เป็นอยู่อย่างไร ไม่เป็นทุกข์
- อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง -

ตราบใดที่มนุษย์ทั้งหลายยังมีความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวเป็นตน ว่าเป็นตัวฉัน ของฉัน ก็จะต้องมี การเบียดเบียน กันอยู่ตลอดเวลา

จากเรื่องเดิม "เป็นชาวพุทธอย่างไร จึงจะไม่ทุกข์" บรรยาย ณ พุทธสมาคมจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๑


ยามจะได้ ได้ให้เป็น ไม่เป็นทุกข์
ยามจะเป็น เป็นให้ถูก ตามวิถี
ยามจะตาย ตายให้เป็น เห็นสุดดี
ถ้าอย่างนี้ ไม่มีทุกข์ ทุกวันเอย

เป็นอยู่อย่างไร ไม่เป็นทุกข์

ธรรมสวัสดี ท่านอุปนายกพุทธสมาคมจังหวัดนครราชสีมา และท่านผู้สนใจในการใฝ่หา ความสุขที่แท้จริงของชีวิตทุกท่าน

ดิฉันขอขอบพระคุณพุทธสมาคมที่ได้ให้โอกาสมาพบเพื่อนชาวพุทธ และญาติสนิทมิตรสหาย จำนวนมาก ในเมืองที่ดิฉันถือว่า เป็นถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษในตระกูล อินทรกำแหง ดิฉันมีความรู้สึกเหมือนกับว่า ได้กลับมาสู่บ้าน ที่เคยอยู่อย่างอบอุ่นเป็นสุข ซึ่งเผอิญได้ พลัดพราก จากไปเป็นเวลานาน กว่าจะได้กลับมาอีก ก็เป็นเวลา หลายสิบปี จึงขอขอบพระคุณ พุทธสมาคมและทุกๆ ท่านที่ได้สละเวลามาร่วมพบปะ สนทนากัน ในวันนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือลูกหลานทั้งหลาย ซึ่งกำลังอยู่ในวัยที่เจริญตาเจริญใจ และจะเป็น กำลังสำคัญ ที่จะรับ มรดกตกทอด ในการป้องกันรักษาความบริสุทธิ์สะอาด ของพระพุทธศาสนา ให้คงอยู่ เพื่อเป็น ที่พึ่งพักใจ ของพวกเรา ทั้งหลาย ให้ได้มีความสงบเย็น ต่อไปในภายภาคหน้า จึงรู้สึกยินดีทีเดียว ที่มีบรรดาลูกหลาน ผู้เยาว์พากันมาเป็นจำนวนมาก

การที่บรรดาลูกหลานในวัยเช่นนี้มีความสนใจในเรื่องของธรรมะนั้น ขอบอกว่าเป็นกำไร อันประเสริฐ ที่หาไม่ได้ง่ายๆ เพราะเหตุว่า กำลังที่จะสะสมอริยทรัพย์ หรือทรัพย์อันประเสริฐ เป็นทรัพย์ที่มีค่า มหาศาล ยิ่งกว่าเงิน ยิ่งกว่าทอง ทั้งหลาย และเป็นทรัพย์ที่จะอยู่กับเรา ทุกหน ทุกแห่ง ทุกขณะ โดยไม่มีใคร จะมาจี้ปล้น เอาไปได้ จึงขอให้ พากันรักษา ความสนใจ ในธรรมะนี้ไว้ ให้ยั่งยืนตลอดไป

การที่จะมาคุยกันถึงว่า "เราจะเป็นอยู่กันอย่างไร จึงจะไม่เป็นทุกข์" นั้น เป็นเรื่องที่จะต้อง ฟังกันด้วยใจ ไม่ใช่ฟัง ด้วยหูเท่านั้น หูนี้เป็นแต่เพียงสื่อที่จะพาเข้าสู่ใจ แล้วก็ไม่ได้ฟัง ด้วยสมองเท่านั้น เพราะสมอง เป็นแต่เพียง เครื่องมือ ที่ทำให้เข้าใจได้ แต่สิ่งที่เราจะต้องใช้เป็น อย่างยิ่งโดยเฉพาะในเรื่องของ การฟังธรรมะนั้นก็คือใจ อยากจะถาม ว่า ใจของท่านในขณะนี้ พร้อมแล้ว หรือยังที่จะฟังสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ

ความพร้อมของใจนั้นคืออย่างไร

ก็คือใจของเราในขณะนี้จะไม่ไปไหน อาจมีผู้แย้งว่าจะไปได้อย่างไร ก็ตัวนั่งอยู่ที่นี่ ใจก็ต้อง อยู่ที่นี่สิ หลายท่าน จะรู้ว่า ไม่จริงอย่างนั้นหรอก ตัวอยู่ที่นี่แต่ใจมันท่องเที่ยวไปได้สารพัดแห่ง ไม่ได้อยู่กับ ตัวที่มองเห็น อยู่นี้เสมอไป

เพื่อจะให้เห็นชัดเจนว่า การที่ใจรวมอยู่ในที่เดียวนั้นเป็นอย่างไร ก็จะขอเล่าเรื่องพระภิกษุ ๓ รูป ในสมัย พุทธกาล ให้ฟัง ท่านเล่าว่า มีพระภิกษุ ๓ รูปได้ตกลงกันว่า เราจะอยู่จำพรรษา ในที่แห่งเดียวกัน และตลอด พรรษานั้น จะปฏิบัติ อย่างเคร่งครัด จะไม่พูดคุย ไม่พบปะ สนทนากันเลยตลอด ๓ เดือน นอกจากว่าเผอิญ มีท่านรูปใด รูปหนึ่ง อาพาธขึ้น จึงจะมา ช่วยดูแลกันตลอดพรรษาท่านทั้งสาม ก็ทำตามที่ได้ ตกลงกันไว้นั้น แยกกันอยู่ แยกกันปฏิบัติ โดยไม่เกี่ยวข้องกัน เมื่อออกพรรษาแล้วจึงมาสนทนาเล่าสู่กันฟังว่า ตลอด ๓ เดือนนี้ การปฏิบัติ ของแต่ละท่านเป็นอย่างไรบ้าง

องค์หนึ่งบอกว่า ตลอด ๓ เดือนนี้ ใจของท่านไม่เคยออกนอกบริเวณวัดเลย
องค์ที่สองบอกว่า ใน ๓ เดือนนี้ ใจของท่านไม่เคยออกนอกกุฏิของท่านเลย
องค์ที่สามบอกว่า ใน ๓ เดือนนี้ ใจของท่านไม่เคยออกนอกกายนี้เลย

ฟังแล้วพอจะทราบไหมว่า ใจของท่านองค์ใดรวมอยู่ ณ ที่เดียว ไม่เคยออกไปที่อื่นเลย องค์ที่สาม ถูกแล้ว เพราะฉะนั้น เพื่อความเข้าใจตรงกัน ถ้าลูกหลานคนใดจะบอกว่า ใจของผมไม่ได้ออก ไปนอกวัด สุทธจินดา (สถานที่บรรยาย) นี้เลย หรืออีกคนบอกว่า ใจของหนูไม่ได้ออกไปนอกห้องประชุมนี้เลย ก็ขอบอกว่า ไม่พอ ยังไม่พอและยังไม่ดีจริง แต่ถ้าท่านผู้ใดบอกว่า ขณะนี้ใจจดจ่ออยู่ที่ภายใน ไม่ออกไปที่อื่นเลย รวมความสนใจ ทั้งหมดอยู่ ณ ที่เดียว ไม่ไปไหน เช่นนี้จึงจะเรียกว่ามีความพร้อมที่จะฟังด้วยใจ

ต่อไปจะได้พูดกันถึงเรื่องที่ว่า "เราจะเป็นอยู่กันอย่างไร จึงจะไม่เป็นทุกข์" ที่พูดถึงหัวข้อนี้ ก็เนื่องด้วย ความรู้สึก ที่ว่า คนทั่วไปแม้ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธหรือเป็นพุทธศาสนิกชน มีจำนวนไม่น้อยเลย ที่ยังร้องไห้ บ่อยๆ คร่ำครวญบ่อยๆ ปวดหัว วิตกกังวลบ่อยๆ หงุดหงิด บ่อยๆ รำคาญโน่นรำคาญนี่บ่อยๆ ในทางพุทธศาสนา ท่านบอกว่า นี่แหละคืออากา รของความทุกข์

