คิดตามหนัง - ตระกูลหยาง - [email protected]

ก่อนจะเล่าเรื่อง 'ขงจื๊อ' ขออนุญาตตัดต่อประวัติของขงจื๊อที่ค้นคว้าจากอินเตอร์เน็ตมาถ่ายทอด ข้อมูลที่ได้มาจาก ๔ เว็บไซต์ คือ
http://kanchanapisek.or.th/kp๖/BOOK4/chapter8/
http://www.rta.mi.th/chukiat/story/educate.html
http://www.rta.mi.th/chukiat/story/khongjue.html
http://www.ubctv.com/thai/history_inside_th.aspx

การสะกดชื่อภาษาจีนอาจจะต่างจากที่เขียนไว้ในฉบับที่แล้วๆ มา อาจจะเป็นเพราะเขาออกเสียงต่างกัน หรือไม่ก็คนฟังฟังผิด ต้องขออภัยด้วย ส่วนเนื้อหาที่ต่างกันนั้น อาจเป็นเพราะผู้สร้างหนังดัดแปลงข้อมูล หรือไม่ก็ได้ข้อมูลมาอย่างนั้น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการศึกษาหาความรู้ เมื่อได้ข้อมูลไม่ตรงกัน เราก็ต้อง พินิจพิจารณาเอาเองว่าจะเชื่อข้อมูลใด เพราะอะไร การที่จะตกลงปลงใจเชื่ออะไร ก็ต้องศึกษาให้มากพอ

'ขงจื๊อ' มีชื่อเรียกว่า ข่งชิว คำว่า จื๊อ หรือ จื่อ เป็นคำเติมท้ายชื่อในลักษณะของการให้ความนับถือ เป็นคนยุค ชุนชิวของแคว้นหลู่ (ปัจจุบันคือภาคใต้ของมณฑลซานตง)

มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า บิดามารดาของขงจื๊อได้เซ่นไหว้ขอลูกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ภูเขานี๋ซาน จึงได้ขงจื๊อมา ภูเขานี๋ซานไม่ใหญ่ เป็นเพียงเขาเล็กๆ ที่ภาษาจีนเรียกว่า ชิว อีกทั้งศีรษะของขงจื๊อมีรูปร่างคล้ายภูเขานี๋ซาน บิดามารดาจึงให้ชื่อว่าชิว (เรียกเต็มๆ ว่า ข่งชิว)

ขงจื๊อเกิดในปี ๕๕๑ ก่อน ค.ศ. (พ.ศ. ๘) ในแคว้นหลู่ซึ่งเป็นแคว้นเล็กๆ บิดาเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ชื่อคุงฉุเหลียงฮี หรือ ขงสกเลี่ยงขึก มารดาชื่อจินไจ ขงจื๊อมีชื่อแบบสามัญว่าข่งชิว บรรพบุรุษของขงจื๊อ เดิมเป็นชนชั้นสูงใน ประเทศซ่ง ซึ่งปัจจุบันคือจังหวัดเหอหนาน ภายหลังพวกเขาได้อพยพไปอยู่ ในประเทศ หลู่ (ปัจจุบันคือซานตง) ภายหลังที่พ่อของขงจื๊อถึงแก่กรรม ขณะที่ขงจื๊ออายุได้ ๓ ขวบ แม่ผู้ยังเยาว์วัย ได้หอบหิ้ว ขงจื๊อเข้าไปอยู่ในเมืองชวีฝู่ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศหลู่ แม่เป็นห่วงเรื่องการศึกษา ของขงจื๊อ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเล็งเห็นว่าการจะมีชีวิตที่มีอนาคตนั้น ขงจื๊อต้องเป็นขุนนาง และมีวิธีเดียว ที่จะบรรลุได้คือการเรียนหนังสือให้อ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นหนทางของการมีความรู้นั่นเอง ขงจื๊อเป็นเด็ก ที่เชื่อฟัง คำของมารดาเป็นอย่างยิ่ง และสนใจการศึกษาตั้งแต่ยังเยาว์ มีข้อสงสัย ไม่เข้าใจสิ่งใด จะต้อง ไถ่ถาม จนกระจ่าง ท่านตั้งใจเรียนหนังสืออย่างจริงจังและขยันขันแข็ง อ่านหนังสือจนลืมพักผ่อนบ่อยๆ แต่ละวันๆ มารดาต้องเตือนให้พักผ่อน ท่านจึงจะหยุดพักผ่อน ซึ่งก็เป็นการพักผ่อนเพียงชั่วครู่ ท่านมัก จะพูดว่า เรียนหนังสือต้องเรียนให้ดี การทำอะไรทั้งมวล ต้องไม่หยุดกลางคัน


