คิดตามหนัง - ตระกูลหยาง - ขงจื๊อ ฉบับที่แล้วเล่าประวัติขงจื๊อตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยประมาณ ๓๐ ปี ตอนนั้นราชสำนักก็ได้ยินกิตติศัพท์
ของขงจื๊อแล้ว แต่ไม่กล้ารับเข้าไปเป็นขุนนาง เพราะมีขุนนางบางกลุ่มไม่ยอมรับ
เด็กหนุ่มที่ช่วยงาน อยู่ในบ้านของขงจื๊อ เสนอให้ตั้งสำนักขึ้นเปิดรับศิษย์มาอบรมให้มีความรู้
และตนเองก็สมัครเป็นศิษย์ทันที "ที่ข้าตั้งใจจะสอนพวกเจ้า เพราะข้ารู้ว่า คนอย่างพวกเจ้ากว่าจะได้เรียนรู้ มันไม่ใช่ของง่าย แต่ข้ามั่นใจว่า ถ้าพวกเจ้ามีความรู้ ก็จะเป็นกำลังของบ้านเมือง ฉะนั้นพวกเจ้าควรจะมีเป้าหมายและอุดมการณ์ แน่นอน ทุกคนอาจจะมีอุดมการณ์ที่ต่างกัน แต่เมื่อพวกเจ้ามีอุปสรรคใดๆ ก็ตาม ต้องยึดมั่น ตั้งใจเรียน ขอให้ทุกคน ยึดมั่นในอุดมการณ์" ในเรื่องไม่ได้บอกว่าขงจื๊อตั้งกติกาในการรับศิษย์ไว้อย่างไรบ้าง จนกระทั่งมีชายหนุ่มขาพิการคนหนึ่ง มาขอสมัครเป็นศิษย์ ขงจื๊ออธิบายให้ฟังอย่างสุภาพว่า คนที่มาเรียนล้วนเป็นคนในเมือง (อาจเป็นได้ว่า ขงจื๊อ เลี่ยงที่จะเอ่ยถึงความพิการ ว่าเป็นอุปสรรคในการเรียน หรืออาจเป็นได้ว่า คนบ้านนอก มาเรียน ร่วมกับคนในเมือง จะทำให้เกิดปัญหา ซึ่งก็เกิดจริงๆ ในเวลาต่อมา) ชายหนุ่มคนนั้นเสียใจมาก เดินผละไป โดยไม่ลา วันหนึ่งมีผู้กล้ามาท้าประลองธนูกับขงจื๊อ บอกว่าถ้าตนชนะ จะสอนพวกลูกศิษย์ของขงจื๊อเอง บรรดา ลูกศิษย์โกรธแทนอาจารย์ จะฮือเข้ามาทำร้าย ขงจื๊อห้ามไว้ บอกว่า "คนเรานั้นต้องรักษามารยาท ระงับอารมณ์ เมื่อเจอกับเหตุการณ์ ต้องมีสติ ตัดสินด้วยเหตุผล" ผลการประลอง ขงจื๊อชนะ ผู้แพ้บอกว่า "ข้าเลื่อมใสความรู้ความสามารถของเจ้า แต่วิธีการรับศิษย์ ของเจ้า ข้าไม่พอใจอย่างมาก การอบรมของเจ้าเมื่อครู่ ขายความรู้ ข้าไม่เข้าใจ การกระทำที่ดีนั้น ไม่ใช่ดีแต่พูด อย่างเดียว" ว่าแล้ว เขาก็ให้ชายหนุ่มพิการคนนั้น ขี่หลังจากไป นับแต่นั้นมา ขงจื๊อจึงไม่คัดเลือกศิษย์ เพราะเห็นแล้วว่าคนที่ถูกปฏิเสธ ผิดหวังเพียงใด เขาอธิบาย ให้ลูกศิษย์ฟังว่า "ฐานะคนเราแบ่งชนชั้นก็จริง แต่ความรู้ของคนเรา ไม่ใช่มาจำกัดที่ฐานะ ไม่ว่าใครก็ตาม ขอเพียง หมั่นศึกษา เมื่อมีความรู้ ก็สามารถรับใช้บ้านเมืองได้" แม้ว่าการมีศิษย์จำนวนมาก