สิ่งที่ยากที่สุดในชีวิต - ฆวาลา -


"พูดความจริง"
ขณะข้าพเจ้าเรียนอยู่ชั้น ม.๓ และกำลังเตรียมตัวสอบเข้าเตรียมอุดม วันเสาร์หนึ่ง ซึ่งเป็นวันที่ข้าพเจ้า ต้องพาเจ้าปุกปุยออกไปถ่ายนอกบ้านตอนเช้า แต่ด้วยความขี้เกียจที่จะต้องเดินตามและคอยเฝ้า ตอนมันถ่าย ข้าพเจ้าจึงเปิดประตูให้มันออกไปเอง บวกกับความคิดที่ว่า มันคงกลับบ้านได้ เพราะมันชอบ แอบหนีไปเที่ยวนอกบ้านบ่อยๆ

ผ่านไปครึ่งวัน เจ้าปุกปุยยังไม่กลับบ้าน ข้าพเจ้าและคนในครอบครัวเริ่มเป็นห่วง ว่ามันหายไปไหน ตอนนั้น ข้าพเจ้าไม่กล้าพูดความจริง ว่าเป็นคนปล่อยมันออกไป แต่กลับบอกคุณพ่อคุณแม่ว่า มันหนีไปเอง พอตกเย็น คนข้างบ้านมาคุยกับแม่ว่า วันนี้เขาเห็นสุนัขถูกรถชนตาย อยู่ที่สี่แยกหน้าหมู่บ้าน คล้ายเจ้าปุกปุยมาก ทั้งคุณพ่อคุณแม่ รีบไปยังที่เกิดเหตุ ส่วนข้าพเจ้าไม่กล้าออกไป เพราะกลัวว่า สิ่งที่เขาเล่ามาจะเป็นเรื่องจริง แต่สิ่งที่ข้าพเจ้ากลัวนั้น กลับเกิดขึ้นจริง

ข้าพเจ้าซึมไปหลายวัน เพราะเป็นความผิดของข้าพเจ้าเอง ที่ปล่อยมันออกไป และเจ้าปุกปุย ก็เป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ เป็นสุนัขที่คนในครอบครัวรักมาก แต่สิ่งสำคัญที่ตอกย้ำในใจ คือการพูดโกหก กับคุณพ่อคุณแม่ ขี้ขลาดเกินจะสารภาพความจริง เพราะกลัวถูกดุ! ข้าพเจ้าจมอยู่กับความรู้สึกผิด แต่ขณะเดียวกัน ก็คิดว่าอีกไม่นานคงลืม

สิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่การทำใจให้ลืมเรื่องนั้น ความยากอยู่ตรงที่การพยายามจะพูดความจริง ในสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมรับผิด ในการกระทำของตนเอง ตอนนั้นข้าพเจ้าคิดว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ข้าพเจ้าจะห้ามใจตัวเอง เอาชนะความขี้เกียจ แล้วลงไปเฝ้ามัน แต่มันก็สายเกินที่จะแก้ ข้าพเจ้าจึงพยายามสร้างความกล้า ให้แก่ตัวเองว่า อย่างน้อยควรสารภาพความจริง กับคุณพ่อคุณแม่ พยายามอยู่หลายวัน จนกระทั่ง มีความกล้าพอ ที่จะพูดความจริงออกไป เมื่อพูดไปแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกดีขึ้น แต่ความผิดที่ทำไว้ คงยากที่จะลืม แม้ว่าจะรู้สึกผิดทุกครั้งที่นึกถึงเหตุการณ์นี้ แต่อย่างน้อย มันก็ยังเป็นสิ่งช่วยเตือนใจ ว่าอย่าให้เกิด ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก

ขอพูดถึงคำคมที่กล่าวว่า "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง แต่ในชีวิตเรา การทำบางอย่าง ไม่สำเร็จอย่างที่หวัง อาจเป็นเพราะว่า เรายังไม่ใช้ความพยายาม และความสามารถของเรา อย่างเต็มที่ต่างหาก
* น.ส.ฐิติกานต์ กลั่นสอน



