- อัตถ์ พึ่งประยูร -
วันพ่อ


๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕
ณ โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร
เสียงจอแจของเด็กวัย ๓ ขวบครึ่งถึง ๖ ขวบ ลั่นห้องประชุม
โรงเรียนแห่งนี้จัดงาน "วันพ่อ" เช่นทุกปีมา

ให้พ่อ-แม่นำนักเรียนหรือลูกของตนมาเข้าพิธี "มอบดอกไม้ จากใจลูกสู่พ่อ"

เป็นพิธีหรือเป็นการริเริ่มที่ดีที่จะขัดเกลานิสัยลูกให้รู้คุณพ่อ

เพื่อให้ลูกเริ่มมีกระแสจิตไปสู่ความกตัญญูรู้คุณบุพการี เมื่อปฏิบัติได้ ลูกจะมีจิตใจแจ่มใสเบิกบาน

ลูกรักพ่อ รู้ว่าพ่อคือส่วนหนึ่งของผู้ให้กำเนิด โตขึ้นก็จะมีความเมตตา มีไมตรีสะท้อนกลับสู่สายเลือด ไม่ประพฤติเลว มีไมตรีต่อผู้อื่น การดำเนินชีวิตจะร่มรื่น ไม่มีอุปสรรคเพราะมีจิตสะอาด

ครูจัดเก้าอี้ไว้สองฟาก นักเรียนกับพ่อแม่นั่งคนละฝั่ง ส่วนตรงกลางที่เหลือเป็นพื้นปาร์เก้มันปลาบ

ในมือลูกถือดอกไม้คนละช่อ นั่งเก้าอี้คนละตัว ไม่มีลูกคนใดนั่งนิ่ง ต่างคุยกันหยอกล้อ ส่งเสียงดังกว่านกกระจอกเข้ารัง แว่วเสียงโฆษกประกาศ "นักเรียนทุกคนโปรดหยุดพูด พิธีการจะเริ่มขึ้น ณ บัดนี้"

ได้ผล เงียบสนิททั้งห้องโถงใหญ่

"วันนี้เป็นวันพ่อ นักเรียนทุกคนมีพ่อ พ่อเลี้ยงหนูมา ต้องรักเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อ เพื่อเป็นการแสดงความรักพ่อ รู้ว่าพ่อรักหนู เมื่อครูเรียกชื่อให้นักเรียนยืนขึ้น หมายตาไปที่พ่อ ท่านอยู่ตรงข้าม เห็นไหมคะ"

"เห็นครับ" นักเรียนตอบพร้อมกัน นักเรียนหญิงก็ตอบว่า "ห็นค่ะ"

"ขอเชิญนักเรียน สมศักดิ์ วจีเลิศ นำดอกไม้ในมือเธอไปมอบให้คุณพ่อ" ขณะที่เสียงเพลง "ดอกไม้ให้คุณ" แว่วมาเบาๆ เข้ากับบรรยากาศเป็นอย่างดี

ลูกที่ถูกขานชื่อ กำดอกไม้แน่น วิ่งปราดไปหาพ่อ ยื่นดอกไม้ให้ รับจูบจากพ่อด้วยยิ้มอายๆ พร้อมเสียงปรบมือจากทุกคนในที่นั้น

"คนต่อไปค่ะ นักเรียนเพ็ญพรรณ ฤดี โปรดนำดอกไม้ในมือเธอไปมอบให้คุณพ่อ"

ไม่ต้องสงสัย เร็วปานจรวด น้องหนูเพ็ญพรรณ ฤดี ยื่นดอกไม้ส่งมอบให้พ่อก่อนตัวจะมาถึง

พ่อก้มตัวลงรับลูกมาอุ้ม จูบทับรอยยิ้มของลูกลงไปให้ชื่นใจ พร้อมเสียงปรบมือเช่นเคย

"คนต่อไป นักเรียน ชีวิต วิญญูจิต โปรดนำดอกไม้ในมือเธอไปมอบให้คุณพ่อได้แล้วค่ะ"

