- อุบาสก ชอบทำทาน -

ฝึกฝนคนทำงาน ให้ "เป็นงาน" และ "เก่งงาน"


คำขวัญประจำปี ๒๕๔๗ ของชาวอโศกคือ "ไม่รอ-ไม่หวัง-แต่เราทำ" และเราคงไม่รอใครทั้งสิ้น เพราะจะเสียเวลาไปเปล่าๆ เริ่มที่ตัวเองดีกว่ามัวรอการเปลี่ยนแปลงจากผู้อื่น!

วันนี้ปฏิรูปการศึกษาจะเป็นมรรคผลแค่ไหน อย่าได้คาดหวัง อย่าคิดว่าเป็นยาวิเศษ ที่จะแก้ปัญหา การศึกษาไทยได้สำเร็จ

โดยหลักการอาจค้นพบแนวทางอันประเสริฐ ก็จริงนะครับ แต่ "บุคลากร" ไม่ตั้งใจ ไม่จริงใจ และรวมไปถึงไม่มีคุณภาพ แล้วจะไปรอดได้อย่างไร?

ดาบกายสิทธิ์อยู่ในมือคนกระจอกมันก็ไร้ค่านะครับ หรือเรากำลังหลอกตัวเองไปวันๆ ฝากผีฝากไข้กับการปฏิรูปการศึกษาที่คาดหวังจะเป็นแหวนวิเศษ พัฒนาเด็กไทยไปสู่ทิศทางที่ปรารถนา!

จากการสำรวจ "พฤติกรรมในการทำงาน" วันนี้เรากลับพบปัญหาที่หนักใจคนทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ในหน่วยงานใดก็ตาม

ยิ่งคนทำงานที่จบมหาวิทยาลัยไม่กี่ปี ก็จะยิ่งหนักกว่าเขา

ในเกือบ ๕๐ พฤติกรรมเชิงลบ เราพบว่า พฤติกรรม "ขาดความเข้าใจในการปฏิบัติงานบางอย่าง" มักจะอยู่ในอุปสรรคลำดับต้นๆ เสมอมา

นี่แหละครับ ลักษณะการทำงานที่ไม่เป็น-ไม่เก่ง

อะไรคือต้นเหตุ?

ครับ ก็ต้องโทษการศึกษาที่ผ่านมาเป็นหลัก

มีข้อสันนิษฐานดังนี้ครับ

- ไม่ค่อยทำการบ้านด้วยตัวเอง
- ไม่ค่อยทำรายงานค้นคว้าด้วยตัวเอง
- ไม่ค่อยมีกิจกรรมร่วมกับทางสถาบัน

ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับ ทำไมนักศึกษา ที่ขยันทำกิจกรรม จึงมักประสบความสำเร็จในการ ทำงานมากกว่าพวกเรียนเก่ง?

เพราะในกิจกรรมต่างๆ เป็นบทเรียนชั้นดี ในการหล่อหลอมให้เขาแกร่ง-เก่ง มีความฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหา ในการเอาตัวรอด! อยากให้ลูกหลาน "เป็นงาน-เก่งงาน" ลองเปิดใจฟัง เหตุผลของเขาสักนิดนะครับ

เคล็ดลับก็คือ

ขอให้ทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะทำการบ้าน ทำรายงาน

การทำอะไรด้วยตัวเองเท่ากับฝึกฝนให้เส้นปฏิภาณไหวพริบในการเข้าใจปัญหา และแก้ไขปัญหาได้เติบโต เจริญก้าวหน้าไปสู่ความแข็งแกร่ง

ต้องเริ่มที่เด็กครับ เหมือนการให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่เกิด ร่างกายจะแข็งแรง คนที่ร่างกายอ่อนแอ เมื่อโตขึ้น เราอาจจะพบว่า ตอนเป็นทารกอดกินนมแม่!

พ่อแม่บางคนวิตกกังวลเกินเหตุเมื่อลูกทำการบ้านไม่ได้

บางโรงเรียนทำธุรกิจด้วยการสอนนักเรียนทำการบ้านในตอนเย็น ช่วงรอผู้ปกครองมารับ

ก็ดูดีสำหรับผู้ใหญ่ แต่ลูกหลานเราต่างหากที่เส้นปฏิภาณทั้งหลายจะฝ่อตาย

พลังทะลุทลวงปัญหาหายไปเพราะไม่เคยฝึกฝน

แม้แต่การค้นคว้าทำรายงาน เด็กต้องวางแผน ต้องเข้าห้องสมุด ต้องค้นหาวัตถุดิบจากแหล่งต่างๆ

ทั้งหมดนี้คือการฝึกฝนเพิ่มพลังแห่งไอคิว

และวันนี้ที่มีการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีหรือโทก็ตาม ผู้เรียนตั้งใจเรียนเพื่อรู้ หรือสักแต่ว่า ให้ผ่านๆ ไป?

คุณภาพทางการศึกษาของไทยสังคมไทยจึงตกต่ำ อย่างน่าใจหาย

หลายๆ มหาวิทยาลัยทำการศึกษาให้เป็นธุรกิจ เน้นผลกำไรมากกว่าคุณภาพ

หลายมหาวิทยาลัยจึงออกข้อสอบง่ายๆ เพื่อให้ผ่านๆ ไป

ครูบาอาจารย์ก็ออกข้อสอบปรนัย เลือก ก ข ค ง ด้วยต่างอ้างว่า "ไม่มีเวลา"

ความรู้วันนี้จึงเหมือนต้นไม้ที่เขาตอนมา มีแต่รากฝอย ไม่มีรากแก้ว

ให้ผลได้บริโภค แต่อายุไม่ยืน และแสนจะอ่อนแอ

คุณภาพของคนจึงเหมือนต้นไม้ที่ตอนมา

ทำอะไรด้วยตัวเองจึงมิใช่แค่นี้นะครับ มีอีกครับ

การหัดเข้าร่วมกิจกรรมในโรงเรียน ก็จะยิ่งทำให้มีความสามารถสูงขึ้น

และตัวช่วยตัวสุดท้ายที่น่าสนใจก็คือ "การหัดทำงานบ้าน"

พ่อแม่หลายคนมิจฉาทิฐิเพราะเหตุรักลูกผิดๆ

กลัวลูกจะไม่เก่ง กลัวจะลำบาก ก็เลยคิดแต่จะให้ลูกเรียนเก่งอย่างเดียว หารู้ไม่ว่า การทำงานบ้าน นั่นแหละ เป็นครูคนแรกที่จะฝึกให้ลูกของเราเป็นคนทำงานเป็นและเก่ง

งานบ้านนั้น หมายถึง การฝึกบริหาร จัดการแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ให้ลุล่วง

สรุปความแล้ว จะให้เก่งงาน ต้องเริ่มที่เด็ก โดยเริ่มทั้งที่บ้าน และในโรงเรียนของเด็กนั่นเอง

นี่แหละครับ ความหมายของการศึกษาที่เป็นบูรณาการ

ที่จะทำให้แกร่ง เชื่อมั่น มีไหวพริบ

มิใช่เก้งก้าง ไม่มั่นใจ และซื่อบื้อ!

ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๑ มกราคม - กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