"เข้าค่าย"
ข้าพเจ้าเคยเข้าค่ายที่โรงเรียนประถม ในสมัยเป็นนักเรียนประถมนั้น ข้าพเจ้าไม่กล้าเถียงใคร คือไม่กล้า ออกความเห็นอะไรนั่นเอง เมื่อครูให้ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าหมู่ ข้าพเจ้าก็รับหน้าที่โดยมาโดยดี เมื่อถึงวันเข้าค่าย ข้าพเจ้ามาสายที่สุดในชั้นปี เป็นเรื่องแย่ที่หัวหน้าหมู่ ไม่มีความรับผิดชอบอย่างนั้น แต่ความจริงแล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้คิดจะไปสาย ข้าพเจ้าคิดจะไม่ ไปตั้งแต่แรกต่างหาก แต่สุดท้าย ก็ทนละอายใจไม่ได้ จึงต้องไป เมื่อถึงเวลากลางคืน หลังจากเข้าฐานต่างๆ มาอย่างเหน็ดเหนื่อย ข้าพเจ้า และเพื่อนๆ รู้สึกหิวมาก ไม่เคยหิวแบบนี้มาก่อน แต่ครูไม่มีอาหารให้กิน บอกว่าถ้าจะกิน ก็ต้องหุงหากันเอง มีแต่ข้าวดิบ กับปลากระป๋องให้ เพื่อนๆ เห็นข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าหมู่ จึงบอกให้ข้าพเจ้า จัดการเรื่องนี้ ข้าพเจ้าไม่กล้าเถียงใคร ก็ออกไปเดินหาฐานรองหม้อ และฟืนเป็นเชื้อเพลิง เพราะเราต้องหุงข้าวเช็ดน้ำ (ไม่มีหม้อไฟฟ้า) ข้าพเจ้าเดินดุ่มไปเรื่อย เห็นอิฐเห็นไม้ก็เก็บมา บังเอิญไปเห็นอิฐก้อนหนึ่ง ดูใหญ่ได้รูปดี จึงไปเก็บมา ปรากฏว่าใต้อิฐเป็นรังมด มือข้าพเจ้าโดนมด นับร้อย กัดบวมเป่งไปหลายวัน

เมื่อหุงหาอาหารเสร็จก็เริ่มกิน ปรากฏว่าข้าวครึ่งดิบครึ่งสุก ปลากระป๋อง ก็มีน้อย ต้องซดเอาแต่น้ำ พอนอนหลับไป ก็ทั้งปวดท้องเพราะหิว และเพราะกินข้าวดิบ ทรมานไปหมด

ในวินาทีนั้นข้าพเจ้าไม่ได้คิดอะไร แต่ในตอนนี้หวนกลับไปคิดถึงความรู้สึกนั้น ก็เข้าใจว่า คงมีคนกลุ่มหนึ่ง ที่เขาต้องเผชิญชีวิตอย่างเรา ในตอนนั้น หรือมากกว่าเราด้วยซ้ำไป โดยเขาต้องรับสภาพ กินข้าวดิบ นอนตากยุง หรืออาจไม่มีที่นอน หรือไม่มีข้าวให้กิน ความลำบากของเรา เป็นส่วนเล็กน้อย เขาเหล่านั้น ไม่บ่นเหมือนเรา เพราะเขาชินกับมัน นี่คือวิถีของเขา แต่เรากลับคิดว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องเจอ เราอยู่บ้าน ไม่มาค่าย คงมีความสุขกว่านี้ แต่ที่แท้จริงแล้ว การออกมาเจอความลำบากอย่างนี้บ้าง ทำให้ข้าพเจ้า รู้จักชีวิตมากขึ้น ทุกครั้งที่หวนนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ในค่ายนั้น ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความลำบากของ ผู้อื่น มองว่า รอบตัวเรา ไม่ได้มีแต่ความสุข ตอนที่เราสุข เราอาจจะสร้างทุกข์ให้คนอื่นอยู่ก็ได้ ได้รู้จักความรับผิดชอบ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น รู้จักใช้ชีวิต คือ หิวก็ต้องหากินเอง จุดไฟ ตั้งหม้อหุงข้าวเอง ไม่ใช่จะมีคน มาประเคนให้ หรือมีเงินจะไปซื้อที่ไหนก็ได้ เพราะมันไม่ใช่การใช้ชีวิตที่แท้จริง