จะทำให้ต้อง เหน็ดเหนื่อยขึ้นก็ตาม "เพราะคนที่ได้รับการศึกษา ใช้ชีวิตมีระเบียบ บ้านเมืองจะสงบสุข สิ่งที่เป็นประโยชน์ คิดได้ แต่ไม่ปฏิบัติ ก็น่าเสียดาย ถึงจะเหน็ดเหนื่อยก็จริง แต่ก็คุ้มค่า" ชายหนุ่มที่ท้าประลองธนูกับขงจื๊อนั้นชื่อจ้งโหยว เขากับเพื่อนผู้พิการก็มาสมัครเป็นศิษย์ขงจื๊อด้วย นอกจาก จะสอนวิชาความรู้แล้ว ขงจื๊อยังดูแลกิริยามารยาท สอนจรรยาความประพฤติด้วย เมื่อขงจื๊อมีลูกศิษย์มากขึ้น บางคนในราชสำนักจึงเห็นว่าเป็นการทำผิดจารีต เพราะแต่เดิมนั้น คนต่ำศักดิ์ จะไม่มีโอกาส ได้รับการศึกษา การให้การศึกษาโดยไม่แบ่งชนชั้นนั้น ผิดต่อกฎราชสำนัก ต่อไป คนก็จะ ไม่สนใจ การศึกษาในราชสำนัก ยิ่งกว่านั้น ยังเกรงว่าต่อไปคนต้อยต่ำ ก็จะเข้ามาบริหารบ้านเมือง แทนผู้ทรงศักดิ์ คนกลุ่มนี้มีความเห็นว่า ควรให้ยุบสำนักของขงจื๊อ แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า ควรให้ดำเนินการต่อไป จะได้มีบุคลากรรับใช้ประเทศชาติ เจ้าแคว้นหลู่เอง ก็อยากให้มีคน เรียนกับขงจื๊อให้มากยิ่งขึ้น ในบรรดาศิษย์ของขงจื๊อนั้น มีสองพี่น้องผู้สูงศักดิ์จากตระกูลม่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในสามตระกูลคือ จี้ ม่ง ซู ที่ทรงอิทธิพล ในแคว้นหลู่ ครั้งหนึ่ง ม่งเหอจี้ ตอบคำถามอาจารย์ต่างจากจ้งโหยว ซึ่งเข้าเรียนช้า และแสดง ความรังเกียจจ้งโหยว จึงเกิดวิวาทกันขึ้น ขงจื๊อได้ขอให้เหอจี้ อย่าถือโทษจ้งโหยว ภายหลังเหตุการณ์นั้น มีลูกศิษย์คนหนึ่งบอกอาจารย์ว่า จ้งโหยวเข้าเรียนช้า เพราะไปล่าสัตว์เพื่อแลก ข้าวสารให้แม่ ขงจื๊อกับศิษย์จึงเอาข้าวสารมาให้แม่ของจ้งโหยวถึงบ้าน และได้พบว่า พ่อของเขา นอนป่วย ไปไหนไม่ได้ มาหลายปีแล้ว ขณะที่แม่ออกไปตามลูกชาย ศิษย์ที่ไปด้วยบอกความรู้สึก กับอาจารย์ว่า เหตุการณ์ วันนั้น เขาคิดว่าเหอจี้เป็นคนผิด อาจารย์จึงอธิบายว่า "สองพี่น้องตระกูลม่งเป็นผู้สูงศักดิ์ ยอมลดตัวมาเรียนก็นับว่าหายาก ถ้าให้เขาเสมอภาคกับพวกเรา มันคง เป็นไปไม่ได้หรอก คนเราอยู่ด้วยกัน ก็ควรแบ่งแยกชนชั้น มิเช่นนั้น ใครจะยำเกรงผู้ที่มาปกครอง บ้านเมืองเล่า" ขงจื๊อบอกว่ามาตามจ้งโหยวเพื่อขอโทษ และขอบคุณที่เขาทำให้รู้ว่า สุภาพชนมิเพียงแต่ต้องยึดมั่น