- ฟ้าเมือง ชาวหินฟ้า - "ความหวัง" คือสิ่งที่เป็นพลังขับเคลื่อนชีวิต คนที่ "หมดหวัง" ในชีวิตนี้ไม่มีจุดมุ่งหมาย อะไรในการดำรงชีวิต ก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ยาก บางคนอาจจะฆ่าตัวตายไปเลยก็ได้ สำหรับพระอรหันต์ที่ "ไม่มีความหวัง" อะไรในชีวิตเหลืออีก เพราะจบกิจแล้ว ก็จะใช้ช่วงเวลที่เหลือของชีวิต ทำงาน ช่วยเหลือผู้อื่นจนกว่าจะดับขันธ์ และไม่สืบต่อชีวิตอีก ขณะที่พระโพธิสัตว์ซึ่งยังมี "ความหวัง" ที่จะบำเพ็ญบารมีเป็นพระพุทธเจ้าต่อ เพื่อช่วยรื้นขนสัตว์ในสังสารวัฏฏ์ ก็จะยังมีชีวิตเกิดใหม่ต่อไป ตามพลังแห่ง "ความหวังในทางบวก" ที่ขับเคลื่อนชีวิตดังกล่าว คนที่ "สิ้นหวัง" ในชีวิตนี้ หมดอาลัยตายอยาก แต่มีความ "คาดหวัง" ที่จะได้พบกับภาวะที่ดีกว่า หรือทุกข์น้อยกว่าชีวิตปัจจุบันจากความตาย พลังแห่ง "ความหวังในทางลบ" ก็จะขับเคลื่อนชีวิตของคนผู้นั้นสู่ความตาย (และหมุนวนอยู่ในวัฏ-สงสารสืบไปไม่มีที่จบที่สิ้นสุด ตามสัดส่วนความเข้มข้นของพลังแห่งความหวังในทางลบที่ขับเคลื่อนชีวิตนั้นๆ) คนที่มี "ความหวัง" ว่าจะสามารถร่ำรวยจากการพนัน พลังแห่งความหวังก็จะขับเคลื่อนนำพาชีวิตคนผู้นั้นไปสู่การเป็นนักพนัน คนที่มี "ความหวัง" ว่าจะสามารถร่ำรวยจากการคดโกงหรือการก่ออาชญากรรมต่างๆ พลังแห่งความหวังดังกล่าวก็จะ ขับเคลื่อนผลักดันชีวิตคนผู้นั้นไปสู่การเป็นโจรผู้ร้าย ฯลฯ การมี "ความหวัง" ในทิศทางที่เหมาะสมถูกต้อง จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความเจริญงอกงาม ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่ามี "สัมมาทิฏฐิ" หรือ "ความเห็นชอบ" อันเป็นมรรคองค์แรกที่ต้องนำมาก่อน ตามหลักสัมมาอาริยมรรค มีองค์ ๘ ของพุทธธรรม การช่วยให้คนซึ่ง "หมดหวัง" กับชีวิตนี้ (แต่มี "ความหวัง" ที่จะได้พบกับสภาพที่ดีกว่าชีวิตปัจจุบันจากความตาย) เพื่อให้มีกำลังใจที่จะต่อสู่ฟันฝ่าอุปสรรคปัญหาต่างๆ ในชีวิตสืบต่อไป โดยไม่คิดฆ่าตัวตาย ก็คือการกระตุ้นหรือปลุกเร้าให้คนผู้นั้นเกิด "ความหวัง" อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตต่อไปอย่างมีสัมมาทิฏฐิในระดับหนึ่ง "ความหวัง" ดังกล่าวอาจจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ ความหวังในทางตรงก็คือ การกระตุ้นให้เห็นถึงโอกาสที่คนผู้นั้นจะได้รับการเปลี่ยนแปลงพัฒนาชีวิตไปสู่สภาพที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ส่วนความหวังในทางอ้อมหมายถึง การเตือนสติให้เห็นถึงสิ่งที่คนผู้นั้นอาจจะต้องสูญเสียไปจากความหมดอาลัยตายอยาก และไม่คิดต่อสู้กับชีวิตอีก เช่น ลูกๆ ที่ยังเล็กและไม่มีใครเลี้ยงดู จะต้องประสบกับความยากลำบากหากตนฆ่าตัวตายไปก่อน การมี "ความหวัง" ที่อยากเห็นลูกของตนมีชีวิตเติบโตต่อไป จนเกิดกำลังใจที่จะ ต่อสู้กับอุปสรรคปัญหาของชีวิต ก็คือตัวอย่างของ "ความหวัง" ในทางอ้อมตามที่กล่าวถึงนี้ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแต่ละเหตุการณ์ จะมีทั้งแง่มุมที่เป็นคุณและเป็นโทษแฝงอยู่ ขึ้นกับกรอบการวิเคราะห์หรือมุมมองของแต่ละคน เหมือนนักโต้วาที ๒ ฝ่ายที่พูดถึงเรื่องเดียวกันจากคนละมุม อาทิ เรื่องน้ำท่วมกับภัยแล้ง ฝ่ายที่สนับสนุนว่าน้ำท่วมยังดีกว่าภัยแล้ง ก็จะสรรหา เหตุผลต่างๆ มาสนับสนุนมุมมองของตนได้ มากมาย ขณะที่ฝ่ายคัดค้านซึ่งเห็นว่าภัยแล้ง ยังดีกว่าน้ำท่วม ก็จะสามารถสรรหาเหตุผล ต่างๆ จากอีกมุมมองหนึ่ง เพื่อสนับสนุนความคิดเห็นของฝ่ายตนได้เช่นกัน เป็นต้น ภายใต้กรอบการมองโลกและชีวิตชุดหนึ่ง เราอาจเห็นวิกฤตการณ์ที่กำลังเผชิญในชีวิตเรื่องนั้นๆ เป็นสิ่งเลวร้ายที่สร้างภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์ให้กับเรา จนอาจถึงกับคิดฆ่าตัวตายเพื่อหนีภาวะความบีบคั้นดังกล่าว แต่เหตุการณ์อย่างเดียวกันภายใต้กรอบการมองโลกและชีวิตอีกชุดหนึ่ง เราอาจเห็นเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเราก็ได้ เช่น เป็นบทเรียนสำคัญที่จะช่วยให้เรามีโอกาสเรียนรู้เพื่อพัฒนาชีวิตไปสู่ภาวะที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น หรือเป็นโอกาสที่เราจะได้ใช้หนี้วิบากกรรมเก่าให้หมดๆ ไป หรือเป็นโอกาสที่เราจะได้ทำแบบทดสอบว่ามีวุฒิ-ภาวะพอที่จะสอบผ่านบทเรียนชีวิตนั้นๆ หรือไม่ ฯลฯ การจะปรับเปลี่ยนกรอบการมองชีวิต เพื่อให้เห็นโอกาสในวิกฤติ จนสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้เช่นนี้ อาจจะต้องอาศัยการชี้แนะ การเห็นแบบอย่างจากชีวิตอื่นๆ หรือการเปรียบเทียบกับชีวิตผู้อื่น ฯลฯ ซึ่งเราสามารถจัดการให้เกิดโอกาสของการเรียนรู้ เพื่อปรับเปลี่ยนกรอบการมองชีวิตใหม่ได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ๑. จัดให้มีกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างบุคคลที่ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน เมื่อมีโอกาสรับฟังปัญหาของเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายคนอื่นๆ (ซึ่งบางคนอาจมีปัญหา หนักหนายิ่งกว่าเรามากมายด้วยซ้ำ) กรอบการมองชีวิตก็อาจจะเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยมองว่าตัวเราเป็นบุคคลโชคร้ายที่สุดในโลก และหมดหวังที่จะดำรงชีวิตอยู่ ก็อาจเริ่มเห็นว่าอันที่จริงแล้ว ยังมีคนประสบปัญหามากกว่าเราอีกเยอะ และเขาก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ทำไมเราซึ่งประสบปัญหาน้อยกว่าจะสู้ชีวิตต่อไปไม่ได้ ๒. ให้ความช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งการพูดคุยให้กำลังใจคนที่อยู่ในภาวะสิ้นหวัง จากความรู้สึกนึกคิดเดิมที่คนผู้นั้นเคยมองชีวิตอย่างหมดหวัง เพราะรู้สึกว่าต้องต่อสู้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวโดยไม่รู้จะพึ่งใคร การได้รับความช่วยเหลือ จากเพื่อนมนุษย์อื่นแม้ไม่มาก จะทำให้กรอบการมองชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม โดยรู้สึกว่าตนเองไม่ถึงกับต้องต่อสู้กับชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในโลกนี้ ยังมีเพื่อนมนุษย์ที่มีน้ำใจช่วยเหลือเราได้ ถึงแม้ความช่วยเหลือดังกล่าวในขณะนี้อาจมี ไม่มาก แต่ในเมื่อมีคนที่มีน้ำใจช่วยเหลือเราเช่นนี้แม้เพียง ๑ คน ก็ย่อมมีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีคนอื่นๆ ซึ่งมีใจจะให้ความช่วยเหลือเราได้มากกว่านี้ในโอกาสต่อๆไป ชีวิตจึงยังมีความหวังอยู่ ๓. การหาสื่อดีๆ ที่เหมาะสมกับภูมิหลังของบุคคลนั้นๆ แจกให้ อาทิ หนังสือ เทป หรือวีดิทัศน์ เป็นต้น ให้อ่าน ให้ดู หรือให้ฟัง เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาชีวิต ๔. การพูดคุยให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งการรับฟังปัญหาของคนนั้นๆ อย่างตั้งใจ เมื่อคนผู้นั้นเกิดความรู้สึกนึกคิดใหม่ ว่า โลกนี้ยังมีคนสนใจปัญหาของเขา ห่วงกังวลเขา ความหวังที่จะมีชีวิตต่อไปก็จะเกิดขึ้น ฯลฯ อาจจะยังมีวิธีการอื่นๆ อีก ภายใต้หลักการที่ช่วยปรับเปลี่ยนกรอบการมองชีวิตของคนที่กำลังหมดหวัง เพื่อให้มีกรอบการมองชีวิตใหม่ที่เห็นแง่มุมแห่งความหวังมากขึ้น อันเหมาะสมกับผู้คนในแต่ละวัฒนธรรม แต่ละวัย และแต่ละกาลเวลาสถานที่ คนที่ประสบเคราะห์กรรมจากกรณีคลื่นยักษ์สึนามิที่มีปัญหาสุขภาพจิต ท้อแท้ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ยังมีอยู่อีกจำนวนไม่น้อย ใครมีโอกาสที่จะสามารถช่วยให้กำลังใจเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายเหล่านั้นได้ อาจจะลองใช้หลักการ ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นแนวทางในการให้กำลังใจคนเหล่านั้นเพื่อให้เกิด "ความหวัง" ที่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนชีวิตของ คนผู้นั้นต่อไป. - ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๗ ม.ค. - ก.พ. ๒๕๔๘ - |