บ้านดินหนึ่งเพียร
- เสฏฐชน -

ความคิดที่จะสร้างบ้านดิน เกิดจากการได้ฟังคุณโจน จันใด เล่าเรื่องบ้านดินในงานพุทธาภิเษกฯ ปี ๒๕๔๖ ว่าเป็น สถาปัตยกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการพึ่งตนเองได้อีกรูปแบบหนึ่งในเรื่องที่อยู่อาศัย ที่คนๆเดียว ก็สามารถทำได้ ทั้งอยากรู้ ให้ถึงความจริงของคุณสมบัติของบ้านดินว่าจะเป็นอย่างที่ คุณโจน บรรยายมาหรือเปล่า เช่น ยามอากาศร้อน ก็จะเย็น อากาศหนาวก็จะอบอุ่น ส่วนเหตุผล ต่อมาที่คิดจะสร้างก็คือ อยากจะให้คุณแม่ ได้บ้านดีๆ สักหลัง ที่เหมาะแก่การพักผ่อน ยามเจ็บไข้ ได้ป่วย และบรรดาเพื่อนนักปฏิบัติธรรมที่ต้องการสถานที่วิเวก เป็นส่วนตัว ยามเกิด สภาวะจิต ย่ำแย่ ก็จะได้อาศัยพึ่งพิงไปด้วย จึงเห็นว่าบ้านพี่ชายซึ่งตั้งอยู่ที่บางแขม ห่างจากปฐมอโศก ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ท่ามกลางท้องนาที่ว่างโล่งโปร่งน่าจะเหมาะแก่การทำบ้านหลังนี้ ทั้งยัง สะดวก แก่การที่จะไปอาศัยอยู่ชั่วคราว ในระยะเวลานานพอสมควร ไม่ลำบากในการเดินทาง โดยสามารถ ขี่จักรยานไปๆ มาๆ ได้ด้วย นอกจากนั้นก็ยังมีวัสดุ อุปกรณ์พร้อมเพียงพอที่จะทำงาน ชิ้นนี้ทุกด้าน เวลาที่มีอยู่ก็เอื้ออวยให้ มีความสะดวกกายสบายใจ ที่จะใช้เวลาทั้งหมด ในการทำงานนี้

หลังจากตัดสินใจเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างบ้านดิน เพิ่มเติมจาก หนังสือพิมพ์ "เราคิดอะไร" บ้าง จากการไปพูดคุยไต่ถามรายละเอียดจากผู้เคยทำ และกำลังทำ อยู่บ้าง ทั้งท่านสมณะและฆราวาส

เมื่ออ่านหนังสือต่างๆ และปรึกษา กับท่านสมณะแล้ว จึงเริ่มลงมือก่อสร้าง ต่อไปตามลำดับ ดังนี้คือ

๑. ทำแม่พิมพ์อิฐดินให้มีขนาดกว้าง ๘ นิ้ว ยาว ๑๔ นิ้ว ลึก ๔ นิ้ว

๒. ขุดหลุมเป็นวงกลม ให้มีความกว้างพอที่จะลงไปย่ำได้สะดวก ลึกประมาณ ๕๐ เซนติเมตร

๓. แช่ดินเหนียวในภาชนะผสมปูนพลาสติกขนาดเล็ก หรือจะใช้ถังน้ำมันผ่าครึ่งแทนก็ได้ แช่ดินไว้นานๆ หรือแช่ ค้างคืน ก็ได้

๔. นำดินมาใส่หลุมที่เตรียมไว้ ย่ำจนเข้ากันดีแล้ว จึงใส่แกลบลงไป โดยบ้านที่สร้างใช้ดินประมาณ ๑ คัน รถสิบล้อ แกลบสด ประมาณ ๑ ตัน แล้วย่ำจนเข้ากันดีอีกครั้งหนึ่ง ให้สังเกตว่า เมื่อยกเท้าขึ้น ดินไม่ทรุดตัวลง (ยังมีรอยเท้าปรากฏ) ไม่เหลวเกินไปจึงจะใช้ได้

จากนั้นก็นำเอาดินที่เตรียมไว้แล้วเหล่านี้มาใส่พิมพ์ โดยเอาน้ำลูบที่แบบพิมพ์ก่อน เพื่อกันไม่ให้ ดินติดแบบพิมพ์ แล้วยกแบบพิมพ์ ออกตากให้แห้งสนิท การทำก้อนอิฐดินดังกล่าวมานี้ ทำทีละก้อน รวบรวมไว้ให้ได้ ๗๐๐ กว่าก้อน

