- อุบาสก ชอบทำทาน -
สิ่งที่ต้องเชื่อไว้ก่อน ประทับใจภาพยนตร์เก่าแก่เรื่อง "บัญญัติ ๑๐ ประการ" การแสดงเหมือนจริงและยิ่งใหญ่มากทีเดียวครับ บนยอดเขา พระเจ้าได้ถ่ายทอดหน้าที่ ๑๐ ประการของมนุษย์ลงบนก้อนหิน ให้โมเสสนำไปบอกพวกเขา ครับ มนุษย์อาจจะเก่งวิเศษวิโส แต่ก็ต้องมี "เสาหลัก" ของชีวิต "เสาหลัก" เปรียบประดุจเกาะกลางมหาสมุทรวัฏสงสาร ที่แม้เราจะว่ายวนเวียนไม่ถึงฝั่ง แต่เราก็ยังได้อาศัยเป็นฐานพักคลายความเหน็ดเหนื่อย เกาะกลางมหาสมุทร เป็นกติกา เป็นข้อตกลงของมนุษย์กับธรรมชาติ เพื่อจะได้ไม่ "เจ็บ" จนเกินไป จึงประดุจยาวิเศษที่จะหล่อเลี้ยงให้เราไม่ทุกข์ทนหม่นหมองจนเกินไป ทั้งจากการทำร้ายตัวเองและทำร้ายคนอื่น และให้เรามีกำลังใจที่จะเดินทางต่อไปและต่อไป เสาหลักของศาสนาเทวนิยม คือ เชื่อมั่นในพระเจ้า ชีวิตก็จะอบอุ่นขึ้น ส่วนเสาหลักของศาสนาอเทวนิยม คือการเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม ทำดี-ได้ดี ทำชั่ว-ได้ชั่ว ดี-ชั่ว ล้วนเป็นผลจากการกระทำของเรา ไม่มีใครมาดลบันดาลกลั่นแกล้ง กฎแห่งกรรมท่านทรงความบริสุทธิ์ ยุติธรรมตลอดกาลนาน ไม่เปลี่ยนแปลง ความจริงแล้ว หลักของกฎแห่งกรรมเป็นหลักร่วมของทุกศาสนา ข้อความที่กล่าวว่า "พระเจ้าจะทรงช่วยคนที่ช่วยตัวเองก่อน" ก็มีนัยว่า เจ้าตัวต้องกระทำก่อน จึงจะมีสิทธิ์ได้รางวัล "ทำไมฉันต้องทำดี" เป็นคำถาม ของคนที่รู้น้อยและรู้มากเกินไปตั้งขึ้นมา! ความจริงแล้ว "ความดี" มนุษย์เรียนรู้จากความต้องการของตัวเอง เมื่อตัวเองไม่อยากให้ใครทำอะไรกับเรา เราก็ไม่ควรกระทำอย่างนั้นกับเขา การเรียนรู้ความต้องการของตัวเอง ก่อเกิดเป็นคุณธรรมประจำตนที่ค่อยๆ ติดตัวมนุษย์มาเรื่อยๆ เรียกว่า "ศีล" วันนี้เกิดป็นคนจึงต้องทำดี คนเห็นแก่ตัวก็คือคนเอาแต่ได้ ทำกับคนอื่นอย่างหนึ่ง และทำกับตัวเองอีกอย่างหนึ่ง สิทธิการิยา ท่านว่า คนพันธุ์นี้ห้ามคบ เป็นกาลกิณี ! กฎแห่งกรรมคือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ใครไม่เชื่อก็แปลว่า ทำดีอาจไม่ได้ดี ทำชั่วอาจได้ดี ใครเลือกอยู่พรรคไหนก็ขอเชิญ สมัครเป็นสมาชิก! You are what you think เธอจะเป็นในสิ่งที่เธอคิด นี้คือทฤษฎีที่กำหนดบทบาทของชีวิตอันแสนยิ่งใหญ่ ถ้าไม่เชื่อกฎแห่งกรรม ตัวเราเองต่างหากที่จะโชคร้ายที่สุด แสนสับสนยุ่งเหยิง และอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ทั่วไป อยากได้ดีต้องทำชั่ว หรืออยากได้ชั่วต้องทำดี ยิ่งคิดก็ยิ่งปวดหัว ! คิดแบบนี้จะอยู่กับใครเขาได้ ? สรุปแล้ว กติกาชีวิต หรือข้อตกลงของชีวิตก่อนเข้าสู่สมรภูมิ จะต้องเคารพกติกาว่า ๑ ศรัทธาในกฎแห่งกรรม ๒ ชีวิตเกิดมาเพื่อทำแต่ความดี และ ๓ ชีวิตนี้สุข-ทุกข์ไม่มี มีแต่ทุกข์น้อยกับทุกข์มาก ความเชื่อข้อที่ ๓ เพื่อชีวิตจะได้มีเบรค ไม่กลายเป็นนักบริโภคนิยม หรือวัตถุนิยม จี๋จ๋า ทำไมไม่แปลกใจกันบ้างเลยว่า พระสูตรบทแรกที่พระพุทธองค์ทรงสอนโลกมนุษย์ก็คือ 'ธัมมจักกัปปวตนสูตร' ที่ว่าด้วยความสุดโต่งของโลกมนุษย์ ระหว่างการทรมานตนกับการบำเรอตน ! ศาสนาพุทธสอนว่า ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เราจึงเป็นศาสนาที่ถูกมองว่า มองโลกในแง่ร้าย ! พุทธธรรมกำมือเดียวนั้น บอกให้ลด ละ เลิก ความเป็นสวรรค์ ตั้งแต่ อบายมุข - กามคุณ - โลกธรรม ๘ และสุดท้ายแม้แต่โลกแห่งอัตตาตัวตน ความเชื่อที่ ๓ จึงเป็นความเชื่อที่ทำให้จิตใจแข็งแกร่ง ไม่งมงายมัวเมาวัตถุ ไม่หลงระเริงในชีวิต สุขไม่มีหรอก สุขเป็นอัลลิกะ แปลว่าไม่จริง แปลหยาบๆ ว่าตอแหล ! ใครจะเถียงก็คงต้องเถียงพระพุทธเจ้า โลกที่วุ่นวายก็เพราะเราให้เงินเป็นใหญ่ ลึกๆ ลงไปอีกนั่นก็คืออาศัยเงินเพื่อหาความสุขนั่นเอง ศาสนาพุทธสอนให้ทิ้งสวรรค์ นรก ก็จะพลันหาย นิพพานจะเป็น "ผล" ในทันที เป็นความลุ่มลึกที่มนุษย์ค้นพบ และวางกฎเกณฑ์ วางหลักสูตร กติกาต่างๆ นานา เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายนั้น เป็นคัมภีร์เล่มใหญ่นับร้อยๆ เล่ม ! เป็นพระปรีชาญาณของพระพุทธองค์โดยแท้ ๓ ความเชื่อ จึงเป็นสิ่งที่จะต้องตกลงกันก่อนที่จะโลดแล่นบนโลกกว้าง มิฉะนั้นแล้ว เราก็จะได้คนที่เห็นแก่ตัวตลอดเวลา ให้คนเห็นแก่ตัวมาเกิด จะมีประโยชน์อะไรนักหนา พระท่านบอกว่า ให้สุนัขเกิดยังจะดีกว่า ! ภาษาท่านแรง แต่ชัดเจน สาธุ ! - ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๒๐
กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๔๘ - |