ธรรมะกับการเกษตร
- สมณะเสียงศีล ชาตวโร -

ตุฏฺฐี สุขา ยา อิตริตเรน
ความยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ นำความสุขมาให้

คนเราถ้ารู้จักยินดีในสิ่งที่ตนมี ขยันหมั่นเพียร ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยก็จะไม่ยากจน แต่ปัจจุบันปัญหาของเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของแผ่นดินกำลังอยู่ในฐานะลำบาก เกษตรกรแทบทุกครอบครัวเป็นหนี้ทั้งในระบบ และนอกระบบ ครอบครัวละมากๆ หลายครอบครัวต้องขายที่ดิน ทำกินเพื่อเอามาใช้หนี้ แล้วไปเช่าที่ไร่ที่นาจาก นายทุนทำกิน ยิ่งเจอปัญหา ฝนแล้ง น้ำมันแพง ปุ๋ยแพง แมลงลง ยิ่งแทบจะหมดเนื้อหมดตัวไปเลย

เหตุที่เกษตรกรอยู่ในฐานะยากจนดังกล่าว ก็เพราะส่วนใหญ่ยังติดค่านิยมที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย เป็นทาสคำโฆษณาชักชวน ให้ซื้อทุกอย่าง ตั้งแต่เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ทีวี โทรศัพท์มือถือ เครื่องอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ ฯลฯ แต่ต้องมาลำบาก ทีหลัง หนี้สินพอกพูน ด้านอาชีพก็ไม่พึ่งตนเอง ต้องจ้างตั้งแต่ต้นจนสุดท้าย เช่น ทำนาก็จ้างไถ จ้างหว่าน จนเก็บเกี่ยว ปุ๋ย ยาก็ต้องซื้อ ต้นทุนจึงสูง ผลผลิตที่ได้เป็นตัวเงินก็เหลือน้อย บางที ไม่คุ้มกับที่ลงทุนก็มี เพราะราคาผลผลิตไม่แน่นอน เกษตรกรไม่สามารถกำหนดเองได้ ปัญหาเหล่านี้เป็นมาช้านานแล้ว ยังหาหน่วยงานของรัฐช่วยแก้ปัญหาความยากจน ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรได้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้น้อยมาก

วิธีที่จะแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้ดีที่สุด เท่าที่เคยมีประสบการณ์มาคือ การให้การศึกษาหรือการฝึกอบรม ต้องให้ความรู้คู่คุณธรรม คนเราถ้าจิตใจดี มีคุณธรรม ทุกอย่างก็จะดีไปหมด ถ้ามีคุณธรรม ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ก็จะน้อยลง รู้จักช่วยเหลือกันมากขึ้น เกิดความสามัคคีในหมู่กลุ่ม มีการร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทุกวันนี้ น้ำจิตน้ำใจของ ชาวบ้านที่เคยมีมากก็ลดน้อยลง กลายเป็นความแล้งน้ำใจ จะเห็นได้จากปัญหาการแย่งน้ำ การปิดกั้น ทางเดินผ่านที่ทางของตน ไปยังไร่นาของคนอื่น ฯลฯ

การอบรมในเรื่องคุณธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องอาชีพ และการอบรม จะได้ผลต้องเอาคนรู้จริง ทำได้จริง มาเป็นครูฝึกหรือวิทยากร "เพราะตัวอย่างที่ดีมีค่ายิ่งกว่าคำสอน" ยกตัวอย่างเช่น จะสอนคนเลิกดื่มเหล้า เลิกสูบบุหรี่ คนสอนจะต้องเลิกให้ได้เด็ดขาดเสียก่อน หรือจะสอนเรื่องเกษตรอินทรีย์ก็ต้องทำเกษตรอินทรีย์ประสบผลสำเร็จมาก่อน จึงจะอบรมคนอื่นได้ ผู้เข้าอบรมจะเกิดความมั่นใจเพราะมีตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน

สิงห์บุรีเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวมาตั้งแต่อดีต แต่ปัจจุบันในน้ำไม่มีปลา ในนามีแต่น้ำเน่า เพราะสารเคมี ที่เกษตรกรใช้ติดต่อกันมานานได้ทำลายสิ่งแวดล้อม น้ำเน่าน้ำเสีย ปลาตายจนเป็นข่าวดังไปทั่วอยู่ทุกวันนี้

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี คุณจุฑามาส ประทีปะวณิช และท่านรองผู้ว่าฯวีรศักดิ์ ร่วมกับ เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล จึงจัดให้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตร ที่ได้มาตรฐาน และ ปลอดภัย โดยใช้สถานที่และวิทยากรของชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน อ.อินทร์บุรี จัดอบรมครบทุกอำเภอ ทุกตำบล รวม ๗ รุ่น รุ่นละ ประมาณ ๑๕๐ คน คัดเลือกแกนนำของเกษตรกรที่สนใจเข้าอบรม ใช้เวลาอบรมรุ่นละ ๒ วัน

วันสุดท้ายของการอบรมจะมีการจัดตั้งกลุ่ม เลือกประธาน รองประธาน และถามความสมัครใจผู้เข้าอบรม ว่าจะเริ่มทำ เกษตรอินทรีย์กันกี่คน ปรากฏว่ามีผู้สมัครทุกตำบล บางตำบลสมัครใจเกือบทุกคน เช่น ต.ม่วงหมู่ ต.คอทราบ ต.โพทะเล ฯลฯ

เสร็จการอบรมครบทุกรุ่นแล้ว ก็มีการติดตามผล ออกเยี่ยมสมาชิกที่ผ่านการอบรมไปแล้ว โดยทางชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน ร่วมกับท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ไปดูพื้นที่ของเกษตรกร ช่วยแก้ปัญหาและหาทางออก เรื่องการตลาดให้เกษตรกรอย่างครบวงจร ทำให้เกษตรกรมีกำลังใจและมีความหวังมากขึ้น แนะนำให้เกษตรกรรู้จักพึ่งตนเอง รู้จักทำบัญชีรับ-จ่าย ลด ละ เลิกอบายมุขแล้วเศรษฐกิจในครอบครัวก็จะดีขึ้น หนี้สินและความยากจนก็จะหมดไป ทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยความจริงใจ และความตั้งใจจริงของทุกๆ ฝ่าย การช่วยเกษตรกรก็จะประสบผลสำเร็จ ประเทศชาติก็จะมั่นคง ผู้ผลิตและผู้บริโภคก็จะปลอดภัย

นี่คือที่มาของการ ฝึกอบรม โครงการ ส่งเสริมการผลิตสินค้า เกษตรที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยของจังหวัดสิงห์บุรี ที่ชมรม เพื่อนช่วยเพื่อน อ.อินทร์บุรี เราจะนำองค์ความรู้ของปราชญ์ ชาวบ้านที่ได้เชิญมาบรรยายให้ความรู้เกษตรกร มาถ่ายทอด ในบทความ ธรรมะกับการเกษตรเป็นตอนๆ ในโอกาสต่อไป

- ดอกหญ้าอันดับที่ ๑๒๑ กันยา-ตุลา ๒๕๔๘ -