คิดตามหนัง - ตระกูลหยาง - [email protected] ขงจื๊อ เรื่องขงจี๊อ มีความยาว ๑๑ แผ่นวีซีดี ฉบับนี้เล่าได้เพียงช่วงต้น ๒ แผ่นแรก ที่เหลือกรุณาติดตามได้ ในฉบับต่อๆ ไป ถ้าจะเล่าให้จบภายในฉบับเดียวก็เสียดายอรรถรส ที่อยากถ่ายทอด ให้ท่านผู้อ่าน ได้ซึมซาบอาบกมลด้วย ที่จริงเนื้อเรื่องไม่มีอะไรมาก เป็นประวัติชีวิตอันเรียบง่ายงดงามของขงจื๊อ ผู้ยึดมั่นในกฎโจวกุง โจวกุงเป็นเจ้าเมืองคนแรกของแคว้นหลู่ มีความสามารถในการปกครอง ท่านได้วาง แบบแผนจารีตให้บ้านเมือง และเผยแพร่ไปทั่วอาณาจักร บทสนทนาในเรื่อง "ขงจื๊อ" ล้วนแสดงถึงความมั่นคงในศีลธรรมประเพณีที่หาได้ยากในบุคคลสมัยปัจจุบัน แท้จริงก็หาได้ยาก ตั้งแต่สมัยของขงจื๊อแล้ว จนบั้นปลายชีวิต ปราชญ์เอกของจีนท่านนี้ยังรำพึงกับตัวเองว่า ทำไมสิ่งที่ มีคุณค่าต่อบ้านเมืองกลับไม่ได้รับการยอมรับ เมื่อ ๕๓๗ ปีก่อนคริสตกาล หนุ่มน้อย จ้งชิว วัย ๑๕ ปี เป็นคนรักการเรียนรู้ เขากับแม่ดำรงชีวิตกัน แต่เพียงลำพัง ในแคว้นหลู่ จ้งชิวเล่าเรียนวิชาความรู้จาก ฝูจื่อ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของ เหยียนเจิ้นไจ้ แม่ของจ้งชิว ฝูจื่อเป็นคนเล่าประวัติของจ้งชิวว่า จ้งชิวเป็นลูกคนเล็กของซูเหลียงเหอ ภรรยาคนแรก ของซูเหลียงเหอ มีลูกสาว ๙ คน ไม่มีลูกชายพ่อจึงแต่งงานใหม่ มีลูกชายคนหนึ่งชื่อม่งผี่ขาพิการ พ่อจึงแต่ง กับเหยียนเจิ้นไจ้ คราวนี้ได้ลูกชายสมบูรณ์แข็งแรงดีชื่อจ้งชิว พ่อเสียชีวิตเมื่อจ้งชิวอายุ ๓ ขวบ ก่อนตายได้มอบกระบี่ให้จ้งชิว และสั่งภรรยาไว้ว่าเมื่อลูกชายอายุ ๑๘ ปีให้ตั้งชื่อว่า จ้งหนี แม่พาจ้งชิวมาที่แคว้นหลู่ เป็นการกระทำผิดธรรมเนียม ทำให้ถูกนินทา และถือว่าไม่ใช่ภรรยาของ ซูเหลียงเหอ อีก กระบี่ที่ให้ไว้สามารถแสดงได้ว่าจ้งชิวเป็นลูกของซูเหลียงเหอ มีสิทธิ์รับมรดก ของพ่อ แต่แม่ของจ้งชิว ไม่อยากแย่งชิงทรัพย์สินมรดก จึงพาจ้งชิวมาอยู่ที่แคว้นหลู่ ต้องทำงานหนัก เพื่อเลี้ยงดูลูก และให้ลูก เอาใจใส่การศึกษา อายุเพียง ๓๐ เศษๆ ร่างกาย ของเหยียนเจิ้นไจ้ ก็ทรุดโทรมมาก ส่วนจ้งชิวนอกจากทำงานในบ้านแล้ว ก็ยังร่วมกับเพื่อนรับจ้างเป่าปี่ในงานศพ แลกอาหาร ที่เจ้าภาพงานจะแบ่งให้ ม่งผี่ พี่ชายต่างมารดาของจ้งชิวมาขอกระบี่ ของพ่อจากแม่ของจ้งชิว เพราะตนเองพิการ ถ้ามีกระบี่ ของพ่อ ก็จะได้อาศัยบารมีพ่อให้คนยอมรับ ถ้าไม่ได้กระบี่ แม่ไม่ให้กลับบ้านอีก แม่ของจ้งชิว จึงให้ กระบี่ไป การที่ไม่มีกระบี่หมายความว่าไม่สามารถพึ่งพายศศักดิ์ของพ่อได้อีก นางสอนลูกว่า จะต้องยืนหยัด ต่อสู้ด้วยตัวเอง เหยียนเจิ้นไจ้ขอร้องให้ฝูจื่อฝากให้จงชิวได้เรียนกับไท่ซือ ซึ่งเป็นเสนาบดีด้านการศึกษา ฝูจื่อ บรรยาย คุณสมบัติของจ้งชิวว่า "ไม่ได้มีความรู้พื้นฐานเท่านั้น แต่ยังมีความคิดของตัวเอง จ้งชิวมีพรสวรรค์ มีความมุ่งมั่น ในการเรียนมาตั้งแต่เด็ก เขาแตกต่างจากเด็กทั่วไป" ส่วนเหตุผลที่ต้องเรียนกับเสนาบดีนั้นเป็นเพราะ "ท่านอาจฝึกฝนให้เขาเป็นผู้รอบรู้ คนทั่วแคว้น ต่างก็รู้ว่า ท่านมีความสามารถ อีกอย่างท่านเป็นเสนาบดีด้านการศึกษา เด็กหนุ่มที่ขยันเล่าเรียน อย่าง จ้งชิว มาอยู่กับท่านจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่เพิ่มเติม อีกประการหนึ่ง ฐานะอย่างเขาไม่สามารถเข้าเรียน เป็นบัณฑิต มาเรียนกับเสนาบดีเหมาะสมแล้ว" เหยียนเจิ้นไจ้พาลูกชายไปที่บ้านไท่ซือ ได้รับคำตอบว่าไม่อยู่ นางกับลูกเฝ้ารออยู่หน้าประตูบ้าน แล้วก็มี คนมาบอก ให้กลับไปก่อน เพราะยังไม่รู้ว่าเสนาบดีจะกลับมาเมื่อไร จ้งชิวบอกให้แม่กลับบ้านก่อน สัญญาว่า จะเฝ้ารอ ไม่ไปไหน แม่จึงยอมกลับบ้านเอาอาหารมาให้ลูก ระหว่างที่รออยู่คนเดียวนั้น ดูเหมือน บางช่วง จ้งชิวก็คิดจะล้มเลิกความตั้งใจที่จะรอ แต่เพราะสัญญากับแม่ไว้ ไม่อยากให้แม่ เสียใจ จึงต้องรอต่อไป ในที่สุด ความอดทนก็ให้ผล ไท่ซือยอมรับจ้งชิวเป็นศิษย์เพราะ "ความตั้งใจของเจ้า ข้าจึงไม่อาจ ปฏิเสธได้" ไท่ซือบอกจ้งชิวว่า "การเรียนเป็นเรื่องที่เหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้า จะไม่มีการยืดหยุ่น ให้ผู้เรียน เป็นอันขาด ห้ามสนใจสิ่งอื่นนอกจากการเรียน ไม่มีการหยุดเรียนไปทำงานอื่น" จ้งชิวนำผ้าไหมที่แม่ทอให้ ไปไหว้สาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าจะมุ่งมั่นในการเรียน โปรดสังเกตว่า จ้งชิว ไม่ได้ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้สอบได้ โดยที่ตัวเองไม่ได้เอาใจใส่ ในการเรียนหรอกนะ ไท่ซือบอกจ้งชิวว่า "ถ้ามุ่งมั่นจะให้อยู่เหนือผู้อื่น ก็ต้องมีความรู้ สิ่งแรกที่ต้องรับรู้ คือการสำรวม เรื่องมารยาท ต่อไปต้องเรียนการขี่ม้า ยิงธนู บทกวีและเครื่องดนตรี เป็นต้น กว่าจะรู้ซึ้งได้ ทั้งหมด เจ้าจะต้องมุ่งมั่น และตั้งใจ พยายามหมั่นเพียรฝึกฝน และความสำเร็จก็จะมาถึง การฝึกบทกวี จะทำให้มีความสุขุม เล่าเรียนหนังสือจะทำให้มีความรอบรู้ ฝึกสำรวมมารยาททำให้มีจรรยาสูงส่ง ฝึกดนตรี จะทำให้มีจิตใจอ่อนโยน นอกจากความรู้เหล่านี้แล้ว ยังต้องมีคุณธรรม สิ่งใดควรทำ หรือไม่ควรทำ เจ้าก็จะรู้ด้วยตัวเอง ปัจเจกชนไร้จรรยาก็จะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เหล่าขุนนางไร้สำนึก ก็จะทำให้บ้านเมือง และราษฎรเดือดร้อนและล่มสลาย ในยุคนี้นับวันจะมีคนจำพวกนี้มากขึ้น จึงทำให้บ้านเมืองวุ่นวายและเดือดร้อนกันไปทั่ว เจ้าจึงต้องเรียนรู้เรื่องจริยธรรม อีกทั้งต้อง มีคุณธรรม อยู่ในจิตใจ เพื่อการดำรงชีวิตของเจ้าจะได้ดียิ่งขึ้น และคอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่เดือดร้อน" ระหว่างที่จ้งชิวเรียน แม่ต้องทำงานหนักอยู่ตามลำพังที่บ้าน ลูกกลับบ้าน ก็ดูแล ปรนนิบัติลูก ขอเพียง ให้ลูกมุ่งมั่น ในการเรียน แม่เสียสละได้ทุกอย่าง ในที่สุดก็ล้มป่วย จ้งชิวจึงขอร้องแม่ ขอทำงาน ในบ้านเอง ในที่สุด เหยียนเจิ้นไจ้ ก็เสียชีวิตในปีก่อนคริสตกาล ๕๓๕ ปี จ้งชิวเสียใจมาก ไม่ได้ไปเรียน ไท่ซือมาตาม บอกว่า "ถ้าต้องการเป็นผู้สูงศักดิ์ เจ้าก็ต้องเรียนรู้ ถึงเจอ อุปสรรค ก็ต้องเรียน ถึงจะมีบรรพชนที่ทรงศักดิ์ ลูกหลานก็ใช่จะทรงศักดิ์ไปด้วย เจ้าเคยคิดบ้างไหม ตั้งแต่บรรพชน ย้ายถิ่นมาแคว้นหลู่ สี่ชั่วคนต้องใช้ชีวิตอย่างต้อยต่ำ พอถึงคราวพ่อเจ้ามีชัยชนะ ในการรบ ถึงได้ตำแหน่งต้าฝู ก็เป็นได้แค่ต้าฝูปลายแถว ถ้าเจ้าไม่มีความรู้ เจ้าก็ไม่มีทางเป็น ผู้ทรงเกียรติได้เด็ดขาด" จ้งชิว จึงกลับไปเรียน ๕๓๓ ปีก่อนคริสตกาล จ้งชิวอายุ ๑๙ ปี จึงได้ทำพิธี มีนามว่าจ้งหนี หลังจากนั้นก็แต่งงาน ต่อมาเจ้าแคว้นฉีมาเยือนแคว้นหลู่ ต้าฝูจี้ซุนได้รับมอบหมายให้จัดพิธีต้อนรับ ถึงแม้เขาจะไม่ชำนาญ เรื่องงานพิธี แต่ช่วงเวลานั้น จ้งหนีเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนามขงจื๊อ ผู้เชี่ยวชาญ ในเรื่องธรรมเนียม ประเพณี ต้าฝูจี้ซุนจึงเลือกขงจื๊อ ให้เป็นผู้จัดงานต้อนรับเจ้าแคว้นฉี งานพิธีประสบความสำเร็จ เป็นที่พอพระทัย ของเจ้าแคว้นฉีอย่างยิ่ง ทั้งขุนนางและประชาราษฎร์ ต่างชื่นชมยกย่อง งานนี้เป็น งานแรก ที่ขงจื๊อได้รับใช้บ้านเมือง