ข้าพเจ้ามองว่า ถ้าเราดำเนินชีวิตให้เป็นกลาง ก็จะเห็นชีวิตที่แย่กว่า และชีวิตที่ดีกว่า ยิ่งดำรงตนให้สมถะ สันโดษ บนทางสายกลางเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะเห็นชัดขึ้น เมื่อได้เห็นก็เข้าใจว่าคนอื่นเป็นอย่างไร รู้จักช่วยเหลือ แบ่งเบาความทุกข์ และแบ่งปันความสุขให้ผู้อื่นบ้าง
* วิภาดา เสนะวงษ์



เลี้ยงน้อง
การเลี้ยงน้อง ดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา สำหรับคนที่มีน้อง แต่น้องของข้าพเจ้าไม่ใช่น้องร่วมบิดามารดา เป็นลูกพี่ ลูกน้องซึ่งอายุน้อยกว่าข้าพเจ้าราวสิบปี นั่นทำ ให้คุณป้าเห็นว่า ข้าพเจ้า โตพอที่จะช่วยแบ่งเบา ภาระ โดยช่วยดูแลลูกชาย และลูกสาวของแกได้

วันแรกที่ข้าพเจ้ารู้ว่าจะมีโอกาสได้เห็นหน้าน้องนั้น ข้าพเจ้าตื่นเต้นมาก เพราะข้าพเจ้าเป็นลูกโทน ไม่มีพี่น้อง คิดแต่ว่า มีน้องแล้วจะได้เล่นสนุก กับน้องทั้งวัน ได้อุ้มน้อง พาไปเที่ยวที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง แต่พอเอาเข้าจริง กลับรู้สึกว่าลำบาก ที่จะต้องมาคอยตามล้างตามเช็ด อุจจาระปัสสาวะ อาเจียนที่น้องถ่ายออกมา วันละหลายเที่ยว ยิ่งถ้าวันไหนที่น้องเกิดท้องเสียขึ้นมา ก็ต้องซักผ้าอ้อมเหม็นๆ จนแทบจะอาเจียน ตามน้องไปด้วย

นอกจากเรื่องขับถ่าย ก็ยังมีเรื่องอาบน้ำสระผม ที่ต้องระมัดระวัง อย่างมาก โดยเฉพาะการสระผมเด็กอ่อน ที่ต้องระวังไม่ให้ยาเข้าตาของน้อง ซึ่งบอบบางมาก แม้แต่การสัมผัสศีรษะ ของเด็กทารกแรกเกิด เพราะเวลา ที่เรากดบริเวณกะโหลก จะรู้สึกว่ามันยุบลงไปได้ (กะโหลกของเด็กอ่อน จะยังเชื่อมกันไม่สนิทนัก) จึงต้องนวดหนังศีรษะ ให้เบาที่สุด ถัดมาคือเรื่องชงนม -ป้อนข้าว น้องข้าพเจ้านั้น นับว่ากินจุมาก กินนม วันละ ๖-๗ ขวด ต้องวิ่งชงวิ่งล้างขวด จนบางครั้งปวดแขนไปเลย

พอน้องโตขึ้นหน่อยก็ป้อนข้าวหรือกล้วยบด ความลำบากคือ ต้องคะยั้นคะยอให้แกกิน ต้องหลอกล่อต่างๆ นานา ชักแม่น้ำทั้งห้า ว่าจะซื้อโน่นซื้อนี่ให้ ถึงจะยอมกิน บางคราวกินเวลาเป็นชั่วโมงๆ กว่าข้าวจะหมดถ้วย บางครั้ง เกิดไม่ชอบใจกับข้าวที่ตักให้ ก็บ้วนออกมาเรี่ยราด ต้องตามเช็ดกันให้วุ่นวายอีก

อีกเรื่องหนึ่งก็คืออ้อนให้อุ้ม โดยเฉพาะช่วงครึ่งขวบ แกจะร้องให้อุ้มทั้งวัน พอวางแกลง แม้กระทั่งหลับอยู่ ก็จะร้องโยเย จนคนอุ้มอ่อนอกอ่อนใจ
พอแกเดินได้ ก็ใช่ว่าจะสบาย คราวนี้หนักกว่าเก่า เพราะแกจะวิ่งพล่านไปทั้งบ้าน ซนมากๆ ก็วิ่งไปชน ขอบโต๊ะ ขอบตู้ วิ่งลงถนนใหญ่ ต้องคอยตามไม่ให้คลาดสายตา พออายุได้สามสี่ขวบ แกจะเริ่มรบเร้า อยากเอาของเล่น ทุกอย่างที่มีอยู่ในโลก ไม่ลำบากแรงกาย แต่ลำบากกระเป๋าเงิน พอไม่ได้ก็ร้องไห้ อย่างเอาเป็นเอาตาย สร้างความเหนื่อยหน่าย เป็นอันมาก

นี่เป็นเพียงส่วนเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น งานเลี้ยงน้องนั้นไม่ใช่งานที่กดดันอะไรก็จริง แต่ต้องอาศัย ความอดทน สูงมากๆ เพราะคุณจะต้องอยู่กับแกไปตลอด จนกว่าจะช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ปีสองปี เหมือนงาน อื่นๆ แต่กินเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี จุดนี้ทำให้ข้าพเจ้า คิดถึงหัวอกของ คนเป็นพ่อเป็นแม่ คนว่า มันช่างยาก ลำบากเหลือเกิน กว่าจะเลี้ยงชีวิตหนึ่งๆ ให้เติบโตขึ้นมาได้ บางทีก็แทบจะร้องไห้ เวลาที่คิดถึงสิ่งไม่ดี ที่เราทำลงไป ให้พวกท่านเดือดร้อนสะเทือนใจ
* นิวัฒน์ เซี่ยงโห



พ่อแม่ของข้าพเจ้า
ตอนเด็กๆ มีแต่คนบอกข้าพเเจ้าว่า พ่อรักข้าพเจ้ามาก ข้าพเจ้าก็รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ แม้แต่ชื่อของข้าพเเจ้า "หทัยชนก" ยังแปลว่า "ดวงใจพ่อ" เลย แต่เมื่อโตขึ้น ข้าพเจ้าได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ พ่อทำในสิ่งที่ข้าพเจ้าคิดว่า พ่อไม่ควรทำ ข้าพเจ้าไม่ได้เกลียดพ่อ พ่อมีลักษณะของความเป็นชายอย่างเต็มเปี่ยม ทั้งกินเหล้า และ สูบบุหรี่ ข้าพเจ้าไม่ชอบ คนในครอบครัวทั้งพี่น้องและแม่ ต่างก็ไม่มีใครชอบ เพียงแต่ข้าพเจ้า จะแสดงออก มากที่สุดว่า ถ้าไม่ชอบก็คือไม่ชอบ

พ่อไม่ใช่ชายในอุดมคติ ไม่ใช่พ่อในแบบที่ข้าพเจ้าอยากให้เป็น ข้าพเจ้าเคยคิด ถ้าหากพ่อรู้ว่า ข้าพเจ้ามีทัศนคติ อย่างไรต่อพ่อ พ่อคงจะเสียใจมาก แต่ข้าพเจ้าก็ไม่รู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้มี ความคิดนี้ และบางที ข้าพเจ้าก็เคยถามตัวเองว่า ข้าพเจ้ารักพ่อบ้างมั้ย

ข้าพเจ้าพยายามสลัดความคิดในแง่ลบ ที่มีต่อพ่อทิ้งไป ข้าพเจ้ารู้ว่า ชีวิตคนเราสั้นนัก ไม่ว่าจะเป็นของพ่อ หรือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าคงเสียใจไปตลอดชีวิต หากข้าพเจ้าไม่คิดที่จะรัก ผู้มีพระคุณสูงสุด ของข้าพเจ้า ผู้ที่ให้กำเนิด และมีส่วนทำให้ข้าพเจ้าเป็นผู้เป็นคน จนถึงทุกวันนี้ ข้าพเจ้าคง ไม่ใช่คนดี หากข้าพเจ้า ยังมีทัศนคติที่แย่ๆ ต่อพ่ออยู่

