโกรธง่าย เดี๋ยวนี้ก็ยังมีความไม่พอใจเรื่องต่างๆ อยู่เรื่อย แต่ควบคุม ตัวเองได้เลย ไม่ค่อยมีคนเห็นว่าไม่พอใจ (นอกจากสนิทกันจริงๆ) บอกไม่ถูกว่าทำได้อย่างไร อาจเป็นเพราะ ประสบการณ์ชีวิตทำให้เข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น ยอมรับคนอื่นมากขึ้น และ ไม่เสพสื่อที่หล่อหลอมให้เราเป็นคนมักโกรธ ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ก็คือพอรู้ตัวว่าโกรธ ให้นิ่งไว้ก่อน ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว พอสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ค่อยมานั่งคิดว่า ทำไมถึงโกรธ คิดหาเหตุผลที่ไม่ควรโกรธนะคะ แม้ธรรมชาติของเรา มักจะเห็นแต่ข้อ ที่ควรโกรธก็ตาม ต้องเปลี่ยนความคิดตัวเองให้ได้ คิดถึงความดีที่เขามีอยู่ การอ่านหนังสือดีๆ จะช่วยกล่อมเกลาให้เราคิดแต่เรื่องดีๆ
ได้ค่ะ

๒. ข้อนี้ที่จริงไม่ทราบนะคะ แล้วก็ไม่สนใจด้วย เพราะว่าไม่ได้พาให้พ้นทุกข์ ขอเพียงเรา ทำจิตใจ ให้เป็นกุศลอยู่เสมอ ทำชีวิตปัจจุบัน ของเราให้เหมือนอยู่ในสวรรค์ ถ้าเราฝักใฝ่สวรรค์ ตายไปก็ต้องไปสวรรค์ก่อนแน่นอน เคยได้ยิน สมณะท่านเล่าว่า พระรูปหนึ่ง สมัยพุทธกาล ก่อนมรณภาพ จิตใจหมกมุ่นอยู่กับเรื่องจีวรของท่าน มรณภาพแล้ว ไปเกิดเป็นเล็น เกาะอยู่ที่จีวร นั่นแหละ ทุกวันนี้เวลาจิตเผลอไปคิดอกุศล ดิฉันจะรีบเปลี่ยนความคิดทันที ที่รู้ตัว กลัวจะต้องไปเกิดอยู่กับอกุศลนั้น คุณลองเปรียบเทียบดูซิคะว่า เวลาคุณคิดถึงใครมากๆ คุณก็ต้องไปหาคนที่คุณคิดถึง ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากไปสวรรค์ คิดว่าสวรรค์ เป็นอย่างไร ก็ทำตนให้เหมือนกับ อยู่ในสวรรค์ พูดจาไพเราะ เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน ปัจจุบัน ทำไว้อย่างไร อนาคตก็ได้อย่างนั้นแน่นอนค่ะ


๑. บางวัดเห็นมีแม่ชีออก บิณฑบาตด้วย เหมาะสมหรือไม่
๒. ทุกฉบับอยากให้สมาชิกเสนอวิธีการทำอาหารมังสวิรัติแบบแปลกๆ น่าจะดี

*** สุวิเศษศักดิ์ บัวขาว / อุบลราชธานี

๑. ตามความเห็นของดิฉัน แม่ชีเป็นอุบาสิกา ไม่ใช่นักบวช จึงไม่ควรออกบิณฑบาต ผู้ที่มีสิทธิ์ บิณฑบาตคือผู้ที่ถือศีล ๑๐ เป็นอย่างน้อย ไม่ใช้และไม่รับเงินหรือของมีราคาตามสมมติโลก (ศีลข้อ ๑๐) ญาติโยมจึงต้องดูแลเอาใจใส่ถวายปัจจัยสี่ คือ ภัตตาหาร สบงจีวร คิลานปัจจัย และอาสนะที่พักอาศัย

๒. ดีมากเลยล่ะค่ะ แต่ผู้ที่จะส่งสูตรอาหารมาเผยแพร่คงต้องทดลองทำหลายครั้งหน่อยนะคะ ผู้อ่านที่เอาไปทำตาม จะได้รับประทานอาหารอร่อยๆ และมีสุขภาพแข็งแรง


