บทวิจารณ์ - ฟ้าเมือง ชาวหินฟ้า -
ยุทธศาสตร์การสู้เพื่อแผ่นดิน

ในหนังสือสามก๊ก มีเหตุการณ์สำคัญตอนหนึ่งที่โจโฉแตกทัพเรือ โดยโจโฉได้ยกกองทัพใหญ่จะไปตีแคว้นของซุนกวน แต่ไพร่พลของโจโฉไม่ชินกับการสู้รบทางน้ำ เวลาอยู่บนเรือเล็กก็มักจะเมาคลื่น

โจโฉจึงสั่งการให้ต่อแพขนาดใหญ่จำนวนมาก แล้วนำแพมาผูกติดกันจนเสมือนเป็นพื้นราบที่กว้างใหญ่ เพื่อให้ไพร่พลของตนใช้ซ้อมรบและอาศัยเป็นฐานในการล้อมโจมตีเมืองของซุนกวน

ผลที่สุด จิวยี่และขงเบ้งต่างมีความเห็นสอดคล้องตรงกัน โดยวางยุทธศาสตร์ใช้ไฟทำลายกองทัพของโจโฉ และขงเบ้งก็อาสาวางแผนใช้ไฟเผาแพที่นำมาต่อกันเป็นฐานทัพทางน้ำดังกล่าว

เมื่อแพติดไฟและมีลมแรง ไฟก็ลุกลามจากแพหนึ่งไปสู่อีกแพหนึ่ง ทำให้กองทัพของโจโฉเกิดความปั่นป่วน และถูกโจมตีจนแตกทัพพ่ายไปอย่างง่ายดาย ทั้งๆ ที่เป็นฝ่ายได้เปรียบเหนือกว่าทางด้านกำลังพลมาก

ระบบเศรษฐกิจโลกในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่บีบให้แต่ละประเทศต้องเปิดเสรีทางการค้า และผูกโยงระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในโลกให้เชื่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็กำลังจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีตอนโจโฉแตกทัพเรือ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น กรณีเหตุการณ์โรคซาร์ ระบาดในบางประเทศเมื่อปี ๒๕๔๖ ที่ผ่านมา อันที่จริง มีคนป่วยและตายด้วยโรคซาร์จำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการป่วยและการตายด้วยโรคอื่นๆ อาทิ โรคมะเร็ง หัวใจ อุบัติเหตุ หรือโรคเอดส์ เป็นต้น

แต่เมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไป ความตื่นกลัวทำให้แต่ละประเทศต่างวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเข้มงวด เพราะเกรงว่าถ้าเกิดการระบาดขึ้นแล้ว ประเทศของตนจะถูกตัดขาดการติดต่อค้าขายกับประเทศอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของตนอย่างรุนแรง

หากเป็นสมัยก่อน ผลกระทบจากการระบาดของโรคซาร์จะไม่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ มากมายเหมือนปัจจุบัน แต่ภายใต้ยุคโลกาภิวัตน์ ที่บีบให้เกิดการนำเอาระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั้งโลกมาผูกติดเป็นโครงสร้างเดียวกัน วิกฤตการณ์ของโรคระบาดที่เกิดขึ้นกับประเทศหนึ่ง ก็ส่งผลกระเทือนต่อเนื่องลุกลามเป็นลูกโซ่ กระทบไปถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย

ถึงแม้จะเกิดการระบาดของโรคแค่ไม่กี่ประเทศในแถบฮ่องกง ไต้หวัน จีน สิงคโปร์ แต่สายการบินทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบ เพราะคนเดินทางลดลง ทำให้ประสบภาวะขาดทุน รายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ก็ลดน้อยลงด้วย

ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ ต่างได้รับผลกระทบตามมา ถ้าภาวะการระบาดของโรคขยายตัวต่อไปโดยหยุดไม่อยู่เหมือนการระบาดของโรคเอดส์

ธุรกิจต่างๆ ที่ทนภาวะการขาดทุนต่อไปไม่ได้ก็จะหยุดกิจการ หรือลดขนาดโดยปลดคนออกบางส่วน เมื่อคนตกงานเพิ่มมากขึ้น กำลังซื้อก็จะลดลง เพราะต้องใช้เงินออมที่เหลืออย่างจำกัดจำเขี่ย ธุรกิจสาขาอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องตามมา โดยเมื่อขายสินค้าหรือบริการได้น้อยลง ในที่สุดก็ต้องปิดกิจการหรือลดขนาดโดยปลดคนออกบ้าง