ตั้งแต่เด็กจนเป็นหนุ่ม ขงจื๊อมีความรู้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก อายุยังไม่ถึง ๒๐ ปี ก็เป็น ผู้มีชื่อเสียงของ ประเทศหลู่ คนหนึ่งแล้ว เมื่ออายุ ๒๐ ปีเศษ มีบุตรชายหนึ่งคน ฮ่องเต้ของประเทศหลู่ได้ส่งปลา หลี่-ยวี๋ มาแสดง ความยินดี ลูกชายของขงจื๊อจึงมีชื่อว่า หลี่ (ขงหลี่)

แม้ว่าขงจื๊อจะมีชื่อเสียง แต่ก็เป็นผู้เปิดกว้าง ถ่อมตน มักจะพูดว่า เรื่องที่ตัวรู้นั้นยังมีไม่มาก ดังนั้น เพื่อนฝูง และเพื่อนบ้าน ต่างชอบเขาโดยทั่วกัน

ขงจื๊อเป็นผู้ที่มีความชาญฉลาดเป็นเลิศ ท่านดำริที่จะทำอะไรให้แก่ประเทศชาติเพื่อให้ประเทศหลู่ เป็นประเทศ ที่เข้มแข็ง แต่เหล่าขุนนางที่เสนอหน้า ต่อฮ่องเต้ พูดถึงขงจื๊อแต่เรื่องไม่สร้างสรรค์ ดังนั้น ท่านจึงได้เป็น ข้าราชการชั้นผู้น้อยอยู่ ๒ ครั้ง ระหว่างอายุ ๒๐-๒๗ ปี จนกระทั่งในปี ๕๐๑ ก่อน ค.ศ. อายุได้ ๕๑ ปี ขงจื๊อจึงได้รับโองการจากฮ่องเต้ ให้ดูแลกิจการ ภายในเมืองหลวง และภายหลังฮ่องเต้ ทรงเห็นผลงาน ที่สำเร็จเรียบร้อยทั้งหลาย ยิ่งมอบงานสำคัญ ให้ขงจื๊อ มากขึ้น ส่งผลให้ประเทศหลู่ เจริญรุ่งเรือง อย่างรวดเร็ว

ประเทศฉี ซึ่งมีอาณาเขตติดกับประเทศหลู่เป็นประเทศใหญ่ประเทศหนึ่ง ฮ่องเต้ประเทศ ฉีมีความกังวล ต่อความเจริญของประเทศหลู่ จึงคิดที่จะเชิญฮ่องเต้ประเทศหลู่ มาพบปะสนทนา เจรจาความเมือง แล้วลักพาตัวฮ่องเต้ประเทศหลู่ เพื่อจะทำให้ประเทศฉีปกครองประเทศหลู่ได้

ก่อนที่ฮ่องเต้หลู่จะไปร่วมประชุมสนทนา ขงจื๊อได้กราบทูลว่าเคยได้ยินผู้อื่นพูดว่า การแลกเปลี่ยนใด ๆ กับต่างประเทศต้องเตรียมกำลังทหารให้พร้อม การเจรจาจึงบรรลุจุดประสงค์ ดังนั้น เห็นควรนำกองทหาร ติดตามฮ่องเต้ไปด้วย ฮ่องเต้หลู่เห็นชอบกับขงจื๊อ

วันนัดพบมาถึง ระหว่างที่ฮ่องเต้ ๒ แผ่นดินกำลังเจรจากัน คนของฮ่องเต้ฉีได้เข้ามารายงานว่า ได้เตรียม คณะเต้นรำไว้พร้อมแล้ว จะขอเริ่มการแสดงให้ชม ฮ่องเต้ฉี อนุญาตโดยไม่ลังเล บรรดานักแสดงทุกคน มีอาวุธ อีกทั้งการปรากฏตัวก็ดูไม่เหมือนคณะเต้นรำ ขงจื๊อเห็นสถานการณ์ไม่ดี ก็ตะโกนด้วยเสียงอันดัง ขึ้นว่า "ฮ่องเต้ของ ๒ ประเทศกำลังสนทนากันอยู่ในเรื่องสำคัญ ทำไมจึงอนุญาตให้ผู้คนเหล่านี้ เข้ามา เต้นรำ ขอให้สั่งให้พวกเขาออกไปเดี๋ยวนี้" ฮ่องเต้ฉีเห็นอาวุธมีดที่ตัวขงจื๊อซึ่งยืนประชิดอยู่ ก็รู้ว่าต้องให้ นักแสดงเหล่านั้นออกไป และฮ่องเต้ฉีทราบว่ากองทหารของประเทศหลู่ก็ตั้งอยู่ไม่ไกล แผนการณ์จับตัว ฮ่องเต้หลู่ ไม่ประสบผลสำเร็จแน่นอน จึงประกาศจบการสนทนา

