- เขยดิน ชาวหินฟ้า -

ความรู้ใบไม้กำมือเดียว ว่าด้วยเรื่อง "ดิน"

คำนำ เกษตรกรรมของโลกยุคใหม่ ให้ความสำคัญกับพืชผลมากกว่าแม่ธรณี

แม่ธรณีเป็นเพียงทางผ่าน เป็นเพียงเครื่องมือชนิดหนึ่งที่จะให้พืชผลทั้งหลายเจริญเติบโต เพื่อเป้าหมาย สุดท้ายคือ "การบริโภค"

เกษตรกรรมของโลกยุคเก่าไม่มีความเร่งร้อน ทุกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ความอุดมสมบูรณ์ของแม่ธรณี จึงยังคงมีตลอดไป

เกษตรกรรมทางรอดอันยั่งยืนในวันนี้ จึงคือการหันกลับมาดูแลแม่ธรณี เลิกใช้สารเคมีทุกชนิด

เลิกทำร้ายท่าน แล้วหันมาดูแลรักษา

เกษตรกรรมไร้สารพิษ จึงเป็นทางรอดของสังคมชนบทที่กำลังล่มสลาย

และเป็นทางรอดของสุขภาพมนุษย์ที่จะได้ไม่ต้องเผชิญชะตากรรมแห่งโรคร้าย สารพัด

แต่อย่างไรก็ตาม ค่านิยม "ความไว" และ "ความอุดมหลากหลาย" ก็ยังคงเป็นกระแสหลักที่ขัดขวางอยู่

หน่วยงานที่สนองตอบคุณสมบัติ ๒ ข้อนี้สำเร็จ จะได้รับการยกย่อง ชื่นชม และเกียรติบัตร!

ความไว หมายถึง การย่อยสลายสารอินทรีย์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้...จะเอาเดี๋ยวนี้!

ความอุดมหลากหลาย หมายถึง การแสวงหาสารอินทรีย์หลายๆ ชนิดมาผสมคละเคล้า เพื่อก่อเกิด คุณค่า ทางอาหาร...จะเอาเยอะๆ!

เพราะเหตุนี้ "น้ำจุลินทรีย์" จึงมีสภาพเหมือนอัศวินม้าขาวในบัดดล!

แต่ก่อนที่จะก้าวไปสู่การเรียนรู้ทางด้านวิชาการที่มีผลดีต่อแม่ธรณี หากเราเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ที่ไม่มี การศึกษา ไม่มีเงินทอง เราจะทำอย่างไร?


*** ความรู้เรื่องดิน แม้รู้น้อยก็เอาตัวรอดได้
ถ้าเราไม่มีความรู้เลยก็ไม่ควรตกใจ เพราะถึงไม่รู้ก็ประสบความสำเร็จได้!

วันนี้ของใครบางคน จะออกกำลังกาย ก็ต้องไปเรียนวิชาออกกำลังกายของประเทศโน้นประเทศนี้ เป็นที่เหน็ดเหนื่อยและราคาก็แพง ทั้งๆ ที่ "การเดิน" เป็นการ ออกกำลังกายที่ทรงพลังและง่ายที่สุด!

ดิน : บทที่ ๑ ดินสมบูรณ์ต้องมีฮิวมัสนั้น แท้จริงก็คือสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายแล้วนั่นเอง

ในความหมายของคำว่า "การย่อยสลาย" ภาษาชาวบ้านแปลว่า สิ่งนั้นๆ มีรูปร่างที่เล็กมากๆ

ปากมนุษย์จะกินข้าวเป็นคำๆ แต่ปากของพืชเล็กมากจนตาเปล่ามองไม่เห็น "คำข้าว" ของพืชจึงต้องเล็กลงอีก

การย่อยสลายจึงหมายถึง การเปลี่ยนตัวเองของอาหารพืชจากคำใหญ่เป็นคำเล็ก ยิ่งเล็กยิ่งกินง่าย!