กตัญญู ซื่อสัตย์ ยังต้องมีสติ รู้จักให้อภัยอีกด้วย เมื่อกลับมาเรียน จ้งโหยวแสดงความเคารพเหอจี้ และกล่าวคำขออภัย ยอมรับว่าตนเป็นคนผิด ขงจื๊อสอนศิษย์โดยการตั้งคำถามให้คิดและแสดงความรู้ความเห็น เมื่อบรรดาศิษย์ตอบคำถามแล้ว ขงจื๊อ ก็จะสรุปเป็นคำสอน เป็นต้นว่า "ฉะนั้น ต้องหมั่นดูการกระทำของตนเอง จะทำให้เข้าใจจุดบกพร่องของตนเองและปรับปรุงแก้ไข จึงจะสามารถ กลายเป็นสุภาพชน ที่มีผู้คนยกย่องและนับถือ เอาเป็นแบบอย่าง" "สุภาพชนต้องแสวงหาสิ่งดีงามตลอดเวลา สิ่งดีงามคือความสงบสุขของบ้านเมือง ชนชั้นวรรณะเป็นแค่ นามสมมติ ฐานะต่ำต้อยไม่ใช่เรื่องน่าอาย ถึงแม้จะเป็นผู้สูงศักดิ์ก็ไม่ควรยโสโอหัง" ครั้งหนึ่ง ขงจื๊อถามศิษย์ว่า "การเป็นสุภาพชนควรปฏิบัติอย่างไรถึงจะสมบูรณ์แบบ" ลูกศิษย์ตอบว่า "แยกแยะ ความดีความชั่ว เจอปัญหาต้องตัดสินด้วยเหตุผล" อาจารย์ถามต่อว่า "ตัดสินด้วยเหตุผล อย่างไร" "ด้วยความซื่อสัตย์ เที่ยงตรง ยุติธรรม รู้จักให้อภัย ควบคุมสติอารมณ์" ขงจื๊อเล่าเรื่องลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อหมินสุ่น เพื่อแสดงให้เห็นประโยชน์ของการให้อภัย เพราะหมินสุ่น ให้อภัยแม่เลี้ยง ในที่สุดก็ได้รับความรักจากครอบครัว แต่เดิม แม่เลี้ยงลำเอียง รักลูกสองคนของตัวเอง มากกว่า เสื้อที่เย็บให้หมินสุ่นกันหนาวไม่ได้ หมินสุ่นหนาวสั่น พ่อคิดว่าแกล้ง จึงตีหมินสุ่น จนเสื้อขาด พ่อโกรธแม่เลี้ยงมาก จะไล่แม่เลี้ยงไป หมินสุ่นขอร้องไว้ บอกว่าถ้าแม่อยู่ น้องสองคนก็ยังได้ ความอบอุ่น แต่ถ้าแม่ไม่อยู่ น้องสองคนก็จะต้องหนาว เหมือนตัวเองด้วย อาจารย์ให้ข้อสรุปเรื่องนี้ว่า "ทุกวันนี้ ทุกคนใช้ชีวิตแสนลำบาก ถ้าทุกคนรู้จักให้อภัยผู้อื่น ยับยั้งอารมณ์ ใช้สติแก้ปัญหา โลกมนุษย์ของเราก็คงจะมีสีสันขึ้นไม่น้อยทีเดียว ดังนั้นการยกโทษให้ผู้อื่น ควบคุม อารมณ์ของตน จึงจะสามารถเป็นสุภาพชนโดยแท้จริง ...