รอบบ้าน รอบตัว
- อุบาสก ชอบทำทาน -

กระบวนการพัฒนากลุ่ม ตอนที่ ๑
ความคิดหมวก ๖ ใบ

มีลม-มีเรื่อง หมดลม-หมดเรื่อง ดูเป็นคติโบราณที่ทำให้ได้คิดนะครับ
เพราะเหตุนี้ มากคนจึงมากเรื่องเป็นธรมดา
แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ เมื่อถอยหลังไม่ได้ เราจะเดินหน้าอย่างไรให้มีคุณภาพ?
แนวทางการพัฒนาหน่วยงาน จึงมีนักคิดมากมาย พยายามสร้างเครื่องมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ

"หมวก ๖ ใบ คิด ๖ แบบ" เป็นอีกทฤษฎี หนึ่งที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะนำมาใช้กับตัวเองเพื่อให้รู้เท่าทันตัวเอง หรือใช้ในการประชุม

อย่างไรก็ตามอยากจะเรียกว่า เป็นการ "เจริญสติ" ในอีกรูปแบบหนึ่ง

Edward de Bono เป็นผู้เขียน โดยมี ผู้แปลหมวกแต่ละใบถึง ๖ คนด้วยกัน สำนักพิมพ์ ชานชาลาเป็นเจ้าของ อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์จัด จำหน่าย

เจ้าของความคิดนี้ได้ช่วยแก้ปัญหาการประชุมให้องค์กรหน่วยงานใหญ่ๆ มากมาย รวมไปถึงปัญหาในครอบครัว !

จากความยุ่งยากไปสู่ความง่าย

จากการใช้เวลาเป็นชั่วโมง ให้ลดลงได้หลายเท่าตัว

ความลึกซึ้งไปหาอ่านกันเอาเองนะครับ จะขอสรุปกว้างๆ พอเห็นเป็นแนวทาง

หมวก ๖ ใบ จะได้เป็น ๓ คู่

*** คู่ที่ ๑ หมวกสีขาว : หมวกสีแดง
สีขาว เป็นสัญลักษณ์แห่งความสะอาด บริสุทธิ์ คือ ภาวะแห่งความเป็นกลาง การชี้แจงข้อเท็จจริงตามเนื้อผ้า ตามข้อมูลที่ได้รับมา โดย ไม่มีอคติอะไร
สีแดง เป็นสัญลักษณ์แห่งอารมณ์เลือดเนื้อจิตใจ จึงเป็นความคิดที่เอาความรู้สึกส่วนตัว ไม่ว่าจะชอบหรือชังเข้ามาปรุงแต่ง
สีแดงจึงเป็นได้ทั้งอคติและชื่นชม

*** คู่ที่ ๒ หมวกสีดำ : หมวกสีเหลือง
สีดำ เป็นสัญลักษณ์ของการมองโลกในแง่ร้าย มองโลกอย่างหวาดระแวง ไม่ไว้ใจ เป็นสีแห่งความปลอดภัยไว้ก่อน ไม่ถลำลึกจนเกินไป
สีเหลือง เป็นสัญลักษณ์ของการมองโลกในแง่ดี เป็นอารมณ์แห่งความหวัง ประดุจต้นข้าว ที่กำลังมีรวงแก่เต็มท้องนา ดูช่างเบิกบานเสียนี่กระไร

*** คู่ที่ ๓ หมวกสีเขียว : หมวกสีฟ้า
สีเขียว ความเขียวเป็นสัญลักษณ์แห่งการ แตกผลิ แตกหน่อกิ่งใบ เป็นความเติบโต

งานพัมนาก้าวกระโดดล้วนอาศัยสีเขียวทั้งสิ้น

หมวกสีเขียวจึงสื่อถึงการมองนอกกรอบ การมองออกจากกรอบเดิมๆ

เพราะเหตุนี้ ไอเดียเจ๋งๆ ไอเดียกระฉูด จึงมักจะโผล่มาจากหมวกใบนี้

หมวกสีฟ้า คิดถึงท้องฟ้าที่ครอบคลุมโลกของเรา ท้องฟ้าเป็นเรื่องของขอบเขต มีเขตแดน

สีฟ้าจึงเป็นสัญลักษณ์ของการสรุปประเด็น

บรรยากาศแห่งการประชุมต้องมีการสรุปประเด็นเป็นระยะ เพื่อป้องกันการหลงทางหรือ ผิดประเด็น

การวิเคราะห์หรือวิพากษ์วิจารณ์ไปเรื่อยๆ จึงเหมือนการเดินทางโดยไม่พัก เหนื่อยตายชัก!