*** วิธีการย่อยให้เป็นคำเล็ก
หนังสือเรียนเรื่องเกษตรสมัยก่อน ได้แนะนำการทำ "ปุ๋ยพืชสด" (ถ้าเป็นปุ๋ยหมัก เขาจะเพิ่มมูลสัตว์ ลงไปด้วย) คือ นำกิ่งไม้ใบหญ้ามากองรวมๆ กัน หากรดน้ำบ้าง มีดินกลบเป็นชั้นๆ การย่อยสลาย จะรวดเร็วขึ้น

หากทิ้งไว้เฉยๆ การย่อยก็ค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลานาน

เรามีความจำเป็นต้อง "เร่งเวลา" ขนาดไหน?

*** ซื้ออาหารของพืชที่ไหน?
เศรษฐกิจพอเพียงและพึ่งตน เป็นเศรษฐกิจที่หลีกเลี่ยงการพึ่ง "เงิน"

ใบไม้-ใบหญ้า-กิ่ง-ก้านสารพัด มีพร้อมสมบูรณ์อยู่ในที่ดินอยู่แล้ว

ป่ารกชัฏที่มีพืชขึ้นระเกะระกะ นั่นคือแหล่งวัตถุดิบในการทำปุ๋ยที่ยั่งยืน นำมาใช้ได้ตลอดชีวิต

*** จำเป็นต้องปรับสภาพดิน?
สารอินทรีย์ที่ย่อยสลายจะเป็นผู้ปรับสภาพดินโดยธรรมชาติ

จะเป็นกรดหรือด่าง จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่โต

ดินที่สมบูรณ์จะมีประชากรจุลินทรีย์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อาศัยอยู่บนหน้าดิน ในดิน เป็นจำนวน มากมายมหาศาล

มันจะสร้างปฏิกิริยาทางเคมี ปรับสภาพดินทุกเสี้ยววินาที ไม่มีหยุดพัก

และดินที่สมบูรณ์จะเป็นตัวเหนี่ยวนำดูดความชื้น และอุ้มความชื้นไว้ได้มากกว่าปกติ สิ่งมีชีวิตภายในดิน จึงยิ่งเจริญเติบโต

การปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบ, การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชคลุมดิน การนำฟางมาปูพรมให้ทั่ว จึงเป็น พฤติกรรม บำรุงดินให้สมบูรณ์ "เชิงรุก"

และการเผาสารพัดบนที่ดินนาไร่ใดๆ ก็ตาม นั่นก็คือ การทำลายชีวิตของแม่ธรณีให้ตายอย่างทรมาน

เป็นอาชญากรของความสมบูรณ์!

เป็นอนันตริยกรรมที่คาดไม่ถึง!


ผลิตปุ๋ยภายใน ๒๔ ชม. เรื่องจริงที่ไม่ใช่เคล็ดลับอะไร นั่นก็คืออุจจาระ- ปัสสาวะของคนเรา

เกษตรกรโบราณทำสิ่งนี้มานานแล้ว!

อุจจาระเป็นศูนย์รวมความหลากหลายของวิตามิน เพียงแค่อยู่ในร่างกาย ๒๔ ชั่วโมงก็สามารถนำไปใช้ได้

ร่างกายมนุษย์เป็นถังหมักชั้นดียิ่งกว่าถังหมักใดๆ และมนุษย์นี่แหละคือสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่ตัวโตที่สุด!

ปัสสาวะเป็นปุ๋ยน้ำที่พืชดื่มได้ทันที (instant)

มูลสัตว์เป็นแหล่งอาหารชั้นดีของพืช อีกอย่างหนึ่ง เพียงแต่ถ้าเป็นสัตว์เศรษฐกิจ มูลสัตว์เหล่านี้ มักจะปนเปื้อน สารเคมีมากไป ไม่เหมาะสมในการใช้งาน

อุจจาระทั้งหลายเมื่อทิ้งไว้นานพอสมควร ก็จะสลายกลายเป็นดินธรรมดาที่มีแร่ธาตุอาหารสมบูรณ์ ไม่มีเชื้อโรค ไม่สกปรกเหมือนอย่างที่ใครบางคนเข้าใจ

คนรังเกียจแต่พืชน้ำลายไหล!

