แนะนำหนังสือ
- เกร็ดกรวด [email protected] -


ปกรณัมนิทาน
ศาสตราจารย์ ดร.กุสุมา รักษมณี เขียน
สำนักพิมพ์แม่คำผาง จัดพิมพ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๔๗
๒๑๖ หน้า ๒๐๐ บาท

กุสุมา รักษมณี สอนภาษาสันสกฤตที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.๒๕๔๗ หนังสือของอาจารย์ล้วนให้แนวคิดที่น่าสนใจ ศึกษา ในคำนำของผู้เขียน กล่าวถึงที่มา และสาระ ของหนังสือ เล่มนี้ไว้ว่า

ข้าพเจ้าสนใจนิทานสันสกฤตเป็นพิเศษ เคยศึกษานิทานปริศนาในวรรณคดี สันสกฤตเป็นวิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาโท และนิทานอุทาหรณ์ในวรรณคดีสันสกฤตเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก... ข้าพเจ้าเลือก ใช้ชื่อหนังสือว่า ปกรณัมนิทาน เพราะติดใจคำว่า "ปกรณัม" ซึ่งเป็นคำโบราณที่แปลว่า "เรื่อง" หนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือ ที่ "เล่านิทาน" แต่ว่าด้วย "เรื่อง" ที่เกี่ยวกับนิทาน หนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือรวมนิทาน ที่เป็นเรื่องอ่านเล่น สำหรับเด็ก แต่เป็นหนังสือ ที่พยายามจะทำให้นิทาน เป็นเรื่องอ่านจริง สำหรับผู้ใหญ่ ครั้งหนึ่ง เคยมีคนถามข้าพเจ้าว่า นิทานซึ่งเป็นเรื่องสนุกๆ นั้น เขาเรียนกันถึงระดับปริญญาเอก ได้อย่างไรหรือ หวังว่าข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้ คงจะประมวลกัน เป็นคำตอบได้บ้าง

ส่วนแรกของหนังสือให้ความรู้เกี่ยว-กับนิทานอินเดีย ประกอบด้วย ๗ เรื่อง คือ นิทานอินเดีย ชื่อตัวละคร ในนิทาน จินตนิมิต ในนิทานอาหรับราตรี นิทานราชธรรมเปอร์เซียในราชสำนักไทย สุวรรณภูมิ ในนิทาน ที่เป็นยิ่งกว่าหนังสือ รวมนิทาน นิทานเรื่องเอกของอินเดียในวรรณคดีไทย

ส่วนที่สองเป็นการเล่าเรื่องและวิเคราะห์สาระจากนิทาน ปิดท้ายด้วยบันทึกการบรรยายเรื่อง "ได้อะไรจากการศึกษานิทาน"

นิทานเรื่องยาวที่นำมาเล่าในส่วนที่สอง นี้คือเรื่องปัญจตันตระ ซึ่งเป็นนิทาน ๕ เรื่อง ที่ราชครูผู้หนึ่ง เล่าถวายพระราชโอรส เพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้มีคุณธรรม แนะนำหลักการเป็นนายคน และการอยู่กับ คนอื่น ในสังคม

ที่เป็นเรื่องยาวก็เพราะว่านิทานเรื่องนี้มีนิทานซ้อนอยู่ ๒๐ เรื่อง เหมือนกล่องซ้อนกล่อง ตัวเรื่องหลัก มีอยู่เพียงว่า วัวกับราชสีห์ เป็นเพื่อนกัน แต่ถูกสุนัขจิ้งจอกยุยงให้ระแวงกันจนกระทั่งต่อสู้กันตายไปด้วยกันทั้งคู่ สุนัขจิ้งจอก เป็นเสนาบดี ใกล้ชิดของราชสีห์ เมื่อเห็นราชสีห์ ไปคบหากับวัว และไม่ค่อยจะล่าสัตว์เหมือน เดิม ก็เลยไม่ค่อย มีเนื้อสัตว์ แบ่งปันให้สุนัขจิ้งจอก ความเห็นแก่ตัว ทำให้เจ้าเสนาบดี กลับกลายเป็นพิษภัย ต่อเจ้านาย เสียเอง ปราชญ์วสุภาคะ ผู้แต่งนิทานเรื่องนี้ จึงสรุปไว้ว่า