หมวก ๖ ใบ จึงเป็นความคิด ๖ รูปแบบที่คนเราใช้เดินทางไปสู่ความสำเร็จ

หมวกแต่ละใบจะขัดแย้งกันเอง การขัดแย้งนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า นี้คือความมหัศจรรย์

จุดอ่อนของคนเรามักจะอยู่ที่การจมอยู่กับสีสันของหมวกบางใบ

การประชุม การถกเถียงที่ดี นอกจากการใช้หมวกใบเดิมที่ตัวเองถนัดแล้ว ยังต้องหัดสวมหมวกใบอื่นบ้าง

เพราะเหตุนี้ หมวกทุกใบจึงประดุจตัวโน้ตสูงต่ำ ที่ประสานออกมาเป็นทำนองเพลงแสนไพเราะ

หมวก ๖ ใบ จะรักใบใดใบหนึ่งไม่ได้ ต้องรักเหมือนลูก รักทุกคน !

บางคนใส่แต่หมวกสีดำ มีแต่การคัดค้าน ไม่เห็นด้วย สิ่งดีๆ ที่จะเกิดก็เลยไม่เกิด

บางคนก็ชอบสีเหลือง มีแต่มองโลกสวย ไปหมด บทจะพลาดขึ้นมาจึงไม่ทันการณ์ เพราะไม่เคยเตรียมแผน ๒ รองรับ

ชีวิตเมื่อไม่เผื่อเหนียว ยุค IMF เราจึงมีคนยากจนฉับพลันมากมาย

บางคนมีแต่หมวกสีขาว คิดแต่ข้อเท็จจริง ถึงเวลาตัดสินกลับไม่กล้า ลังเล

ล้มเพราะเดินไปข้างหน้า ดีกว่ายืนเต๊ะท่าอยู่ข้างหลัง ! สุภาษิตบทนี้เป็นอนุสติเตือนใจคนสวมหมวกขาว !

บางคนก็เหลือเกิน ใช้แต่ความรู้สึกส่วนตัว ราวกับเป็นศิลปินนักวาด สวมหมวกแดงไม่ยอมถอดทั้งยามหลับยามตื่น

มองทุกอย่างด้วยอารมณ์และจิตใจ ภาวะสุดโต่งชอบกับชัง เกิดเป็นความลำเอียงได้ตลอดเวลา

แต่เราจะเกลียดหมวกแดงได้อย่างไร เพราะการตัดสินใจทุกครั้งภายหลังการรับข้อมูลโค้ง สุดท้าย ต้องเอาหมวกแดงครอบหัวแล้วตัดสินใจ !

หมวกสีเขียวเป็นพรสวรรค์ของใครบางคน แต่อาจจะน่าเบื่อสำหรับคนรอบๆ ข้าง

คิดดีเข้าท่าก็ชื่นชม คิดไม่เข้าท่าคนอาจโยนก้อนอิฐ !

ผู้สมัครผู้ว่า กทม.คนหนึ่ง เคยเสนอ การทำสี่แยกให้เป็นไฟเขียวให้หมด วันนี้ก็จริงของเขา

ไอเดียดี แต่วิธีการต้องช่วยกันค้น

ความคิดแปลกๆ พิเรนทร์ จึงไม่ควรด่วน ดูถูก เพราะในความไม่เข้าท่า กลับดูดีและเป็นไปได้ก็เยอะ บางทีก็มีพลังมหาศาลให้คนอื่นต่อยอด

ความคิดแปลกๆ จึงมิใช่เรื่องด่วนสรุปว่า "ใช้ไม่ได้!" เข้าใจหมวกใบเขียว เราจะใจกว้างขึ้นอีกมาก

ในการประชุม เราจะเห็นหมวกสีต่างๆ บินว่อนอยู่ไปมา คนตาทิพย์ก็จะเห็นภาพนี้ และ เจาะจงไปที่คนใดคนหนึ่งให้ลองเปลี่ยนหมวกดู

หรือภาพรวมยังขาดบรรยากาศหมวกใบไหน อาจจะลองขอให้ที่ประชุมวิเคราะห์ดู

'ร้าย' ครั้งที่ความรุนแรงกลายเป็นความอ่อนโยน เมื่อบางคนขออนุญาตใส่หมวกน่าเกลียด เพื่อขอโอกาสพูดเปิดใจ

'แรง' ในเกมส์จึงไม่ทำให้อารมณ์เสีย ความบาดหมาง ความน่าเบื่อจะลดหายลงไป

หมวก ๖ ใบไม่ลองใช้ ก็มักจะกลายเป็นหลุมศพอยู่ร่ำไป

ขอบคุณมากครับ คุณเดอ โบโน !

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๓ พ.ค. - มิ.ย. ๒๕๔๗ -