หมายเหตุ การใช้อุจจาระปัสสาวะ ต้องผสมน้ำหลายเท่าเพื่อเจือจางความเข้มข้นของวิตามิน!

ส่วนการใช้สดหรือหมักเป็นรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ต้องกังวล ถึงไม่รู้ก็ไม่สำคัญ

แดดแรงๆ จะขจัดกลิ่นเหม็นได้ชะงัด

บทสรุป ความรู้เรื่องดินไม่ใช่ความคิดใหม่ แต่เป็นเรื่องปกติของบรรพบุรุษ ที่ถ่ายทอดกันมานานแสนนาน

สังคมชนบทเป็นสังคมไม่ใช้เงิน อะไรที่ทำเองได้ หาเองได้ จึงควรทำ

เงินแต่ละบาทของคนทำเกษตรหาไม่ง่าย ชีวิตที่ผูกพันกับการใช้เงิน จะทำให้เขา "พึ่งตน" ไม่สำเร็จ

เกษตรกรรมวันนี้ สาระอยู่ที่ "ฟื้นฟู พระแม่ธรณี"

เมื่อแม่แข็งแรง ลูกๆ ย่อมแข็งแรงตามไปด้วย

อาหารของพืชก็คือ สารอินทรีย์ที่ย่อยสลายแล้ว เศษใบไม้ใบหญ้า ใบสดใบแห้งนี่แหละ อาหารชั้นดี วิตามินครบถ้วน

ส่วนผสมนี้มีรำ-คายข้าวเข้ามาผสมในหลายๆ สำนักวิชาการ เหตุก็เพราะสิ่งเหล่านี้มีอณูเล็กละเอียด การสลายตัว เพื่อให้พืชเอาไปใช้ จึงใช้เวลาไม่นานนัก (อย่าลืมว่าพืชมีปากเล็กมาก)

คติก่อนจาก อัตตาหิ อัตตโน นาโถ
ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน


ภายใต้หลักเกณฑ์ "เศรษฐกิจพอเพียง-เศรษฐกิจพึ่งตน-เอาชีวิตแม่ธรณีกลับคืนมา"

๑. วัชพืชรกชัฏหลากหลาย เป็นอาหาร อันอุดมสมบูรณ์ เป็นโรงงานผลิตปุ๋ยตลอดนิรันดร ใช้เท่าไหร่ ไม่มีหมด

จะสร้างกี่โรงก็เรื่องของเรา ไม่ต้องมีงบประมาณก็สร้างได้


๒. ตัดกิ่งไม้ใบหญ้ามาทับถมรวมกัน นี่แหละอาหารยอดวิตามินของแม่ธรณี

อยากจะเร่งให้เร็วขึ้น ก็ใช้ดินโรยทับ ลงไป

เร็วกว่านี้ก็ต้องรดน้ำ

ปุ๋ยอินทรีย์ กระสอบละหลายร้อย มีเงินทองเหลือใช้หรืออย่างไร จึงชอบทำเกษตรมักง่ายด้วยการซื้อปุ๋ย


๓. ป่าชายเลน เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติของสัตว์น้ำ เรามาสร้างป่าชายเลนบนบกกันบ้าง

นำกิ่งไม้ใบหญ้ามาสุมๆ จะกองต่างหากหรือกองไว้ตามโคนต้นไม้ เราจะได้แหล่งอาหารของนกแมลง จุลินทรีย์เป็น "โรงบุญ" ของพวกเขา อดอยากก็มาแบ่งปันจากที่นี่ได้

