ไขว่คว้าบารมี (กัณหชาดก)

ฝึกฝน อดทน บำเพ็ญ
ลำเค็ญ ยากเข็ญ ไม่ท้อ
ตบะกล้า ใจแกร่ง มากพอ
ยอดหนอ ไขว่คว้า บารมี.

เย็นวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าแวดล้อมไปด้วยหมู่สงฆ์ เสด็จพุทธดำเนินไปตามบริเวณวิหารนิโครธาราม ในนครกบิลพัสดุ์ของแคว้นสักกะ มาถึงที่แห่งหนึ่งทรงยิ้มแย้มขึ้น พระอานนท์ เห็นแล้วก็คิดว่า

"อะไรหนอเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงยิ้มแย้ม"

จึงประคองอัญชลีทูลถาม พระศาสดาทรงตอบว่า

"ดูก่อนอานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว มีฤาษีตนหนึ่งชื่อ กัณหะ อยู่ในสถานที่นี้ เป็นผู้ได้ฌาน (อาการจิตแน่วแน่ สงบจากกิเลส) รื่นรมย์อยู่ในฌานด้วยเดชแห่งศีล บันดาลให้ภพของท้าวสักกเทวราช (หัวหน้าเทวดา ผู้เป็นใหญ่ ในสวรรค์) หวั่นไหวนั่นเอง"

พระอานนท์ทูลขอให้พระศาสดาตรัสเล่าเรื่องราวนั้น พระองค์จึงทรงแสดงชาดก

..............................

ในอดีตกาล พราหมณ์คนหนึ่งมีทรัพย์สมบัติถึง ๘๐ โกฏิ(๘๐๐ ล้านบาท) แต่ไร้ทายาท จึงสมาทานศีล ๕ เพื่อปรารถนาบุตร ในที่สุดนางพราหมณีผู้เป็นภรรยาก็ได้ให้กำเนิดบุตรชาย ตั้งชื่อว่า กัณหกุมาร เพราะมีผิว กายสีดำ พอเจริญวัยอายุได้ ๑๖ ปี บิดาส่งไปเรียนศิลปะที่เมืองตักสิลา กระทั่งสำเร็จวิชา แล้วก็กลับมา บิดาให้แต่งงานกับภรรยาที่ฐานะสมควรกัน

ครั้นเมื่อบิดามารดาล่วงลับไปแล้ว เขาได้เป็นใหญ่ครอบครองทรัพย์สมบัติทั้งหมด

อยู่มาวันหนึ่ง เขาได้ไปตรวจดูคลังสมบัติ ได้อ่านคำจารึกในแผ่นทองคำของญาติทั้งหลาย ว่าทรัพย์เท่านี้ ญาติชื่อนี้หามาได้ ทรัพย์เท่านั้นญาติชื่อนั้นหามาได้ กัณหกุมารจึงเกิดความคิดว่า

"ผู้หาทรัพย์มาทั้งหมดนี้ ล้วนตายไปหมดสิ้นแล้ว เหลืออยู่แต่ทรัพย์อย่างเดียว ไม่มีใครเอาไปด้วย แม้แต่คนเดียว เพราะไม่มีใครขนเอาทรัพย์ติดไปปรโลก(โลกหน้า)ได้เลย ฉะนั้นการให้ทรัพย์เป็นทาน จึงเป็นสาระ ร่างกายนี้ไม่เป็นสาระ เราควรทำดีมีศีลให้ทานก่อนไปสู่ปรโลก"

คิดแล้วจึงบำเพ็ญทานเป็นการใหญ่ตลอด ๗ วัน แต่ทรัพย์ก็ยังไม่หมดไป เขาจึงบังเกิดความคิดใหม่

"ทรัพย์ไม่มีประโยชน์แก่เราแล้ว ขณะนี้เรายังหนุ่มไม่ถูกความแก่ครอบงำ เราควรออกบวชในบัดนี้"

แล้วก็ได้ประกาศว่า

"ทรัพย์ทั้งหมดนี้เราให้แล้ว ใครมีความต้องการจงนำเอาไปเถิด"