เห็นเขารักใคร่เป็นมิตร คนใจชั่วคิด ริษยายุแยกแตกกัน
ราชสีห์เพื่อนวัวผูกพัน จิ้งจอกอาธรรม์ หวั่นว่าจะเสียประโยชน์ตน
ราชสีห์กับวัวหลงกล จิ้งจอกฉ้อฉล จนสู้กันเองบรรลัย
คนฉลาดมิควรชิดใกล้ อย่าได้วางใจ คนชั่วเจ้าเล่ห์หลอกลวง (หน้า ๑๕๔)

นิทานหลายๆ เรื่องที่ซ้อนอยู่ก็มีสาระสำคัญทำนองนี้คือ เจ้านายต้องประสบความเดือดร้อน เพราะคน ใกล้ชิด ที่เป็นคนโกงบ้าง คนโง่บ้าง อย่างเช่นเรื่องลิงโง่มีอำนาจ พระราชาองค์หนึ่ง เสด็จประพาส อุทยาน พร้อมพระราชินี โดยมีลิงที่ทรงเลี้ยงไว้เท่านั้นตามเสด็จ แล้วทรงมอบดาบให้ลิงนั้นถือ ยืนเฝ้า พระองค์ กับพระราชินี ลิงก็ทำหน้าที่ ด้วยความรับผิดชอบ อย่างยิ่ง ผึ้งตัวหนึ่งบินมาเกาะมาลัยพระศอ ลิงตกใจ คิดว่า ผึ้งจะต้องทำร้าย พระองค์แน่ๆ จึงยกดาบ ขึ้นฟาดตัวผึ้งโดยแรง คมดาบฟันพระศอ ของพระราชา สิ้นพระชนม์ทันที

นิทานที่ซ้อนกันอยู่นี้มีความต่อเนื่อง ร้อยเรียงกัน อย่างเช่นเมื่อเจ้าจิ้งจอกเกิดระแวงขึ้นมาว่า "เวลาใด ที่เจ้านาย ปราศจาก ศัตรู เวลานั้นเราก็ไม่เป็นที่โปรดปราน เจ้านายจะเมินหน้าหนีเรา เพราะไม่ต้องการ ความช่วยเหลือจากเรา เห็นทีเราจะต้องยุ ให้เกิดความผิดพ้องหมองใจ เราจะได้มีความสำคัญขึ้นมา" (หน้า ๑๐๐) จึงได้ประชุมสัตว์ทั้งหลาย บอกว่า

ตั้งแต่เจ้านายได้วัวนนทกมาเป็นมิตร เจ้านายไม่ค่อยไยดีคำแนะนำของข้าเลย ทั้งๆ ที่เป็นคำแนะนำ ที่ถูกต้อง เจ้านายแปลกไปมาก แต่ก่อนนั้นพวกเราไม่ต้องออกไปหาเหยื่อเอง เจ้านายจะล่าช้างเอย วัวเอย กวางเอย แล้วก็แบ่งปัน ให้พวกเรา เห็นทีจะหันไปกินหญ้าเพราะไปสมาคมกับเจ้าวัวตัวนั้น นั่นแหละ คอยดูไปเถิด อีกหน่อย พวกเราก็ต้องกินหญ้า ตามไปด้วย แล้วจะอยู่กันได้ยังไง พวกเรา มันสัตว์กินเนื้อนี่นะ ข้าว่าพวกเรา กำลังจะเดือดร้อน มากแล้วละ ไม่ต่างอะไรกับนกแก้ว ที่ไปอยู่กับ โจรป่า แล้วก็กลายเป็นนก ที่กินเนื้อสัตว์ไปเลย

