- อุบาสก ชอบทำทาน - ชีวิตสั่งได้ เกิดมาทำไม ? คำถามที่คนส่วนใหญ่ตอบเหมือนๆ กันมักจะเป็น "เกิดมาใช้กรรม" "เกิดมาสืบเผ่าพันธุ์" "เกิดมาเพื่อ ทำหน้าที่" ฯลฯ แนวคำตอบ จะแยกคนเราออกเป็น ๒ ประเภท คือ คนธรรมดาๆ กับคนที่มีคุณค่า "เกิดมาเพื่อทำความดี" คำตอบนี้สอบผ่านก็จริง แต่ต้องลงลึกในพฤติกรรม ประจำวัน บางคน "คิด" เช่นนั้น แต่ไม่ได้ "ทำ" เช่นนั้น แต่เอาเถอะ ถือว่าสอบผ่านข้อเขียน ! "เกิดมาเพื่อสั่งสมบารมี" แนวคำตอบเริ่มมีความลึกซึ้ง เห็นชัดว่า เจ้าของชีวิตกำลังฝึกฝนขวนขวาย "สั่งสมบารมี" เป็นคำตอบเชิงรุก ไม่ใช่ทำดีไปวันๆ แต่ตั้งใจเอาจริงเอาจัง ทุกนาทีมีค่าต้องรีบกระทำ ! "สั่งสมบารมี" จึงหมายรวมถึง การเจออุปสรรค การเผชิญกับความทุกข์ยาก ความทุกข์แม้จะเจ็บปวด แต่จะทำให้แข็งแกร่งขึ้น ฉลาดขึ้น พลิกวิกฤติมาเป็นโอกาส เอาอุจจาระมาทำปุ๋ย จำได้ไหมครับ หมอชีวกโกมารภัต ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ อาจารย์ให้เข้าป่าดูว่าต้นไม้ต้นไหนทำยาไม่ได้ หมอชีวกฯ ท่านกลับเอามาทำยาได้ทุกต้นเป็นอัศจรรย์ "ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธรรม ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ดูจะเป็นพุทธภาษิตที่น่าจะใช้กับ "ชีวิตสั่งได้" หลับตาเห็นภาพตัวเองเดินเข้าไปร้านอาหาร บางคนกินตามที่เขาเตรียม แต่บางคนสั่งทำพิเศษ ชีวิตคนเรานั้น หากมองเป็นบุคลา- ธิษฐาน ก็เปรียบเสมือนการกินข้าวตามแต่เจ้าของร้านจะทำให้ มีอะไร ก็ต้องกินๆ ลงไป ไม่มีสิทธิ์เลือก ! เป็นชีวิตที่รอรับชะตากรรม ! แต่ "คนดี" ชีวิตย่อมสั่งได้ ! กฎแห่งกรรม ยังคงเป็นกฎแห่งจักรวาล ที่มิใช่ศาสดาองค์ใดเป็นผู้บัญญัติ แต่มันเป็นกฎธรรมชาติที่ผู้รู้ค้นพบ "ทำดี-ได้ดี ทำชั่ว-ได้ชั่ว" วันนี้มนุษย์ผู้เจริญเริ่มอวดดีและไม่เชื่อกฎแห่งกรรมข้อนี้ ทำดีไม่เห็นได้ดี ทำชั่วได้ดีมีถมไป ! แต่พระผู้ใหญ่ท่านจะเตือนอธิบายเสมอว่า ทำดีไม่ได้ดีเพราะทำดีน้อยไป ต่างหาก และบางทีก็เพราะติดยึดรูปแบบของกรรมดีกรรมชั่วมากเกินไป เช่น ถ้าตีหัวเขา ก็จะถูกเขาตีหัว ถ้าฆ่าเขาตาย ก็จะถูกคนอื่นฆ่าตาย พระพุทธองค์เตือนเรื่องผลลัพธ์ของกรรมเป็นอจินไตย อย่าไปชี้บอกเขา ทีเดียวว่า ทำไอ้นี่แล้วจะได้ไอ้นี่ แต่ถ้าเราวิเคราะห์โครงสร้าง พระ-องค์คงไม่ตำหนิ นั่นคือ ให้ทุกข์แก่เขา ทุกข์นั้นก็ต้องย้อนมาหาเรา สักวันหนึ่ง ไม่เกิดกับเราโดยตรงก็มี แต่เจ็บปวดหัวใจยิ่งกว่าโดนเองเสียอีก เกิดกับลูก กับคนรัก หัวใจเราแทบ จะระเบิด (ปล. การเกิดกับคนอื่น ต้องถือเป็นวิบากของเขาด้วย เป็นการ สนองผล ในระบบทูอินวัน เกิดทีเดียวแต่ ๒ คนได้รับการลงโทษ)
เพราะเหตุนี้ อะไรที่จะเกิดก็มีโอกาสแคล้วคลาดหรือผ่อนหนักเป็นเบาได้เสมอ จึงไม่สายเกิดไปที่จะ ล้างบาป ! กรรมชั่วประดุจน้ำสีดำ กรรมดีประดุจน้ำสีขาว เมื่อเราเติมน้ำสะอาดลงไปเรื่อยๆ น้ำสีดำก็จะค่อยๆ เจือจาง น้ำสีดำจึงมิได้หายไปไหน แต่อ่อนโยนลง นี่แหละการสะเดาะเคราะห์ที่แท้จริง มิใช่การแต่งชุดขาว ถือศีลกินเจ ๑ เดือน การนอนในโลงศพแก้เคล็ด การสร้าง พระประธานสักองค์ ฯลฯ แล้วก็โล่งอกว่า ทำดีล้างบาปเรียบร้อยแล้ว ! บาปกรรมมิใช่การเล่นลิเกวันสองวัน จะได้หายกัน ! ทำความดีทุกวัน ! ทาน-ศีล-ภาวนา ต้องทำให้มาก แยกแยะพฤติกรรมให้ชัดเจน มิใช่ตีความเหมาเข่ง เข้าใจเอาเอง ทำแค่นี้ๆ ก็พอแล้ว !