ที่ทำมาใช้เวลาประมาณเดือนกว่าๆ ซึ่งจะต้องคำนวณด้วยว่าพอกับการใช้งาน (เฉลี่ยแล้ว ทำได้วันละประมาณ ๒๐ กว่าก้อน) แม้แรกๆ ที่เริ่มหัดทำได้เพียงวันละ ๖ ก้อน แต่วันต่อๆ มา ก็พัฒนาทำได้จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

๕. ใช้เสาเข็ม (เก็บจากที่เขาทิ้งแล้ว) มาทำเป็นฐานรากรับน้ำหนักผนังทั้งหมด เทปูนด้านบน ที่เป็นช่องว่าง ของเสาเข็มแล้ว จิ้มหัวตะปูลงไปในปูนที่ก่อลงบนเสาเข็มด้วย เพื่อให้ยึดเหนี่ยว กับผนังอิฐดินได้ดีขึ้น

๖. เริ่มก่อผนัง โดยผสมดินให้เหลวกว่าที่ทำอิฐเล็กน้อย เพื่อง่ายต่อการก่อ เมื่อกดอิฐทับกันแล้ว ดินก่อจะบาง และแนบสนิทยิ่งขึ้น วางก้อนอิฐสลับกันเหมือนก่อสร้างบ้านด้วยอิฐมอญทั่วไป

๗. เมื่อก่อผนังสูงขึ้นมาประมาณ ๑ เมตรแล้ว ก็ติดตั้งวงกบหน้าต่าง โดยตอกตะปูด้านข้างนอก วงกบ ยกเว้น ด้านบนล่าง เพื่อช่วยให้ยึดเหนี่ยวกับดินได้มากขึ้น วงกบประตูก็ทำเช่นเดียวกัน ส่วนด้านบนของวงกบ ใช้ไม้กระดาน ที่มีความยาวมากกว่าความกว้างของวงกบเล็กน้อย เพื่อรองรับ ก้อนอิฐดินที่จะก่อด้านบนของวงกบ ในชั้นต่อไป

๘. ในส่วนห้องน้ำ บังเอิญมีกระจกที่มีตำหนิที่เขาไม่ใช้แล้ว จึงนำมาเป็นวัสดุประกอบร่วมด้วย เพื่อให้แสงสว่าง ส่องได้ ดีขึ้น ทั้งยังเป็นส่วนช่วยเสริมให้บ้านดูสวยขึ้นอีกต่างหาก

เนื่องจากบ้านดินไม่มีเสา ฉะนั้นเวลาก่อผนังบริเวณมุมของบ้าน หรือมุมที่ยื่นต่อมาเป็นส่วนของ ห้องน้ำ จึงจำเป็น ต้อง วางอิฐสลับกันแต่ละชั้น เพื่อยึดเหนี่ยวตรงบริเวณมุมห้อง เมื่อก่อผนัง ห้องน้ำ ติดประตูห้องน้ำแล้ว จึงจะฉาบปูน ที่ผนังห้องน้ำ และเทพื้นปูน เพื่อป้องกันผนังดินชื้น เปื่อยยุ่ย โดยก่อเป็นฐาน เป็นบ่อพักด้านใน ห้องน้ำด้วย เพราะบ่อด้านนอกมีรอง (ถังพัก) เดียว บนพื้นดิน

ก่อนเทปูน จะเอาดินฉาบผนังห้องน้ำ และผนังทั้งด้านในและด้านนอกก่อน เพื่อให้ผนังดูเรียบ ไร้รอยร้าว และจะดูสวยงามขึ้น

๙. เมื่อก่อผนังซึ่งกะความสูงประมาณ ๒.๕ เมตร ก็จะวางก้อนอิฐดินแต่ละก้อนให้ห่างกัน พอประมาณ เพื่อสะดวก ในการวางไม้ที่ทำโครงหลังคา แล้วเอาดินโปะไม้ ตรงบริเวณที่เป็น อิฐดินก้อน ส่วนจั่วทั้ง ๒ ข้าง ก็ใช้อิฐดิน ก่อไปได้เลย เพื่อเป็นเสา (ตั้ง) รับหลังคารับสันหลังคา (อกไก่) ได้เลยเช่นกัน

