- อัตถ์ พึ่งประยูร -

โรงเรียนอารมณ์

บทที่ ๑ โรงเรียนนี้มีหลักสูตรฝึกคนให้มีความอดทนเป็นสรณะ
ยึดถึอกฎเกณฑ์ของสังคมอย่างเหนียวแน่น มีระเบียบ
ไม่ใช้ความประพฤติต่ำๆ ที่สั่งมาจากสมองส่วนหนึ่งสร้างความทุกข์ให้สังคม
ฝึกด้วยการศึกษาค้นหาความผิดชอบชั่วดีด้วยตนเอง รำลึกถึงคำสั่งสอนของพ่อแม่ ครูอาจารย์ไว้
ไม่ต้องเสียเงินซื้อตำรา ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางให้ลำบากกาย
แบ่งจิตเป็นสอง จิตหนึ่ง แปรปรวน ต่ำช้า สกปรก
อีกจิตหนึ่งคือจิตใต้สำนึก เสมือนกัปตันเรือนำเรือสู่จุดหมายโดยง่าย
จิตนี้จะคอยระวัง เตือนไม่ให้อีกจิตหนึ่งประพฤติชั่ว
สำนึกถึงผลที่ได้จากการก่อความชั่วมีผลอย่างไร?
กระทบคนรอบข้างแล้วสะท้อนกลับสู่ตนอีกไหม?
โดยเฉพาะกับครอบครัว บุพการี
การจัดระเบียบให้ชีวิตเหมือนส่งจิตเข้าโรงเรียน

จิตจะรับด้วยความอึดอัด แบ่งรับแบ่งสู้ เพราะปฏิบัติการไร้แบบแผน ไร้ระเบียบมาจนเคยชิน เมื่อถูกชักนำให้เข้าแถวบ่อยขึ้น ความเคยชินต่อข้อบังคับของโรงเรียนจิตจะรับได้ รับด้วยความสุขที่ได้ปฏิบัติ ความเหลวไหลที่เคยยึดมานานจะถูกสลัดทิ้ง

กลายเป็นคนมีระเบียบที่สังคมปรารถนาปรบมือให้

บทที่ ๒ ศึกษาอารมณ์ตนเอง ยึดมั่นในบทเรียนที่ ๑ อย่างแน่วแน่ ที่ย้ำบทที่ ๑ อีกครั้งก็เพราะอารมณ์ที่อ่อนไหวและแรกเริ่มมักจะขาดความอดทน ดิ้นออกนอกแนว
เป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จในการปรามอารมณ์ร้ายที่แปรปรวน
ต้องปรับกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ด้วยความอดทนเสียก่อน
เช้าตรู่ แสงทองจับขอบฟ้า ไก่ขันรับอรุณ เป็นกิจวัตรฉันใด
กิจวัตรของอารมณ์ต้องขานรับทั้งภาพและเสียงไก่ไว้ในจิตที่ปรับแล้วเป็นอันดับแรก
อีกภาพหนึ่ง ก่อนไก่ขัน ไก่จะตีปีก โก่งคอส่งเสียง เอ้กอีเอ้กเอ้ก ทีท่าสง่างามยิ่ง

มนุษย์ไม่มีปีก ต้องตีตน ฉุดตน ดึงตน แก้ไขความสับสนที่เกิดเพราะเป็นผู้ก่อ เป็นบทที่ต้องตีให้แตก จึงจะได้รับอานิสงส์ที่เกิดขึ้น คือความสุข สงบ ไร้ความเศร้าหมอง

ละชั่ว ประพฤติดี คือมโนคติประจำกายที่ 'บริสุทธิ์ผุดผ่อง' เป็นน้ำใสในสายธารของโรงเรียน

พระพุทธองค์ตรัสว่า การจะเห็นทุกข์ให้ละเอียดนั้นยาก เนื่องจากชาชินอยู่กับอารมณ์แห่งความบีบคั้น เมื่อพินิจอารมณ์ของตนไม่พบ คืออ่านไม่ออก แล้วไม่คิดแก้ไขปรับเปลี่ยน จึงไม่สามารถมองผ่านเส้นผมที่บังภูเขาอยู่

ชีวิตจึงวนเวียนอยู่แต่ในยามวิกาลคืนแล้วคืนเล่า
แม้กลางวันผ่านมา จนนกกาออกหาอาหารใส่ท้อง ชีวิตที่วิบัติก็มองไม่เห็นสภาพนั้น
มืดมิดเหมือนอยู่ใต้ดินทรายฝังกลบ กว่าจะหลุดพ้น ก็ขาดอากาศหายใจ เสียชีวิต

บทที่ ๓ ปรับอารมณ์ บางชีวิตไม่รู้ว่า 'อารมณ์' คือ 'วังน้ำวน' ที่ฉาบฉวยอยู่ ทั้งภายนอกและภายใน วนเวียนอยู่รอบตัว ทุกวี่ทุกวัน ลืมตาขึ้นก็นำอารมณ์ (ร้าย) ออกอาละวาด ดุจแม่เสือกระหายภักษาหาร ตั้งท่าตะปบเหยื่อด้วยท่าที กิริยา น่าเกรงขาม

ไม่มีใครกล้าเข้าหน้าก็อย่าแปลกใจหรือฉงน
คิดให้กว้าง อ่านอารมณ์เสียก่อนไก่ขัน
ความสงบและบรรยากาศรุ่งอรุณจะช่วยให้เห็นอารมณ์เป็นตำราเล่มใหญ่ที่ต้องอ่าน
อ่านแล้วต้องพิจารณา ขัดเกลาสิ่งน่ากลัวน่าเกลียดออกเสีย
การอ่านต้องใช้เวลาเช่นเดียวกับการ 'ปรับอารมณ์' เหมือนกัน

ทุกครั้งที่ได้ยินจิ้งจกร้องทัก ให้นึกถึงตนเองว่าได้หว่านสิ่งใดลงไปสร้างความ ไม่สบายใจให้ผู้ใกล้ชิดหมดศรัทธา ลูกหลาน ไม่ยอมเข้าหน้าเพราะอารมณ์ร้ายของเรา

ฝึกสั่งตน มองเหรียญสองหน้า หน้าหนึ่งดี หน้าหนึ่งเลว ด้านเลวคว่ำไว้ นำด้านดีมาใช้กับครอบครัว ญาติมิตร

แน่นอน อารมณ์ที่ 'ปรับ' แล้ว จะสดใสบริสุทธิ์ ท่ามกลางแสงสีส้มของดวงตะวันส่องมาสู่ขอบฟ้า เตือนว่าวันใหม่จะมาถึง ในไม่ช้านี้ วันใหม่ที่เราจะนำอารมณ์ใหม่มาสู่สังคม

พลโลกทั้งหลายจงปฏิบัติดี ละชั่ว เห็นใจคนที่อยู่ระดับต่ำกว่าเรา
รู้ว่าชีวิตนั้นมีสูงมีต่ำ มีบุญทำกรรมแต่ง ให้พบสุขโดยไม่พบทุกข์นั้นไม่มี

พระพุทธเจ้าเองก็ทรงพบทุกข์มามากมาย กว่าจะดับทุกข์ได้ พระองค์ทรงต้องใช้เวลาพอสมควร คำสั่งสอนของ พระองค์จึงมีมากถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์

อารมณ์ที่หมุนเวียนราวพายุร้ายดับได้ หากเจ้าของเข้ารับการอบรมหรือเข้า โรงเรียนอารมณ์ นักเทศน์ นักวิชาการ พร้อมภาพ ตัวอย่างที่สังคมชั่วร้ายก่อขึ้นจะร่วมกันผลักดัน รวมกันเป็นตัวอย่างให้นักเรียนศึกษารู้ดี ทิ้งชั่ว กลัวมากกว่ากล้า (กล้าทำชั่ว)

โรงเรียนแห่งนี้จะมีหลักสูตรหลากหลาย ไว้ดับกิเลสหรือดับอารมณ์ชั่ว แนะแนว กลั่นกรองไม่ให้หลงผิด คาดผิด คิดผิด หลงเข้าใจว่า การทำชั่วครั้งนี้พ้นมือกฎหมาย

วิบากกรรมคอยอยู่ เมื่อถูกจับก้มหน้า สำนึกคร่ำครวญว่า "ไม่ควร ไม่ควรเลย"

โรงเรียนอารมณ์จะสอนให้คิดก่อนทำ อย่าล้ำเส้น คิดให้เป็น จะเห็นความสุขตลอดชีวิต

คิดชั่วเมื่อกรรมตามมาทันนั่นแหละ หนี้ต้องชดใช้ สิ้นอิสระ สิ้นอนาคต แทรกแผ่นดินได้ก็จะขอแทรกหนีความผิดไป ได้เท่า กระผีกลิ้นหรือเปล่าล่ะ ความอับอายเท่านั้นลุ้นระทึกอยู่ในจิต

ถามว่า "กรรมคืออะไร"
ตอบว่า "กรรมคือรอยเกวียน บดทับทางเดินชีวิตที่สร้างไว้" สร้างดีก็รับวิบากดี สร้างเลวก็รับวิบากเลว ไม่สามารถหลีกหนี เมื่อรอยกรรมบดทับ อานิสงส์เกิดทันที คือความเปลี่ยนแปลงในชีวิต เทวดาองค์ใดลิขิตให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้หรอก

การใช้หนี้กรรมมันปวดร้าวทรมาน อึดอัดและอับอาย หมดอนาคต
ขอจบด้วยรอยยิ้ม อย่างปีติสุข จบลงด้วย ฝ่ามือสองคนยื่นออกมาสัมผัสกระชับมั่นต่อกันและกันชั่วชีวิต

เมื่อจบโรงเรียน 'อารมณ์' จะไม่มีศัตรูเข้ามาระรานชีวิต ฝ่ามือที่สัมผัสกระชับมั่นนั้นคือสัญลักษณ์ของ 'ไมตรี' ที่มนุษย์ควรมี ต่อมนุษย์

มีบ้างไหม เมื่อสองมือกระชับมั่น แต่ใบหน้าปราศจาก 'รอยยิ้ม' ที่พิมพ์ประทับใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

จบหลักสูตรโรงเรียนที่ยังเป็นเพียงในฝัน....

- ดอกหญ้าอันดับที่ ๑๒๑ กันยา-ตุลา ๒๕๔๘ -