ต้นไม้ก็พลอยร่มเย็น สุขสบาย แถมยังได้วิตามินเสริมอยู่รอบๆ โคนต้น


๔. ป่าน้อยในท้องไร่ท้องนา ซูเปอร์มาร์เก็ตของวงจรชีวิตธรรมชาติ

เอาแต่ถาง พื้นที่ให้โล่งเตียน แล้วชีวิตเล็กชีวิตน้อยจะไปอยู่ที่ไหน

เป็นสวัสดิการอันล้ำค่าให้พวกเขา


๕. พืชคลุมดินอาจดูรก แต่ แสนจะถูกใจแม่ธรณี

แผ่นดินร่มเย็น ชุ่มชื้น ความชื้นถูกดึงไว้ไม่ระเหยไปในอากาศเร็วเกินไป

แม่ธรณีนอน เป็นสุข ต้นไม้ก็เย็นใจ


๖. มีโอกาส มีเวลา พยายามคลุมดินไว้ มีฟางก็เอามาเกลี่ยกระจาย

มีขยะสดก็ใช้ได้ เกลี่ยกระจายคลุมด้วยฟางหมักแบบธรรมชาติ

ดินจะปรับสภาพค่อยๆ ฟื้น-แข็งแรง ปลูกอะไรก็งดงาม


๗. ต้นไม้ใหญ่น้อยเก็บไว้ ให้โรงงานผลิตปุ๋ยยั่งยืน กิ่งใบตัดมาทำปุ๋ยใช้ได้ตลอดปี

ต้นไม้บางพันธุ์แข็งแรง หาอาหารเก่ง ใบดก รากคล้ายพืชตระกูลถั่ว เช่น มะขามเทศ กระถิน ฯลฯ

วันนี้เราจะไม่เกลียดชังต้นไม้ที่มีหนามอีกต่อไป เพราะแม่ธรณีท่านชอบกิน!


 

๘. ต้นก้ามปู ไม้ยักษ์ที่ผลิตอาหารดินได้เยอะแยะ ๑ ต้น เท่ากับต้นไม้อื่นรวมกัน ๑๐ ต้น ปลูกไว้ได้ร่ม ได้ปุ๋ย แถมยังดูแลแม่ธรณีให้สุขภาพดี

อนึ่ง ปลูกต้นไม้มากๆ เราจะได้ความเย็นที่เรียกฝนมาตกได้อีก โพธิ์-ไทร-ไกร- กร่าง ไม้ใหญ่ที่คนไม่ชอบ ไม่ยุ่ง ไม่ทำลาย แต่หาอาหารเองเก่งที่สุดแม้ในภูเขาหิน

ปลูกล่อฝนกันดีไหม?


๙-๑๐. เศรษฐกิจพึ่งตน ต้องรู้จักพึ่งตัวเอง อยู่บนลำแข้งตัวเอง ไม่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ เราจึงจำเป็นต้อง ลดการใช้ "เงิน"

การปลูกไผ่ กล้วย ฯลฯ ถือเป็นพืชอเนกประสงค์ ทำข้าวของเครื่องใช้ได้สารพัด

คนชอบซื้อ-จับจ่าย ไม่ใช่วิสัยของเกษตรกรยั่งยืน


๑๑. รูปนี้เซ็นเซอร์ ปุ๋ยฟาสต์ฟู้ดชั้นหนึ่ง และเต็มไปด้วยวิตามิน นั่นก็คือของเสียจากร่างกายของเรา

จะมีใครเก่งไปกว่าโรงงานมนุษย์ที่เร่งหมักปุ๋ยอินทรีย์โดยใช้เวลาไม่เกิน ๒๔ ชม.

สิ่งที่มนุษย์รังเกียจ แท้จริงกลับมีประโยชน์มหาศาล

ฝึกทำใจสักนิด แล้วจะมีฤทธิ์ในการทำเกษตร!

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๙ พฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๔๘ -