จากนั้นก็ออกจากเมืองเข้าป่าหิมพานต์ บวชเป็นฤาษี แสวงหาที่พำนักจนมาถึงที่ตรงนี้ (ที่ตรงพระพุทธองค์ ทรงยิ้มแย้ม) อาศัยอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ไม่สร้างศาลาเป็นที่พำนัก เพราะถือการอยู่ ที่แจ้ง เป็นวัตร ถือการไม่เอนนอนเป็นวัตร เคี้ยวกินแต่ของสดไม่ผ่านไฟ บริโภคอาหารวันละครั้งเท่านั้น สมาทานธุดงควัตร(ข้อปฏิบัติกำจัดกิเลส)อย่างนี้ ไม่นานนักจึงได้อภิญญา(ความรู้ยิ่ง) และสมาบัติ (สภาวะสงบระงับกิเลสอันประณีตยิ่ง) ณ ที่นั้น

กัณหฤาษีเป็นผู้มักน้อยอย่างยิ่ง คราใดต้นไม้ผลิผลก็กินผล ผลิดอกก็กินดอก ผลิใบก็กินใบ หากไม่มีใบ ก็กินเสก็ดไม้ มิได้มีความโลภที่จะต้องเที่ยวไปแสวงหาของกินในที่ต่างๆ อาศัยเก็บผลไม้กินตรงที่พำนัก นั้นเอง โดยมิได้เลือกว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจผลไม้นี้

ด้วยเดชแห่งศีลที่ประพฤติสันโดษถึงปานนี้ ทำให้ที่ประทับของท้าวสักกเทวราชร้อนขึ้นมาทันที ท้าวสักกะ จึงทรงสอดส่องค้นหาสาเหตุ เพราะศิลาอาสน์ของท้าวสักกะจะร้อนได้ ก็ด้วยเหตุ ๔ ประการคือ

๑. ท้าวสักกะสิ้นอายุลง
๒. ท้าวสักกะหมดบุญ
๓. ผู้มีบุญญานุภาพปรารถนาเป็นท้าวสักกะ
๔. ด้วยการตั้งอยู่ในธรรมอย่างสูงของผู้บำเพ็ญ
ด้วยฤทธิ์เดชของศีลที่ประพฤติของผู้นั้น

เมื่อตรวจตราดูแล้ว ท้าวสักกะทรงรู้ว่า

"กัณหฤาษีนี้มีตบะแก่กล้ายิ่งนัก เราจะไปหาจะให้พร(ความประเสริฐ)แก่ท่าน"

แล้วเสด็จจากวิมานมายังโคนไม้ที่พระฤาษีพำนักอยู่ ทรงแสร้งกล่าวโทษติเตียน ทดลองดูว่าพระฤาษีจะโกรธหรือไม่

"โอ ! ช่างเป็นเป็นคนดำจริงหนอ แล้วยังบริโภคแต่อาหารที่ดำคล้ำสุกงอม ทั้งอาศัยอยู่ในสถานที่ ที่ดำสกปรก อีกด้วย ไม่เป็นที่ชอบใจของเราเลย"

กัณหฤาษีถูกกล่าวหาดูหมิ่นอย่างนั้น ก็มิได้โกรธเคือง และรู้ด้วยญาณว่า นี้คือท้าวสักกเทวราช จึงกล่าว ตอบไป

"คนผิวหนังภายนอกดำ มิใช่เรียกว่าคนดำ เพราะหากแก่นภายในเขาประพฤติดีขาวสะอาด ย่อมเรียกเขาว่า เป็นพราหมณ์ (ผู้ประเสริฐ) ผู้ใดมีและทำบาปกรรมอยู่ ผู้นั้นแหละชื่อว่า เป็นคนดำ"

ท้าวสักกะทรงพอพระทัยคำตอบยิ่งนัก บังเกิดความปีติยินดีถึงกับตรัสว่า

"ดูก่อนท่านผู้ประเสริฐ ท่านกล่าวดีแล้วสมควรเป็นสุภาษิต(คำที่เป็นคติธรรม) เราจะให้พร (ความประเสริฐ) แก่ท่าน ตามแต่ใจท่านจะปรารถนาเถิด"