บางคนก็เข้าใจว่า ถ้าความทุกข์ละก็ ต้องไฟไหม้บ้าน ล้มละลาย อุบัติเหตุร้ายแรงถึงกับสิ้นชีวิต ทั้งครอบครัว อย่างนั้น จึงจะเรียกว่าเป็นความทุกข์ ก็ใช่ แต่เหตุการณ์อย่างนั้น ไม่ได้เกิดกับ ทุกคน และไม่ได้เกิดขึ้น ทุกวัน

สิ่งที่เกิดกับทุกคนในแต่ละวันคือ ความหงุดหงิด ความรำคาญ หมั่นไส้ ความขัดใจ จนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไอ้นั่น ก็ไม่ถูกใจ ไอ้นี่ก็ไม่ถูกใจ ตื่นขึ้นมองเห็นเด็กทำอะไรก็ขัดอกขัดใจ เป็นกันบ้างไหม โดยเฉพาะผู้หญิง จะเป็น มากกว่า ผู้ชาย แล้วเคยได้สังวร เคยได้คิด สักนิดไหมว่า นี่แหละเป็นอาการของความทุกข์

ที่ว่าเป็นอาการของความทุกข์ ก็เพราะมันทำให้จิตใจไม่เป็นปกติ สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ทรงสอน ก็คือว่า หน้าที่ของชาวพุทธหรือมนุษย์ทุกคนนั้น จะต้องรักษาจิตใจ ให้เป็นปกติ

ขณะแรกที่เราเกิดมาจากท้องของมารดานั้นจิตใจมีความเป็นปกติ มีความบริสุทธิ์ ในระดับ หนึ่งและ ความบริสุทธิ์นี้ จะบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นเมื่อได้รับการฝึกฝนอบรม เหมือนกับเพชร ที่ถูกนำมา เจียระไน จนวาววับ แต่ถ้าเอาทิ้ง กลับลงไปในโคลน ก็ย่อมเปื้อนเปรอะ เขรอะขระ จิตของมนุษย์ ก็เหมือนกัน ถ้าปล่อยให้ ความทุกข์ คือ ความอึดอัดขัดใจ หมั่นไส้ รำคาญ ขวางโน่นขวางนี่อยู่ตลอดเวลา มันมากลุ้มรุมจิตใจ อยู่เรื่อยๆ จิตนั้น ก็ขาดความเป็นปกติ และสะสมอาการของความทุกข์เพิ่มมากขึ้นๆ โดยไม่รู้ตัว ผลที่สุด ก็ลงเอยด้วย โรคประสาท โรคหัวใจ หรือมะเร็ง โรคร้ายต่างๆ

การที่เราสะสมอาการของความทุกข์ไว้นี่แหละ คือการเป็นมะเร็งที่ใจ เราสะสมเอาไว้ทีละนิดๆ บอก ตัวเองว่า ไม่เป็นไรๆ ใครๆ เขาก็เป็นกัน จนวันหนึ่งที่เราเป็นมะเร็งเข้าจริงๆ เพราะความเครียดที่สะสมไว้ ทำไมคนอื่น เขาไม่เป็น ก็เพราะเขารู้ตัวทัน จึงอยากจะคุยกันว่า ในเมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว จะเป็นอยู่กันอย่างไร จึงจะไม่เป็นทุกข์

คำว่าพุทธะหมายถึงปัญญา พุทธศาสนาเป็นศาสนาของปัญญาและเหตุผล องค์สมเด็จ พระสัมมา สัมพุทธเจ้า ทรงสอน บรรดามนุษย์ทั้งหลาย บอกให้รู้ว่าเกิดมาเป็นคนนี้ มีสติ ปัญญากำกับมากับชีวิตด้วย แล้วเราจะใช้ สติปัญญา ของเราแก้ไข สะสาง มิให้ความทุกข์ เกิดขึ้นในจิตนั้นได้อย่างไร เราควรจะทำอย่างไร จึงจะไม่มี ความทุกข์เกิดขึ้น

อยากจะขอเชิญท่านทั้งหลายได้ใคร่ครวญพระพุทธดำรัส ที่ตรัสแก่บรรดาพุทธสาวกทั้งหลาย ที่ป่ามะม่วง ของหมอชีวก พระองค์ได้ตรัสว่า "ธรรมที่ตถาคตแสดงนั้น เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อ ความสงบรำงับ เป็นธรรม ที่เป็นไป เพื่อความดับเย็นสนิท เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความรู้ ครบถ้วน"

ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น มีจุดประสงค์ ๓ ประการ เพื่อ

๑. ให้เกิดความสงบรำงับขึ้นในใจของผู้ฟัง
๒. ให้เกิดความดับเย็นสนิทแก่ใจของผู้นั้น
๓. ให้บังเกิดความรู้ครบถ้วน

ความสงบรำงับจากอะไร รำงับจากกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลงที่มา กลุ้มรุมใจ ประเดี๋ยว ก็อยากได้ จะเอา ดึงเข้ามาๆ เอามาเป็นของเรา มือยาวเท่าไหร่สาวได้สาวเอา ประเดี๋ยวก็เกิด ความโกรธ ไม่ถูกใจ ผลักไส ออกไป ไม่เอาๆ ประเดี๋ยวก็เกิดความหลง อาการของความหลงก็คือ วนเวียนเหมือนกับ พายเรือในอ่าง ในขณะที่โลภ-ดึงเข้ามา โกรธ-ผลักออกไป หลง-วนเวียน ซึ่งร้ายมาก

บางคนที่นอนไม่ค่อยหลับ พลิกไปพลิกมา กระสับกระส่ายจนใกล้รุ่งจึงจะหลับลงได้ ขอให้สังเกตดู อะไรเป็นเหตุ ให้นอนไม่หลับ คิดแล้วคิดอีกใช่ไหม คิดซ้ำคิดซาก สลัดไม่ออก มันมาในรูปของความวิตกกังวลบ้าง ความขัดเคืองบ้าง ความอยากจะเอาบ้าง หลงวนเวียน คิดซ้ำคิดซากอยู่นั่นแหละ เป็นเหตุให้จิต ไม่สามารถ สงบรำงับได้ มีแต่ความทุรนทุราย ระส่ำ ระสายสับสน ขึ้นๆ ลงๆ โยนไปโยนมาตลอดเวลา

ลักษณะของจิตอย่างนี้คือภาวะของจิตไม่ปกติ ผู้เป็นเจ้าของจิตอย่างนี้จะเหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่ง จนเปลี้ย ไม่มีแรง ตื่นขึ้น ก็ไม่อยากจะลุก อยากจะนอนทอดหุ่ยอยู่อย่างนั้น ไม่อยากทำอะไร มองดูโลกรอบตัว มืดสลัวไปหมด ไม่น่าพิสมัย นี่เรียกว่าอาการหนักแล้ว จิตถูกกลุ้มรุม ในลักษณะต่างๆ

ความดับเย็นสนิท เย็นสนิทจากอะไร ด้วยอะไร ก็ต้องเริ่มจากจิตที่ได้รับการพัฒนา จนสงบ รำงับได้ ในระดับ หนึ่งก่อน จนในที่สุดก็ถึงความดับเย็นสนิท ไม่มีความร้อนหลงเหลืออยู่เลย จิตปราศจาก ความระส่ำระสาย ไม่ว่าจะมี สิ่งใดมา ยั่วยวนให้อยากได้ มันก็เท่านั้นเอง ไม่ต้องยื้อแย่ง ไม่ต้องอยากเอา มีสิ่งใดจะมายั่ว ให้โกรธ มันก็เช่นนั้นเอง มันเป็นของธรรมดา เกิดแล้วก็ดับ ไม่เห็นจะต้องโกรธ มีสิ่งใด มาชวนให้หลง ก็ไม่ต้องหลง เพราะรู้เสียแล้วว่า หลงไป มันก็เท่านั้นเองอีกเหมือนกัน เพราะไม่สามารถ จะไปเอาอะไรมาเป็นของเราจริงๆ ได้เลย สักอย่าง มันเพียงแต่เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป มันมีอยู่แค่นี้จริงๆ ในชีวิตของเรา

เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า ธรรมะที่พระองค์แสดงนั้น มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการสงบ รำงับขึ้น ในจิต ของมนุษย์ ทั้งหลาย จะได้มีความเยือกเย็นเป็นสุข มีความสบาย มีความโปร่ง มีความเบา อย่างที่ทุกคน ต้องการ ถ้าทำได้ จะต้องเป็นอย่างนี้

ความสงบรำงับและความดับเย็นสนิทจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการศึกษาเล่าเรียน ฝึกอบรมปฏิบัติ จนกระทั่ง มีความรู้ ครบถ้วน หลายท่านก็คงทราบว่าในพระไตรปิฎกนั้น รวบรวมพระธรรม เอาไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่ทั้งหมดนี้ อะไรคือแก่นของความรู้ครบถ้วน ที่องค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระดำรัสอยู่เสมอ นั่นก็คือ "สังขาร ทั้งหลายไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา" นี่คือธรรมที่พระองค์ทรงพร่ำสอนอยู่ตลอดเวลา จงสำเหนียก จงสำนึก จงสังวรว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

สังขารคืออะไร

สังขาร หมายถึง ร่างกายที่เรามองเห็นอยู่นี่ก็ได้ เช่นที่เรานั่งอยู่ในห้องประชุมนี้ เรามองเห็น สภาวะ ความเปลี่ยนแปลง ของสังขารในมนุษย์ได้ชัดทีเดียว มีตั้งแต่หนุ่มสาวอายุน้อยๆ ผิวพรรณ เกลี้ยงเกลา หน้าตาเปล่งปลั่ง แข็งแรงสดชื่น มีชีวิตชีวามาตามลำดับ จนกระทั่ง ถึงผู้ใหญ่ แล้วก็ถึงผู้อาวุโส ผู้ที่มีอายุแล้ว เรามองเห็น ความเปลี่ยนแปลงของสังขาร ของวัตถุ ที่เป็นรูปธรรม นี่คือความหมายของสังขาร ที่หมายถึงร่างกาย รูปร่างทางวัตถุ

ความหมายอีกอย่างหนึ่งของสังขารก็คือ หมายถึงความคิดที่เกิดขึ้นในจิตของเราตลอดเวลา ความคิดนี้ เที่ยงไหม ตั้งแต่เข้ามานั่ง ในห้องประชุมนี้ คิดอยู่เรื่องเดียวหรือเปล่า แน่นอน ไม่ใช่ มันเปลี่ยนมา ตลอดเวลา ตั้งแต่บ่ายสองโมง จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้

พระองค์จึงตรัสเพื่อให้สังวรว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม คือจะเป็นรูป เป็นวัตถุ หรือ เป็นความรู้สึก เป็นอารมณ์ ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรคงที่ ไม่มีอะไร ที่จะอยู่ยั่งยืน มันเปลี่ยนเร็ว เหลือเกิน และ เป็นสิ่งที่ทุกคน จำเป็นจะต้องศึกษา ต้องรู้ ต้องเข้าใจ และต้องเข้าถึง เข้าถึงนั่นแหละ สำคัญมาก ถ้าเข้าไม่ถึง แล้วละก็ ความรู้จะไม่ ครบถ้วน

สิ่งที่พระองค์รับสั่งว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา อยู่ในหัวข้อธรรม ที่มีชื่อว่า ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะ อันเป็นธรรมดา ๓ ประการ ซึ่งเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่สุด ที่เกิดขึ้น ทุกขณะของชีวิต

ลักษณะของไตรลักษณ์นี้คืออะไร ก็เชื่อว่าทุกท่านคงทราบแล้ว ขึ้นต้นด้วยอนิจจัง นั่นเอง อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง พูดแค่นี้ก็เชื่อว่าทุกท่านคงบอกว่าเข้าใจแล้ว ถ้าเอากระดาษ ให้สักแผ่น ไหนเขียน เรื่องอนิจจัง ให้อ่านสักหน่อยซิ เขียนกันได้เยอะแยะ บางคนหน้าเดียวไม่พอ ต้อง ๒-๓ หน้า กว่าจะจบ แต่ถ้าถามว่า ผู้ใดเห็นอนิจจังแล้ว ชัดประจักษ์ ซึมซาบอยู่ในหัวใจแล้วบ้าง มีไหม

คำว่า "เห็น" นี้เราใช้อะไรเห็น แน่นอน ไม่ได้ใช้ตาเนื้อคู่นี้ ตาเนื้อมันก็ได้แค่มองเห็นอะไร ไปตามสมมุติ มันไม่เห็นอะไร ที่ลึกลงไปกว่านี้ได้ แต่เราจะต้อง "เห็นด้วยใจ" อยากจะเล่า นิทานชาวบ้าน ซึ่งบางคน อาจจะเคย ฟังมาแล้ว ให้ฟังสักเรื่อง เพื่อลูกหลานที่กำลังตาหรี่ จะได้ตาเบิกสักหน่อย นิทานนั้น มีชื่อว่า "มีดีในเสีย มีเสียในดี"

เนื้อเรื่องกล่าวถึงครอบครัวหนึ่ง อยู่ด้วยกันพ่อแม่ลูก แม่กับลูกนั้นเป็นคนขี้ตื่นเต้น มีอะไรขึ้นมา ก็ตื่นเต้นเสมอ ขึ้นบ้าง ลงบ้าง คือบวกบ้าง ลบบ้างอยู่ตลอดเวลา แต่พ่อนั้นมีความปกติ มากกว่า และชอบพูด เสมอว่า "มีดีในเสีย มีเสียในดี" ไม่ว่าลูกหรือเมียจะตื่นเต้นในเรื่องใด ก็ตาม พ่อจะพูดแต่ประโยคนี้เสมอ

วันหนึ่งพ่อเข้าไปในป่าก็ไปได้ม้ามาตัวหนึ่ง เป็นม้าที่มีรูปร่างสวยงาม ลักษณะดีมากทีเดียว ลูกเมีย ก็ตื่นเต้น กันใหญ่ พากันพร่ำพรรณนาถึงความดีความงามของม้าตัวนี้ และความโชคดี ของครอบครัว ที่ได้ม้าที่เรียก ได้ว่าเข้าลักษณะ ม้าอาชาไนยตัวนี้มา พ่อก็บอกว่า "มีดีในเสีย มีเสียในดี" ลูกเมียก็รำคาญ มันดีแท้ๆ จะว่าไม่ดีได้ยังไง

ไม่กี่วันม้าตัวนั้นก็หายไป เที่ยวตามหากันทั่วก็ไม่พบ คงเดาได้ว่าลูกเมียจิตตกแล้ว "โธ่ ม้าที่สวยงามของเรา ได้มาเพียง ไม่กี่วัน มันหายไปไหนเสียแล้ว โชคร้ายจริงๆ" นึกออกไหม พ่อได้ยินเข้า จะพูดว่าอย่างไร พ่อก็คงพูดว่า "มีดีในเสีย มีเสียในดี" ลูกเมียก็ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ

ต่อมาไม่นานม้าตัวนั้นก็กลับมา พร้อมกับพาเพื่อนม้าออกมา จากป่าด้วยอีกหลายตัว ลูกเมียก็ตื่นเต้นอีก "ดูสิ ม้าของเรานี่ มันฉลาด ไปพาม้ามาให้เราอีกตั้งหลายตัว" ตื่นเต้นดีใจในโชควาสนากันใหญ่ พ่อก็พูด อย่างเดิมอีก "มีดีในเสีย มีเสียในดี"

เมื่อมีม้าหลายตัวเข้า ลูกชายก็อยากจะหัดขี่ม้าโดยเฉพาะเจ้าม้าอาชาไนยตัวนั้น ม้าดีมันก็มี สติปัญญา รู้จักเลือก คนขี่ รู้ว่าคนที่จะมาขี่มันนั้นขี่เป็นหรือเปล่า จะบังคับมันได้ไหม เจ้าลูกชาย ไม่เคยขี่ม้า ไม่มีฝีมือ ในการบังคับม้า เก้ๆ กังๆ เข้าไปใกล้ กอดรัดฟัดเหวี่ยง พยายาม จะขึ้นขี่หลังมันให้ได้ มันก็สะบัด ตกลงมา ขาหัก แน่นอน แม่ลูก ก็เสียใจอีก "ทำไมมันดุร้าย เกเรอย่างนี้" เมื่อพาไปรักษา แม้จะหายจากอาการบาดเจ็บ แต่ก็ต้อง กลายเป็นคน ขาเป๋ พ่อก็พูดอีกว่า "มีดีในเสีย มีเสียในดี"