ระหว่างที่ขงจื๊อเป็นขุนนางประเทศหลู่ ประเทศนี้มีความเข้มแข็งมาก คุณภาพของชีวิตของประชาชน ยิ่งดีวันดีคืน ฮ่องเต้และประชาชนล้วนเคารพนับถือขงจื๊อ

ขณะอายุได้ ๓๐ ปี ท่านได้ตั้งโรงเรียนขึ้น ๑ แห่ง นับเป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของประเทศจีน ในสมัยนั้น คนรู้หนังสือ จะมีอยู่เฉพาะในหมู่ขุนนางเท่านั้น คนธรรมดาอ่านหนังสือไม่ออก แต่นักเรียนของขงจื๊อ สามารถ ทำอะไรได้ทุกอย่าง ในตอนเริ่มต้น พวกขุนนางต่างดูถูกขงจื๊อ ต่างคิดว่าคนอายุน้อย คงจะไม่สามารถ สอนนักเรียนให้ดีได้ ต่อมาจึงเป็นที่ประจักษ์ว่านักเรียนที่ขงจื๊อสอนนั้นไม่เลว จึงได้ส่งบุตรหลาน เข้าเรียนที่โรงเรียนของขงจื๊อ

ท่านสอนทุกๆ คน ในเนื้อหาที่สอนที่สำคัญ ได้แก่ พิธีการและดนตรี กิจกรรมของรัฐบาล หลักคุณธรรม/ จริยธรรม วรรณคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ความเป็นเหตุเป็นผลของการควบคุมตนเอง โรงเรียนของขงจื๊อ ประสบความสำเร็จด้านการสอนวัฒนธรรมได้อย่างก้าวหน้า นี่เป็นประวัติศาสตร์การศึกษา ที่มหัศจรรย์ ของประเทศจีนทีเดียว

ขงจื๊อเป็นนักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่ ท่านรักอาชีพของท่านเป็นอย่างยิ่ง และทุ่มเทชีวิตส่วนใหญ่ ให้แก่ การศึกษา ในระยะหลายสิบปีที่ได้ฝึกฝนตนเอง ท่านได้สรุปประสบการณ์ด้านการศึกษาไว้ไม่น้อย ขงจื๊อ จะระมัดระวังในการทำความเข้าใจจุดเด่น-จุดด้อยของนักเรียนแต่ละคนเป็นพิเศษ ซึ่งจะทำให้สอนนักเรียน ไม่เหมือนกัน มีอยู่ครั้งหนึ่งลูกศิษย์ชื่อจื่อลู่ ถามขงจื๊อว่า "มีเรื่องดีๆ อยู่เรื่องหนึ่ง ควรหรือไม่ที่จะรีบไปทำ เรื่องนั้น ให้สำเร็จในทันที" ขงจื๊อตอบว่า "ไปปรึกษาผู้ใหญ่คนอื่นก่อน แล้วจึงจะไปทำเรื่องดังกล่าว" แต่มีนักเรียน อีกคนหนึ่งชื่อ ร๋านโหย่ว ได้ถามขงจื๊อว่า มีเรื่องดีๆ อยู่เรื่องหนึ่ง ควรหรือไม่ควร ที่จะรีบไปทำ เรื่องนั้นให้สำเร็จในทันที" คำตอบจากขงจื๊อคือ "แน่นอน ต้องรีบไปทำเรื่องนั้นให้บรรลุโดยพลัน"