ลูกที่ชื่อ ชีวิต วิญญูจิต ไม่รีบร้อน เดินช้าๆไปหาพ่อ พ่อที่พิการนั่งอยู่ในรถเข็น เสียงปรบมือดังกว่าเก่า ทุกคนมองภาพนี้ด้วยความสงสาร ภาพพ่อหันมากอดลูกทางด้านข้างรถเข็น รอยยิ้มของพ่อมีนัยชอบกล เขาคงคิดในใจว่า "ลูกเอ๋ย อย่าอายเพื่อน แม้เพื่อนจะล้ออย่างไรก็อย่าโกรธ พ่อนั้นพิการแต่กาย ส่วนใจรักลูกเหมือนเขาทั้งหลายเช่นกันนะ"

"คนต่อไป นักเรียน ชมชื่น บุนนาถ นำดอกไม้ไปให้คุณพ่อได้แล้วค่ะ"

พ่อแม่เด็กทุกคนส่ายตาหาพ่อของหนูชมชื่น ไม่พบ หนูชมชื่นยื่นดอกไม้ในมือให้ยายสูงอายุ ท่านหนึ่ง ท่าทางใจอารี ยายก้มลงกอด จูบหลานเหมือนพ่อ คนอื่นๆ มองหน้าหลานด้วยสายตา เหมือนจะบอกว่า แม้ไม่มีพ่อแม่ แต่มียายนี่แหละคอยดูแลปกป้อง หนูจนกว่าชีวิตยายจะหาไม่ พ่อแม่ อื่นๆ เงียบกริบ บรรยากาศมันบอกว่า หนูชมชื่นกำพร้าพ่อและแม่

ภาพที่หนูชมชื่นอยู่ในอ้อมกอดของยายเป็นภาพที่หาดูไม่ง่ายนัก ยิ้มของยาย ยิ้มปลอบขวัญ ยิ้มของหลาน ยิ้มรันทด สร้างความสะเทือนใจให้ ทุกคนที่พบเห็น ตายายจ้องอยู่บน ใบหน้าหลานอย่างลึกซึ้ง แปลออกมาเป็นคำพูดคงได้ว่า "ดวงใจของยาย" คำกล่าวจากใจ ของยายเพียง "สี่คำ" เท่านี้กว้างกินใจมหาศาลเป็นตัวอักษรได้กว่าร้อยหน้ากระดาษแน่นอน ควรเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับพ่อและแม่ที่เลิกร้างกัน พวกเขาไม่รู้หรอกว่าได้ทำลายจิตใจลูกมากมายเพียงใด

"คนต่อไป นักเรียน ชานนท์ กุลวัตน์ โปรดนำดอกไม้ไปให้คุณพ่อได้แล้วค่ะ"

สายตาทุกคู่จับอยู่ที่เด็กชายตัวเล็กๆ ผอมๆ ท่าทางปราดเปรียว เมื่อได้ยินครูเรียกชื่อ หนูหันหน้าเลิกลั่ก มองซ้ายมองขวา ณ เบื้องหน้าของหนูไม่มีใคร ขยับตัวแสดงความเป็นพ่อ ให้ทุกคนแลเห็น

หนูนั่งก้มหน้านิ่ง มือกำดอกไม้

สังคมขณะนั้นเงียบ เงียบสนิท ทุกคนภาวนาให้ผู้เป็นพ่อปรากฏตัว ยื่นมือออกมารับดอกไม้ อ้าวงแขนออกมารับร่างกายอันบอบบางไว้ในอ้อมอก เงียบ เงียบสนิท เหมือนเดิม

ความเงียบยิ่งเสมือนมนต์สะกดให้พ่อแม่นักเรียน เหล่านั้นยิ่งเกิดความสงสาร และตั้งคำถามว่าพ่อหนูชานนท์ไปไหน วันพ่อหนึ่งปีมีวันเดียว สละเวลามาหาลูก มากอดลูก ท่ามกลางเพื่อนๆ ที่คอยชมบุคลิกพ่อ ชมพ่อหล่อ ไม่หล่อ สูงต่ำดำขาว จะได้นำมาล้อกันประสาเด็ก ไม่มีเขา ไม่มีพ่อปรากฏให้สังคมแลเห็น