ผ่านไปหลายปี จนลูกชายโตเป็นหนุ่มต้องไปรับการเกณฑ์ทหาร แม่ก็ไม่อยากให้ลูกจากไป ใจไม่ดี กลัวลูก จะต้องไปเป็นทหาร ปรากฏว่าทางราชการเขาก็ไม่รับ เพราะเป็นคน ไม่สมประกอบ ขาเป๋ ใครเขาจะอยากได้ ไปเป็นทหาร แม่ก็ดีใจใหญ่

เห็นไหมว่า "มีดีในเสีย มีเสียในดี" ไม่มีอะไรดีทั้งหมด ไม่มีอะไรเสียทั้งหมด ท่านอาจารย์ สวนโมกข์ ท่านบอกว่า "ดูให้ดี มีแต่ได้ ไม่มีเสีย" ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น จงทำใจให้รู้สึกว่า เราได้มัน ก็เท่านั้นเอง เราเสียมัน ก็เท่านั้นเอง เพราะมันจะมีอาการ สับเปลี่ยนอยู่อย่างนั้น เสมอๆ

นิทานชาวบ้านเรื่องนี้ให้คติอะไรแก่เราบ้าง

แรกสุดทีเดียว ก็เตือนใจเราไม่ให้ประมาท จะได้อะไรมามากมายแค่ไหนก็ตาม อย่าเพิ่งดีใจ อย่าเพิ่ง ยึดมั่นว่า จะได้อย่างนี้ ตลอดไป เพราะมันมีดีในเสีย มีเสียในดี มันเปลี่ยนได้ ได้มาแล้ว มันก็เสียไปได้ ไม่ว่าจะได้คน ได้ข้าวของ ได้อำนาจ ได้ตำแหน่ง ทรัพย์สินเงินทอง เราผ่าน ชีวิตมา ก็เห็นอยู่ว่า ไม่มีอะไรคงที่ มันเปลี่ยนได้ เมื่อไม่ประมาท มีสติ มีความเป็นปกติ อยู่ตลอดเวลา กิเลสก็จะไม่สามารถเข้ามารบกวนในจิตได้

นอกจากนั้นนิทานเรื่องนี้ยังแนะนำให้เราเห็นกฎของธรรมชาติ แสดงสัจจะของธรรมชาติ ในเรื่อง ของอนิจจัง คือความจริง ที่ไม่มีอะไรจะไปเปลี่ยนแปลงอนิจจัง ให้เป็นไปอย่างที่ ใจเราต้องการได้ มันจะต้องไม่เที่ยง อยู่อย่างนั้น ตลอดไป มันเกิดแล้วมันก็ดับ ไม่มีอะไร ที่จะดีหรือชั่วอยู่ตลอดกาล

ลองนึกดูซิว่า เพื่อนรักที่เราพบในระหว่างวัยเรียนในขณะนี้ยังเป็นเพื่อนรักอยู่หรือไม่ หรือ คนที่เราเคย เกลียดหน้า ไม่อยากคบ ได้กลับมาเป็นเพื่อนกันมีไหม นี่ก็แสดงความเป็นอนิจจัง

ลักษณะที่สองของไตรลักษณ์ก็คือ ทุกขัง หมายถึง ความทนอยู่ไม่ได้ มันจะทนอยู่ในสภาพ อย่างนั้น ตลอดไป ไม่ได้ ในเมื่อมันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จะให้มันคงทน อยู่อย่างนั้น ตลอดไปได้อย่างไร เห็นได้จาก สภาพของ ร่างกาย เปลี่ยนแปลงจากทารกมาเป็นวัยรุ่น ผู้ใหญ่ จนเป็นผู้มีอายุ มันแสดงให้เห็น ถึงสภาวะ ที่คงทนอยู่ ในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงอย่างเดียว ตลอดไปไม่ได้ เพราะมันจำเป็นที่จะต้อง เปลี่ยนไปนั่นเอง

เมื่อมองดูก็จะค่อยๆ เห็นทีละน้อยๆ จนเข้าใจสภาพของอนิจจังและทุกขัง ไม่ช้าก็จะซึมซาบ ถึงสภาพของ ความเป็น อนัตตา อนัตตาก็คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ที่องค์สมเด็จ พระสัมมา สัมพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า สิ่งทั้งหลาย ทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ก็คือความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนจริงๆ ตัวตนที่มองเห็น ที่จับต้องได้นี้ มันหาใช่ ตัวตนจริงๆ ไม่ เพราะถ้าเป็นตัวตนจริงๆ มันย่อมจะไม่เปลี่ยนแปลง เราย่อม จะควบคุม มันได้ นี่ทำไม ความกระฉับกระเฉง มันถึงได้หายไป แข้งขาที่เคยเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว จะยืดหยุ่น อย่างไรก็ได้ เดี๋ยวนี้ทำไม มันถึงแข็ง ทำไมมันถึงปวด ทำไมมันถึงขยับเขยื้อนไม่ค่อยจะได้ ผิวพรรณ ที่เคยเกลี้ยงเกลา ทำไมมันถึงได้เหี่ยวย่น นี่แสดงถึง ความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนจริงๆ ของเรานั่นเอง

ตัวอย่างที่จะเห็นได้ง่ายๆ ก็มักจะชอบแนะนำว่า ลองหยิบภาพถ่ายที่เคยถ่ายตั้งแต่เล็กๆ จนกระทั่ง ถึงปัจจุบัน มาเรียงกันเข้า ตั้งแต่ภาพแรกจนถึงภาพสุดท้าย มองดูแล้วเหมือนกันไหม ก็ไม่เหมือนกันแล้ว ปฏิเสธได้ไหมว่า นี่ไม่ใช่คน คนเดียวกัน ตอนนั้นแก้มยุ้ย ตาใสแจ๋ว น่ารักน่าเอ็นดู น่าอุ้มเหมือนลูกแมวเปอร์เซีย แล้วเดี๋ยวนี้ ทำไมถึงได้ มีแต่ยายแก่ เส้นเอ็นขึ้น เป็นรากไทรเชียว ไม่ว่าจะเป็นที่มือ ที่แขน หรือที่คอ ไม่สวยเลย ถึงจะไปแก้ไข ยังไงๆ ผลที่สุด มันก็กลับมาที่เดิม เห็นไหมว่าเราปฏิเสธไม่ได้ แล้วจะเอาตัวตนจริงๆ ได้ที่ภาพไหน

ยิ่งเวลาเกิดอุบัติเหตุ เช่น เครื่องบินตก จมลงไปในทะเลเมื่อหลายปีมาแล้ว ประดาน้ำลงไปงม ได้ขามา ท่อนหนึ่ง ลำตัวบ้าง ตับไตไส้พุงบ้าง มือบ้าง แล้วบรรดาลูกเมีย พ่อแม่ ญาติมิตร ก็จะไปคอยชี้ว่า นี่แหละ ขาอันนี้แหละใช่ ข้อมือ อันนี้ใช่แน่ จำได้เพราะมีนาฬิกาผูกอยู่ หัวหูหน้าตาก็ถูกปลาตอดไปแล้ว แต่ด้วยความรัก ด้วยความยึดมั่น ในรูป ก็จะต้องขอเอา มาต่อกันเข้าว่า นี่แหละคือพ่อของฉัน ภรรยาของฉัน ลูกของฉัน เพื่อนของฉัน จริงหรือเปล่า ไม่มีใครพิสูจน์ได้ อาจจะเป็นตัวของคนหนึ่ง ขาของอีกคนหนึ่งก็ได้

จะเห็นได้ว่าสภาวะของอนัตตาแสดงอยู่ทุกขณะแต่เพราะความรักในรูปนี้กายนี้ ไม่อยาก จะยอมรับว่า เป็นความจริง จึงมีความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนเป็นของฉัน แล้วก็ทิ้งไม่ได้ ความยึดมั่น ถือมั่น ในอัตตา นี่เอง ที่เป็นอุปสรรค ทำให้ไม่สามารถเข้าถึง ความเป็นอนัตตาได้