เพราะเหตุใดคำถามเดียวกัน ขงจื๊อจึงตอบไม่เหมือนกัน เรื่องนี้มีเหตุผลที่ว่า ขงจื๊อรู้ว่า จื่อลู่เป็นคนที่ทำงาน แบบสุกเอาเผากิน จึงบอกให้เขาไปปรึกษาผู้อื่น เพื่อคิดให้รอบคอบก่อนลงมือทำ ในขณะที่ร๋านโหย่ว เป็นคน ที่มักจะกลัว ไม่ค่อยกล้าลงมือทำอะไร ขงจื๊อจึงต้องกระตุ้นให้ร๋านโหย่ว มีความกล้าหาญ ที่จะลงมือทำงาน บนพื้นฐานของวิธีการเรียน ขงจื๊อมักจะยกเอาความรู้ที่ได้เรียนมา ขึ้นมาเป็นประเด็นว่า ต้องทบทวน และฝึกฝนทุกวัน เมื่อเชี่ยวชาญแล้ว จึงจะสามารถเปลี่ยนไปใช้ข้อมูลของตัวเองได้

ในด้านการศึกษากับความคิดที่ผูกพันกัน ขงจื๊อพิจารณาว่า การที่เพียงแต่อ่านหนังสือหรือฟังคำสอน แต่ไม่ พินิจพิเคราะห์อย่างจริงจัง ย่อมจะไม่สามารถเก็บหรือควบคุมความรู้นั้นไว้ได้ ในขณะที่หากคิด สะเปะ สะปะ ไม่ตั้งใจอ่านหนังสือ ก็จะมีผลให้เรียนไม่ถึงความรู้ที่ต้องการเรียนได้

ขงจื๊อปฏิบัติต่อนักเรียนด้วยความเข้มงวด วันหนึ่งท่านวิพากษ์นักเรียนชื่อเหยียนหุยว่า "ฉันพูดอะไร เธอพูด อย่างนั้น ตัวเองไม่มีความริเริ่ม ไม่มีการพัฒนา แล้วจะก้าวหน้าได้อย่างไร" เหยียนหุยถามว่า "ทำอย่างไร จึงจะพัฒนา"

"ต้องคิดอยากพัฒนา ต้องหมั่นเล่าเรียน พินิจพิจารณามากๆ เอาแต่เรียนโดยไม่ได้พิจารณา ย่อมไม่สามารถ ได้รับความรู้อย่างสูง อย่างเช่นฉันบอกเธอว่า มุมหนึ่งของโต๊ะเป็นมุมฉาก เธอควรจะพิจารณาว่าอีก ๓ มุม ก็เป็นมุมฉาก และสรุปว่าโต๊ะนี้เป็นโต๊ะสี่เหลี่ยม ไม่ใช่โต๊ะกลม"

นักเรียนอีกคนหนึ่งถามว่า "ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ตัวเองมีความรู้มาก ๆ"

"เรื่องนี้ต้องเรียนให้มากขึ้น พบเหตุปัญหาอะไรล้วนต้องถามว่าทำไม เมื่อไม่เข้าใจ อย่าทำเป็นเข้าใจ ทำอย่างฉันนี่ เมื่อมีคนถามปัญหาฉัน มีบ่อยๆ ที่ฉันตอบไม่ได้ ฉันก็นำปัญหานั้นไปถามคนอื่น อย่างนี้ เวลานานไปความรู้ย่อมมากขึ้นตามมา"

"อาจารย์พูดถูก" เหยียนหุยเห็นด้วย แต่ถามต่ออีกว่า "หากไม่มีท่านอาจารย์ พวกเราจะเรียนจบ ได้ความรู้ ได้อย่างไร"

"ที่เธอพูดนั้นไม่ถูก เธอต้องรู้ว่า บนพื้นโลกนี้มีครูอยู่มากมาย หากมีคน ๓ คนเดินมาในนั้นอย่างน้อยต้องมี ๑ คนเป็นครูของเราแน่นอน เขาทำอะไรถูกต้อง พวกเราก็ทำตามที่เขาทำ หากเขาทำอะไรไม่ดีงาม พวกเรารู้ ก็อย่าทำตามนั้น"

นักเรียนเคารพขงจื๊อมาก บางคนเรียนกับขงจื๊อถึง ๑๒ ปี ยังไม่อยากจบ ขงจื๊อสอนลูกศิษย์ ได้ประมาณ ๓,๐๐๐ คน มีอยู่ ๗๒ �คน บรรลุถึงความมีชื่อเสียง บางคนยังได้เป็นขุนนางของประเทศด้วย