"มาหาแม่...มา" เสียงใสของสุภาพสตรีท่านหนึ่งทำลายความเงียบขึ้น ท่านผู้นี้คือ "ครูใหญ่"

ครูปราดออกมากลางห้องโถง

"เอาดอกไม้มาให้แม่ครู...แทนพ่อ วันนี้พ่อมีธุ..." เสียงครูใหญ่ขาดหายลงลำคอไปอย่างมีจิตสำนึก

ชานนท์มองหน้าครูใหญ่ เหมือนไม่เชื่อตาตนว่ายังมีครูใหญ่รับดอกไม้แทนพ่อ...อีก มันอลวนสิ้นดี

ชานนท์ยื่นดอกไม้ให้ครู ร่างหนูน้อยเอนเข้าไปอยู่ในอ้อมกอดของครูแนบสนิท เป็นอีกภาพหนึ่ง ที่สร้างความรันทดท่ามกลางสังคม พ่อ แม่ ครูทั้งหลายในวันนั้น ครูใหญ่กอดชานนท์ นานแสนนาน ท่ามกลางบรรยากาศเงียบสนิท เมื่อปล่อยร่างของหนูชานนท์ออกมา ทุกคนแลเห็น "น้ำตา" ของหนูไหลพราก แต่พระเจ้าช่วย ใบหน้าของชานนท์มีรอยยิ้ม ยิ้ม กลบความช้ำไว้ในอก ตามประสาเด็กที่มีจิตใต้สำนึก นึกถึงพ่อ พ่อไม่มี พ่อไม่มาเหมือนเพื่อนอื่นเขา ทำไม และทำไม?

นิตยสาร "หม้าย" กล่าวไว้อย่างน่าบันทึกซ้ำ อีกครั้งถึงเรื่องของสามีภรรยาที่เกิดการแตกแยกว่า

ตราบใดก็ตราบนั้นแหละ ตราบเท่าที่การแปรญัตติขั้นตอนสุดท้าย "บนผ้าปูที่นอน" ประสบความล้มเหลว

ตราบเท่าที่ "ภรรยา" ยังไล่ตะเพิด "สามี" ไม่ให้เกียรติสามีเท่าที่ควร

ตราบเท่าที่การเสาะหาผัวดีๆ ก็ใช่ว่าจะง่าย สุภาพบุรุษในดวงใจหายากกว่างมเข็มใต้ทะเล แล้วละก็ เงาแห่งความแตกแยก (หย่าร้าง) ดูจะเริ่มขึ้นเมื่อจบพิธีวิวาห์อันใหญ่โต เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ถ้าหญิงไม่เรียนรู้ถึงสุภาษิตบทหนึ่งที่ว่า "น้ำอด-น้ำทน" แล้วนำมาปฏิบัติต่อสามี

ถ้าหญิงไม่ปรับตนว่าบัดนี้ชีวิตที่เคยบินเดี่ยวหมดไปแล้ว จากหนึ่งกลายเป็นสองร่วมครองรัก เมื่อมากชีวิตก็มากเรื่องกวนใจ กวนอิสรภาพ แม้กระทั่งกวนความสุขสบายที่เคยมี หญิงควรนับ "นิ้ว" ทั้งสิบ วันละหลายๆ ครั้ง เพื่อช่วยให้คำอวยพรของญาติ ผู้ใหญ่ที่กล่าวไว้ในวันวิวาห์ ให้คงอยู่นานแสนนาน เมื่อมีการกระทบกระทั่งเกิดขึ้นกับสามีต่อไปในอนาคต อีกซีกหนึ่ง มันคือชีวิตทั้งชีวิตของ "ลูก" ที่ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงในครอบครัวโดยไม่นึกฝัน