แน่นอนที่สุดว่าเมื่อมี "ตัวฉัน" เกิดขึ้น ก็ต้องมี "ของฉัน" ตามมา เมื่อเล็กๆ ของฉันยังมีไม่กี่อย่าง เพราะยังไม่มี ปัญญา จะหามาได้เอง แต่พออายุมากขึ้นของฉันมันทวีเพิ่มพูน เอาเกวียนมาใส่ เอารถบรรทุก หรือรถพ่วง มาขนก็ไม่พอ มากเหลือเกิน พอมากเข้าเจ้าของเป็นอย่างไร หนัก เหน็ดเหนื่อย แบกไม่ไหว จะนอนก็ห่วง ตื่นก็ห่วง ไปไหนก็ห่วง ทำอะไรอยู่ก็ห่วง จิตใจไม่มี ความเป็นปกติ ไม่มีความสุขเลย มันเป็นความ น่าเกลียดอย่างยิ่ง เพราะมีแล้วทำให้เกิด ความเห็นแก่ตัวขึ้นโดยไม่รู้ตัว

จะขอเล่านิทานชาดกให้ฟังอีกสักเรื่อง คือเรื่อง "ลิงล้างหู" เคยได้ยินไหม

ในชาดกนี้เล่าว่า ในป่าแห่งหนึ่งมีลิงฝูงใหญ่อาศัยอยู่ พญาลิงที่เป็นหัวหน้าเป็นลิงโพธิสัตว์ มีรูปร่างงดงาม ขนขาวนุ่มเป็นปุยไปทั้งตัว จึงมีคำร่ำลือไปทั่ว พวกพรานก็อยากจะได้ลิงตัวนี้ ไปถวายพระราชา จึงพยายาม ไปดักจับ พญาลิงมีความฉลาดหลักแหลม จะหลบหลีกอย่างไร ก็ทำได้ แต่ด้วยความรักบริวาร ไม่อยากให้ต้อง เดือดร้อน ถูกเบียดเบียนรังแก ในที่สุดพญาลิง จึงยอม ให้พรานจับตัวไป

พระราชาทอดพระเนตรเห็นพญาลิง มีความงามสง่า ท่าทางเฉลียวฉลาด ก็พอพระทัย ทรงต้อนรับพญาลิง เป็นอันดี รับสั่งให้มหาดเล็กดูแลให้พญาลิงได้รับความสะดวกสบาย ทั้งในเรื่องที่พักอาศัย และอาหารการบริโภค อย่างอุดม สมบรูณ์ พร้อมกับมีพระราชานุญาต ให้พญาลิงเข้านอกออกใน เที่ยวชมปราสาทราชวัง ได้ทุกหนแห่ง ตามที่ปรารถนา

พญาลิงเที่ยวชมอยู่ได้ไม่นาน ก็เกิดความเบื่อหน่ายรำคาญจนกระทั่งถึงกับอึดอัด เศร้าหมอง อย่างที่สุด จึงล้มตัว ลงนอนอยู่นิ่งๆ ไม่ยอมบริโภคอาหารใดๆ เลย มหาดเล็กจึงไปกราบทูล พระราชา เมื่อทรงทราบ ก็เสด็จมาเยี่ยม ตรัสถามว่า พญาลิงมีอาการเจ็บป่วย หรือไม่พอใจ สิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือ

พญาลิงทูลตอบว่า มีความรำลึกถึงเพื่อนพ้องบริวารที่อยู่ด้วยกันในป่ามานาน หากจะทรง พระกรุณา ก็ขอได้โปรด ส่งตนกลับไป อยู่ในป่าตามเดิมเถิด แม้พระราชาจะอ้อนวอน ชักชวน อย่างใด พญาลิง ก็ไม่ยินดีจะอยู่ ในพระราชวังต่อไป จึงต้องทรงยอมปล่อย ให้พญาลิง กลับคืนไปสู่ฝูงของตน

พวกลิงบริวารเห็นพญาลิงกลับมาก็ตื่นเต้นยินดี พากันมาห้อมล้อมและมีความสนใจใคร่รู้ว่า พญาลิง ได้ไปพบ เห็นอะไร ในบ้านเมืองของมนุษย์มาบ้าง พญาลิงก็ตอบสนอง เล่าถึง สภาพบ้านเมือง ความเป็นอยู่ ของมนุษย์ ที่ตนได้พบมา ให้ฟังโดยละเอียด ฝูงลิงฟังแล้ว ก็เกิดความสงสัยซักถามต่อไปอีกว่า แล้วมนุษย์ เขาคุยกัน เรื่องอะไรบ้าง

พอได้ยินคำถามนี้ พญาลิงก็เมินหน้าหนี ไม่อยากตอบคำถาม เพราะสิ่งนี้เองเป็นต้นเหตุ ให้ตนเกิด ความเบื่อหน่าย ระอาจนต้องขอกลับมาอยู่ป่าตามเดิม แต่ในที่สุดก็ทนการรบเร้า ของบริวารไม่ไหว จึงบอกว่า "มนุษย์นั้น คุยกันอยู่เรื่องเดียวแหละ คือคุยแต่เรื่องของกู ! ของกู !"

บริวารได้ยินดังนั้นต่างก็เอามือปิดหู บอกว่าไม่อยากฟังอีกแล้ว พากันกระโดด ลงไปในสระน้ำ เพื่อล้างหู ให้สะอาด เพราะทนได้ยินคำพูดสกปรกว่า "ของกู ! ของกู !" ไม่ได้ พวกลิงอยู่กันมา ด้วยความสงบสุข รักใคร่ ปรองดอง มีอะไรก็แบ่งปัน ไม่เคยเบียดเบียนกัน เป็นชีวิตที่บริสุทธิ์ ตามธรรมชาติ พอมาได้ยินคำว่า "ของกู ! ของกู!" ก็รู้สึกว่า สกปรกมาก ถึงกับต้องไปล้างหู ล้างเอา ถ้อยคำนี้ออกไปเสีย และไม่อยากจะได้ยินได้ฟังอีก

นิทานเรื่องนี้ค่อนข้างจะตบหน้ามนุษย์นะ เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องคิดพิจารณากันให้มากๆ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องอนัตตาเพราะทรงเห็นแล้วว่า ตราบใดที่ มนุษย์ทั้งหลาย ยังมีความยึดมั่น ถือมั่นในความเป็นตัวเป็นตน ว่าเป็นตัวฉัน เป็นของฉัน ก็จะต้องมี การเบียดเบียน กันอยู่ ตลอดเวลา ตัวอย่างเห็นอยู่รอบตัวเรา อ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน มีไหมวันไหน ที่อ่านแล้วสดชื่น เบิกบาน อิ่มอกอิ่มใจ ไม่มีเลย มีแต่ความเหี่ยวแห้ง เพราะตัวกู ของกูมันออกมาเบียดเบียนกัน พยายามที่จะข่มเหง ยื้อแย่ง เอามา เป็นของเรา องค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงเห็นแล้วว่า ตราบใด ที่เรายังยึดมั่น ถือมั่น ในความเป็น ตัวตน อย่างเหนียวแน่น น้ำใจย่อมแห้งแล้ง แบ่งปันไม่ได้ จะได้ก็เฉพาะ แต่ตัวฉัน ลูกฉัน เมียฉัน ครอบครัวฉัน พี่น้องเพื่อนฝูงของฉัน พรรคพวกของฉัน มีแต่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวของฉัน ทั้งนั้น จึงทรงพยายาม ที่จะบอกให้รู้ว่า ถ้าเราอยากจะอยู่กันอย่างไม่เป็นทุกข์ อยากจะอยู่กันอย่าง เป็นสุข ให้ทั่วถึงกัน ก็ควรที่จะได้ ศึกษา ถึงเรื่องของ อนิจจัง-ความไม่เที่ยง ให้เห็นทุกขัง-สภาวะ ที่ทนอยู่ ไม่ได้ และให้เข้าถึง อนัตตา-ความไม่ใช่ตัว ใช่ตนอย่างแท้จริง

ท่านผู้ใหญ่ทั้งหลายคงเคยไปงานศพกันมาแล้วทั้งนั้น ที่เห็นชัดก็คือเวลาไปเก็บอัฐิ ตอนที่ยัง มีชีวิตอยู่ รูปร่างล่ำสันแข็งแรง สง่าผ่าเผย พอถึงเวลาไปเก็บอัฐิเหลือกำมือเดียว เอาผ้าเช็ดหน้า ห่อได้ แล้วที่เคยเห็น ใหญ่โตนั่น หายไปไหนหมด ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ผมเผ้าหน้าตา แข้งขา เลือดเนื้อ หายไปไหน นี่แหละคือ ความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่แท้จริง