ข้าเป็นอาจารย์ของพวกเจ้า ก็ควรจะเป็น แบบอย่างที่ดี ของพวกเจ้า ดังนั้น ข้าหวังว่า พวกเจ้าทุกคน หากได้เห็นข้อบกพร่องของข้า โปรดชี้แนะ ออกมาตรงๆ โดยไม่ต้องเกรงใจ ให้เหมือนอย่างจ้งโหยว" นับว่าเป็นบุญของจ้งโหยวที่มีอาจารย์ใจกว้าง มองว่าการที่ศิษย์โต้เถียง และตำหนิอาจารย์ หลายครั้งนั้น แสดงถึงความจริงใจ และความกล้าหาญของศิษย์ และจ้งโหยวก็ได้รับโอกาสให้รับใช้ใกล้ชิดอาจารย์ ตลอดมา จนแก่เฒ่า เมื่อขงจื๊อเกิดความคิดที่จะเดินทางไปเล่าเรียนกับเล่าจื๊อ ซึ่งเป็นผู้รอบรู้วัฒนธรรมประเพณี นั้นเป็นเพราะ "สายน้ำ ที่ใสสะอาด ก็เพราะน้ำไหลผ่านตลอด ถ้าน้ำหยุดนิ่ง น้ำใส ก็จะกลายเป็นน้ำขุ่น นานๆ เข้าก็จะเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว" จ้งโหยวเป็นคนขับรถม้าพาอาจารย์ไป โดยมีหนานกงต้าฝู เดินทางไปด้วย ขงจื๊อพบเล่าจื๊อโดยบังเอิญ ขณะที่เล่าจื๊อขี่ควายหันหลัง เหมือนจะให้ข้อคิดแก่ขงจื๊อ แต่ไม่ได้พูด เพียงแต่บอกทาง ให้ไปพบเล่าจื๊อ วันรุ่งขึ้น ขงจื๊อ หนานกงต้าฝู และจ้งโหยว ไปพบเล่าจื๊อที่บ้าน มีการมอบของที่ระลึก ทำความเคารพ และหลั่งน้ำ รดแผ่นดิน หลังจากนั้น เล่าจื๊อก็ให้เด็กพาทั้งสามคนไปศึกษาภาพวาดในบ้าน ขงจื๊อเรียนรู้ด้วยตนเองด้วยวิธีสัมผัสกับสิ่งรอบตัว เป็นเวลานานถึง ๓ เดือน กว่าจะได้พบเล่าจื๊อ เล่าจื๊อ บอกว่า ที่ผ่านมา มีคนมาหาเสมอ แต่ขาดความอดทน และยังบอกอีกด้วยว่า เมื่อก่อนตนก็เลื่อมใส กฎโจวกุง แต่ต่อมาเปลี่ยนใจ เพราะแม่น้ำไม่สามารถไหลทวนกลับได้ มันได้แต่ไหลไปตามทิศทางเก่า ของมันเท่านั้น เล่าจื๊อบอกเล่าความคิดเห็นของตนให้ขงจื๊อฟังว่า "ความวุ่นวายเกิดจากใจ แต่ใจคนนั้น มันลึกลับซับซ้อน ทำไมความวุ่นวายจึงเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย ก็เพราะว่า ใจของแต่ละคน ต้องการความเป็นอิสระเสรี กฎของโจวกุงมีข้อบังคับในการใช้ชีวิต ใช้ได้ ในยุคเวลาอันสั้น แต่ยุคต่อๆ มา ก็ได้มีการพัฒนามากขึ้น จนที่สุดก็ไม่สามารถบังคับใจคนได้ เพราะว่า คนเราต้องการใช้ชีวิตธรรมชาติ ไม่อยากผูกมัดเหมือนนกที่ถูกขังอยู่ในกรง ในเมื่อจักรวาลเป็นผู้สร้างมนุษย์ ให้เกิดขึ้น เราจึงควรปล่อยวาง ให้มันเป็นไปตามครรลองของชีวิตบ้าง อย่าไปบังคับตามแบบของกฎที่มนุษย์ ตั้งขึ้นมาเอง ซึ่งมันก็ขัดต่อความมีเสรีภาพของวิถีชีวิตของเรา จึงไม่ควรอย่างยิ่ง ที่จะรื้อฟื้นกฎของโจวกุง มาใช้บังคับ อีกต่อไป กฎของโจวกุง มีข้อบังคับหลายอย่าง ที่บางคนไม่อยากทำตาม สามารถใช้ได้ในยุคนั้น เพราะตอนนั้น ยังด้อยการพัฒนาอยู่มาก