ยิ่งคนตกงานมากขึ้น กำลังซื้อในตลาดก็จะยิ่งลดลง ทำให้กิจการต่างๆ ต้องทยอยปิดตัวเองเพราะทนภาวะการขาดทุนต่อไปไม่ได้ สินค้าจากต่างประเทศที่ส่งเข้ามาขายก็จะขายไม่ออกด้วย ทำให้ผลกระทบลุกลามไปถึงประเทศที่ห่างไกลการระบาดของโรค แต่มีการติดต่อค้าขายกับประเทศแถบภูมิภาคที่มีโรคระบาด

เมื่อสินค้าของประเทศส่งออกเหล่านั้นขายได้น้อยลงๆ ถึงจุดหนึ่งก็ต้องลดกำลังการผลิตหรือหยุดกิจการ ทำให้มีคนตกงาน หากจำนวนคนตกงานเพิ่มมากขึ้นถึงจุดที่มีนัยสำคัญกระทบต่อกำลังซื้อภายในประเทศนั้นๆ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้นในวงจรแบบเดียวกัน คือเมื่อกำลังซื้อลดลง ธุรกิจอื่นๆ ก็จะทยอยปลดคนออก ทำให้คนว่างงานมากขึ้น ยิ่งคนตกงานมากเท่าไร ก็จะยิ่งไปฉุดดึงเหนี่ยวนำให้กิจการสาขาอื่นๆ เกิดภาวะขาดทุน และยิ่งต้องปลดคนงานออกมากขึ้นๆ เท่านั้น

โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกอันยิ่งใหญ่ จึงเหมือนฐานทัพทางน้ำที่มั่นคงของโจโฉ ซึ่งแฝงไว้ด้วยจุดอ่อนที่เปราะบาง เพียงถูกจุดไฟเผาแพบางส่วน ไฟก็ลุกติดจากแพหนึ่งสู่อีกแพหนึ่ง จนสามารถทำลายฐานทัพทางน้ำที่อลังการนั้นได้อย่างง่ายดายชั่วข้ามคืน

มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มากมายซึ่งสามารถก่อให้เกิดวิกฤตการณ์แบบโจโฉแตกทัพเรือ ภายใต้เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ทุกวันนี้ เช่น

สงครามหรือการก่อการร้ายขนาดใหญ่ซึ่งขยายขอบเขตจากปัญหาความขัดแย้งในประเทศตะวันออกกลาง และทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้นต่อเนื่อง เหมือนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงสงครามอิรักที่น้ำมันแพงขึ้นทั่วโลก

น้ำมันเป็นต้นทุนที่สำคัญในการผลิตและขนส่งสินค้า ถ้าราคาน้ำมันแพงขึ้นจนตรึงไว้ไม่อยู่ ราคาสินค้าและบริการต่างๆ ก็จะต้องแพงขึ้นตามมาด้วย ทำให้กำลังซื้อของผู้คนลดลงโดยเปรียบเทียบ (มีเงินเดือนเท่าเดิมแต่ข้าวของแพงขึ้น ก็จะซื้อสินค้าได้น้อยลง) เมื่อจำหน่ายสินค้าและบริการได้น้อยลง ในที่สุดกิจการต่างๆ ก็ต้องลดกำลังการผลิตและปลดคนออก เมื่อคนตกงานกำลังซื้อก็ยิ่งถดถอย ทำให้มีการลดการผลิตและต้องปลดคนออกมากขึ้น ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามลำดับๆ

นอกเหนือจากตัวอย่างที่กล่าวมา การเกิดภัยพิบัติในธรรมชาติเพราะวิกฤตการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเกิดโรคระบาดใหม่ๆ อาทิ ไข้หวัดนกที่กำลังระบาด เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่สามารถเป็นชนวนก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และอาจลุกลามต่อไปเป็นวิกฤติการณ์ทางการเมืองได้ทั้งสิ้น

หากโจโฉวางยุทธศาสตร์ใหม่ โดยแบ่งแพเป็นกลุ่มๆ ไม่นำแพมาผูกติดกันทั้งหมด และให้แพแต่ละกลุ่มมีช่วงห่างกันพอเหมาะ เพื่อเป็นแนวกันไป แต่ก็อยู่ใกล้พอจะติดต่อช่วยเหลือกันได้สะดวก กองทัพของโจโฉคงจะไม่ถูกทำลายโดยง่ายดายเหมือนที่เกิดขึ้น และอาจจะเป็นฝ่ายชนะในการศึกครั้งนั้นก็ได้

ยุทธศาสตร์การต่อสู้กับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในโลกยุคโลกาภิวัตน์นี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีการจัดหน่วยการผลิตแต่ละหน่วยให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างอิสระ ในชุมชนหรือหมู่บ้าน หากมีผลผลิตส่วนเกินจำเป็นในการบริโภคค่อยนำออกจำหน่าย แล้วมีการเชื่อมโยงหน่วยการผลิตแต่ละหน่วย ให้เกื้อกูลกันเป็นเครือข่ายแต่ละเครือข่าย โดยมีการติดต่อช่วยเหลือกันระหว่างแต่ละเครือข่าย