เรื่องของอนิจจังนี้ในอินเดียเขาพูดกันมานานแล้ว ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังไม่ได้อุบัติขึ้น แต่พระองค์ ทรงเห็นว่า ถ้าเราจะมาทำความเข้าใจเพียงเรื่องอนิจจัง ความไม่เที่ยง เท่านั้นไม่พอ เพราะมันยังมี ตัวของคน ที่เห็นความไม่เที่ยง ว่าฉันเห็น เธอยังไม่เห็น เพียงแค่นี้มันยังไม่สิ้นสุด ต้นเหตุของสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ ท่านจึงสอน ขึ้นไปถึง อนัตตา คือความไม่ใช่ตัวใช่ตน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นสัจธรรมตามธรรมชาติอยู่แล้ว

เมื่อใดสามารถศึกษาได้ละเอียดลึกซึ้ง ถี่ถ้วนและรอบด้าน จนเข้าถึงสภาวะของ "สังขาร ทั้งหลาย ไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา" เมื่อนั้นความสงบรำงับ ความดับเย็นสนิท ก็จะเกิดขึ้นในจิต ในชีวิต ตามลำดับ ทีละน้อยๆ

เคล็ดลับของการฝึกให้เข้าถึงไตรลักษณ์ในลักษณะอันเป็นธรรมดา ๓ ประการที่เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นจะต้อง ฝึกอย่างไร ขอบอกว่าไม่ต้องลงทุนด้วยเงิน เพียงแต่มีความอุตสาหะ พากเพียร และความตั้งใจจริง เป็นต้นทุน ในการฝึก

การที่จะเข้าถึงไตรลักษณ์ให้ได้ จะต้องเข้าถึงด้วยใจ ด้วยการดูที่ใจ ไม่ใช่ด้วยการคิด การ ศึกษาอบรม ปฏิบัติธรรม จะต้องเปลี่ยนวิธีการศึกษา จากการศึกษาในห้องเรียน ตามที่ครู อาจารย์ บรรยาย ด้วยการฟัง และคิดตาม ใช้สมองจดจำ มาเป็นการศึกษาด้วยการดูเข้าไป ที่ใจ ใช้ใจสัมผัสกับความไม่เที่ยง หรือ ความเปลี่ยนแปลง ใช้ใจสัมผัสกับความรู้สึกที่มันเกิดขึ้น เป็นการยากสักหน่อย เพราะใจเป็นสิ่งที่ มองไม่เห็น เป็นนามธรรม แต่ใจนี้สามารถรู้สึกได้ อย่างเรารู้สึกร้อนที่ใจ ใจของฉันมันร้อนยังกับไฟ ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นรูปของใจ แต่รู้สึกได้เวลานี้ ใจฉันเย็น ใครจะเอาไฟมาลนก็ไม่ร้อน มันก็รู้สึกเย็น ที่ใจอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การดู ก็คือดูที่ใจ ให้ใจสัมผัสกับสภาวะ ของความไม่เที่ยงที่เกิดขึ้น

เอาใจสัมผัสอย่างไร ขออุปมาถึงเวลาที่รักกัน เขามองกัน ที่ไหนจึงจะสัมผัสได้ มองกันที่ดวงตา ได้ใช่ไหม "มองเข้าไปที่ดวงตา ฉันสัมผัสได้ถึงความรักที่เขามีต่อฉัน" ใช่ไหม วัยหนุ่มวัยสาว มองเข้าไปแล้ว ใจฉันมันอบอุ่น ขึ้นมาเลย เพราะรู้สึกว่ามีเพื่อนร่วมชีวิตที่จะอยู่ด้วยกัน ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วยกัน ใจมันสัมผัสใช่ไหม ไม่ใช่สัมผัส ด้วยสมอง นี่แหละ ดูลงไปที่ความรู้สึก ที่เกิดขึ้นภายใน ไม่ใช่ ตับไตไส้พุงหรือหัวใจที่เป็นอวัยวะ แต่เป็นที่ ความรู้สึก ซึ่งอยู่ภายใน สัมผัสได้ในขณะที่เกิดความรู้สึกนั้นขึ้น จะเป็นความรู้สึกดี ความรู้สึกชั่ว รู้สึกได้ รู้สึกเสีย รู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ สัมผัสเข้าไปในตอนนั้นแล้วก็ดูต่อไปอีกว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้มันคงที่ไหม ดูไปๆ ก็ได้สัมผัส กับความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจนได้สัมผัสกับความไม่เที่ยง และเมื่อ สัมผัสกับ ความไม่เที่ยง มากเข้าๆ ไม่ช้าก็จะสัมผัสกับความเป็นอนัตตา คือความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน

จะสังเกตได้อย่างไรว่าใจเราสัมผัสแล้ว สำหรับท่านผู้ใหญ่ก็หยิบเอาประสบการณ์ที่ผ่านมา ในชีวิต แต่ละอย่างๆ ขึ้นมาดู นั่งเงียบๆ คนเดียว ไม่ต้องพูดไม่ต้องคุยกับใคร ยิ่งตอนดึกสงัด ที่ไม่มีอะไรรบกวนยิ่งดี ขณะที่ใจ มันว่างโปร่ง จะสัมผัสความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง พร้อมกับเห็นความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เริ่มต้นด้วย การเห็นว่า มันไม่ใช่ของเรา มันจึงมาแล้วก็ไป มันจึงได้เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่จะเป็นข้อสังเกตให้รู้ตัวเองว่าเราได้สัมผัสแล้วก็คือ เราจะมีความรู้สึกสลดสังเวชตามมา ในจิตใจ สลดสังเวช ในความรู้สึกว่าเราได้เคยรักเคยหลง เคยยึดมั่นถือมั่น เกิดความรู้สึก ขึ้นมาว่า เราได้ไปหลง ยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งที่มันเป็นเงา เป็นมายา ไม่ใช่สิ่งจริงเลย พอลืมตา ขึ้นมันหายวับๆ เดี๋ยวนี้มันไม่ได้อยู่กับเราเลย นี่แหละ ความสลดสังเวชใจ จะเกิดขึ้น หลังจากนั้น ก็จะค่อยๆ จางคลายความรู้สึก ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของฉันลดลงๆ ตามลำดับ แสดงว่ากำลังค่อยๆ เข้าถึงความรู้ครบถ้วนเกี่ยวกับไตรลักษณ์ทีละน้อยๆ การฝึกปฏิบัติอย่างนี้ อย่าใจร้อน อย่ารีบ อย่าหวังว่าฉันจะต้องเห็นทันที ทำไปเรื่อยๆ ช้าๆ ทีละน้อยๆ แล้วจะค่อยๆ สัมผัสได้เอง

แม้แต่บรรดานักเรียนก็ตาม เวลาที่เรียนหนังสืออย่างวิชาประวัติศาสตร์ มองเห็นอนิจจัง ในนั้นไหม มองเห็นทุกขัง ในนั้นไหม มองเห็นอนัตตาในนั้นไหม ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ต่างประเทศหรือประวัติศาสตร์ไทย เวลานี้ เรามีกรุงรัตนโกสินทร์เป็นนครหลวง เมื่อแรกเรามี กรุงอะไรเป็นนครหลวง สุโขทัย จากสุโขทัย มาเมืองอะไร อยุธยา จากอยุธยา มาเมืองอะไร ธนบุรี จากธนบุรีมารัตนโกสินทร์ นี่แสดงถึงความไม่เที่ยงหรือเปล่า จากนั้น ก็แสดงให้เห็น ความเป็นอนัตตา คือความไม่ใช่สิ่งจริงเลยสักอย่างเดียว มันจะเปลี่ยนแปลงไป ตลอดเวลา

