-
สุวลี -
หนึ่ง สอง สาม เด็กดื้อมักจะเป็นเพราะพ่อแม่ชอบใช้อารมณ์กับลูก นานๆ ไปลูกก็จะอ่อนแอในการใช้สมอง เรียบเรียงเหตุผล เป็นกรรมที่พ่อแม่ก่อ! คนที่ถือสาคนอื่นง่าย สิทธิการิยากล่าวว่า เป็นเพราะไม่ค่อยจับผิดตัวเองเท่าไหร่ อัตราส่วนการจับผิดระหว่างตัวเองกับคนอื่นจะเป็นปฏิภาคผกผันกัน จับผิดคนอื่นมากเท่าไหร่ ก็จะจับผิดตัวเองน้อยเท่านั้น จับผิดตัวเองมากเท่าไหร่ ก็จะจับผิดคนอื่นน้อยเท่านั้น พฤติกรรมข้อแรก ยิ่งทำยิ่งโง่ ยิ่งโกรธยิ่งร้าย พฤติกรรมข้อสอง ยิ่งทำยิ่งฉลาด ยิ่งทันคน ทันอารมณ์ ยิ่งอ่อนโยน ใจดี เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะมองความผิด ความบกพร่องของคนอื่นเป็นภูเขา ส่วนความผิดตัวเองเล็กเท่าเส้นขน! เมื่อเป็นดังนี้ เจ้าของชีวิตจะถูกภูเขาถล่มทับถมวันแล้ววันเล่า กี่ลูกก็ลองคำนวณดู ความไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นกลาง จึงเป็นผีซ้ำด้ามพลอยให้ตกระกำลำบากหนักกว่าเก่า! คนลงนรกไม่มีใครผลัก นอกจากตัวเขาเองที่ตั้งใจดิ่งลง แท้จริงแล้ว นรก-สวรรค์ คนเรามีสิทธิเลือก แต่ไม่เลือก! เพราะความฉลาด เจ้าปัญญาแท้ทีเดียว ที่ทำให้เรา "จับผิด" เก่ง จนหัวใจมีความเร่าร้อน หยุดเสียเถิด พ่อคุณแม่คุณเอ๋ย เลิกดื่มยาพิษ เลิกเคี้ยวถ่านแดงๆ กันเสียทีจะดีไหม? อยู่ในโลกมุนษย์ ต่างวิ่งหาแอร์ให้เย็นฉ่ำ แต่โลกแห่งอารมณ์-จิตวิญญาณ กลับวิ่งหาความร้อนแผดเผา เป็นไฟนรกขุมโลกันตร์! มองตน-แก้ไขที่ตนก่อนทุกอย่างจะสายเกินการณ์ "หนึ่ง สอง สาม" ฝึกนิสัยให้คุ้นเคย จะทำอะไรต้องให้โอกาสเขาก่อน ให้เขามีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจ เมื่อถึงวันนั้น จะได้ยอมรับการลงทัณฑ์อย่างเต็มใจ "หนูไม่ยอมๆ" กลายเป็นความคั่งแค้นอาฆาตมาดร้าย สุดท้ายก็ขอเป็นศัตรูชั่วชีวิต! พระอาทิตย์ย่อมทอแสงเงินแสงทองมาล่วงหน้า ก่อนลงโทษย่อมมีการเตือนภัย มองไกลไปถึงเรื่องบ้านเมือง แม้จะมีบทบัญญัติผิดกฎหมายคืออย่างไร แต่เมื่อจะเอาจริงยังต้องประกาศป่าวร้อง ตีฆ้องอธิบาย เตือนภัยสักหลายเดือน ชีวิตในที่ทำงาน ในครอบครัวก็เช่นกัน ตัดสินประหารทันที ไม่มีในสารบบ ภาคทัณฑ์ รอการลงอาญา นั่นคือการให้โอกาส หลายชีวิตผิดพลาดเพราะเผอเรอ เพราะไม่ยับยั้งชั่งใจ เพราะสำคัญผิด และมากมายที่หัวช้า ปฏิภาณไหวพริบมีน้อย แต่หากให้โอกาสอีกครั้ง เขาก็จะไม่ขอผิดอีกต่อไป อภัยคู่กับเอาภัย ใจดีย่อมมาก่อนใจดำ ก่อนตาย จำเลยสมควรยอมรับสภาพ เต็มใจยอมรับโทษประหาร! "หนึ่ง สอง สาม" ผิดแล้วยังมีโอกาสแก้ตัว ครั้งนี้ให้อภัย แต่ครั้งหน้า "ฆ่าทิ้ง!" หลายครั้งที่ผู้ใหญ่หรือตัวเองมักจะไม่ปล่อยให้ถึงครั้งหน้า ด้วยคติ พรุ่งนี้ก็สายเกินไป! เป็นความถูกต้องหรือความใจร้อน เอาแต่ใจ เอาแต่ได้ ไร้เมตตา! "หนึ่ง สอง สาม" รุ่มร้อนก็ผ่อนคลาย ประดุจคำศักดิ์สิทธิ์ ในสังคมชนชั้นมนุษย์ เป็นมนตราที่สามารถเปลี่ยนโลกให้สงบเย็น "หนึ่ง สอง สาม" มิใช่ความอ่อนแอ แต่เป็นเมตตาที่ให้ฝ่ายตรงข้ามได้รู้ตัว ได้ เตรียมตัว "หนึ่งครั้งแล้วนะ อีกครั้งฉันไม่ยอมแล้วนะ..." "หนึ่งครั้งแล้วนะ อีกครั้งน่าดู..." "ครั้งที่สองแล้วนะ อย่าทำอีก เดี๋ยวจะหาว่า ไม่บอก..." ในบางโอกาส เราอาจให้โอกาส ๒ ครั้ง หรือ ๓ ครั้ง หรือ ๔-๕ ครั้ง เพราะบางเรื่องช่างลำบากยากแค้นก็มีจริง แต่หลายครั้งก็มักจะถูกกล่าวหาว่าหย่อนยาน! เส้นมัชฌิมา อะไรคือความพอดี ย่อมเป็น ดุลพินิจของเจ้าตัว โดยมีเส้นอภัยเป็นรากฐาน "หนึ่ง สอง สาม" ประสบการณ์จะสอนให้เราคำนวณเก่งขึ้น "นี่ครั้งแรกนะ ไม่ว่ากัน..." การให้โอกาสแก่คนอื่น แท้จริงคือการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำให้แก่ตัวเอง! - ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๑ มกราคม - กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ - |