ภูมิคุ้มกันวัฒนธรรมบกพร่อง
ไม่แปลกใจที่สำนักข่าวต่างประเทศประโคมข่าวเมืองไทยว่า "เทศกาลสงกรานต์" ผิดเพี้ยน เพราะภาพ สงครามน้ำ ดื่มกินเมามัน เกิดอุบัติเหตุคนตายนับพัน โดยไม่รู้ว่า "เนื้อนาบุญ" ประเพณีสงกรานต์ที่แท้จริง เป็นอย่างไร จนนายกรัฐมนตรีเป็นห่วง ต้องสั่งการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) หามาตรการฟื้นฟูรณรงค์ ให้เด็กไทยเล่นสงกรานต์อย่างถูกวิธี และหาทางป้องกันไม่ให้สิ่งที่ดีงามสูญหายไปจากสังคมไทย ว่ากันว่าภาพสะท้อนจากประเพณีสงกรานต์ไม่ใช่ "ภาพแรก" ที่สะท้อน ตัวตนปัจจุบันของวัยรุ่นไทย ที่รับเอา วัฒนธรรมนอก ทั้งการแต่งกาย สายเดี่ยว เอวต่ำ หากแต่รวมไปถึงวัฒนธรรมการกินอาหารฟาสต์ฟู้ด ต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่า "เด็กไทยกำลังเปลี่ยนไป" ในทางที่น่าเป็นห่วง ชัดเจนว่า "วันรุ่นไทย" ถอยห่างจากวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของไทยมากขึ้น จาก "งานวันมาฆบูชา" ที่เงียบเหงา และที่น่าตกใจที่สุดก็คือเมื่อสถิติกระทรวงมหาดไทยระบุว่าครอบครัวคนไทย ๖๐-๗๐% ไม่เคย เข้าวัด ทั้งๆ ที่เกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเรื่องความจำเป็นพื้นฐานในชีวิตคนไทย ให้พ่อแม่ พาลูกเข้าวัด อย่างน้อยเดือนละ ๒ ครั้ง ขณะที่ผลสำรวจเด็กและเยาวชนอายุ ๕-๒๕ ปี ประมาณ ๒๑ ล้านคนของสถาบันรามจิตติ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย พบว่าเด็กไทยอยู่บนความแปลกแยกจากศาสนาและครอบครัว ร้อยละ ๖๐ โตในห้าง ดูภาพยนตร์ กินฟาสต์ฟู้ด ตกอยู่ในห้วงวัฒนธรรมกิน ดื่ม ช็อป มีเงินซื้อขนมปีละ ๑.๖ แสนล้านบาท มากกว่างบประมาณ ๖ กระทรวง รวมกัน โหยหาสินค้าฟุ่มเฟือย โทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้า รองเท้า นาฬิกา น้ำหอม และมีเสรี ในการแสดงออกทางเพศ นับวันสังคมไทยยิ่งไร้ศีลธรรม มีข่าวฆ่าแกงกันไม่เว้นแต่ละวัน หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ อนาคต ของบุญประเพณี วิถีชีวิตไทยๆ ที่เราฝากไว้กับเด็กและเยาวชนนั้นคงต้องเสื่อมสลายไป ในอนาคตอันใกล้ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ปลัด วธ. วิเคราะห์ว่าต้นเหตุของปัญหาเกิดจากความก้าวหน้าทาง เทคโนโลยี ยุคข้อมูลข่าวสาร การไหลบ่าของค่านิยม ประเพณี วัฒนธรรมด้านลบของประเทศตะวันตก อย่างรวดเร็ว จนไม่ทัน ให้เด็กไทย คิดไตร่ตรอง "เด็กไทยทุกวันนี้เป็นโรคภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรมบกพร่อง ไร้จิตวิญญาณและภูมิปัญญา ที่จะเลือกรับ สิ่งดีงาม แถมอยู่ในสังคมบริโภคนิยม กินฟาสต์ฟู้ด พ่อแม่สอนลูกให้สบาย ไม่รู้จักการแก้ปัญหา เมื่อท้อง แล้วทำแท้งทิ้ง เด็กจึงเป็นเพียงเหยื่อที่ถูกกระทำโดยผู้ใหญ่ที่เห็นแก่เงิน ทำธุรกิจแบบเห็นแก่ตัว เป็นเจ้าของ โรงแรม ร้านเกมปล่อยเด็กเข้าไปมั่วสุม ถามว่าวันนี้ผู้ใหญ่ได้สร้างสังคมที่ดีให้ลูกหลานหรือยัง" ปลัด วธ. กล่าว ทางออกของเรื่องนี้ "แม่บ้านวัฒนธรรม" บอกว่า ต้องเริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องช่วยกัน สั่งสอนบุตรหลานให้รู้จักวัฒนธรมประเพณีไทย ชี้แนะให้รู้จักเลือกรับวัฒนธรรม ต่างประเทศ สถาบันการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย จะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรที่สร้างกระบวนการคิด ไตร่ตรอง สร้างภูมิปัญญา ให้นักเรียน นักศึกษา ส่วนกระทรวงวัฒนธรรมเองจะมุ่งทำงานวิจัย เปิดเวทีให้เด็กเสนอทางออกนำไปเสนอรัฐบาล แก้ปัญหา รวมถึงคอยเป็น "ตัวกลาง" ประสานระหว่างวัดวาอาราม จัดกิจกรรมส่งเสริมเด็กเข้าวัด ร่วมมือกับ กระทรวงศึกษาธิการ จัดทำหลักสูตรวัฒนธรรมสอนในโรงเรียน เปิดโอกาสให้เด็ก เข้าร่วมโครงการ เยาวชน อาสาสมัครเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม (ยอสว.) ช่วยกันสอดส่องดูแลวัฒนธรรมที่เบี่ยงเบน เมื่อพบเห็น การซื้อขาย สื่อลามก เด็กมั่วสุมในร้านเกม อินเทอร์เน็ต แล้วรายงานมายังกลุ่มเฝ้าระวังทาง วัฒนธรรม ประสาน หน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ไขให้ทันท่วงที รศ.ดร.อมรวิชช์ นาครธรรพ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอทางออก ในการ แก้ปัญหา เด็กไทยในวิกฤติวัฒนธรรม ๓ ยุทธศาสตร์ คือ งานที่เคลื่อนด้วยเด็กต้องใช้วิธี "เด็กนำ เราหนุน" งานที่เคลื่อนด้วยวิธีคิดแบบ พหุภาคียุทธศาสตร์ สร้างแนวร่วมและพื้นที่การทำงาน ระหว่างกระทรวง หน่วยงาน โดยไม่ทับซ้อน พร้อมกับงานที่ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลภายใต้ระบบเฝ้าระวังเชิงนโยบาย ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๘ ยกให้ปี ๒๕๔๘ เป็น "ปีแห่งการส่งเสริมคุณค่า วัฒนธรรมไทย" เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระชนมพรรษา ครบ ๕๐ พรรษา นับเป็นโอกาสที่ดีที่กระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันฝนยาหม้อใหญ่เป็น "วัคซีน" รักษา โรคภูมิคุ้มกันวัฒนธรรมบกพร่องเด็กไทยให้บรรเทาเบาบางลง หาไม่แล้วอาจจะต้อง เสียดายเวลา อย่างไม่มีทาง เอากลับมาได้ เมื่อเด็กไทย ตกเป็นทาสของวัฒนธรรมนอกทั้งตัวและหัวใจ * จาก นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓ พ.ค.'๔๘ - ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๙ พฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๔๘ -
|