 

๑. เกิดมาทำไม
๒. ตายแล้วจะไปไหน
๓. วักกัง แปลว่าอะไร

*** สัมฤทธิ์ มั่งมีศรี / อุดรธานี

๑. แล้วแต่แต่ละคนว่าจะตั้งใจ เกิดมาทำไม ดิฉันจำไม่ได้ว่าชาติก่อนตั้งใจไว้ว่าอย่างไร แต่พอเทียบเคียงได้กับชาตินี้ว่า มีความติดยึดอะไรอยู่ ยังอยากได้อยากมีอยากเป็นอะไร ชาติหน้าก็คงจะเกิดมาไขว่คว้าแสวงหาสิ่งนั้นแหละ พระโพธิสัตว์ท่านอยากช่วยมนุษยโลก ให้พ้นทุกข์ ท่านก็เกิดมาสอนคนอีก ใครอยากรวย เกิดมาก็แสวงหา กอบโกยไปตามอำนาจกิเลส

๒. ข้อนี้ไม่ทราบจริงๆ เคยได้ยินสมณะท่านเปรียบเทียบให้ฟังว่าเหมือนกับความฝัน แต่ความฝัน ยังมีเวลาตื่น ตายแล้วไม่มีเวลาตื่น ถ้าฝันร้ายแล้วไม่ตื่น จะทุกข์ขนาดไหน ลองคิดดู ฉะนั้น ควรจะใช้ชีวิตไปในทางที่เป็นกุศล กล่อม เกลาจิตใจให้ฝักใฝ่ในเรื่องดีงาม จะได้ฝันแต่เรื่องดีๆ

๓. แปลว่า ตับ หรือ ม้าม ค่ะ


 

๑. พุทธภูมิของพระพุทธเจ้าหลังเสด็จปรินิพพาน?
๒. พระภิกษุและสามเณรปัจจุบันไม่ทำตัวสมดังสมณะสารูปในพฤติปฏิบัติ (บางรูป) จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร
*** ประเสริฐ จารุวัฒนกุล/ลำปาง

๑. สูญ ขาดสูญทั้งกิเลสและกายขันธ์

๒. ไม่ใช่ฐานะที่เราจะทำอะไร ได้ นอกจากทำตัวเราเองให้เป็น อุบาสกอุบาสิกาที่ดี ดูแลอุปัฏฐาก พระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ช่วยกันเผยแพร่คำสอนในพระพุทธศาสนา ให้พุทธศาสนิกชนได้เรียนรู้ ให้มากที่สุด จะได้ไม่ไปคบหากับผู้ประพฤติผิด


 

๑. วิธีการต้มถั่วเหลืองให้สุกเร็ว นอกจากต้มด้วยหม้อนึ่งความดันแล้ว ยังมีหม้อต้ม ชนิดไหนบ้าง ที่ใช้แทนกันได้โดยปลอดภัย ใช้หม้อนึ่งความดัน บางครั้งมีปัญหา เปลือกถั่ว อุดรูระบายอากาศ

๒. เนื่องจากผมมีคุณแม่อายุ ๙๐ ปี ต้องนั่งรถเข็น ช่วงกลางวันส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้านแต่ลำพัง เพราะลูกๆ ไปทำงาน ผมอยู่ใกล้ๆ ต้องคอยแวะไปดูเป็นระยะ คิดอยากจะหาสื่อ VDO ธรรมะ เปิดให้ท่านดู หากช่วยแนะนำบ้าง จะเป็นพระคุณยิ่ง
*** สมบูรณ์ หงษ์มโนรมย์ / ปัตตานี

