-
ฟ้าเมือง ชาวหินฟ้า - ความจำเป็นทางสังคม ที่ต้องทำดี ให้จริง บ้านที่ไม่มีหลังคา หรือไม่มีประตูทางเข้า หรือไม่มีคานไม่มีเสา ฯลฯ เราก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นบ้าน และไม่สามารถ เข้าไปพัก อาศัย เพราะไม่สามารถกันแดดกันฝน ตลอดจนอาจพังทลายลงมาเมื่อไรก็ได้ฉันใด ระบบสังคมก็คล้ายคลึงกับบ้าน ซึ่งจำเป็นต้องมีโครงสร้างส่วนต่างๆ ที่จะกระทำหน้าที่ค้ำยันเชื่อมประกอบกัน เป็นระบบ สังคมที่มั่นคงแข็งแรง (เหมือนโครงสร้างแต่ละส่วนของบ้าน ที่ทำหน้าที่ค้ำยันและเชื่อมโยงกันจนประกอบเป็นตัวบ้าน) โครงสร้างแต่ละส่วนของบ้าน อาทิ หลังคาซึ่งทำหน้าที่กันแดดกันฝน เป็นต้น ภายใต้สถาปัตยกรรมของแต่ละวัฒนธรรม อาจจะมีรูปทรงที่แตกต่างกันไป หลังคาบ้านทรงไทยมีรูปลักษณะแบบหนึ่ง หลังคาบ้านทรงจีนหรือทรงยุโรป มีรูปลักษณะอีกแบบหนึ่ง ในขณะที่หลังคา ของตึกสูง ที่เป็นชั้นดาดฟ้า สามารถให้คนขึ้นไปวิ่งเล่นได้ ก็มีรูปลักษณะเป็นอีกอย่างหนึ่ง แตกต่างจากหลังคา ของบ้านพักอาศัยทั่วไป ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโครงสร้างส่วนที่เป็นหลังคาของบ้านพักอาศัยหรืออาคารต่างๆ จะมีรูปทรงภายนอก แตกต่างกัน แค่ไหน ก็ตาม แต่ก็ล้วน กระทำหน้าที่อย่างเดียวกัน คือช่วยกันแดดกันฝนให้คนที่เข้าไปพักอาศัยในบ้านหรืออาคารหลังนั้นๆ ถ้าออกแบบและก่อสร้างหลังคาบ้านไม่ดี เวลาฝนตกมีน้ำรั่วซึม ทำให้ข้าวของเสียหาย หรือถ้ามีพายุลมแรงพัด หลังคาบ้าน ให้ปลิวไปได้ทั้งหมด หรือตอนกลางวันก็ร้อนอบอ้าวจนเข้าไปพักอาศัยหลบแดดไม่ได้ ฯลฯ หากเป็นเช่นนี้ โครงสร้างส่วนที่กระทำหน้าที่เป็นหลังคาของบ้านหรืออาคารหลังนั้นๆ ก็ถือได้ว่ากระทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ จนส่งผลกระทบ ทำให้บ้านหรืออาคารดังกล่าว ดำรงความเป็นบ้านหรืออาคารที่จะให้ผู้คนเข้าไปพักอาศัยไม่ได้อย่างปรกติสุข โครงสร้างของระบบสังคมแต่ละสังคม ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับโครง-สร้างของบ้านหรืออาคารในสถาปัตยกรรมแบบต่างๆ โดยถึงแม้รูป ลักษณะภายนอก ของโครงสร้างทางสังคมแต่ละส่วน อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละอารยธรรม แต่ก็มี ความจำเป็นที่ทุกสังคมจะต้องมีโครง-สร้างซึ่งกระทำ หน้าที่สำคัญบางอย่างคล้ายกัน เพื่อรักษาความมีเสถียรภาพของ ระบบสังคมนั้นๆ ให้คงไว้ ในขณะที่ความโลภและความต้องการส่วนเกินความจำเป็นในชีวิตของมนุษย์ สามารถถูกปลุกเร้าให้ขยายตัวกว้างออกไป อย่างไม่มี ขอบเขตจำกัด แต่ทรัพยากรที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนในสังคมหนึ่งๆ มีจำนวนจำกัด ในกรณีเช่นนี้จึงกลายเป็นความจำเป็นที่ทุกสังคม จะต้องมีโครงสร้างสำคัญส่วนที่จะมากระทำหน้าที่ ช่วยควบคุมและจำกัด ความต้องการ ส่วนเกินความจำเป็นของผู้คนไม่ให้ขยายตัวมากเกินไป จนก่อให้เกิดการเบียดเบียนและทำร้าย ทำลาย ถึงขั้นเข่นฆ่ากัน เพื่อแย่งชิงทรัพยากร ที่มีปริมาณจำกัดเหล่านั้น ในทุกอารยธรรมของมนุษย์ที่ดำรงสืบทอดมาได้อย่างยืนยาวนานนับร้อยนับพันๆ ปี จะห็นได้ว่าล้วนแต่มีโครงสร้างของ สถาบันศาสนา เป็นแกน ของอารยธรรม ที่กระทำหน้าที่ช่วยอบรมกล่อมเกลาและควบคุมความโลภ หรือความต้องการ ส่วนเกินจำเป็นของผู้คนในสังคม ไม่ให้ขยายตัว มากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ ของระบบสังคมดังกล่าว ถึงแม้บางศาสนาจะดูเหมือนก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางสังคม โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครอง ในการควบคุม ให้ผู้คนส่วนใหญ่ ของสังคมยอมจำนนต่อชะตากรรมที่เป็นอยู่ และไม่มีจิตใจคิดต่อสู้แย่งชิง ความมั่งคั่ง จากชนชั้นปกครองก็ตาม (ดังคำอธิบาย ของสำนักมาร์คซิสม์) ตัวอย่างเช่น การแบ่งชั้นวรรณะตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ในสังคมอินเดีย ที่อบรมกล่อมเกลา ให้ผู้คนส่วนใหญ่ ของสังคม ที่เป็นวรรณะศูทร เชื่อว่าวรรณะของตนเกิดจากพระบาทของพระพรหม มีหน้าที่ต้องรับใช้ วรรณะอื่นๆ โดยไม่คิดจะลุกฮือขึ้นต่อสู้ เพื่อแย่งชิง ทรัพยากรและความมั่งคั่ง (ซึ่งเกิดจากแรงงานของตน) จากผู้คนส่วนน้อย ในวรรณะที่สูงกว่าและอยู่ดีกินดีกว่า ทั้งนี้ก็เพราะกลัวจะเป็น "บาป" ที่ไปฝ่าฝืนเจตจำนงของพระพรหมผู้สร้างโลก เป็นต้น แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นเพราะสังคมอินเดียมีโครงสร้างของสถาบันศาสนา ช่วยกระทำหน้าที่ควบคุม จำกัดความต้องการ ส่วนเกิน ความจำเป็น ของผู้คนส่วนใหญ่ ในสังคมเช่นนี้แหละ สังคมอินเดียจึงสามารถดำรงอยู่มาได้ อย่างยาวนาน หลายพันปี โดยไม่ล่มสลาย เพราะสงคราม แย่งชิงทรัพยากร (ทั้งๆ ที่อินเดียมีประชากรมากนับเป็นอับดับ ๒ ของโลก รองจากประเทศจีน (แต่มีทรัพยากรจำนวนจำกัด) เมื่ออารยธรรมทางวิทยาศาสตร์เข้ามากระทำหน้าที่อธิบายแก่นสารของชีวิต โลก และจักรวาล แทนที่ความเชื่อในศาสนา แบบเทวนิยม ซึ่งเป็นศาสนา ที่มนุษย์ส่วนใหญ่ ของโลกเคยศรัทธานับถือ แต่ในขณะที่อารยธรรม ทางวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถกระทำหน้าที่อบรมกล่อมเกลา และช่วยควบคุมความโลภหรือความต้องการส่วนเกินจำเป็น ของผู้คนได้ เหมือนศาสนาแบบเทวนิยมในอดีต ระบบสังคมภายใต้อารยธรรมทางวิทยาศาสตร์ของโลกปัจจุบัน จึงประสบกับปัญหาต่างๆ อันเนื่องจากขาดโครงสร้าง ที่จะสามารถ กระทำหน้าที่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการช่วยควบคุม ความต้องการส่วนเกินความจำเป็น ของผู้คน ไม่ให้ขยายตัวมากเกินไป สังคมภายใต้อารยธรรมของลัทธิวัตถุนิยม-บริโภคนิยมในโลกทุกวันนี้ จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการประสบกับความหายนะ เพราะสงคราม แย่งชิง ทรัพยากรที่มีจำกัด ระหว่างมนุษย์แต่ละชนชาติ ตึก World Trade ที่ถล่มลงมาเพราะถูกผู้ก่อการร้ายขับเครื่องบินพุ่งเข้าชน ก็คือสัญลักษณ์ของจุดเริ่มต้น แห่งความไร้ เสถียรภาพ ของระบบ สังคมมนุษย์ในโลกยุคโลกาภิวัตน์นี้ อันเกิดจากสงความแย่งชิงทรัพยากรซึ่งมีจำกัดของโลก ในรูปแบบ ที่ซับซ้อนขึ้น เพื่อตอบสนอง ความต้องการ ส่วนเกินความจำเป็นในการบริโภคของมนุษย์ ที่ถูกเร่งเร้าโดยลัทธิบริโภคนิยม ให้ขยายตัวออกไปอย่างไม่มีขอบเขต ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นทางสังคมที่จะต้องแสวงหาโครงสร้างที่จะมา กระทำหน้าที่ทดแทนโครงสร้างของศาสนา แบบเทวนิยม ในอารยธรรม เดิมของมนุษย์ เพื่อกระทำหน้าที่อบรมกล่อมเกลา และควบคุมความโลภ หรือความต้องการ ส่วนเกินจำเป็นของผู้คนให้ลดน้อยลง ถ้าเรียกความจำเป็นของโครงสร้างทางสังคมที่จะกระทำหน้าที่ส่วนนี้ว่า เป็น "การทำดี" ก็มีความจำเป็นทางสังคม ของยุคปัจจุบัน ที่จะต้องเร่ง "ทำดีให้จริง" เพื่อความอยู่รอดของระบบสังคมมนุษย์ และภายใต้อิทธิพลของอารยธรรมทางวิทยาศาสตร์ที่ครอบงำมนุษย์ปัจจุบัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับโครงสร้างของสถาบันศาสนา แบบเทวนิยม ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต บางที พุทธศาสนาภายใต้กระบวนการทัศน์แบบอเทวนิยมของชาวอโศก (ที่แตกต่างจาก พุทธศาสนากระแสหลัก ภายใต้ ลัทธิเถรวาท แบบเทวนิยมของสังคมไทย) อาจจะเป็นคำตอบของโครงสร้างใหม่ ที่จะกระทำ หน้าที่ทดแทน โครงสร้างของศาสนาแบบ เทวนิยม ในอดีต เพื่อกระทำหน้าที่ช่วยค้ำจุน ระบบสังคมปัจจุบัน ให้มีเสถียรภาพ มากขึ้นก็ได้ - ดอกหญ้าอันดับที่ ๑๒๑ กันยา-ตุลา ๒๕๔๘ - |