เพื่อให้บ้านเมืองมีระเบียบ ก็ควรจะมี (กฎ) บ้าง แต่มายุคนี้ มีการพัฒนาขึ้นไปอีก ดังนั้น เราควรจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติมากขึ้น" เล่าจื๊อเป็นผู้สูงวัยกว่า ย่อมผ่านประสบการณ์ชีวิตมามาก จึงรู้จักปล่อยวาง สำหรับขงจื๊อ ยังมีอีกหลายสิ่ง ที่ต้องศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมโลกีย์อย่างที่ว่ากันว่า "ดีเกินไปก็อยู่ไม่ได้" ส่วนขงจื๊อเห็นว่ามนุษย์มีกิเลส กฎเกณฑ์ที่ตั้งมาให้ประชาชนปฏิบัตินั้นขาดไม่ได้ เล่าจื๊อสรุปว่า "มีดินก็ต้องมีฟ้า มีหญิงก็ต้องมีชาย มีเล่าจื๊อก็ต้องมีขงจื๊อ ระหว่างเราถึงจะโต้เถียงกัน ก็ไร้ประโยชน์ คงต้องต่างเดินสายของตัวเอง" นักปราชญ์แม้จะคิดเห็นต่างกัน ก็ยังเคารพกัน เล่าจื๊อถึงกับเอ่ยปากกับขงจื๊อว่า "ท่านเป็นมิตรสหาย ที่หายากจริงๆ" ขณะที่ขงจื๊อกำลังเดินทางกลับแคว้นหลู่ นั้น สามตระกูลแห่งแคว้นหลู่ก็ถูกวางแผนกำจัด ฟู่จ้าโหมว ยุยงให้ฮ่องเต้ กำจัดตระกูลจี้ก่อน และจะกำจัดตระกูลม่งและซูต่อไป แต่แผนการณ์ไม่สำเร็จ ตระกูลม่ง และตระกูลซู มาช่วยตระกูลจี้ได้ทันเวลา เจ้าแคว้นหลู่จึงออกจากแคว้นหลู่ไปอยู่ที่แคว้นฉี แม้ว่าทั้ง สามตระกูล จะกราบทูลขอร้องให้ประทับอยู่ในแคว้นหลู่ต่อไป เพื่อเป็นกำลังใจให้เหล่าประชา ทั้งสามตระกูลแสดงความจงรักภักดี โดยไม่แต่งตั้งฮ่องเต้องค์ใหม่ จี้ต้าฝูเข้าพบขงจื๊อ เพื่อขอให้ช่วย ปลอบขวัญประชาชน แต่ขงจื๊อกลับเห็นเป็นความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปแคว้นฉี เพื่อหาทางช่วยเหลือ เจ้าแคว้นหลู่ บรรดาศิษย์ขอติดตามไปด้วย ขงจื๊อ อ้างว่าแต่ละคนมีครอบครัวต้องดูแล แต่เมื่อ ถูกถามว่า ท่านก็มีครอบครัวมิใช่หรือ ขงจื๊อจึง ยอมให้ลูกศิษย์ตามไปด้วยหลายคน ระหว่างทาง เจอกลุ่มคนเล่นดนตรีฉาวเย่ ซึ่งเป็นบทเพลงที่ปกติจะบรรเลงแต่ในราชสำนัก ขงจื๊อ ให้จ้งโหยว จอดรถ เข้าไปทักทาย แต่ก็ได้รับคำตอบเพียงว่า เมื่อเข้าเมืองฉีแล้ว ก็จะรู้เองว่า ทำไมจึงต้องมา บรรเลง เพลงฉาวเย่ ตามถนนหนทางเช่นนี้ เมื่อถึงเมืองฉี ขงจื๊อพาลูกศิษย์ไปชมตลาด "เพื่อดูความเจริญของบ้านเมือง พูดคุยกับประชาชน จะได้รู้ ความเป็นไปของบ้านเมือง" ที่ตลาดนั้นเอง ขงจื๊อได้เห็นประชาชน โห่ร้องต้อนรับเฉินต้าฝู