๑. ถามผู้มีประสบการณ์แล้ว ได้ความว่า ให้นำถั่วเหลืองแช่น้ำเปล่าไว้ ๓-๔ ชั่วโมง ถั่วเหลือง จะบวม ขยี้เอาเปลือกออกได้ง่าย แล้วซาวเอาถั่วมาใส่หม้อตุ๋น ใส่น้ำให้ท่วมถั่วขึ้นมา ประมาณ ๒ ข้อนิ้วมือ ถ้าต้องการให้ถั่วนิ่มมากๆ ก็ใส่น้ำเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยได้ ตุ๋นทิ้งไว้ ๕-๖ ชั่วโมง ถ้าใช้หม้ออัดความดัน ใช้เวลา ๒ ชั่วโมง หม้อสองชนิดนี้ต่างกันคือ ชนิดแรกใช้ไฟฟ้า หม้ออัดความดัน ใช้เตาแก๊ส ส่วนปัญหาเปลือกถั่วจะไม่มี ถ้าแช่ถั่วและล้างเอาเปลือกถั่ว ออกก่อนค่ะ

๒. ปัจจุบัน มักจะทำเป็น VCD ดูรายการในหน้าสุดท้ายคอลัมน์นี้ค่ะ


 

๑. ผู้ที่ไม่ได้เป็นญาติธรรม แต่เป็นสมาชิกหนังสืออโศก สามารถเข้าร่วมกิจกรรมบางอย่าง กับชาวอโศกได้ไหม

๒. หนังที่เป็นสาระ เช่น ยอดหญิงนักพัฒนา หรือการ์ตูนเรื่องเด็กเลี้ยงแกะ จะสั่งซื้อได้ที่ไหน และ ราคาแผ่นละเท่าไร
*** สุรสิน เนาคำแพง / อำนาจเจริญ

๑. ยินดีอย่างยิ่งค่ะ

๒. สั่งซื้อได้ที่ธรรมทัศน์สมาคม ค่ะ ราคาประมาณ ๕๐ บาท ดูรายชื่อและราคา ได้ท้ายคอลัมน์นี้ค่ะ


 

ปัจจุบันมีผู้สนับสนุนการส่งหนังสือเพียงพอหรือไม่ และเงินเดือนของพนักงานฟ้าอภัย เพียงพอไหม ในการดำเนินชีวิต หนังสือที่อ่านแล้ว จะนำส่งคืนให้ จะรับคืนไหม บริษัทฟ้าอภัย ยังรับสมาชิกอีกรึเปล่า จำกัดจำนวนไหม
*** ศักดา ฤทธิ์เทพ / ปทุมธานี

พอเพียงทั้งผู้สนับสนุนและเงินเดือนของพนักงานบริษัทฟ้าอภัย ค่ะ สำหรับท่านที่ไม่รู้จัก ขอบอกเล่า นิดหน่อยนะคะว่า ฟ้าอภัยเป็นบริษัทที่รับจ้างพิมพ์งาน ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด แต่เลือกรับงาน เฉพาะงานที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม พนักงานบริษัทรับเงินเดือน ตามอัตรา ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ แต่รับจริงไม่เกิน ๒,๕๐๐ บาท จึงมีส่วนเหลือรวมกันเป็นเงินกองบุญ ซึ่งนอกจาก จะใช้เป็นสวัสดิการของพนักงานแล้ว ยังใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ได้มากมาย เช่น การขายหนังสือ เล่มละบาทในงานปีใหม่ ที่จังหวัดอุบลราชธานี การบริจาคเงินสนับสนุน การปรับปรุงพื้นที่ ชุมชนสันติอโศก เป็นต้น ทั้งนี้ทำด้วยความสมัครใจ ใครที่มีความจำเป็น ส่วนตัว ที่ต้องรับเงินเดือนมากๆ ก็ไม่มาสมัครทำงานกับฟ้าอภัยแน่นอน

ที่คุณศักดาถามว่า รับสมัครสมาชิกไหม ถ้าหมายถึงสมาชิกที่ช่วยทำงานในบริษัทล่ะก็ ยังรับอยู่ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเภทไม่รับเงินเดือน ทำหน้าที่เก็บเล่ม ตรวจจำนวนหน้า จำนวนยกหนังสือ และอื่นๆ อีกจิปาถะที่จะต้องช่วยกันดูแล แต่ถ้าหมายถึงสมาชิกหนังสือล่ะก็ บริษัทฟ้าอภัย ไม่ได้รับสมาชิกค่ะ สมัครได้ที่สมาคมผู้ปฏิบัติธรรม ตามที่อยู่ในหน้าสารบัญ ของดอกหญ้า นี่แหละค่ะ