ส่วนที่ทำนั้น ห้องจะกว้างประมาณ ๓ เมตรกว่า ยาว ๔ เมตรกว่า ต้องทำอิฐดินเพิ่มอีกเกือบ ๑๐๐ ก้อน เฉลี่ยแล้ว บ้านหลังนี้ใช้อิฐดินประมาณ ๘๐๐ ก้อน (จำนวนอิฐที่ใช้ขึ้นอยู่กับจำนวนหน้าต่าง และ ประตูด้วย)

๑๐. เอาหญ้าคาที่เย็บเป็นตับเตรียมไว้พร้อมแล้วมามุงหลังคา หลังจากทำโครงหลังคาเสร็จแล้ว โดยมุง หลังคาหญ้าคา เช่นเดียวกับมุงหลังคาจาก (ส่วนที่ทำนี้ได้ไปเกี่ยวหญ้าคา มาเตรียมไว้ ก่อนแล้ว ใช้หญ้าคาเกือบ ๒๐๐ ตับ ตับหนึ่งยาวประมาณ ๑.๕ เมตร)

๑๑. นำดินที่ผสมแกลบ ย่ำจนได้ที่แล้วมาฉาบผนังให้เรียบก่อนเที่ยวหนึ่ง

๑๒. นำดินดังกล่าวมาฉาบที่ผนังให้เรียบและดูสวยขึ้น อุดหลุมร่องรอยแตกร้าวของผนังให้เต็ม อีกเที่ยวหนึ่ง โดยดินนั้น มีส่วนผสมดังนี้ :

ดินเหนียวละเอียด ๑ กระสอบ
ทรายละเอียด ๑ กระสอบ
มูลวัวสด (ถ้ามี) ๑ กระสอบ
ฟางหรือแกลบ ๔ กระสอบ
น้ำมันพืช ๑ ลิตร
แป้งเปียก ๑ กิโลกรัม

*** วิธีผสมดินฉาบ : แช่ดิน ๑ คืน ย่ำจนเหลวเป็นครีม แล้วใส่ทราย (มูลวัวสด) ย่ำ ใส่แกลบ แป้งเปียก น้ำมันพืช ผสมทุกอย่างให้เป็นเนื้อเดียวกัน ย่ำให้เข้ากัน (ใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง) จึงนำมาใช้งานได้

ต้องทำความสะอาดผนัง ฉีดน้ำก่อน เพื่อเชื่อมประสานดินฉาบกับผนัง

*** ข้อแนะนำ
๑. มูลวัวมีเส้นใยมาก เพิ่มความแข็งแรงให้ผนังได้มากขึ้น
๒. แป้งเปียกและน้ำมันพืช ช่วยให้ง่ายต่อการทำให้เรียบ และฉาบติดกันดี
๓. ไม่ควรฉาบให้แห้งเร็วเกินไป จะทำให้แตกมาก ควรใช้มุ้งตาข่ายบังแดดหรือลมระหว่างฉาบด้วย
๔. ผสมดินฉาบให้เพียงพอกับบ้านทั้งหลังจะดีมาก เพราะจะทำให้ผนังห้องเป็นเนื้อเดียวกันหมด
๕. ทราย มูลวัว แกลบ ควรโรยบางๆ ทีละน้อยๆ จะทำให้เข้ากันได้ดีกว่าและเร็วขึ้น
๖. หลังจากฉาบผนังแล้ว จะมีรอยแตกระแหงทั่วผนัง ซึ่งจะช่วยให้การฉาบสีติดกันได้ดีขึ้น

๑๓. ต่อจากนั้นก็ทาสีบ้านด้วยวัสดุธรรมชาติ ที่ต้องผ่านวิธีทำดังนี้
ดิน ๑ ถัง
ทรายละเอียด ๑.๕ ถัง
แป้งเปียก ๑ ถัง
น้ำมันพืช ๑/๒ ถัง
น้ำ ๑ ถัง
นมสด ๑ กล่อง (๒๕๐ มล.)