การจัดโครงสร้างระบบความสัมพันธ์แบบนี้ จะทำให้หน่วยการผลิตแต่ละหน่วยที่รวมกันเป็นชุมชนหรือหมู่บ้าน มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคง ถึงจะไม่ร่ำรวยมั่งคั่ง แต่ก็มีฐานะที่มั่นคง พอกินพอใช้ ไม่ต้องกลัวอดตาย หรือกลัวตกงาน

ถึงแม้จะมีวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น หน่วยการผลิตแต่ละหน่วยเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนัก เพราะมีปัจจัยพื้นฐานสำหรับการบริโภคอย่างพอเพียง ถึงขายผลผลิตบางตัวได้น้อยลง ก็ไม่ทำให้ถึงกับอดอยาก ไม่ทำให้ถึงกับตกงาน จนต้องไปก่ออาชญากรรมต่างๆ เพื่อความอยู่รอดของชีวิต

อย่างตอนนี้กำลังเกิดวิกฤตการณ์โรคไข้หวัดนกระบาด ประเทศที่เคยสั่งซื้อไก่จากไทยก็ลดการสั่งซื้อลง คนไทยบริโภคไก่น้อยลง เกษตรกรที่ทำฟาร์มเลี้ยงไก่ เมื่อขายไก่ไม่ได้ก็ย่อมประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก เพราะมีผลผลิตที่สร้างรายได้เพียงอย่างเดียว

ถ้าเกษตรกรในชุมชนหรือหมู่บ้านหนึ่งๆ มีการปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงไก่ ทอผ้า ฯลฯ เพื่อไว้บริโภคในครัวเรือน หากมีผลผลิตส่วนเกินสำหรับการบริโภค ก็นำมาแลกเปลี่ยนซื้อขายภายในหมู่บ้านหรือชุมชนนั้นๆ ถ้ายังมีผลผลิตส่วนเกินเหลืออีก ค่อยนำมารวมกันเพื่อจำหน่ายให้กับหมู่บ้านอื่นๆ โดยอาจทำในรูปสหกรณ์

เมื่อมีเหตุการณ์ไข้หวัดนกระบาด ทำให้ราคาไก่ตกต่ำเพราะคนไม่กล้าบริโภคไก่ อันเป็นเสมือนไฟที่ลุกลามมาจากภายนอก

แต่ไฟแห่งความเดือดร้อนนั้นจะถูกสกัดไม่ให้ไหม้ลามเข้ามาทำลายหมู่บ้านหรือชุมชนแห่งนี้ โดยอาจจะได้รับผลกระทบแค่คลื่นความร้อนในระดับหนึ่งบ้าง คือขายไก่บางส่วนไม่ได้ แต่ก็ไม่ถึงกับเดือดร้อนจนล้มละลายเหมือนถูกไฟเผาไหม้บ้านหมดทั้งหลัง

ทั้งนี้เพราะยังมีผลผลิตตัวอื่นๆ ที่สามารถจำหน่ายได้ และที่สำคัญก็คือ ทุกคนยังมีอาหารพอ ให้กินอิ่มท้องทุกมื้อ ไม่อดตาย ไม่ตกงาน เนื่องจากไม่ได้มุ่งผลิตสินค้าอย่างเดียวจำนวนมากๆ เพื่อแลก กับเงิน แล้วค่อยนำเงินไปแลกกับอาหารอีกที (เมื่อไม่มีเงิน ก็เลยอดอยาก)

ฉะนั้นถึงมีเงินลดน้อยลงจากการขายไก่ไม่ได้ แต่อาหารสำหรับกินให้อิ่มท้องทุกมื้อยังมีอยู่เท่าเดิม ก็เลยไม่ถึงกับเดือดร้อนมากนัก

ยุทธศาสตร์การต่อสู้โดยนำแพทั้งหมดมาผูกติดกันแบบที่โจโฉทำ ก็คือนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งผูกโยงเอาเศรษฐกิจของเราเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก

ส่วนยุทธศาสตร์การสู้รบ โดยแยกแพเป็นกลุ่มๆ และให้แพแต่ละกลุ่มสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างอิสระในระดับหนึ่ง ก็คือนโยบายการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ตรัสถึง ยุทธศาสตร์การสู้เพื่อรักษาแผ่นดินแบบไหน จะประสบผลสำเร็จมากกว่าในโลกยุคโลกาภิวัตน์นี้คงจะค่อยๆ ได้เห็นกันชัดเจนขึ้น

ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๑ มกราคม - กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