หนังสือที่อ่านแล้ว กรุณาบริจาคต่อให้บุคคลอื่น หรือสถานศึกษาใกล้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถาบัน หรือห้องสมุดประชาชน จะได้มีผู้รับประโยชน์ จากดอกหญ้า ได้มากขึ้นค่ะ


 

กองบรรณาธิการได้รับค่าใช้จ่ายจากไหน หรืออุทิศฟรี ถ้าไม่มีค่าใช้จ่ายเลย จะอยู่ได้หรือ
*** ประมวล บุญเย็น / ศรีสะเกษ

- อาหารการกิน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ยา และที่พักอาศัย มีคนช่วยเหลือดูแลอยู่ตามสมควรค่ะ ไม่ลำบากอะไร วัสดุอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในการทำงานก็มีผู้จัดหาให้ ขาดเหลืออะไร ก็บอกเพื่อน ผู้ปฏิบัติธรรม คิดทบทวนชีวิตตัวเองทีไร ก็รู้สึกเป็นบุญนะ ที่ได้อยู่ในหมู่ ผู้ปฏิบัติธรรม และ ในสังคมไทย ยังไงๆ คนไทยก็ใจบุญ


 

๑. อยากถามคณะผู้จัดทำว่าเคยเหนื่อยเคยท้อแท้หมดกำลังใจในการทำ "ดอกหญ้า" จนคิดจะเลิกบ้างหรือไม่ หากเคย มีวิธีอย่างไรจึงรักษา "ดอกหญ้า" มาได้จนถึงปัจจุบันนี้

๒. ขณะนี้ผู้อ่านดอกหญ้ามีจำนวนเท่าใด เพศใด วัยใด ที่อ่านดอกหญ้ามากที่สุด

๓. อยากทราบว่าบทความถ้อยคำสิริมงคล มีวิธีคัดเลือก ถ้อยคำอย่างไร และข้อมูล ที่นำเสนอนั้นมาจากที่ใด
*** สุภัททะ รัตนดวงตา / นครปฐม

๑. เคยคิด แต่ไม่ได้คิดจะเลิกจริงจังหรอกค่ะ เพียงแต่เวลางานมากๆ ก็อยากจะลดงาน ลงบ้างเท่านั้น แล้วก็ไม่มีวิธีใดที่จะรักษา "ดอกหญ้า" ไว้ แค่คิดถึงประโยชน์ที่พวกเรา แต่ละคน เคยได้รับ จากการอ่านหนังสือธรรมะ แล้วก็คิดถึงประโยชน์ที่ผู้อ่านได้รับจาก "ดอกหญ้า" แค่นี้ก็หยุดทำไม่ลงหรอกค่ะ

๒. อย่างน้อยก็เท่าจำนวนพิมพ์คือประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน แต่ท่านผู้อ่านหลายท่านส่งต่อให้ ผู้อื่นอีก ก็เลยไม่ทราบจำนวนที่แท้จริง ส่วนเพศกับวัย พิจารณาจากจดหมาย ที่ตอบรับ ส่วนใหญ่เป็นสตรี และเป็นผู้ใหญ่ วัยประมาณ ๓๐ ปีค่ะ

๓. ถ้าเป็นไปได้ก็คัดเลือกให้สอดคล้องกับชื่อฉบับ แต่ที่สำคัญกว่าคือ สอดคล้องกับ สถานการณ์บ้านเมือง ข้อมูลจากประสบการณ์ของผู้เขียนค่ะ


 

๑. ใครเป็นนายกสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม
๒. ได้รับงบประมาณการกุศลจากแหล่งใด
๓. จะช่วยสนับสนุนสมาคมได้อย่างไร
๔. มูลนิธิธรรมสันติ มูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน วัดสันติอโศก เกี่ยวข้องหรือขึ้นตรงกับสมาคม ผู้ปฏิบัติธรรมหรือไม่ อย่างไร
*** อุกฤษ ทิพพะพาทย์ / นนทบุรี

๑. นายสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง

๒. จากผู้ปฏิบัติธรรมช่วยกันบริจาคตามกำลังศรัทธา

๓. วิธีที่ดีที่สุดคือปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดำรงชีวิตแบบ พุทธศาสนิกชนที่แท้