แล้วเจ้าจิ้งจอกก็เล่าเรื่องนกแก้วให้สัตว์เหล่านั้นฟัง (เรื่องพี่น้องต่างกัน หน้า ๑๐๑-๑๐๒) หลังจากนั้น จึงสรุปว่า "เราจะต้อง ทำอะไรสักอย่าง เพื่อมิให้เจ้านายของเราเดือดร้อนเพราะไปคบกับเจ้าวัวตัวนั้น ถ้าพวกเจ้า ไม่เชื่อข้า ก็อาจจะเป็นอย่าง เต่าปากไว ที่ไม่ฟังคำตักเตือนของเพื่อนๆ" ด้วยเหตุดังนั้น จึงต้องเล่าเรื่องเต่าปากไว (หน้า ๑๐๓-๑๐๔) การเล่านิทานซ้อนในเรื่องนี้ จึงมีมากถึง ๒๐ เรื่อง

อยากจะฝากครูบาอาจารย์ศึกษาแนวคิดตะวันออกอย่างเช่นจากหนังสือเล่มนี้บ้างและเผยแพร่ ให้ลูกศิษย์ ของท่านด้วย น่าจะให้แนวคิดที่เหมาะกับเรามากกว่าทฤษฎีบริหารอย่างตะวันตก

สุขภาพแบบบูรณาการ : ประสานศาสตร์ พุทธ เต๋า โยคะ
สถาบันวิถีทรรศน์ จัดพิมพ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๔๗
๒๔๘ หน้า ๒๒๐ บาท

เนื้อหาสาระโดยย่อของหนังสือเล่มนี้ ปรากฏในคำนำดังนี้
"ยาระงับสรรพโรค" ของท่านพุทธทาส บอกเราว่า คนเราไม่ได้เจ็บป่วยเฉพาะทางกายเท่านั้น เราทุกคน ล้วนเจ็บป่วย ทางใจและจิตวิญญาณ กันทั่วหน้า แม้ว่าร่างกายจะดูแข็งแรงดี แต่ลึกลงไปในจิตใจนั้น มากมายไปด้วย โรคร้าย ที่เกาะกิน จิตวิญญาณ เราอยู่ ท่านแนะนำวิธีการเยียวยาโรคร้ายทางใจ ไว้น่าสนใจยิ่ง นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ หากเราค้นพบ และรักษาโรคทางใจ ได้ด้วยตัวของเราเอง

ในขณะที่ "การตรัสรู้อย่างฉับพลันในบริบทเถรวาท กรณีศึกษาหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ" ของอาจารย์ ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ได้บอกถึงความเป็นมาของหลวงพ่อเทียน ที่เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา ก็สามารถปฏิบัติธรรม และตรัสรู้ได้ นอกจากนี้ยังนำวิธีการเจริญสติ แบบเคลื่อนไหว ตามคำสอน ของหลวงพ่อเทียน ให้ทดลอง ปฏิบัติกันด้วย

ในขณะที่ ยุค ศรีอาริยะ นักคิดผู้ชอบ ทดลองค้นคว้าและนำเสนอสิ่งใหม่ๆ คราวนี้ ท่านมาพร้อมกับ "ฐานคิด สุขภาพบูรณาการ: ปฏิจจสมุปบาท" ที่ตีความเอง เพื่อให้เข้าใจง่าย สอดคล้องกับยุคสมัย และสามารถ นำไปปฏิบัติได้ ในเรื่อง ยังนำเสนอการฝึกชี่กง ที่ประสานศาสตร์โยคะ และสมาธิยิ้ม ไว้ให้นำไปฝึกฝน ดูแลสุขภาพ อย่างง่ายๆ

นอกจากนี้ นายแพทย์ ดร.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ยังได้เสนอแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ ในยุคปัจจุบัน ไว้ในคำบรรยายเรื่อง "ผลกระทบ โลกาภิวัตน์... สู่กระบวนทัศน์ทางเลือกด้านสุขภาพ" ในฐานะคนทำงาน ด้านสุขภาพ ที่มีประสบการณ์ ยาวนานในชุมชน จึงนับเป็นข้อคิดเห็น ที่เป็น ประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน

ในบ้านเราปัจจุบันนี้ กระแสความนิยมที่กำลังมาแรงเห็นจะไม่พ้นเรื่องของสปา และการบำบัดโรค ด้วยน้ำมัน หอมระเหย
สาวิตรี ปัณฑย์ และมณี ปัทมา ควงคู่กันมาเล่าเรื่องใน "สุวคนธบำบัด" และ "สปา"

และอีกกระแสที่มาแรงไม่แพ้กัน นั่นคือโยคะ ซึ่งสินีพร มฤคพิทักษ์ นำการรักษาโรคด้วยตนเอง จากการ ฝึกโยคะ ท่าง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้มาเสนอในเรื่อง "เราเป็นหมอให้กับตัวเองได้"

ปัจจุบันนี้ ผู้คนเป็นห่วงเป็นใยสุขภาพร่างกายกันมาก ก็เลยมีผู้เสนอวิธีการต่างๆ นานาในการรักษา สุขภาพ (หรือว่า ผู้เสนอวิธีการรักษาสุขภาพ มากมายนี้ กระตุ้นปลุกระดมให้ประชาชนสนใจตาม ก็ไม่แน่ใจนะคะ)

"จะพบว่ามีของโน่นของนี่มาให้เรากิน เพื่อจะให้เรามีสุขภาพดี มีเทคโนโลยีแปลกๆ ใหม่ๆ เช่น เตียงแม่เหล็ก มีวัตถุ สำเร็จรูปต่างๆ นานามาให้เราใช้กัน ถ้าไปเดินดูตามห้างขายยา บริษัทข้ามชาติ ที่มาเปิด ในสรรพสินค้าใหญ่ๆ ตามเมืองใหญ่ จะเห็นว่ามีสินค้าเรื่องสุขภาพมากจริงๆ... สิ่งหนึ่ง ที่สำคัญที่สุด คือ การมีวิธีคิดที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้น เราจะประเมินอะไรไม่ถูก

ในสังคมเรามักไปเน้นวิธีทำ ไม่ได้เน้นวิธีคิด เมื่อไปเน้นวิธีทำ เราเลยไม่มีวิธีคิดที่จะไปตรวจสอบว่า อะไรมันถูก ที่ทำอยู่ มาจากฐานความคิดแบบไหน พอไปเน้นวิธีทำมากๆ ก็เกิดปรากฏการณ์ อย่างที่เราเห็น...

...พอเดินไปดูงานเขาวันหนึ่ง ก็กลับมาทำกล้วยตากเป็น พอไปดูงานแชมพูวันหนึ่ง ก็กลับมาทำ แชมพูเป็น

............

เมื่อขาดวิธีคิดที่ใช้ตรวจสอบวิธีทำ แม้ว่าทำผิดก็ยังไม่รู้ว่าผิด แม้มันจะคลาดเคลื่อนไปจากวิธี ที่ถูกต้อง ก็ไม่รู้ว่ามันคลาดเคลื่อน" (หน้า ๑๒๓)

ประหยัดเงินสักหน่อย ซื้อหนังสือสองเล่มนี้อ่าน เล่มหนึ่งมาจากแนวคิดโบราณ อีกเล่มเอาแนวคิด โบราณ มาคิดใหม่ จะเข้าใจสังคม และตนเองดีขึ้น

สนใจเล่มไหนก็สั่งซื้อได้ที่ธรรมทัศน์สมาคม ๖๗/๕๐ ถ.นวมินทร์ คลองกุ่ม
บึงกุ่ม กทม. ๑๐๒๔๐ โดยส่งธนาณัติ + ค่าส่ง สั่งจ่าย ธรรมทัศน์สมาคม ปณ.คลองกุ่ม

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๗ ม.ค. - ก.พ. ๒๕๔๘ -