เปล่าเปลี่ยว เศร้าสร้อย ผิดหวัง งุนงง เหมือนไก่ถูกเดือยคู่ต่อสู้ตีเข้าลูกตา เด็กๆ ที่ร่วมแสดง ความกตัญญูในวันพ่อเกิดมาไม่กี่ฝน โลกีย์ชั่วก็พาชีวิตเข้าสู่ความทุกข์ มีรอยบาปตีตรา ตรงหัวใจ ขูดอย่างไรก็ไม่ออก ชีวิตน้อยๆ เริ่มพบ "วิบากกรรม" ทันที

ใครเป็นผู้สร้าง พ่อกะแม่
ใครเป็นผู้กำกับ พ่อกะแม่
ใครร่วมใจกัน ยะโสโอหังใส่ใคร? ใครร่วมก่อให้เป็น "วิบากกรรม" ขึ้นมา
ใครไม่คิดถึงอนาคตลูก ว้าเหว่หรือผาสุก ฉุกคิดสักนิดไม่ได้หรือ?
ปล่อยให้สังคมรอบข้างรับรู้ เวทนา น้ำตาคลอด้วยความสงสาร เห็นใจ ซึ่งก็ได้แต่เห็นใจ
ปล่อยให้ลูกตนเองเป็นลูกเลี้ยงของเขาอื่น เขารักหรือทารุณ (รู้ไม่ได้เลย) ใครรู้บ้าง?

ยามเมื่อเขาทั้งสอบพากันไปเขียนรายงานชีวิต ขอละความเป็นโสด

"ข้างตีนบันไดตึกที่แตกร้าว ที่เรียกว่าที่ทำการเขตหรืออำเภอ" แห่งนั้น

ข้างตีนบันไดที่แตกร้าวเพราะความชราของตัวตึก ก็จริงอยู่ แต่ข้างตีนบันไดตึกแห่งนี้ บันทึกชีวิตของเขาทั้งสองถูกจารึกไว้อย่างชื่นมื่น สุขุม เป็นหลักฐาน เป็นพยานของความรักที่สุขสม สมใจ นาทีนั้นนำเงินสักหมื่นพันมาแยกออก ไม่ได้ ไม่ได้ และไม่ได้ ไม่มีเหตุผล เป็นเสียงแผ่วตอบมาน่าอิจฉา มันคือ "สัญญารัก"

แต่...เป็นไปได้หรือ เสียงมโหรีวันงานวิวาห์ยังแว่วอยู่ในโสตของบ่าวสาว

ช่อบูเก้ ดอกไม้ประดิษฐ์อันเป็นของชำร่วยยังส่งกลิ่นหอมรวยรินไม่จางไป

โบราณว่า "ก้นหม้อข้าวยังไม่ทันดำ" กลับแตกร้าว ไม่มีชิ้นดี

อีกครั้งหนึ่งสองคน ชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง ก็กลับลงมาจากตึกเก่า เขตหรืออำเภอ ที่ตีนบันไดแตกร้าว ที่เดิม ด้วยสีหน้าเศร้าสร้อยหม่นหมอง ต่างได้ซ่อนทุกข์มหันต์ไว้ ในห้องหัวใจเต็มสี่ห้อง ลงมาแล้วเขาแยกกันไปคนละทิศ ไม่มองหน้ากัน

สองคน ชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง ถือกระดาษอันเป็น เอกสารของราชการคนละแผ่น มันคือ "สัญญาร้าง" ของความรักอันแสนสั้น สัญญาแห่ง "ความพินาศ" ของครอบครัวลิขิตอยู่บนกระดาษที่เขากำแน่น

ผลกระทบของมันมากมายมหาศาล บันดาลให้เกิดความทุกข์ระทมหลายชีวิต พ่อ-แม่-ลูก ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้องต้องรับทุกข์จากกระดาษที่เรียกว่า "ใบหย่า"