๔. มูลนิธิทั้งสอง และสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้น เพื่อเผยแพร่พระธรรม คำสอนในพระพุทธศาสนา และสนับสนุนการดำเนินงานของ พุทธสถานสันติอโศกค่ะ


 

ถ้าคนเหมือนผมที่ทำดีอยู่แล้ว จะสมัครเป็นสมาชิกอยู่กับสมาคมผู้ปฏิบัติธรรมที่สำนักของท่าน ท่านจะให้ไปอยู่ได้หรือไม่ และทางสมาคมจำกัดอายุหรือไม่
*** สำรวย พ่วงทอง / นครศรีธรรมราช

สมาคมผู้ปฏิบัติธรรมเป็นเพียง หน่วยงานเล็กๆ ค่ะ สถานที่ปฏิบัติธรรมคือพุทธสถานสันติอโศก ทุกท่านสมัครเข้าไปอยู่ได้ ไม่จำกัดอายุ แต่จำกัดคุณสมบัติว่า จะต้องถือศีล ๘ รับประทาน อาหารมังสวิรัติ วันละมื้อเดียว แล้วก็ไม่มีโรคติดต่อ ไม่มีคดีความ สามารถปฏิบัติตามระเบียบ ของพุทธสถานได้ เช่น ตื่นตีสามครึ่ง ไม่สวมรองเท้า ใช้เสื้อผ้าไม่เกิน ๓ ชุด เป็นต้น

 

ขณะนี้นักเรียน สปช.ทั่วประเทศ ๑,๐๐๑,๙๔๕ คน ใน ๗๕ จังหวัด มีภาวะทุพโภชนาการ อยากทราบสถิติ ของสมาชิกดอกหญ้าว่า มีปัญหาเหล่านี้หรือไม่ ถ้าไม่มี ควรสนับสนุน นักเรียน เหล่านี้อย่างไร
*** จรัล อินบุญนะ / กทม.

ถ้ามีปัญหา ก็ไม่ใช่เพราะรับประทานอาหารมังสวิรัติหรอกค่ะ แต่จะเป็นเพราะรับประทานอาหาร ตามใจปาก มากกว่าคำนึงถึงคุณค่าอาหาร ทำให้ขาดอาหาร สุขภาพก็เลยไม่ดี มีแต่ทุกขภาวะ สำหรับนักเรียน ดิฉันเห็นโรงเรียนในชนบท ส่วนใหญ่มีพื้นที่กว้างขวางว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เคยถามเพื่อนเหมือนกันว่า ทำไมครูไม่นำพานักเรียน ปลูกพืชผักไว้กิน เขาว่าเพราะมันแล้ง ไม่มีน้ำ ดินไม่ดี

ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ด้วยการใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์บำรุงดิน ส่วนน้ำนี่ดิฉันว่าใช้น้ำล้างจาน หรือน้ำซักผ้า น้ำสุดท้ายที่เป็นน้ำเปล่า แทนที่จะทิ้งก็เอามารดน้ำต้นไม้ น่าจะได้ ต้องลำบากหน่อย คุณครู ต้องเริ่มเสียสละก่อนล่ะค่ะ สละเวลาและแรงกาย นำพาเด็กๆ ทำ


 

เราจะได้ผู้บริหารประเทศ ที่มีคุณธรรมได้อย่างไร
*** กรรณธรัตน์ เสียงสกุล / ลำปาง

ประชาชนก็ต้องมีคุณธรรมก่อน เพราะประชาชนเป็นคนเลือกรัฐบาล



อยากอ่านเหตุเกิด พ.ศ.๑ จะขอบิณฑบาตได้หรือเปล่า เพื่อเก็บไว้ศึกษา ณ ห้องสมุด วัดชมพูนิมิตร
*** พระมหาอุทัย อนามโย วัดชมพูนิมิตร ถ.ท่าเรือสุไหงอุเน แขวงทุ่งหว้า เขตทุ่งหว้า สตูล ๙๑๑๒๐

ส่งเรื่องให้โครงการสังฆทานของมูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อนแล้วค่ะ