เมื่อขงจื๊ออายุมากขึ้น ได้ทำเรื่องสำคัญคือการเขียนหนังสือเรื่อง ชุนชิว เป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เน้นเรื่องบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญของประเทศหลู่ ระหว่างปี ๗๒๒ ก่อน ค.ศ. ถึง ปี ๔๘๑ ก่อน ค.ศ. รวมประมาณ ๒๔๐ ปี ในสมัยนั้นยังไม่มีกระดาษ ต้องเขียนตัวหนังสือบนแผ่นไม้ไผ่ ตอนเริ่มเขียน เรื่องนี้ ขงจื๊อจะไม่ออกมาข้างนอกบ้านเป็นวันๆ มือข้างหนึ่งถือแผ่นไม้ไผ่ มืออีกข้างหนึ่งถือพู่กัน เขียนเรื่อง อย่างตั้งอกตั้งใจ นักเรียนของท่านเห็นการทำงานที่จริงจังและเหน็ดเหนื่อย ต่างเสนอตัวเขียนแทนท่าน ท่านบอกว่า "ไม่ได้ เรื่องที่ฉันเขียนเป็นเรื่องของคนที่ตายแล้ว และฉันต้องการนำทัศนะของฉัน บรรจุ ลงไปด้วย ฉันคิดว่าคนรุ่นหลังจะได้เข้าใจฉัน หรือไม่ก็ประณามฉันได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ฉันได้เขียน บทอย่างนี้ของชุนชิว"

ขงจื๊อเมื่อตอนปลายอายุ ๗๑ ปี จึงได้เขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงเล่มนี้สำเร็จ เป็นเพราะการที่ขงจื๊อ ตั้งอกตั้งใจ เขียนเป็นพิเศษ ดังนั้นทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับบุคคลสำคัญ และเหตุการณ์สำคัญเหล่านั้น จึงถูกบันทึกไว้ อย่างถูกต้อง อย่างยิ่ง

ขณะที่ขงจื๊อเขียนหนังสือชุนชิวนั้น ท่านได้เขียนบทกวีร่วมสมัยขึ้นด้วย ขงจื๊อชอบดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนที่ท่านไปอยู่ที่ประเทศฉี เคยได้ยินการบรรเลงเพลงที่ไพเราะยิ่ง ฟังแล้วครั้งหนึ่ง ใน ๓ เดือนต่อมา จะไม่มีความรู้สึกอยากลิ้มรสเนื้อ ตัวท่านเองชอบร้องเพลงและเล่นขิม ไม่เพียงแต่บรรเลงเพลงด้วยตัวเอง แต่ยังสอนนักเรียนให้ฝึกหัดดนตรี ท่านได้แต่งบทกวีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโรงเรียนของท่าน จัดกลุ่มนักเรียน ให้ศึกษาวิจัยทางดนตรี ทำให้นักเรียนบางคนมีความสามารถทั้งการบรรเลงดนตรี และการขับร้อง

ในเวลานั้นบทกวีที่มีชื่อเสียงในสังคมมีมากกว่า ๓,๐๐๐ บท ขงจื๊อได้คัดเลือกออกมา ๓๐๕ บท รวบรวมเป็น หนังสือ บทกวี เล่มแรกของประเทศจีนชื่อว่า ซือจิง

ในปีที่ขงจื๊ออายุ ๖๙ ปี ลูกชายของท่าน (ขงหลี่) ได้ถึงแก่กรรม

เมื่ออายุได้ ๗๑ ปี นักเรียนที่ท่านรักที่สุดคือ เหยียนหุย ก็ถึงแก่กรรม

อีก ๒ ปีถัดมา ท่านก็สูญเสียศิษย์ที่ท่านรักที่สุดอีกคนหนึ่งคือจื่อลู่

ขงจื๊อเสียใจมาก ได้เร่งรัดงานเขียนหนังสือหนักขึ้น แต่ในฤดูใบไม้ผลิของปี ๔๗๙ ก่อน ค.ศ. ท่านได้ล้ม ป่วยลง แม้จะได้รับการเอาใจใส่อย่างดียิ่งจากบรรดาลูกศิษย์ แต่ท่านมีความรู้สึกว่า การมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็ไม่มีความหมายใดๆ แล้ว

วันหนึ่ง ลูกศิษย์ชื่อจื่อก้งได้เข้ามาเยี่ยม ขงจื๊อพูดกับจื่อก้งว่า "นับจากวันนี้ฉันไม่สามารถพูดได้อีกต่อไป"

จื่อก้งรีบถามว่า "หากท่านไม่พูด แล้วพวกเราจะทำอย่างไรเล่า"

ท่านตอบว่า "สวรรค์ก็ไม่พูดอะไรเลย แต่ละปีก็ยังคงมี ๔ ฤดู ไม่ใช่หรือ"