*** วิธีผสม
แช่ดินไว้ ๑ คืน จากนั้นก็ย่ำจนเป็นครีม ใส่ทราย ผสมต่อจนเข้ากันดี แล้วใส่แป้งเปียก ใส่นม น้ำมันพืชผสมลงไป ย่ำให้เป็นเนื้อเดียวกัน

*** วิธีทา
ต้องให้ผนังแห้ง (ถ้าชื้นจะเกิดคราบน้ำ) ใช้มือ (ใส่ถุงมือพลาสติกจะช่วยป้องกันไม่ให้ฝ่ามือระบม มากนัก) ทาทิ้งไว้ ประมาณ ๕-๑๐ นาที แล้วจึงใช้ฟองน้ำชุบน้ำหมาดๆ ปาดให้เรียบร้อยอีกรอบหนึ่ง

* ข้อควรระวัง อย่าให้แป้งเปียกเป็นก้อนแข็ง เพราะแป้งจะลงไปผสมกับสีฉาบ ทำให้ไม่สวย

๑๔. ต่อเพิงหญ้าคาที่ด้านหน้า และด้านข้างของตัวบ้านข้างหนึ่งเพื่อกันแดดกันฝน และจะใช้เพิง ด้านข้าง สำหรับทำครัวด้วย ส่วนของพื้นด้านในบ้านและข้างบ้านจะเทปูน (เนื่องจากคุณแม่ อยากให้ใช้ปูน ผสมด้วย ด้วยเหตุผลว่าดูดี ป้องกันสัตว์ใต้พื้นดินได้ดีกว่า)

*** ขั้นตอนการทำพื้นบ้าน
๑. ใส่หินกรวดให้เต็มพื้นที่ อัดให้แน่น วัดระดับ
๒. ปูฟางหนาประมาณ ๓ ซม. รดน้ำให้ทั่ว เหยียบให้แน่น
๓. ผสมดินเหนียวและทราย ๑:๒ ย่ำจนเป็นเนื้อเดียวกัน ใส่ฟางหรือแกลบสด (ดินที่ผสมแล้ว คล้ายการทำอิฐดินดิบ)
๔. เทดินลงพื้นบ้านที่อัดฟางไว้แล้ว หนาประมาณ ๑๕ ซม. วัดระดับ ไม่จำเป็นต้องเรียบมาก ให้อยู่ ในระดับ เดียวกันก็พอ

* ทรายทำให้พื้นไม่เกิดรอยร้าว มิฉะนั้น มด แมลงจะมาทำรังได้

ภายในเวลา ๖ เดือน เราก็ได้บ้านดินหลังหนึ่งที่พออาศัยสำหรับคน ๒ คนอย่างสบายๆ ด้วยวัสดุ ธรรมชาติ และแรงงาน เพียงผู้หญิงคนเดียวที่ใครๆ ก็อาจเอาแบบอย่างได้ ด้วยการศึกษา สภาพ สิ่งแวดล้อมรอบตัว รอบบ้าน รอบท้องถิ่น ชุมชนของตัวเอง แล้วหัดฝึกทำบ้านเองอย่างเธอคนนี้ ที่สามารถนำเอาวัสดุเหลือ-ใช้มาประยุกต์ ประกอบเป็นบ้านสวยงาม ได้หนึ่งหลังเต็มๆ ผู้เขียน ได้ไปดู เห็นกับตาตัวเองณ ที่ๆ เธอ ไปสร้างไว้ ทำเลที่ตั้งดีมาก ลมโบกพริ้ว เหมือนดั่งอยู่ชายทะเล เพราะรอบๆ บ้าน เป็นสระน้ำขุดบ้าง สระธรรมชาติบ้าง ท้องนาท้องไร่ ที่ว่างเปล่า บางแห่ง ก็ปลูก ต้นมะพร้าว มะม่วง ท้องฟ้าปลอดโปร่งด้วยเมฆ ลมโชยโบกตลอดเวลา ได้อากาศดี สถานที่ดี คืนสู่ธรรมชาติ เหมาะสำหรับพักผ่อน และเกษตรกรชาวไร่ชาวนาเราสามารถทำเองได้ โดยไม่ต้องพึ่ง สถาปนิก ไม่ต้องลงทุนออกแบบบ้าน ไม่ต้องซื้อวัสดุแพงๆ แต่อย่างใด จึงเห็นว่า สมควรที่เราจะสนใจ สนับสนุน หรือ เอาไปทำอาศัยด้วยตัวเอง เพราะจากการพูดคุยกับ คุณหนึ่งเพียร ซึ่งเป็นเจ้าของที่ ลงมือปลูกสร้าง ด้วยตัวเอง คนเดียว ทุกขั้นตอนมาแล้ว เห็นว่า สมควรนำมาเผยแพร่ให้ผู้มีรายได้น้อย นักปฏิบัติธรรม ที่มีความสันโดษ เป็นทุนเดิม จะได้หมด กังวล เรื่องปัจจัยไปอีกอย่างหนึ่ง ดังที่พ่อท่านได้พูดไว้ ในงานพุทธาภิเษกว่า ควรส่งเสริม บ้านดิน แล้วเราจะได้ครบบริบูรณ์ในปัจจัยสี่อย่างเต็มปากเต็มคำ ตั้งแต่นี้ต่อไป

