- ฝากตะวัน -
ไม่เสียใจ (NO REGRET) วัดอมราวดี ได้ส่งหนังสือธรรมะ (น่าจะเรียกแผ่นพับมากกว่า เพราะมีอยู่ประมาณ ๒-๓ คู่) มาให้ทุก ๒ เดือน ไม่ค่อยได้อ่าน เปิดดูแต่รูปประกอบ แล้วก็วางลง ฉบับล่าสุดนี่ ที่หน้าปกเห็นชื่อคนเขียนเป็นพระไทย รู้สึกสะดุดตา เลยลองอ่านดู เป็นบทความ ประจำฉบับที่ถอดความออกมาจากเทปคำบรรยาย ของพระฉายา ปัญนะสาโร ชื่อเรื่องว่า NO REGRET (ไม่เสียใจ) ท่านพูดถึงตัวท่านเป็นส่วนใหญ่ ย่อความได้ว่า รู้จักวัดอมราวดี ตอนที่ท่านมาเรียนหนังสือที่ลอนดอน เมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว ตั้งใจจะมาศึกษาด้านกฎหมาย แต่มาพบกับท่านสุเมโธเสียก่อน จับพลัดจับผลูบวชเป็นพระ ในสองสามปีให้หลัง ก่อนที่จะมาเป็นพระ ท่านก็ปฏิบัติธรรมด้วยการนุ่งขาวห่มขาว โกนศรีษะ ระหว่างนั้นได้รับข่าวไม่ดีจากเมืองไทยว่า มารดา ป่วยเป็นมะเร็ง ท่านจึงเดินทางกลับ และอยู่พยาบาลคุณแม่อย่างใกล้ชิด โดยยังอยู่ในชุดขาว และยังโกนหัวอยู่ จนกระทั่ง คุณแม่เสีย ท่านก็เลยตัดสินใจบวช ที่วัดป่านานาชาติ ความซาบซึ้งได้เกิดขึ้นอยู่ข้างในใจเรา เมื่ออ่านถึงความมุมานะและเจตนาดีที่ท่านพยายามทำทุกอย่าง เพื่ออยู่ในผ้าเหลือง เป็นพระที่เมืองไทย แต่ชะตากรรมกลับชักนำให้ท่านเดินทางกลับมาที่ลอนดอนอีกครั้ง และคราวนี้ท่านก็ประกาศว่า จะไม่ไปไหนอีกแล้ว จะทำงานเพื่อรับใช้ท่านสุเมโธและหมู่กลุ่ม ที่วัดอมราวดี เพราะท่านเห็นความก้าวหน้า และความเป็นปึกแผ่น มั่นคงของวัดมากกว่าแต่ก่อน ๑๕ ปีที่แล้ว ชายไทยคนหนึ่งเดินทางมาที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทุกวันนี้ท่านคือพระรูปหนึ่ง ที่ทำงานด้านจิตวิญญาณ ในรูปแบบ ที่เป็นตัวแทนของศาสนาพุทธ อยู่ที่วัดอมราวดี ๑๕ ปีที่แล้ว ตัวเองได้เดินทางมาที่ลอนดอน เจตนาเพื่อหาที่หลบพักชั่วคราว และศึกษาต่อ หวังจะกลับไปทำงานด้านศาสนา แต่ทุกวันนี้ ตัวเองก็ยังเป็นตัวกู ของกูอยู่ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นึกแล้วก็มองเห็นความไม่มีบทสรุปของตัวเอง เลยไม่แปลกใจว่า ทำไมเราถึงได้รู้สึกประทับใจในคำบรรยายของท่านปัญนะสาโร ไตร่ตรองว่าจะต้องหาทาง ไปกราบคารวะ สนทนาวิสาสะให้ได้ เพราะปกติเวลาเราไปวัด ก็ได้แต่ทำอาหารเจ ไปร่วมทำบุญ ไม่เคยคุยกับนักบวช นอกจากไต่ถาม ทุกข์สุข ตามธรมเนียมฝา-หรั่ง อีกทั้งคิดว่า เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง (แล้ว) ดังนั้น การที่เรายังไปวัดอยู่ ก็เพียงเพื่อ ปลอบใจตัวเองว่า ยังเป็นชาวพุทธ ที่ไม่ตกหล่นเท่านั้น และแล้ววันนั้นก็มาถึง วันที่เราไปปรากฏตัวที่วัดอมราวดีอีกครั้ง ก็ทำอาหารเจไปถวายตามปกติ แต่คราวนี้แทนที่จะเดินหนี ไปนั่งสมาธิในโบสถ์ เหมือนอย่างแต่ก่อน ก็นั่งอยู่ต่อ รอพระฉันอาหาร ระหว่างนั้น ก็สอบถามญาติโยม ที่นั่งใกล้ๆ ว่า องค์ไหนนะ ท่านปัญนะสาโร เขาก็ชี้บอกให้ เราก็เล็งเอาไว้ พอพระฉันเสร็จลุกขึ้น เราก็ลุกขึ้นเดินตามพระ ดักหน้าท่าน แล้วถามว่า ท่านปัญนะสาโรใช่ไหม - ใช่ โยมมีอะไร ก็บอกไม่มีอะไร ขอคุยหน่อยได้ไหม แค่ ๑๐ นาทีเท่านั้น ท่านบอกได้ ตอนนั้น มีพระฝรั่งอีกรูปหนึ่ง กำลังนั่งคุยกับโยมสูงอายุ (ชาวอังกฤษ) อยู่ สัมผัสจากรูปภายนอก ท่านดูเหมือนเป็นคนง่ายๆ มีเมตตาตามลักษณะของผู้มีศีล เราก็ไม่ได้อารัมภบทอะไร ยิงคำถามเลย เพื่อไม่ให้เสียเวลา # ทำไมท่านคิดจะอยู่ทำงานที่นี่ ไม่กลับไปเมืองไทย # ตอนเป็นพระอยู่ที่เมืองไทยรู้สึกยังไง # ท่านใช้เงินหรือเปล่า # มีพระผู้ใหญ่องค์ไหนบ้างที่ท่านให้ความนับถือ # ท่านเป็นพระหนุ่ม อยู่ไกลบ้านอย่างนี้ ผัสสะที่เจอจากการได้เห็น
ได้ยิน ได้ฟัง มีบ้างไหม แก้ปัญหายังไง * ที่นี่เน้นเรื่องการนั่งสมาธิ * รู้จักสันติอโศกไหม * เคยได้ยินตอนที่พระโพธิรักษ์ถูกจับหรือเปล่า * แล้วท่านทราบเรื่องอะไรบ้างที่เกี่ยวกับสันติอโศก # เป็นไปได้ไหมว่า ดิฉันจะได้มีโอกาสสัมภาษณ์ท่านสุเมโธ # ถ้าแค่ขอคุยล่ะ ตามประสาโยมสัตว์ผู้ยาก ขอคุยกับพระผู้รู้ # ท่านสุเมโธเน้นเรื่องมังสวิรัติไหม # มีพระหลายองค์ไหมที่เป็นมังสวิรัติ # ท่านล่ะ เป็นนักมังสวิรัติหรือเปล่า กราบลาท่านด้วยความสับสนนิดๆ นึกอนาจใจตัวเองในความที่เป็นคนไม่รอบคอบ และไม่เปิดกว้าง เพราะจริงๆ แล้ว เราเข้าใจผิด มาตลอดว่า พระทุกองค์ที่วัดนี้ ฉันอาหารมังสวิรัติ นอกจากคนที่มาเท่านั้น ที่เป็นบ้างบางคน ไม่ใช่เป็น ความผิดของพระ ที่โยมสับสน ตัวโยมเองต่างหาก ที่ชอบตั้งค่า และคาดหมายความเป็นไปได้ด้วยตัวเอง นั่งมึนอยู่พักใหญ่ๆ เพราะคิดไกลไปถึงว่าเสียเวลาเดินทางร่วมชั่วโมง เริ่มจากนั่งรถไฟใต้ดินมาต่อรถไฟบนดิน เพื่อออก นอกเมืองลอนดอน (Berk Hamstead) ต่อแท็กซี่อีกเพื่อตะกายให้ถึงวัด เป็นอย่างนี้มาร่วม ๑๐ปี นึกน้อยใจว่า ทำไม เราทำใจไม่ได้ แค่พระบอกว่า ไม่ได้เป็นมังสวิรัติ ก็มานั่งกลุ้มใจ ไตร่ตรองดูอีกพักใหญ่ๆ เริ่มต้นดูที่ตัวเองก่อน เราเป็นใคร มาจากไหน ยังมักมากในเรื่องโลกย์ๆ ยังชอบแต่งตัว ชอบไปเที่ยว อย่างที่คนโลกย์ๆ เขาทำกัน แต่ท่านกลับละทางโลก เพื่อมีชีวิตที่เรียบง่าย เป็นรูปธรรมให้คนทั่วไปได้เห็นค่าของความ เป็นชาวพุทธ อีกทั้งท่านก็มีจิตมุ่งมั่น ในการเข็นกงล้อ ธรรมจักร เป็นรูปธรรมและนามธรรมที่เด่นชัด มีอานุภาพและประสิทธิภาพมากพอ ที่จะเทศน์ให้คนโลกย์ๆ อย่างเรามาวัด เพื่อดูหน้าท่าน แล้วอย่างนี้ ใครมันจะแน่กว่ากัน หายไปครึ่งหนึ่งแล้วในความสับสน เหลืออีกครึ่ง ซึ่งกำลังจะละลายคลายตัวอยู่ในเร็วๆ นี้ นั่นคือความมั่นใจและ สบายใจว่า เมื่อ ๒๒ ปีที่แล้ว เราได้ปวารณากับตัวเองว่า จะยึดถือพ่อท่านพระโพธิรักษ์เป็นครู ผู้ให้ความรู้ และจิตวิญญาณใหม่ ของเราตลอดไป คำสัญญานั้น ดูเหมือนยังเป็นไปได้อยู่ ในขณะเดียวกัน กลับช่วยตอกย้ำมากขึ้นว่า เราสัญญา ถูก - ถูกคนแล้ว "เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง" - ดอกหญ้าอันดับที่ ๑๒๑ กันยา-ตุลา ๒๕๔๘ - |