เหมือนอย่างชื่อประเทศไทยนี่ ขณะนี้เราเรียกว่าประเทศไทย เมื่อก่อนนี้ท่านผู้ใหญ่ ที่นั่งอยู่ ข้างหน้า ย่อมจำได้ ชื่อว่า ประเทศอะไร ประเทศสยาม เพลงชาติก็ว่า แผ่นดินสยาม นามประเทืองว่า เมืองทอง บัดนี้เปลี่ยนเป็น ประเทศไทย เห็นไหมว่ามีอะไรแน่ จากชาวสยาม ก็เปลี่ยนเป็นชาวไทย เราจะไปยึดเอาอะไร เป็นของเที่ยง เป็นของแน่ ไม่ได้สักอย่างเดียว มันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน ของลูกหลาน ทั้งหลายนี้ ที่บ้านก็ดี ที่โรงเรียนก็ดี ในขณะที่เรียน วรรณกรรม อ่านสารคดี อ่านอัตชีวประวัติ ให้สังเกต ดูเถิดว่า มีอะไร คงที่บ้าง มีอะไรยืนยงอยู่ได้ตลอดไปบ้าง นี่แหละคือการฝึกดูให้เข้าถึง ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปทีละน้อยๆ แล้วจะรู้สึกว่า เรานี้เป็นผู้มีความเป็นอิสระ เป็นไทแก่ตัวมากยิ่งขึ้น ตามลำดับ

อยากจะพูดไปอีกสักนิดหนึ่งว่า ถ้าหากว่าเราถึงซึ่งความเป็นอนัตตา คือมองเห็นว่า นั่นก็ไม่ใช่ ของเรา นี่ก็ไม่ใช่ของเรา ตัวเราก็ไม่ใช่ของเรา เราจะรู้สึกเหงาว้าเหว่ไหม รู้สึกวังเวงไหมว่า แล้ว "เรา" จะไปอยู่ที่ไหน ถ้าหากว่า เราเข้าถึงจริง เราจะไม่วังเวงเลย แต่เราจะมีความมั่นคงยิ่งขึ้น หนักแน่นยิ่งขึ้น แล้วถ้าจะถามว่า แล้วตัวเรานี้ จะเอาไปไว้ที่ไหน ตัวเราที่มองเห็นจับต้องได้ อยู่นี้ จะเอาไปทิ้งไว้ที่ไหน คำตอบก็คือเมื่อมีตัว อยู่เดี๋ยวนี้ ก็จงใช้ตัว ที่มีอยู่นี้ให้ถูกต้องที่สุด ให้เกิดประโยชน์ที่สุด ก็คือทำสิ่งที่มีประโยชน์ ทั้งแก่ตนเอง และแก่สังคม แก่เพื่อนมนุษย์ แล้วเราก็จะมีแต่ความสุขโดยไม่ต้องรู้สึกว่ามี "ตัว"

เพราะฉะนั้นอะไรคือสิ่งที่เหลืออยู่ ? ขอฝากไว้ให้คิด สิ่งที่เหลืออยู่นั้นก็คือหน้าที่ องค์สมเด็จ พระสัมมา สัมพุทธเจ้าตรัสรู้ตั้งแต่พระชนมายุ ๓๕ พรรษา ปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ๔๕ พรรษาใ นระหว่างนั้น พระองค์ทรงทำอะไร พระองค์เสด็จไปด้วยพระบาทเปล่า จากเมืองนี้ไปเมืองโน้น ทรงตรากตรำ พระวรกาย เพื่อตรัสสอนธรรมะแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ที่ตกจมอยู่ในทะเลของความทุกข์ ให้ได้รอดพ้น สู่ความสงบเย็น พระองค์จะไม่ทรงกระทำ เช่นนี้ก็ได้ ไม่มีใครบังคับ แต่พระองค์ก็ทรงทำ เพราะพระองค์ ทรงรู้ดีว่า สิ่งนี้คือหน้าที่ของ ผู้เป็นพระศาสดา พระศาสดาก็คือครู นี่เป็นหน้าที่ของครู ครูจะต้องสอน ด้วยความเสียสละ อุทิศชีวิต อุทิศร่างกาย อุทิศทุกอย่าง ทุกเวลา เพื่อจะให้ความดีงาม ความเป็นสุขสงบเย็น เกิดแก่มนุษย์ ทั้งหลาย ที่เปรียบเสมือน ลูกศิษย์ของพระองค์

หรือสมเด็จพระบรมราชชนนีที่เพิ่งเสด็จสวรรคตไป พระชนมายุ ๙๐ กว่าพรรษา แต่ตลอดเวลา พระองค์ทรง หยุดนิ่งไหม พระวรกายของพระองค์ก็ทรงผอมบางนิดเดียว ไม่ทรงแข็งแรง โรคภัยไข้เจ็บ รบกวน ตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้ทรงหยุดนิ่ง จนวาระสุดท้าย นี่คือหน้าที่ในฐานะ ที่ทรงเป็นพระบรมราชชนนี ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และเรียกได้ว่าเป็น พระบรม ราชชนนี ของบรรดาชาวไทยทั้งปวง ที่ใดมีทุกข์ มีความยากเข็ญ เสด็จถึงที่นั่น ทุกหนทุกแห่ง นี่คือหน้าที่ของผู้ที่เป็นมนุษย์ ยิ่งอยู่สูงเพียงใด ทรงธรรมเพียงใด ก็ยิ่งทรงใช้ คุณธรรมเหล่านั้น มาช่วยเพื่อนมนุษย์ให้มีความสุขสงบเย็นจากความทุกข์ยากลำบาก ให้ได้ทั่วกัน ยิ่งขึ้น นี่คือ สิ่งที่เหลืออยู่ สำหรับมนุษย์ที่จะต้องทำ นั่นคือการปฏิบัติหน้าที่ของมนุษย์

สิ่งที่อยากจะขอฝากไว้ให้คิดอีกประการหนึ่งคือ คุณลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนา

ข้อแรกก็คือว่า พุทธศาสนานั้นเป็นพุทธศาสตร์ หมายความว่า เป็นศาสนาที่ใช้ปัญญา เป็นเครื่องตัด ทำลาย ความโลภ ความโกรธ ความหลง ตลอดถึงตัณหาอุปาทานที่รบกวนจิตใจ

ข้อที่สองก็คือ พุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้อะไร รู้ครบถ้วน เมื่อมีความรู้ครบถ้วน ก็เป็นผู้ตื่น ตื่นจากการตกเป็นทาสของกิเลส และตัณหาความอยาก ที่ทำให้เกิด ความดิ้นรน อยู่ตลอดเวลา ตื่นจากความยึดมั่น ถือมั่น ว่าเป็นตัวตน จนกระทั่งทำให้มีความทุกข์ ใครทุกข์ ฉันทุกข์ ถ้าละลาย "ตัวฉัน" เสียได้ ใครล่ะจะทุกข์ นี่พูดเหมือนกับเล่นสำนวน แต่มันเป็นสัจธรรม เมื่อเป็นผู้รู้แล้ว ก็จะตื่นขึ้นมา จากความหลับ อาการของความหลับ ที่เป็นความหวาดสะดุ้ง สงสัย ลังเล เป็นอาการของ ความทุกข์ เมื่อจิตมีความรู้สึกอย่างนี้จะระส่ำระสาย ไม่มีความเป็นปกติ

คุณลักษณะพิเศษประการที่ ๓ ก็คือ พุทธศาสนาเป็นศาสนาเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ในชีวิต ปัจจุบัน อย่างทันตาเห็น ยกตัวอย่างเช่น หยุดอยากเดี๋ยวนี้ ก็เย็นเดี๋ยวนี้ จริงไหม กำลัง อยากได้ที่ดินผืนนั้น เหลือเกิน ดิ้นรน ร้อน เงินไม่พอ จะไปกู้ใครดี เพื่อให้ได้ที่ดินผืนนั้น แต่พอคิดขึ้นมาว่า ได้มามันก็เท่านั้นแหละ ได้มาแล้ว มันก็มีดีในเสีย มีเสียในดี เรื่องอะไร จะต้อง ไปลำบาก ให้มากนัก หยุดเสียเถอะ ใจที่กำลังร้อนอยู่นั้น ก็จะเย็นลง ทันที นี่แหละ พุทธศาสนา มีลักษณะพิเศษตรงนี้ อยู่เย็นเป็นสุขได้เดี๋ยวนี้ เพียงแต่หยุดอยาก หยุดอยาก เดี๋ยวนี้ ก็เย็นเดี๋ยวนี้ หยุดเอาเดี๋ยวนี้ ก็สิ้นความร้อนเดี๋ยวนี้

เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาของเหตุและผล ไม่ใช่ศาสนาของการคาดคะเน คิดเอา เดาเอา เป็นศาสนา ที่สอนให้อยู่กับปัจจุบันขณะที่กำลังหายใจอยู่นี้ ทำหน้าที่ในปัจจุบันนี้ ให้ดีที่สุด อย่างผู้มีความรู้ ครบถ้วน แม้จะไม่ครบถ้วนเดี๋ยวนี้ก็ไม่เป็นไร แต่ให้รู้ไปทีละน้อยๆ การรู้ครบถ้วนก็จะค่อยบริบูรณ์ขึ้นตามลำดับ พระองค์ จึงทรงพร่ำสอนว่า "สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา" อย่างน้อย ลองจำ ประโยคนี้ไว้ ก็เชื่อว่า คงจะมองเห็นได้ว่า จะเป็นอยู่กันอย่างไรจึงจะสิ้นปัญหา คือไม่มีความทุกข์ได้ตลอดเวลา

ขอจบด้วยการฝากการบ้านให้ไปคิดอีกหน่อย เป็นร้อยกรองของท่านอาจารย์สวนโมกข์ (พุทธทาสภิกขุ) สั้นๆ แต่ชวนให้คิดไปได้ หลายเรื่องอย่างลึกซึ้ง ท่านเขียนเอาไว้ว่า

ยามจะได้ ได้ให้เป็น ไม่เป็นทุกข์
ยามจะเป็น เป็นให้ถูก ตามวิถี
ยามจะตาย ตายให้เป็น เห็นสุดดี
ถ้าอย่างนี้ ไม่มีทุกข์ ทุกวันเอย
พอจะมองเห็นไหมว่าหมายความว่าอย่างไร

ก็ขอขยายความให้สักนิดเพื่อเป็นหนทางให้ไปคิดต่อ

ยามจะได้ได้ให้เป็นไม่เป็นทุกข์ ไม่ว่าจะได้อะไรทั้งนั้น ได้เงินทอง ได้โชคลาภที่พอใจ ได้ลูก ได้คู่ครอง ได้ความรัก อะไรก็แล้วแต่ ได้ให้เป็นเหมือนอย่างตาพ่อในนิทานนั้น คือมีความรู้ เท่าทันอยู่เสมอ เท่าทัน ในความไม่เที่ยง ในความที่ ไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ด้วย ความเท่าทัน จะหลงยึดมั่น กอดรัดเอาไว้ เป็นของเราไหม ก็ยึดเหมือนกัน แต่ยังไม่เหนียวแน่น พอเพลาๆ ได้ แต่ถ้าได้อย่างไม่รู้เท่าทัน มันเหนียวแน่น มันแกะไม่ออก แล้วมันก็จะตาย อยู่ตรงนั้นเอง เพราะฉะนั้น จึงบอกว่า ยามจะได้ได้ให้เป็นไม่เป็นทุกข์ ไม่มีใคร เขาห้ามหรอกว่า ไม่ให้เอา เอาเถอะ แต่ว่าเอาอย่างรู้ทัน ก็จะไม่เกิดความประมาท

ทีนี้ยามจะเป็นเป็นให้ถูกตามวิถี ไม่ว่าจะเป็นอะไร เขาจะแต่งตั้งให้เป็นอะไร หรือเขาไม่ได้ แต่งตั้ง แต่เป็นตาม ธรรมชาติ เป็นลูก เป็นนักเรียน เป็นนักศึกษา เป็นครูบาอาจารย์ หรือว่า เป็นรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ ไม่ว่าจะเป็น อะไรทั้งนั้น เป็นให้ถูกตามวิถี สิ่งที่เหลืออยู่ของ มนุษย์ คือหน้าที่ใช่ไหม ธรรมะ คือหน้าที่ ฉะนั้น จงทำหน้าท ี่ของตน ตามที่เป็นนั้นให้ถูกต้อง ให้เกิดประโยชน์ เกิดประโยชน์แก่งาน เกิดประโยชน์ แก่ส่วนรวม และเกิด ประโยชน์ แก่ตัวเอง ตรงที่ไม่เป็นทุกข์ เพราะเราได้ทำหน้าที่ถูกต้อง เราไม่เป็นทุกข์ เรามีแต่ ความสุข ความอิ่ม เอิบใจ เราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานยามจะตายตายให้เป็นเห็นสุดดี ตายให้เป็น จะตายอย่างไร ก็มันกำลัง จะตายอยู่ มาดูกันก่อนว่า ที่ตายไม่เป็นคืออย่างไร คือพอถึงเวลา จะตายขึ้นมา มันหวั่นหวาด สะดุ้งกลัว ตัวสั่น เพราะไม่ได้ศึกษา ความรู้ให้ครบถ้วน ตามที่องค์พระศาสดา ทรงสั่งสอน

แก่ก็ไม่ชอบใช่ไหม มีใครอยากแก่บ้าง แต่ก็ต้องแก่ หนีความแก่ ไปไม่พ้น ถ้าเราศึกษา ให้ครบถ้วน เราก็จะฝึกใจ ของเรา ให้เป็นผู้แก่อย่างสง่า ลูกหลานไม่เบื่อ อยากมาหา อยากมาเยี่ยม อยากอยู่ใกล้เพราะ คุณตา คุณยาย ไม่บ่น ไม่จู้จี้ว่าจะเอานั่นเอานี่ นั่นแหละ แก่อย่างสง่า เพราะยอมรับความแก่ ที่บ่น ที่จู้จี้ ที่จะเอานั่นเอานี่ เพราะพอแก่เข้า ก็เริ่มจะรู้สึกว่า เราชักจะเป็นคนไม่มีท่าแล้ว เราทำอะไรให้ใครไม่ได้ นับวันจะหมดเรี่ยว หมดแรง จะเป็นคน ที่เป็นภาระ จึงเกิดความเหงา ความว้าเหว่ ก็เลยชดเชยด้วยการบ่นจู้จี้ ใช้อำนาจของ ความเป็นปู่ย่า ตายาย เป็นต้น นี่เป็นการแก่อย่างขี้เหร่ เพราะใครก็ไม่อยากเข้าใกล้ เบื่อหน่าย เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาความรู้ ครบถ้วน ถึงเวลาแก่ก็แก่อย่างสง่าได้ มีความสุขในความแก่

ถึงเวลาเจ็บก็เจ็บอย่างสบาย มันไม่สบายตรงที่เจ็บ แต่ความรู้สึกไม่เจ็บไปด้วย ไม่เจ็บ ไปกับอะไร ในกายนี้ทั้งนั้น ปล่อยให้มันเป็นไป ตามเรื่องของมัน รักษาใจเอาไว้ ให้ใจยอมรับ สภาวะของ ความเป็นธรรมชาติ ที่ไม่มีใคร หลีกเลี่ยงได้ แต่เรามีหน้าที่ในการจะต้องรักษา ความเจ็บไข้ อย่างไรก็รักษาเต็มที่ ทำตามที่หมอ หรือพยาบาล เขาแนะนำ นี้ก็เรียกว่า แก่อย่างสง่า เจ็บอย่างสบาย

พอถึงเวลาตายก็จะตายได้อย่างสงบ นี่แหละยามจะตายตายให้เป็นเห็นสุดดี เพราะมัน เตรียมตัว มาตลอด ตั้งแต่ ยังเล็กๆ จนเป็นผู้ใหญ่ ยอมรับความแก่ ความเจ็บ อันเป็นธรรมดา ของธรรมชาติมาโดยตลอด เพราะฉะนั้น เมื่อความตาย อันเป็นของธรรมดา หลีกเลี่ยงไม่ได้ มาถึง ก็เตรียมตัวยอมรับความตายได้ด้วยความกล้าหาญ เพราะเห็นแล้วว่า ความตายนี้ มิใช่ของใคร เป็นเพียงอาการตามธรรมชาติเช่นนั้นเอง จึงไม่ต้องสงสัยว่า ตายแล้วไปไหน สุคติเป็นที่หมายได้แน่นอน ท่านจึงบอกว่า ยามจะตายตายให้เป็นเห็นสุดดี ถ้าอย่างนี้ ไม่เป็นทุกข์ ทุกวันเอย

นี่แหละ เราจะเป็นอยู่กันอย่างไร จึงจะไม่เป็นทุกข.์

- หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๒ มีนาคม - เมษายน ๒๕๔๗ -