ชาวบ้าน อธิบายว่า เพราะเฉินต้าฝูแจกข้าวสารให้ประชาชนอยู่เสมอ จึงได้รับความนิยม ขงจื๊อเข้าพบเกาต้าฝู ซึ่งเป็นคนสนิทของ เจ้าแคว้นฉี เกาต้าฝูชักชวนให้จงจื๊อทำงานให้ ในตำแหน่ง ที่ปรึกษา จ้งโหยวเห็นว่าไม่สมฐานะ ของขงจื๊อซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียง มีความสามารถ เป็นที่รับรู้กันทั่วไป แล้วในเวลานั้น แต่ขงจื๊อ เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ช่วยเจ้าแคว้นหลู่ ให้เดินทางกลับบ้านเมือง จึงยอม รับตำแหน่ง เจ้าแคว้นฉีจัดงานเลี้ยงต้อนรับขงจื๊อ และกล่าวชมเชยขงจื๊อว่าเมื่อครั้งที่เสด็จไป แคว้นหลู่ได้รับความรู้ ด้านการปกครองจากขงจื๊อ จึงอยากให้ขงจื๊อพูดเรื่องการปกครองให้ฟังอีก หลังจากออกตัวขอโทษหากคำกล่าวผิดพลาดแล้ว ขงจื๊อก็เอ่ยขึ้นว่า "การปกครองที่สำคัญนั้นคือการอยู่ในกรอบ ให้ราษฎรเคร่งครัดในกฎบ้านเมือง ปฏิบัติตามธรรมเนียม ประเพณี ให้รู้จักฐานะหน้าที่ของตนเป็นที่ตั้ง ถ้าทุกคนปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง ความสงบสุขก็เกิดขึ้น" ที่แคว้นฉี ก็เช่นเดียวกับแคว้นหลู่ มีทั้งผู้ที่เห็นว่าควรและไม่ควรรับขงจื๊อเข้าทำงานในราชสำนัก บางคน ก็ไม่อยากให้ขงจื๊อ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแก่งแย่งชิงดีระหว่าง ตระกูลเกาและตระกูลฉี ไม่อยาก ให้ขงจื๊อถูกทำร้าย ขงจื๊อจะใช้ชีวิตอย่างไรในแคว้นฉี เราท่านอาจจะคิดต่างๆ กันไปว่า ขงจื๊อน่าจะทำอย่างนั้น น่าจะทำ อย่างนี้ จะอย่างไรก็ตาม ขงจื๊อแสดงปณิธานไว้กับลูกศิษย์ที่ร่วมเดินทางไปแคว้นฉีว่า "แม่น้ำที่หลั่งไหลเปรียบเสมือนการปฏิบัติตน สายน้ำที่ไหลผ่าน ทำให้เกิดการมีชีวิตแก่ทุกสรรพสิ่ง เปรียบเสมือนคุณธรรมที่ถึงแม้เส้นทางจะคดเคี้ยว แต่ก็มุ่งสู่จุดหมาย เปรียบเสมือนอุดมการณ์ ถึงจะเผชิญกับหุบเขาสูงชัน ก็ไม่หวั่น เปรียบเหมือนความกล้าหาญ สายน้ำที่สงบนิ่ง ก็เปรียบเสมือนหลักธรรม เพราะฉะนั้นคนเราจึงควรปฏิบัติตนเหมือนดั่งสายน้ำที่ให้คุณประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ทั้งหลาย" - ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๙ พฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๔๘ - |