ในที่สุดนับจากวันนั้น ขงจื๊อก็ไม่พูดอะไรอีกเลย เจ็ดวันเจ็ดคืนไม่กินอาหาร ไม่ดื่มน้ำ และในที่สุด ก็จากลูกศิษย์ ของท่านไป

ขงจื๊อเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญยิ่งของวัฒนธรรมโบราณของจีน เป็นนักการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ของจีน และยังเป็นนักคิดผู้มีชื่อเสียงด้วย ในความคิดทางการเมือง ในด้านตรรกะแห่งศีลธรรม ล้วนมีวิสัยทัศน์ ของตัวเอง ท่านเคยใช้เวลาถึง ๓๐ ปี ท่องเที่ยวไปในดินแดนประเทศต่างๆ เพื่อเผยแพร่วิสัยทัศน์ของท่าน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อท่านเสียชีวิตไปแล้ว ระบบการปกครองแบบชนชั้นศักดินา จึงได้พบว่า หลักนิยม ของโรงเรียนลัทธิขงจื๊อที่ท่านสร้างขึ้นนั้น เป็นอาวุธทางความคิด ที่สามารถใช้เพื่อการดำรงไว้ ซึ่งระบบศักดินานั่นเอง

ดังนั้นในสังคมศักดินาที่ยืนยาวประมาณ ๒ พันกว่าปี ขงจื๊อจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ หลายพันปีที่ผ่านมา หลักนิยมของลัทธิขงจื๊อจึงมีอิทธิพลต่อการปกครองประเทศจีนเป็นอย่างยิ่ง

ภายหลังการตายของขงจื๊อ บรรดาลูกศิษย์ได้นำคำสอนของท่านมาทำหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ หลุนยวี่ ซึ่งต่อมา ได้ถูกถ่ายทอดเป็นข้อมูลที่สำคัญของการศึกษาวิจัยถึงหลักนิยมของขงจื๊อ

ใครที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์หรือประวัติบุคคล ได้อ่านประวัติขงจื๊อ คงได้ข้อคิดดีๆ เยอะทีเดียว ถ้ามีเวลา และมีโอกาสใช้อินเตอร์เน็ต ลองค้นหาประวัติบุคคลอื่นๆ ขึ้นมาอ่าน มีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย เป็นอีก ประสบการณ์หนึ่ง ของชีวิตที่ต่างจากการดูหนัง หรืออ่านเรื่องเล่าจากหนัง ซึ่งต้องผ่านการแปรความหมาย จากผู้คนมา กว่าจะถึงเรา สาระก็อาจจะด้อยลงไป โดยมีความสนุกสนานเข้ามาแทนที่บ้าง ยกเว้นเรื่อง ขงจื๊อ หนังเรื่องนี้เหมาะที่จะดูเอาสาระ ถ้าต้องการความบันเทิง คงไม่ได้เท่าไรนัก

ช่วงที่ขงจื๊อเป็นที่ปรึกษาให้เกาต้าฝูนั้น ลูกศิษย์ของขงจื๊อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นการเพิ่มอิทธิพลของตระกูลเกา คนที่ไม่พอใจแต่ไม่กล้าทำร้ายเกาต้าฝู จึงหันมาจัดการกับขงจื๊อ ผู้หวังดีต่างเสนอให้ขงจื๊อไปจากแคว้นฉี เจ้าแคว้นฉีบอกว่าต้องการแต่งตั้งขงจื๊อ แต่ว่าตนแก่แล้ว เกรงว่าขงจื๊อจะใช้ความรู้ได้ไม่เต็มที่ ซั่งจินต้าฝู ไม่สนับสนุนให้ขงจื๊อรับใช้แคว้นฉี เพราะถึงจะรับใช้แคว้นฉี "กฎจารีตที่ท่านนำมาใช้ คงจะไม่ได้ผล ในแคว้นฉี ถึงตอนนั้นท่านจะเกิดความทุกข์จากสิ่งที่ท่านกระทำ" ต้าฝูผู้นี้ให้เหตุผลว่า การชิงดีชิงเด่น ในแคว้นฉี มีมานานแล้ว การที่ขงจื๊ออยู่ในแคว้นฉี เหมือนหาเรื่องใส่ตนเอง บางทีอาจจะถูกปองร้าย