คุณหนึ่งเพียร รักพงษ์อโศก เดิมชื่อ เพ็ญโสม วุฒิวัฒน์โกวิท เป็นคน อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ลูกสาวคุณแม่ ทองคำ ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในชุมชนปฐมอโศก เธอมาอยู่ปฐมอโศกตั้งแต่วันที่ ๑๖ พ.ย.๒๕๓๘ โดยเริ่มเข้ามา ช่วยงานที่ศาลาน้อมเอื้อ ต่อมาช่วยงานท่านสมณะเสียงศีล ชาตวโร ในชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน จากนั้นไปช่วย ร้านอาหาร มังสวิรัติที่มังสวิรัตินครปฐม (มรฐ.) และ ช่วยอบรมเกษตรกรลูกค้า ธกส.ด้วย ปัจจุบันเป็นนิสิต สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต (ม.วช.) ปี ๔ รุ่นที่ ๑ หน้าที่ประจำคือ ดูแลที่พักฝ่ายหญิง ยามมีแขกมาพำนัก และดูแล เตาเผาถ่านธรรมชาติ ของศูนย์เจาะวิจัย

คุณหนึ่งเพียรสรุปเรื่องบ้านดินของเธอว่า

บ้านดินหลังนี้ใช้เวลาสร้างด้วยคนๆ เดียว ยกเว้นช่วงที่ทำฐานบ้าน พี่ชายจะช่วยเอารถตักดิน ลากเสาเข็มมาให้ ตักลูกรังมาถมให้ ต่อจากนั้น น้ำฝนในช่วงฤดูฝน ก็จะช่วยอัดพื้นของฐานให้แน่น และแข็งแรง ไปตามธรรมชาติ ใช้เวลาสร้าง ทั้งหมดประมาณ ๖ เดือน สิ่งที่ได้เป็นรูปธรรม อย่างงดงาม มหัศจรรย์ คือบ้านดินหลังนี้ แต่สิ่งที่น่าดีใจ พอใจยิ่งกว่าก็คือ ทรัพย์ที่เป็นอริยทรัพย์ ได้แก่

๑. ได้ปล่อยวางใจกับเรื่องอื่นๆ ที่รู้สึกว่าดี แต่ไม่มีโอกาสได้ทำ มาใช้เวลาทำบ้านดินหลังนี้แทน ซึ่งได้ผลชดเชย อย่างเหมาะสม

๒. ลดวิจิกิจฉา ลดอาการหลงยินดีในความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านไปแล้ว เพราะมีความรู้สึกว่า มีงานอีกมากมาย ที่เรายังต้องทำอีก ไม่ควรเสียเวลาไปกับการมัวหลงวางแผน หรือยินดีกับ ความสำเร็จเดิมๆ

๓. ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น มีเวลาทบทวนอดีต อ่านใจตัวเอง มองตัวเองได้ถูกต้อง ชัดเจนขึ้น รู้จักตัวเอง มากขึ้น ได้ลด อัตตามานะลง

๔. ได้ฝึกความอดทน สมาธิยาวขึ้น หัดทำอะไรเป็นเรื่องๆ ไปอย่างต่อเนื่อง และฝึกใจให้เย็นลงๆ เพราะอยู่กับ ปัจจุบัน ได้มาก ได้นานยิ่งขึ้น แม้มีภาพอนาคตก็ยังเป็นภาพที่ใกล้ความจริงที่สุด