ตอนนี้ข้าพเจ้าพยายามเปิดใจให้กว้างที่สุด พ่อของข้าพเจ้าเป็นคนเงียบ ไม่ใช่คนที่จะมาพูดคุยกับลูก เหมือนแม่ นั่นคงทำให้ลูกๆ ไม่สนิทกับพ่อ แต่ในความเงียบของพ่อ บางครั้งข้าพเจ้าก็สามารถสัมผัสได้ ถึงความห่วงใยของพ่อ ที่มีต่อลูกทุกคน พ่อรักลูกแต่พ่อไม่เคยบอก ในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ไม่เคย บอกพ่อว่า ข้าพเจ้ารักพ่อ เพราะในตัวพ่อ ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่ข้าพเจ้าไม่ชอบอยู่ แต่หากมอง ในมุมกลับกัน อะไรบางอย่างในตัวของข้าพเจ้า ก็อาจทำให้พ่อไม่ชอบ แต่ทำไมพ่อถึง ยังรักข้าพเจ้าอยู่

คนเราไม่มีใครเกิดมาสมบูรณ์พร้อม ถ้าคนเราได้ทุกอย่างอย่างที่หวัง ชีวิตนี้จะมีความหมายอะไร ข้าพเจ้า ระลึกได้แล้วว่า ถึงแม้พ่อจะมีข้อเสียเหมือนที่ผู้ชายทุกคนมี แต่พ่อก็ไม่เคยบกพร่อง ในหน้าที่ ของความเป็นพ่อ แค่พ่อรักลูกทุกคน ก็ถือว่าพ่อได้ทำหน้าที่ของคนเป็นพ่อ ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว ส่วนตัวข้าพเจ้านั้น ก็ขอตอบแทนบุญคุณของพ่อเช่นกัน พ่อคงจะดีใจและมีความสุขที่สุด หากพ่อรู้ว่า ข้าพเจ้าก็รักพ่อ

ข้าพเจ้าตระหนักเอาเองว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าไม่ชอบ ถ้ามันเป็นความสุขของพ่อ ก็ควรปล่อยให้พ่อทำ แม้รู้ทั้งรู้ ว่ามันไม่ดีต่อตัวพ่อเลย ข้าพเจ้าก็ได้แต่คิดว่า พ่อจะตระหนักได้เอง

ช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้ทำงานพิเศษเพื่อหาประสบการณ์และรายได้ ข้าพเจ้าทำงานทุกวัน โดยไม่มีวันหยุด อยู่ประมาณ ๒ เดือนครึ่ง ได้ค่าแรงชั่วโมงละ ๒๓ บาท แต่ขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ได้ ค่าคอมมิชชั่น จากการขายของด้วย ซึ่งก็เป็นจำนวนที่พอเพียง สำหรับการอาศัย อยู่ในกรุงเทพฯ ๓ เดือน โดยไม่ได้ขอเงิน พ่อแม่ใช้เลย

วันหนึ่งแม่มากรุงเทพฯ เพื่อมาพบข้าพเจ้า เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ได้กลับบ้านเป็นเวลานาน ข้าพเจ้ามีโอกาส นั่งคุยกับแม่ แม่เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตอนที่ข้าพเจ้าไม่อยู่บ้านให้ฟัง แม่เล่าว่า ที่บ้านมีค่าใช้จ่ายเยอะ ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจ กดเงินมาให้แม่ทันที ทั้งๆ ที่อยากเก็บเงินเอาไว้ใช้จ่ายส่วนตัว แต่เพื่อแม่ ที่เลี้ยงข้าพเจ้ามา ข้าพเจ้าจึงไม่รีรอ ถ้ามีใครได้เห็น ตอนที่ข้าพเจ้ายื่นเงินให้แม่ ก็คงน้ำตาไหล ข้าพเจ้า ยื่นเงินให้แม่ แต่แม่ปฏิเสธ บอกให้ข้าพเจ้าเก็บไว้ใช้ ข้าพเจ้าบอกว่า แม่เก็บไว้เถอะ เพราะข้าพเจ้ามี แม่จึงรับไว้ พร้อมกับน้ำตาคลอเบ้า ข้าพเจ้าเองก็เช่นกัน ข้าพเจ้ารู้ว่า แม่ไม่ได้ต้องการเงินของข้าพเจ้า แต่แม่ซึ้งใจ ที่ข้าพเจ้าเป็นห่วงแม่
* หทัยชนก

- หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๘ มีนา - เมษา ๒๕๔๘ -