เขาใช้แนวคิดความสามัคคีและสัมพันธไมตรี ตามหลักโจวกุง มาสื่อในการแสดง ขงจื๊อได้รับโอกาสเข้าเฝ้าเจ้าแคว้นหลู่และเจ้าแคว้นฉี เจ้าแคว้นฉีถามว่าขงจื๊อเชี่ยวชาญเรื่อง พิธีการ เรียนรู้มาจากไหน ขงจื๊อตอบว่า "เรียนรู้ไร้ขอบเขต ใน ๓ คน ย่อมมีหนึ่งเป็นอาจารย์" "ทำอย่างไรถึงจะให้พสกนิกรอยู่เย็นเป็นสุข" "การปกครองบ้านเมือง สิ่งแรกที่ต้องทำคือจัดระเบียบสังคม เพื่อให้พสกนิกรใช้ชีวิตอยู่ในกรอบระเบียบ ทำให้กฎหมายเป็นที่เคารพยำเกรง โดยไม่จำเป็นต้องใช้โทษทัณฑ์ คือต้องให้การศึกษาแก่ราษฎรก่อน จึงใช้กฎหมาย และโทษทัณฑ์ได้ แต่ต้องแยกถูกผิดให้ชัดเจน และให้รู้เรื่องคุณธรรมกับดนตรี ควบคู่ ไปด้วย คุณธรรมคือการปฏิบัติที่ดี ทำให้รู้จักแยกแยะชั่วดี รู้คุณคน มีความกตัญญู ส่วนดนตรีนั้น จะช่วยลด ความกดดัน ให้มีความอ่อนน้อม ทำให้มีสติปัญญาสุขุม เยือกเย็น อีกทั้ง ให้ประชาชน มีจารีต อยู่ในใจ เมื่อเหล่า ประชาชน มีทั้งสามประการนี้ อยู่ในใจแล้ว ก็จะทำให้เป็นคน ซื่อตรง ประพฤติดี จิตใจอ่อนน้อม มารยาทดี ดังนั้นทุกคนก็จะมีความสุข ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่ทำ ให้ผู้อื่น เดือดร้อน ถ้าทำได้เช่นนี้ แล้ว ประชาราษฎร์ก็อยู่ดี บ้านเมืองก็จะมีความสุข" ตอนนั้นขงจื๊ออายุ ๓๐ ปี ขุนนางบางคน เห็นว่าขงจื๊อมีความสามารถ น่าจะได้ทำงานในราชสำนัก แต่เนื่องจาก บรรพชนของขงจื๊อ เป็นชาวซ่ง จึงมีขุนนางอีกกลุ่มหนึ่งเกรงว่า ถ้าแต่งตั้งให้ขงจื๊อ มารับใช้ ราชสำนัก เหล่าขุนนางจะไม่พอใจ แต่มีทางออกโดยต้าฝูจี้ซุน ให้ขงจื๊อไปช่วยงาน ส่วนเด็กหนุ่ม ๓ คนที่ช่วยงานในครอบครัวของขงจื๊อกลับเห็นว่า เมื่อราชสำนักไม่แต่งตั้งตำแหน่งให้ ขงจื๊อ น่าจะเปิดรับศิษย์มาอบรมให้มีความรู้ ทั้ง ๓ คนตกลงใจ สมัครเป็นศิษย์ นับถือขงจื๊อ เป็นอาจารย์ ขงจื๊อจะตัดสินใจยุติชีวิตอิสระนอกอาณาจักรแห่งอำนาจ หรือ จะตั้งตัวเป็นอาจารย์ สร้างบุคลากร ให้ประเทศชาติ ต้องติดตามตอนต่อไป เรื่องราวตอนนี้จบลงที่ความอบอุ่นของครอบครัว ขณะที่ขงจื๊อมองดูดวงอาทิตย์ ลูกสาวลูกชาย ก็ถกเถียงกันว่า พระอาทิตย์ตอนเช้าหรือตอนกลางวันอยู่ใกล้กว่ากัน ขงจื๊อบอกลูกๆ ว่า "พระอาทิตย์ จะอยู่ใกล้ หรือไกลไม่สำคัญ ที่สำคัญคือ ให้คงอยู่และส่องแสงตลอดไป" - หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๘ มีนา - เมษา ๒๕๔๘ - |