ถ้า "สาธุชน" จะอ่านเรื่องนี้เพื่อเป็นอุทาหรณ์ จะได้รักษาสถานภาพชีวิตสมรสของตนเอง ให้ยืนยาวมั่นคงไว้ก็ได้ ครอบครัวก็ไม่แตกแยก ลูกกำพร้าก็ไม่เกิดขึ้น สุขสันต์จนตายจากกัน

หรือจะเอาอุทาหรณ์นี้ประกอบการตัดสินใจ เดินขึ้นบันไดตึกที่แตกร้าวเพื่อหักสัญญารักให้พินาศลงก็ได้ มันเกิดแต่ใจของมนุษย์สองคนที่ผีป่าซาตานไม่ห้าม "วิบากกรรม" ต่างหากลงบัญชีไว้

คมของใบหย่า ฉีกชายหญิงคู่หนึ่งออกจากกัน มันคมกว่าใบมีด มันกรีดหัวใจลูก รู้หรือเปล่า?

รัศมีของมันแผ่ซ่านไปทั่วทุกขุมขนลูก สร้างทุกข์มากกว่าสุข

ตักพ่อตักแม่ที่เคยซุกเคยซบ ไม่มี มีแต่ "อดีต" ยามหกล้มคงไม่มีใครคุกเข่ากอด ปลอบเช็ดน้ำตาให้ มันไม่กลับมาอีกใช่ไหม มันไม่มีโอกาสกลับมาอีกใช่ไหม ขอถามพ่อกับแม่?

พ่อไปมีความสุขกับภรรยาคนสวย ใหม่กว่าแม่คนเก่าแน่นอน

แม่ก็ไม่ละพยศ ละทิฐิ โอนอ่อนผ่อนปรน พบกันครึ่งทางกับพ่อเพื่อลูก แม่เอาแต่ "อารมณ์" ตนเอง

ลูกอยู่ข้างใคร เมื่อพ่อแม่ปะทะคารมกันทั้งเช้าเย็น เป็นภาพ เป็นเสียงที่ลูกสุดจะทน จะบอกให้

ลูกอยากขอร้องให้พ่อและแม่คิดถึง "อดีต" อดีตของความรักที่เริ่มต้นด้วยความหวานชื่น ญาติของเราชมว่าเขาเหมาะกัน เขาเป็น "คู่สร้างคู่สม" ลืมแล้วหรือ ลืมมองรูปวันวิวาห์อันสดชื่น มันแขวนอยู่ข้างฝานั่น

พ่อกับแม่หันหลังให้กัน เท่ากับพ่อและแม่ช่วยกัน "โยนทุกข์" ให้ลูกรับ ปล่อยลูกอ้างว้าง อยู่กลางทะเลกว้าง มองไม่เห็นฝั่ง ไม่ห่วงลูกที่ครั้งหนึ่งเป็นที่รักสุดหัวใจ อะไรบันดาล ให้เป็นอย่างนี้ คิดแทนลูกสักที

ท่ามกลางเมฆร้ายของ "ชีวิต" ลูก บางครั้งต้องผจญอยู่กับใครที่ไม่ใช่ "พ่อ" แต่เป็นชายกักขฬะ ดุดัน ไร้เหตุผล บางครั้งต้องผจญอยู่กับใครไม่ใช่ "แม่" แต่เป็นหญิงมารยา ปากกับใจไม่ตรงกัน ไม่กลัวบาป หยาบคายนัก

นักปราชญ์ว่า "โลกคือละครโรงใหญ่"

บรรดาลูกผู้อาภัพทั้งชายหญิงจงใช้สมอง ใช้ สองแขนสองขาเป็น "พลังชีวิต" จงท่องคติพจน์ บทหนึ่งไว้ประจำตัวตลอดไปว่า "ชีวิตต้องสู้ สู้มันไปตามวิบากกรรมที่เราสร้าง"

สู้เรื่อยไปจนกว่าผืนดินที่เหยียบมันมาจะกลบหน้า แล้วหันมา...

สร้างกรรมดีเสียแต่บัดนี้ ชีวิตจะไม่ต้องรันทดในภพหน้าเพราะ "วิบากกรรม" มีจริง

ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๑ มกราคม - กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