๕. ลดความกังวล กลัวในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เพราะต้องตั้งใจทำขณะนี้ วันนี้ให้ดีที่สุด ด้วยโครงการ ระยะสั้นๆ เท่านั้น เป็นสื่อนำทาง

๖. ได้ข้อคิดเพิ่มเติมขึ้นอีกว่า งานที่ทำออกมาจากความไม่กังวล ไม่กลัว และไม่คาดหวัง จะทำได้ดี ยิ่งกว่า จิตที่มีกังวล และคาดหวังผลของงานล่วงหน้า

*** หมายเหตุสำคัญส่งท้าย เธอบอกว่า ต้องอาศัยหลักในการสร้างดังนี้คือ

๑. พึ่งตัวเองให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงงาน หรือวัสดุ อุปกรณ์ที่จะต้องใช้ก็หาเอาจาก แหล่งต่างๆ ที่เขาไม่ใช้แล้ว เช่น แถวๆ บ้านของตัวเอง หรือตามบ้านญาติพี่น้อง ดังที่คุณหนึ่งเพียร ได้อาศัยวัสดุเหลือใช้จากบ้านพี่ชายบ้าง ปฐมอโศกบ้าง ส่วนที่ต้องซื้อเพิ่มเติมเล็กน้อยคือ วงกบ หน้าต่าง ๔ บาน ราคา ๑,๘๐๐ บาท ประตูพร้อมวงกบ ราคา ๑,๒๐๐ บาท แกลบสด ๑ ตัน ราคา ๕๐๐ บาท ส่วนดิน ทราย ปูน หิน และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวก ในการก่อสร้าง มีอยู่แล้ว

บ้านดินหลังนี้สร้างตามเหตุปัจจัยของสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ที่พอจะหาได้จากพื้นที่ ซึ่งจะนำมา ดัดแปลงให้เกิดประโยชน์คุณค่าสูงสุด เช่น ประตูห้องน้ำ ประตูข้างบ้าน หน้าต่างหลังบ้าน ก็นำโครงไม้ ของประตูหน้าต่างเดิมมาดัดแปลง โดยนำแผ่นเพลทเก่าจากโรงพิมพ์มาทำเป็นประตู หน้าต่าง เพื่อกันฝนด้วย

เมื่อผู้เขียนได้ไปชม "บ้านดินหนึ่งเพียร" แล้ว เห็นความแข็งแรง สวยงาม และใช้อาศัยได้อย่างถาวร มั่นคง ก็อดไม่ได้ที่จะนำเสนอต่อผู้อ่าน เผื่อใครสนใจอยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง โดยไม่ต้อง กังวล เรื่องเงินทองมากมายเหมือนบ้านจัดสรรอื่นๆ เราก็พึ่งตนเองตามวิธีของคุณหนึ่งเพียร ดังที่เล่ามา ให้ฟังทั้งหมดนี้ ก็จะได้นำไปฝึกทำดูบ้าง ต่อไปเราอาจมีรีสอร์ต บ้านดิน หมู่บ้าน บ้านดิน ชุมชนบ้านดินเกิดขึ้นเป็นสังคมอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้ ซึ่งถ้าเราทำสำเร็จ สังคมก็จะอยู่เย็น เป็นสุข และส่อแสดงถึงชีวิตสันโดษมักน้อย แต่แข็งแรง ทนทาน และรักธรรมชาติยิ่งขึ้นอีก ทั้งยังเอื้อต่อสุขภาพแผนไทย การรักษาแบบแพทย์ทางเลือกอีกประการหนึ่งด้วย

ถ้าใครสนใจจริงๆ คุณหนึ่งเพียรยินดีให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษา สอนการทำบ้านดินทุกขั้นตอน โดยเธอรับเป็นผู้สอนการสร้างบ้านอย่างนี้แก่เกษตรกรผู้เข้าอบรม หรือผู้สนใจอยากจะทำบ้าน อาศัยเอง ดังรูปภาพที่ลงประกอบเรื่องนี้ ย่อมเป็นหลักฐานยืนยันว่า "บ้านดินหนึ่งเพียร" นี้เป็น บ้านดิน ที่ค่อนข้างถาวร และอาศัยใช้ประโยชน์ได้จริงๆ

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๓ พ.ค. - มิ.ย. ๒๕๔๗ -