"ความรู้ความสามารถของท่านเป็นที่ยอมรับ แต่ท่านไม่รู้จักปกป้องตนเอง จิตใจที่ดีงามของท่านน่าชื่นชมนัก แต่ว่าผู้ปกครองบ้านเมือง โดยไม่รู้จักปกป้องตนเองนั้น ผลสุดท้ายอาจถูกทำร้าย"

เมื่อขงจื๊อถามว่า "การที่ผู้ปกครองต้องรู้จักปกป้องตนเองนั้น ต้องยอมเป็นคนถ่อยกระนั้นหรือ" ก็ได้รับคำ ตอบว่า "ถ้าท่านมีโอกาสรับใช้บ้านเมือง ท่านก็จะรู้เอง" ขงจื๊อถามต่ออีกว่า

"ตอนที่ข้าเข้ามาในแคว้นฉี ได้ยินเสียงเพลงฉาวเย่ บทเพลงนั้นบอกถึงความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกัน ข้ารู้สึก ตื้นตันใจเป็นอย่างมาก ถ้าหากผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นที่พึ่งของราษฎร เหล่าขุนนางที่ชิงดีชิงเด่น เพื่อผลประโยชน์ตนเองเช่นนี้น่ะ จะเป็นที่พึ่งของราษฎรได้หรือ"

แต่ไม่ได้รับคำตอบ

ในที่สุดขงจื๊อก็เดินทางกลับแคว้นหลู่ ขณะเดินทางเห็นชายชราคนหนึ่งเล่นเพลงอยู่บนภูเขา ขงจื๊อ เข้าไปถาม ได้รับคำตอบว่า สาเหตุที่ไม่บรรเลงเพลงฉาวเย่ในเขตพระตำหนัก เพราะไม่มีใครต้องการ เพลงฉาวเย่ อีกแล้ว จึงได้แต่บรรเลงต่อหน้าขุนเขา

๕๑๐ ปีก่อนคริสตกาล หลี่เอ๋อ ลูกชายของขงจื๊อแต่งงาน เหยาเอ๋อ ลูกสาวของขงจื๊อจึงถามจื่อฉัง ศิษย์คนหนึ่ง ของขงจื๊อว่าเมื่อไรจะมาสู่ขอเธอ จื่อฉังเคยถูกจองจำเพราะถูกใส่ร้าย ทำให้เขามีเครื่องหมาย บนใบหน้า ที่ลบทิ้งไม่ได้ แม้เหยาเอ๋อจะไม่รังเกียจ แต่จื่อฉังก็ยังคงเจียมตัว เพราะ "คนเราสบตาครั้งแรก ก็คือภายนอก ข้าไม่อาจอธิบายกับทุกคนได้ เจ้าเป็นลูกสาวของอาจารย์ ลูกเขยของท่าน จะมีเครื่องหมาย บนใบหน้าได้อย่างไร"

วันรุ่งขึ้น จื่อฉังลาอาจารย์กลับบ้านเพื่อดูแลพ่อแม่ผู้ชรา ขงจื๊อมอบตำราให้ศิษย์ แต่เหยาเอ๋อ ไม่ยอม ให้เขาไป ขงจื๊อจึงได้รู้เรื่องราวระหว่างลูกสาวกับลูกศิษย์ เมื่อทราบว่าลูกศิษย์คนอื่นๆ ล้วนรู้เรื่องนี้ จึงพูด กับเหล่าศิษย์ว่า "ถ้าไม่มีใครบอก การจากไปครั้งนี้อาจเป็นทุกข์ตลอดชีวิต" และพูดกับจื่อฉังว่า "เครื่องหมาย บนหน้าเจ้าไม่ได้แสดงว่าเจ้าจะเลวร้าย ภายนอกนั้นสำคัญก็จริง แต่จิตใจที่ดีงามนั้น สำคัญ ยิ่งกว่าสิ่งใด เจ้าขาดความกล้าหาญ สิ่งนี้จ้งโหยวทำได้ดี (หันมาพูดกับจ้งโหยว) แต่ว่าเจ้าอย่าเพิ่งได้ใจ ในความกล้าหาญของเจ้ายังมีความประมาท ขาดความยั้งคิด ต่อไป เจ้าควรจะแก้ไขและปรับปรุงเสีย ผู้กล้าที่แท้จริงย่อมมีอุดมคติ ควรใช้ความกล้าหาญ ไปแสวงหาสิ่งที่ต้องการ อย่าเลิกล้มเป้าหมาย ที่ตั้งเอาไว้ เหมือนอย่างที่พวกเราแสวงหากฎโจวกุง ไม่ว่าจะเผชิญอุปสรรคใดๆ ก็ไม่ยอมยกเลิกความตั้งใจ (พูดกับจื่อฉัง) และจะรอเจ้าเชิญผู้ใหญ่มาสู่ขอ"