วัตถุทาน มิใช่แค่วัตถุข้าวของ แต่การบริการรับใช้คนอื่นนี่แหละพี่ใหญ่แห่งวัตถุทานขนานแท้ อภัยทาน การไม่โกรธ ไม่เอามาเป็นอารมณ์จะได้ไหม ? เมื่อคนอื่นมารุกราน...ละเลย...ละลาบละล้วง หรือละเลียด...ทำใจนิ่งได้ไหม จะมีอุบายพิจารณาอย่างไร ? อภัยทานนั้น การฝึกฝนต้องอาศัยผัสสาหารโดยส่วนเดียว การปลีกหนีห่างผู้คน การบำเพ็ญบุญเรื่องนี้จึงยากที่จะบังเกิดผล อย่าลืมว่า ต้นอภัยนั้นโตได้ด้วยอาหารชนิดเดียวคือ "เลือด" (หมายถึงความเจ็บปวด) ธรรมทาน การดำรงชีวิตที่สมถะ เรียบง่าย เป็นค่านิยมที่จะต้องมอบให้แก่สังคม เป็นธรรมกายขนานแท้ ! ตัวอย่างที่ดีย่อมมีค่ากว่าคำสอนใดๆ ! ส่วนในเรื่องของวจีกรรมนั้น มิใช่สอนอย่างเดียว แต่หมายถึงพูดสิ่งเป็นสาระ พูดแต่สิ่งที่สร้างสรรค์ ศีล เป็นกฎเกณฑ์ของชีวิต ของมนุษย์ เบญจศีล เป็น ข้อห้ามที่มนุษย์ทุกคนต้อง "ละเว้น" ชีวิตนั้นไม่ควรเบียดเบียน ซึ่งกันและกัน ขบวนการ พัฒนา ความเป็นมนุษย์จึงเริ่มจาก "คนเลว" ไต่เต้ามาเป็น "คนปกติ" เพราะเหตุนี้ เบญจศีลจึงเป็นความดีของคนเลว แต่ยังเป็นภาวะกลางๆ ไม่ใช่ความดีเชิงรุกของคนดี เป็นแค่ อัพยกฤต ไม่ดีไม่ชั่ว แต่เสมอตัวเท่านั้น เบญจธรรม เป็นข้อที่ต้องปฏิบัติต่อจากฐานเบญจศีล เป็นความดีเชิงรุก เป็นสิ่งที่คนธรรมดา ต้องสะสม เป็นสะเบียงกรังสำหรับการเดินทางไกลในวัฏสงสาร โอวาทปาฏิโมกข์จึงกำหนดไว้ให้ละชั่วต่อด้วยประพฤติดี ละชั่ว ไม่ทำร้าย ประพฤติดีเริ่มเอื้ออาทร เริ่มทำทาน ไม่ทำทานก็อย่าหวังจะได้รับประทาน ! ภาวนา การทำให้มากขึ้น อย่าอยู่ อย่างประมาท อย่ามัวคิดแค่นี้ก็ดีแล้ว ยิ่งซาบซึ้งยิ่งเป็นอานิสงส์ เราก็จะ ยิ่งทำให้มากขึ้นๆๆๆ เป็นรอบที่ ๒ ที่ ๓ ไปเรื่อยๆ แต่ก่อน ทานศีลของเราอาจจะแค่ระดับอนุบาล แต่เมื่อทำๆ ไป จะมีการพิจารณาสม่ำเสมอ ทาน-ศีลของเรา จะขยับเป็นชั้นประถม - มัธยม - อุดมศึกษา ตามลำดับ บุญทานที่แท้ของชีวิต ต้องมีการพากเพียร สั่งสม ไม่มีวันหยุดราชการ ไม่มีพักเที่ยง ! เพราะความตาย ยืนรอเราอย่างสงบ เผลอแป๊บเดียวก็จะถึงคิวของเราเสียแล้ว ชีวิตที่ปล่อยไปตามยถากรรม จึงเป็นชีวิตเศษสวะ เป็นชีวิตไร้ค่า ผลแห่งอกุศลกรรมย่อมตามมาทวงหนี้จนกว่าจะตายจาก อยากกินอาหารที่สั่งได้ จึงจะต้องเอาชนะใจตัวเอง ชีวิตนี้เกิดมาเพื่อทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้น ไม่มีวันเลิกรา กัดติดไม่ปล่อย ประดุจเงาที่วิ่ง ติดตามเจ้าของชีวิต เกิดมาเพื่อสั่งสมบารมีนั่นแล - หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๘ มีนา - เมษา ๒๕๔๘ - |