"ข้าแต่ท้าวสักกจอมเทพผู้เป็นใหญ่ ถ้าจะโปรดประทานพร อาตมาปรารถนาให้ความประพฤติของตน อย่าได้มีความโกรธ(ขัดเคืองใจ) อย่าได้มีโทสะ(ความประทุษร้าย) อย่าได้มีความโลภ อย่าได้มีเสน่หา (ความรัก) ทรงโปรดประทานพร ๔ ประการนี้แก่อาตมาเถิด"

ด้วยเหตุว่า กัณหฤาษีปรารถนาแต่พรที่ลดกิเลส ซึ่งหาโทษมิได้ ท้าวสักกะจึงตรัสถามว่า

"ท่านผู้ประเสริฐ ท่านเห็นโทษในความโกรธ ในโทสะ ในความโลภ ในเสน่หาเป็นอย่างไรหรือ ช่วยบอก แก่เราด้วย"

"ความโกรธเกิดจากความไม่อดทน เริ่มแรกเป็นของน้อย แต่ภายหลังเป็นของมาก พอกเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ความโกรธมักทำให้ขัดเคืองใจ มีความคับแค้นมาก เพราะฉะนั้นอาตมาจึงไม่ชอบความโกรธ

คนมีโทสะจะประทุษร้ายกันด้วยวาจาหยาบคาย จะดูหมิ่นกันและกัน จะตบตีชกต่อยกัน จะใช้ท่อนไม้ ฟาดใส่กัน จนถึงขั้นใช้อาวุธประหัตประหารกัน โทสะเกิดจากความโกรธนั่นเอง เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ชอบโทสะ

ความโลภเป็นอาการหยาบของความดิ้นรนอยากได้ อันเป็นเหตุให้ทำอุบายล่อลวงคนอื่น คดโกง ปลอมเปลี่ยน เอาของคนอื่น กระทั่งข่มขู่จี้ปล้นเอาทรัพย์สินของเขา บาปกรรมทั้งหลายนี้เกิดจาก ความโลภ เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ชอบความโลภ

กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ความเสน่หา(ความรัก)ผูกรัดแน่นยิ่งนัก ผูกไว้ด้วยใจ ผูกไว้เนิ่นนาน ทำให้ต้อง เดือดร้อนมากมาย เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ชอบความเสน่หา"

ทั้งหมดเป็นคำตอบที่ทำให้ท้าวสักกะทรงยินดีพอใจยิ่งนัก จึงตรัสว่า

"ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ ท่านเจรจาดีแล้ว เป็นถ้อยคำสุภาษิต เราจะให้พรแก่ท่านอีก ตามแต่ใจท่าน จะปรารถนาเถิด"

"ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ ถ้าจะโปรดประทานพร อาตมาปรารถนาให้อาพาธ(ความเจ็บป่วย)ที่ร้ายแรง อย่าพึง เกิดขึ้นทำลายตบะธรรม (ความเพ่งเพียรเผาผลาญกิเลส)เลย เพราะอาตมาอยู่แต่ผู้เดียวในป่า"

"เราให้พรแก่ท่าน ตามแต่ใจท่านปรารถนา ท่านยังปรารถนาพรใดอีกหรือไม่"

"โปรดประทานพรให้กาย-วาจา-ใจของอาตมา อย่าไปทำร้ายกระทบกระทั่งใครๆเลย ไม่ว่าในกาลไหนๆ"

"เราให้พรแก่ท่านทั้ง ๖ ประการ ท่านจงอยู่ที่นี้ ประพฤติเนกขัมมะ(ออกจากกาม)ให้บริสุทธิ์เถิด"

แล้วนมัสการประคองอัญชลีกัณหฤาษี ก่อนเสด็จกลับคืนวิมานของพระองค์ ส่วนพระฤาษีก็ได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้าแล้ว

..............................

พระศาสดาทรงนำชาดกนี้มาแสดงจบ ตรัสว่า
"ดูก่อนอานนท์ ที่นี้เป็นภูมิประเทศที่เราเคยอยู่มาแล้ว ท้าวสักกะในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอนุรุทธะ ในบัดนี้ ส่วนกัณหฤาษี ได้มาเป็นเราตถาคตเอง"

- ณวมพุทธ -
เสาร์ ๑๖ ก.ค. ๒๕๔๘
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๓๒๙ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๙ หน้า ๗๗๑)

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๒๐ กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๔๘ -