ในที่สุดเจ้าแคว้นหลู่ก็สิ้นพระชนม์ในต่างแดน ขงจื๊อเสียใจมาก ขงจื๊อและศิษย์ช่วยกันจัดงานศพ ขงจื๊อ ใช้โอกาสนี้สอนศิษย์ว่า

"ถ้าจะใช้กฎโจวกุงในการปกครอง จะขาดความเมตตาไม่ได้ คือรัก รักฝ่าบาทคือซื่อสัตย์ รักพ่อแม่คือ กตัญญู รักพี่น้องคือการให้ รักเพื่อนคือมีสัจจะ พวกเราทั้งหลายจงพยายามฝึกฝน ให้บรรลุถึงหลัก เมตตาธรรม เพราะว่าแผ่นดินใดที่ไร้ธรรมก็จะเกิดความปั่นป่วน แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นขึ้น สิ่งเลวร้ายเหล่านี้ จะเกิดขึ้นเสมอ มิอาจยับยั้ง ก็เพราะขุนนางไร้ความเมตตา ไร้เมตตาก็จะไร้ธรรม เมื่อไร้ธรรม ก็จะไม่มี ความสงบสุข"

เมื่อเจ้าแคว้นสิ้นพระชนม์ หยางหู่ต้าฝูเป็นผู้มีอำนาจว่าราชการ จึงเชิญขงจื๊อไปพบ ขงจื๊อไม่ไป หยางหู่ จึงส่งคนไปมอบของกำนัลขณะที่ขงจื๊อไม่อยู่ ตามธรรมเนียม ขงจื๊อต้องไปขอบคุณผู้ให้ จึงคิดว่าจะไป ตอนที่ หยางหู่ไม่อยู่ แต่บังเอิญมาพบกันกลางทาง (หรืออาจเป็นเพราะหยางหู่คาดการณ์ถูกต้อง จึงตั้งใจ ออกจากบ้านมาพบขงจื๊อกลางทาง) หยางหู่จึงถือโอกาสนี้ขอให้ขงจื๊อช่วย โดยอ้างว่า บ้านเมืองปั่นป่วน ถ้าไม่เหลียวแล จะถือว่ามีเมตตาธรรมหรือ อุดมการณ์ยิ่งใหญ่ แต่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไป ครั้งแล้ว ครั้งเล่า จะถือว่ามีอุดมการณ์จริงหรือ ขงจื๊อจึงรับปากว่าจะลองคิดดูใหม่

ขงจื๊อบอกลูกศิษย์ว่า สิ่งที่เรียนรู้มา ควรนำมาใช้ประโยชน์ แต่ศิษย์ทักท้วงว่า "คนชั่วช้าอย่างหยางหู่ ถ้าช่วยเขา จะทำให้อาจารย์แปดเปื้อน"

ขงจื๊อจึงให้ข้อคิดว่า "สิ่งที่แข็งกล้าที่สุด ลับไม่สึกหรอ สิ่งที่ขาวที่สุด ไม่มีวันแปดเปื้อน"

วันหนึ่งขงจื๊อพาลูกศิษย์ไปดูไหของฮ่องเต้องค์ก่อนที่ทรงเก็บไว้ในห้องบรรทม สำหรับตักเตือนตนเอง จ้งโหยวเทน้ำเข้าไปครึ่งหนึ่ง ไหตั้งตรง เทน้ำต่อไปจนเต็ม ไหจะเอียง เมื่อน้ำไหลออกจากไหหมด ไหก็เอียง

ขงจื๊อสรุปว่า "สิ่งนี้สอนว่า การปฏิบัติตนจำเป็นต้องให้เกิดความพอดี คำว่า 'พอดี' ก็คือ คนเราควรพอใจ ในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ทำอะไรก็ตาม อย่าให้ขาด อย่าให้เกิน เป็นดีที่สุด ความพอดีนั้นอยู่ที่ใจ จิตใจที่สมดุล ถึงจะปฏิบัติได้ และยังต้องให้ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในรวมกันเป็นหนึ่งเดียว

สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงทุกเวลา ขอเพียงแต่ให้ทุกคนปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอ"

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๒๐ กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๔๘ -