สอนตนสร้างคน (ชนสันธชาดก) กาลครั้งหนึ่ง พระเจ้าโกศลซึ่งมีอำนาจมาก ทรงมัวเมาด้วยอิสริยยศ หมกมุ่นเพลิดเพลินอยู่ในความสุข ที่เกิด แต่กิเลส ทรงไม่ปรารถนาประกอบราชภารกิจ ไม่ตัดสินคดี แม้การไปเยี่ยมเยียนบำรุงพระพุทธเจ้า ก็ทรงลืมเลือนเสีย วันหนึ่ง ขณะตื่นจากบรรทมแล้ว จิตใจเบิกบานแจ่มใส ทรงได้สติระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงดำริว่า "นานแล้วที่เรามิได้พบเห็นพระบรมศาสดา วันนี้เห็นทีจะต้องไปถวายบังคมพระพุทธองค์ให้ได้" พอเสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ก็เสด็จขึ้นพระราชยานไปยังพระวิหาร เมื่อถึงแล้วก็ไปถวายบังคม พระศาสดา แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควร พระศาสดาจึงตรัสถามว่า "มหาบพิตร คราวนี้นานไม่น้อยทีเดียว ที่พระองค์มิได้เสด็จมา นั่นเพราะเหตุใดกันเล่า" พระเจ้าโกศลทรงอ้อมแอ้มทูลว่า "เพราะข้าพระองค์มีราชกิจมาก ไม่มีโอกาสที่จะมาเข้าเฝ้าพระองค์ได้" พระศาสดาทรงเห็นอาการเช่นนั้น ก็ตรัสว่า "มหาบพิตร เมื่อตถาคตผู้เป็นสัพพัญญู(ผู้รู้แจ้งทุกสิ่ง) ผู้ให้คำกล่าวสอนเช่นเราอยู่ในวิหารที่ใกล้ๆแค่นี้ ไม่ควรเลยที่พระองค์จะประมาท เพราะวิสัยของพระราชาที่ดีนั้นต้องไม่ประมาทในราชกิจทั้งหลาย ต้องดำรงพระองค์ เสมอด้วยมารดาบิดาของชาวแว่นแคว้น ต้องละอคติทั้งปวง ครองราชย์โดย ทศพิธ ราชธรรม จึงจะควร เพราะเมื่อพระราชาประพฤติธรรม แม้บริษัทของพระองค์ก็จะประพฤติธรรมตาม ข้อที่เมื่อเราตถาคตสั่งสอนอยู่ แล้วพระองค์ครองราชย์โดยธรรมได้นั้น ไม่น่าอัศจรรย์นัก เทียบไม่ได้กับ บัณฑิต ในกาลก่อน แม้ไม่มีอาจารย์สั่งสอน ก็ยังตั้งอยู่ได้ในสุจริตธรรม แล้วแสดงธรรมตามความรู้ของตน พามหาชน ไปสวรรค์ได้ นั่นน่าอัศจรรย์ยิ่ง" พระเจ้าโกศลทูลอาราธนาให้ตรัสเรื่องราวนั้น พระพุทธองค์จึงทรงนำอดีตชาดกมาตรัสเล่า ************ ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระอัครมเหสี ทรงประสูติ พระโอรส พระญาติทั้งหลายได้ถวายพระนามว่า ชนสันธกุมาร ครั้นเมื่อพระกุมารทรงเจริญวัย ได้เล่าเรียนศิลปวิทยาทั้งหลายสำเร็จ กลับจากเมืองตักสิลาแล้ว พระราชา ทรงมีรับสั่งให้ชำระเรือนจำทั้งหมดให้สะอาด ประกาศพระราชทานตำแหน่งอุปราชให้ ต่อมา เมื่อพระเจ้าพรหมทัตราชบิดาสวรรคตแล้ว พระเจ้าชนสันธราชจึงได้ครองราชย์แทน แล้วรับสั่ง ให้สร้างโรงทานหกแห่ง คือที่ประตูพระนครทั้งสี่ด้าน ที่กลางพระนครและที่ประตูพระราชวัง บริจาค พระราชทรัพย์ วันละหกแสน ทรงบำเพ็ญมหาทานจนลือกระฉ่อนไปทั่วชมพูทวีป แล้วยังรับสั่งให้อภัยโทษ เปิดเรือนจำอยู่เป็นนิจ ทั้งตีฆ้องป่าวร้องให้มาฟังธรรม ทรงสงเคราะห์โลกด้วย สังคหวัตถุสี่ (๑. ทาน คือ การให้ ๒. ปิยวาจา คือ เจรจาคำน่ารัก ๓. อัตถจริยา คือ ประพฤติประโยชน์ ๔. สมานัตตตา คือ ทำตัวให้เข้าใจกันได้) ชักชวนผู้คนให้รักษาศีลห้า และ ให้อยู่ จำอุโบสถ (ถือศีลแปด) ในวันพระ บางคราวก็ให้ชาวแว่นแคว้นมาประชุมกัน แล้วทรงแสดงธรรม อบรมสั่งสอนว่า "ท่านทั้งหลายจงให้ทาน จงสมาทานศีล จงประพฤติธรรม จงประกอบการงานและการค้าขาย โดยธรรม หากเป็นเด็กอยู่ ก็จงเรียนศิลปวิทยา โตแล้วจงแสวงหาทรัพย์ แต่อย่าคดโกงชาวบ้าน อย่าพูดจา ทำความ ส่อเสียด อย่าเป็นคนดุร้ายหยาบช้า และจงรู้จักบำรุงมารดาบิดา มีความเคารพอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่" พระองค์ได้ทำมหาชนให้ตั้งอยู่ในสุจริตธรรม ทรงครองราชสมบัติโดยธรรมดังนี้ อยู่มาวันหนึ่ง ซึ่งเป็นวันปัณรสีอุโบสถ(วันพระ ๑๕ ค่ำ) พระเจ้าชนสันธราชทรงสมาทานอุโบสถศีลแล้ว ทรงดำริว่า "วันนี้เราน่าจะบอกสอนธรรมแก่หมู่มหาชนทั้งหลาย