เท็ปเก่าสมัยก่อนโน้น สมาชิกท่านใดจะบริจาคเท็ปธรรมะของพ่อท่าน (สมณะโพธิรักษ์) ชุดไหนก็ได้ หนังสือเก่าที่อ่านแล้ว เกี่ยวกับกรรมที่เห็นทันตา รับบริจาคที่ผมเจษฎาครับ
*** เจษฎา กาฬจันทร์ ๙๐ หมู่ ๑ ถ.เทศบาล ๙ ตำบลม่วงสามสิบ อำเภอม่วงสามสิบ อุบลราชธานี ๓๔๑๔๐

คุณเจษฎาไม่ใช่พระ ส่งเรื่องให้โครงการสังฆทานไม่ได้ ต้องพึ่งท่านผู้อ่าน "ดอกหญ้า" แล้วล่ะค่ะ


 

ขอจบด้วยจดหมายและบัตรอวยพร จากคนใกล้ๆ ที่สละเวลาว่าง จากการงานอาชีพ ไปช่วยงานที่วัดเป็นประจำ

ดิฉันได้รับประโยชน์ จากการอ่านดอกหญ้าเสมอมา หยิบอ่านครั้งใดก็ได้ประโยชน์ทุกครั้ง เหมือนอาหารนะคะ ตักเข้าปากก็รู้สึกดีๆ ได้คุณค่าอาหาร แล้วก็อิ่มท้องด้วย ชอบอ่าน ปัจฉิมลิขิต เพราะเหมือนได้ทำความรู้จักผู้อ่านดอกหญ้าไปด้วยในตัว และบางทีสิ่งที่เราสงสัย อยากจะถาม ก็มีคนใจตรงกันเขียนมาถาม บก. เรียบร้อยแล้ว ดิฉันก็เลยได้รับคำตอบ ได้รับประโยชน์ไปด้วย ทุกครั้งจะได้ข้อคิดและพลังใจ คนอื่นที่ต้องต่อสู้ ฝึกฝน ลำบากลำบน กว่าเรายังมีอีกมากนัก จะเหนื่อยจะเบื่อจะท้อไปทำไมกัน เข้มแข็งเข้าไว้ บอกตัวเองแล้วก็พลิก ไปอ่านเนื้อหาข้างใน อ่านดอกหญ้า นับว่าเป็นการชาร์จ พลังงานกาย และพลังงานใจไปพร้อมๆ กัน

สิ่งที่ยังทำได้ยากแต่ยังตั้งใจทำอยู่ของดิฉันคือ เรื่องของอารมณ์เรียกร้อง อยากให้ได้ทุกอย่าง ตามใจ ยังมีอยู่มากทีเดียว เป็นเพราะได้ดั่งใจมามาก จนขาดแบบฝึกหัดการถูกขัดใจ มานั่งขัดกันตอนนี้ รู้สึกว่ามันมีของเก่าสั่งสมพอกพูนมาอย่างหนาหลายมิล (ลิเมตร) บางทีมีคนมาช่วยขัดทั้งโดยจงใจและไม่จงใจ กระดาษทรายเบอร์ใหญ่ไป ก็เจ็บแสบ แทบน้ำตาร่วง ไปเหมือนกัน แต่ก็ไม่ท้อค่ะ ทุกวันนี้ก็ยังคงฝึกหัดขัดเกลาตนเองอยู่อย่างตั้งใจ

จะส่งท้ายปีเก่าแล้ว ขอส่งกำลังใจมาให้ทีมงานทุกๆ คนดูแลสุขภาพด้วยนะคะ
*** กล้าแสงฟ้า สุขัคคานนท์ / สมุทรปราการ

ท่านผู้อ่านทุกท่านก็คงมีจิตใจเหมือนน้องกล้าแสงฟ้า คือรักดอกหญ้า เป็นห่วงทีมงาน และ กำลัง พัฒนาตนเอง ขอบคุณมากๆ ค่ะที่มีความรู้สึกดีๆ ให้กัน