เพื่อเกิดประโยชน์สุขยิ่งๆขึ้น เพื่อให้ชนทั้งปวง อยู่ด้วย ความไม่ประมาท" จึงรับสั่งให้ตีกลองประกาศทั่วพระนคร เรียกชาวพระนครทั้งหมด ตั้งแต่พระสนมของพระองค์ กระทั่งถึง ชาวเมืองยากจนเข็ญใจ จากทั่วสารทิศ ให้มาประชุมกัน ณ ท้องพระลานหลวง แล้วพระองค์ก็ประทับนั่ง บนบัลลังก์ อันประเสริฐ ตรัสกับมหาชนว่า "ชาวพระนครที่รักทั้งหลาย เราจะสอนธรรมแก่พวกท่าน ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาท เงี่ยโสต สดับ โดยเคารพเถิดว่า เหตุที่จะทำให้จิตเดือดร้อนนั้น มีอยู่ ๑๐ ประการ คือ ๑. บุคคลเมื่อยังเป็นหนุ่ม ไม่พยายามทำทรัพย์ให้เกิดขั้น ครั้นแก่ตัวลงหาทรัพย์ไม่ไหว ย่อมเดือดร้อนใจ ในภายหลังว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้แสวงหาทรัพย์ไว้ ๒. ศิลปะที่สมควรแก่ตน บุคคลใดไม่ได้ศึกษาไว้ในกาลก่อน ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลังว่า เราไม่ได้ศึกษาศิลปะเอาไว้ก่อน เมื่อไม่มีศิลปะย่อมเลี้ยงชีพลำบาก ๓. บุคคลใดเป็นคนโกง ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลังว่า ก็เพราะเราเป็นคนโกงมาก่อน ส่อเสียดมาก่อน กินสินบน มาก่อน ดุร้ายและหยาบคายมาก่อนนั้นเอง ๔. บุคคลใดเป็นคนฆ่าสัตว์ ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลังว่า ก็เพราะเราเป็นคนหยาบช้าฆ่าสัตว์มาก่อน ทุศีล ประพฤติต่ำช้ามาก่อน ปราศจากขันติและเมตตาเอ็นดูสัตว์มาก่อน ๕. บุคคลใดเป็นคนคบชู้ในภรรยาผู้อื่น ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลังว่า หญิงที่ไม่มีใครหวงแหนก็มีอยู่ เป็นอันมาก เราไม่ควรที่จะไปคบหาภรรยาของผู้อื่น ๖. บุคคลใดเป็นคนตระหนี่ ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลังว่า เมื่อก่อนข้าวและน้ำของเราก็มีอยู่มากมาย แต่เรา ก็มิได้ให้ทานไว้เลย ๗. บุคคลผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลังว่า เมื่อก่อนเราสามารถพอที่จะ เลี้ยงดู มารดา บิดาผู้แก่เฒ่าชราได้ แต่ก็มิได้เลี้ยงดูท่าน ๘. บุคคลผู้ไม่ทำตามโอวาทบิดา ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลังว่า เรานี้เมื่อก่อนได้ดูหมิ่นบิดา ผู้เป็นอาจารย์ สั่งสอน อันเป็นผู้นำรสที่เราต้องการทุกอย่างมาเลี้ยงดูเรา ๙. บุคคลผู้ไม่เข้าใกล้สมณพราหมณ์ ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลังว่า เป็นเพราะเมื่อก่อนนี้ เราไม่ได้ไปมา หาสู่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้มีศีล เป็นพหูสูต (ผู้ศึกษามาก)เลย ๑๐. บุคคลใดไม่ประพฤติสุจริตธรรม ไม่เข้าไปนั่งใกล้สัตบุรุษ(คนมีศีลสัมมาทิฐิ) ย่อมเดือดร้อนใจ ในภายหลังว่า เมื่อก่อนนี้เราไม่ได้ประพฤติสุจริตธรรมไว้เลย และสัตบุรุษนั้นเราก็ไม่ได้ไปมาหาสู่ท่าน ผู้ใดหากปฏิบัติเหตุทั้ง ๑๐ ประการนี้ โดยอุบายอันแยบคายแล้ว เมื่อผู้นั้นกระทำกิจที่บุรุษควรทำเอา ไว้ก่อน ย่อมไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง อย่างแน่นอน" พระเจ้าชนสันธราชทรงสอนธรรม แม้โดยทำนองนี้แก่หมู่มหาชนทุกๆครึ่งเดือน ชนทั้งหลายก็เชื่อฟัง ตั้งอยู่ ในคำสอน ของพระองค์ ประพฤติบำเพ็ญธรรมเหล่านั้นให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ แล้วได้ไปสวรรค์ ตามผลบุญ ของตน ************ พระศาสดาทรงนำชาดกนี้มาแสดงจบแล้ว ก็ตรัสว่า "มหาชนในครั้งนั้น ได้มาเป็นพุทธบริษัทในครั้งนี้ ส่วนพระเจ้าชนสันธราชได้มาเป็นเราตถาคต" - ณวมพุทธ
- - ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๙ พฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๔๘ - |