น้องกล้าแสงฟ้าและท่านผู้อ่านทุกท่านก็เช่นกัน ดูแลสุขภาพ กายและสุขภาพใจให้ดีนะคะ


รายชื่อวีซีดีธรรมะ
ชุดละ ๑ แผ่น ราคา ๕๐ บาท
๑. ๓๐ ปีแห่งการงาน (ชาวอโศก)
๒. ความหลัง (สมณะโพธิรักษ์และชาวอโศก)
๓. นายกฯเยือนบ้านราช
๔. เคล็ดลับกสิกรรมธรรมชาติ (ครูอุดม ศรีเชียงสา)
๕. สาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพ (ป้าเกลี้ยง)
๖. ลูกจ๋าอยู่ไหน
๗. ข่าวใหญ่ของชาวอโศก
๘. ศึกษาชีวิตแนวคิดผู้นำชาวอโศก
๙. แลไปข้างหน้าโลกอนาคต (ดร.นิติภูมิ นวรัตน์)
๑๐. บัญญัติ ๕ ประการ กสิกรรมไร้สารพิษ (คุณสมพงษ์ คงจันทร์)
๑๑. ทำนาไร้สารพิษ
๑๒. ยอดหญิงนักพัฒนา
๑๓. ธรรมะรับอุรณที่หินผาฟ้าน้ำ (สมณะโพธิรักษ์)
๑๔. ข่าวเด่นแวดวงอโศกในรอบปี
๑๕. อาหารมนุษย์ (หมออารี วชิรมโน)
๑๖. ชัยชนะของยาย
๑๗. พ่อหลวงคิดอะไร
๑๘. ชีวิตชุมชนคนเหนือน้ำ
๑๙. นาไร้สารพิษ ๑๐๐ ถัง/ไร่
๒๐. ธรรมะรับอรุณที่สีมาอโศก (สมณะโพธิรักษ์)
๒๑. เดี่ยวไมโครโฟน (อาจารย์ไม้หอม)
๒๒. อภิมหาอำนาจทำลายวัฒนธรรมเพื่อนบ้าน (ดร.นิติภูมิ นวรัตน์)
๒๓. เมื่องานรุมรอบทิศ (ท่านจันทร์)
๒๔. เมื่องานรุมรอบทิศ (สิกขมาตุกล้าข้ามฝัน)
๒๕. น้ำเต้าหู้สู้วิกฤต (คุณถาวร พิบูลย์)
๒๖. ธรรมะเบาใจ (ถ่ายจากสไลด์)
๒๗. สงครามเมล็ดพันธุ์
๒๘. สัจธรรมชีวิตเพื่อฟ้าดินที่บ้านราช
๒๙. ๒๐ ปีปฐมอโศก
๓๐. สาระบันเทิงงานเพื่อฟ้าดินครั้งที่ ๑๐

ชุดละ ๒ แผ่น ราคา ๖๐ บาท
๑. โยคะ (อาสนะเบื้องต้น)
๒. พุทธประวัติ (ถ่ายจากสไลด์)
๓. ๒๕ ปี โพธิกิจ
๔. คืนสู่เหย้า เข้าคืนถ้ำ (สมณะโพธิรักษ์)
๕. โฮมไทวัง (สมณะโพธิรักษ์)
๖. อีคิวโลกุตระ ตอน ๑๓-๑๕ (สมณะโพธิรักษ์)
๗. ตอบเปรี้ยงถึงความไม่เที่ยง (สมณะโพธิรักษ์)
๘. ศรัทธานั้นสำคัญไฉน (สมณะติกขวีโร-สมณะถิรจิตโต)
๙. ชุมชนน่าอยู่ (สมณะสิริเตโช)
๑๐. การศึกษานั้นสำคัญไฉน (สิกขมาตุรินฟ้า)
๑๑. ของดีจากพ่อท่าน (สมณะถิรจิตโต)
๑๒. พ่อท่านจะอยู่กับเราอย่างยืนยาวได้แน่หรือ (สมณะปพโล)
๑๓. นักการเมืองคือนักการศาสนา (สมณะโพธิรักษ์)

ชุดละ ๑ แผ่น ราคา ๗๕ บาท
๑. คาราโอเกะเพลงครูรัก

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๐ พฤศจิกายน - ธันวาคม ๒๕๔๖ -