ความน่ากลัวของสิ่งที่เรียกว่า
"สุข" - อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง - ธรรมสวัสดี เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เก็บความมาจากปุณโณวาทสูตร ในพระสุตตันตปิฎก พระสูตรนี้กล่าวถึงพระปุณณะเถระ ผู้เป็น พระสาวก ผู้ใหญ่องค์หนึ่ง ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คงจะเป็นที่ทราบกันว่า ในสมัยพุทธกาลนั้น เมื่อพระพุทธสาวกองค์ใด ตั้งใจที่จะออกไปปฏิบัติวิเวกตามลำพังแต่ผู้เดียว โดยมีจิตมุ่งต่อพระนิพพาน ก่อนจะไปก็จะต้องไปกราบทูลลาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า และขอประทาน พระพุทธโอวาท เพื่อนำไปเป็นหลักใจหรือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ว่าควรจะพิจารณาใคร่ครวญในเรื่องใดเป็นสำคัญ พระองค์ก็จะโปรดประทานให้ตามแต่จะทรงเห็นควร ท่านพระปุณณะเถระก็เช่นกัน เมื่อท่านประสงค์จะออกไปแสวงหาความวิเวกสงบสงัด ก็ได้เข้าไปเฝ้าสมเด็จ พระผู้มีพระภาคเจ้า ขณะประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดสั่งสอนข้าพระองค์ด้วยพระโอวาทอย่างย่อๆ พอที่ข้าพระองค์ ได้สดับธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จะปลีกตัวออกไปอยู่ตามลำพัง ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมุ่งพระนิพพานอยู่" สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พูดถึง ติดใจรูปนั้น ความยินดีย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ ผู้เพลิดเพลิน พูดถึง ติดใจรูปนั้น เพราะความยินดีเกิด เราจึงกล่าวว่าทุกข์เกิด นะปุณณะ" นี่เป็นพระดำรัสย่อ ประโยคสำคัญก็คือ "เพราะความยินดีเกิด ทุกข์เกิด" สังเกตไหม ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงปรารถนาที่จะตักเตือนพระพุทธสาวกของพระองค์ทุกคนทุกขณะทีเดียว ให้สำนึกว่า ความยินดีเกิด ทุกข์เกิด ความยินดีคืออะไร องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานพระโอวาทในเรื่องนี้ ก็เพราะคนเรามักจะมีความระมัดระวัง ที่จะไม่เข้าใกล้ ความทุกข์ เกลียดกลัว ความทุกข์ เพราะรู้ว่ามันทำให้เกิดความไม่สบายใจ ความหมองหม่น มันทำลายความสดชื่น เบิกบาน ในชีวิต แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เรียกกันว่า "ความสุข" ละก็ อดไม่ได้ที่จะผวาเข้าไปหา แล้วก็ตกเป็นทาสของมันอย่างง่ายดาย ในชีวิตของเราทุกวันนี้ ถ้าพิจารณาดู ก็จะเห็นว่าชีวิตได้ตกเป็นทาสของสิ่งที่เรียกว่าความสุขหรือสุขเวทนา โดยไม่เคยสำนึกว่า นี่แหละคือศัตรู ทั้งๆ ที่มันเป็นศัตรูที่น่ากลัว ที่อันตรายมาก เป็นมายาที่ล่อลวงให้หลง ให้ติด ดังนั้น เมื่อท่านพระปุณณะกราบทูล ขอประทานพระพุทธโอวาทโดยย่อ พระองค์ จึงไม่ตรัสถึงเรื่องทุกข์ แต่ตรัสตรงไปยัง จุดสำคัญ ที่จะต้องพิจารณาและแก้ไขให้มลายไปให้ได้ คือ การติดสิ่งที่เรียกว่าความสุข "ถ้าหากว่าความยินดีเกิด ทุกข์เกิดขึ้นนะ" พระองค์รับสั่งอย่างนี้ ถ้าพูดอย่างธรรมดาก็ว่า ถ้าติดสุขเมื่อไหร่ ทุกข์เกิดเมื่อนั้น ความยินดีเกิดที่ไหน เริ่มต้นด้วยรูป ถ้าเห็นรูปที่ถูกใจแล้วนึกชอบ แหม! สวยจริง มีความยินดี เพลิดเพลิน พอใจ หลงใหล ติดใจ ในรูปนั้น นั่นแหละทุกข์เกิด เช่นเดียวกัน เมื่อหูได้ยินเสียง รู้แจ้งด้วยโสต โอ้! เสียงนี้ช่างไพเราะจับใจ เกิดความยินดี เพลิดเพลิน พอใจ ติดใจในเสียงที่น่าใคร่ น่าหลงใหล เป็นที่รักที่พอใจนั้น ยินดีเกิด ทุกข์เกิด หรือในเรื่องของกลิ่นที่ถูกใจ จรุงใจ พึงพอใจ ยินดีเกิด ทุกข์เกิด ในรสที่เอร็ดอร่อยถูกปากถูกลิ้น ก็เพลิดเพลิน ยินดี หลงใหล ติดใจในรสนั้น ยินดีในรสก็ทุกข์อีกเหมือนกัน เพราะอยากจะกินอีก อยากกินรสนั้นบ่อยๆ ให้ใครทำก็ขอให้ได้อร่อยอย่างนั้น พอผิดเพี้ยนไปก็ทุกข์แล้วใช่ไหม ท่านจึงว่า ยินดีเกิด ทุกข์เกิด ยินดีในสัมผัสก็เช่นเดียวกัน ได้รับสัมผัสที่อ่อนโยน นุ่มนวล ถูกอกถูกใจ ทุกข์ก็เกิดอีกเหมือนกัน เพราะจะเกิดความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจ ในสัมผัสอย่างนั้น เรียกร้องที่จะได้สัมผัสอย่างนั้นอีก ความอยากได้นั้นนำไปสู่อุปาทาน ความยึดมั่น ถือมั่น แล้วก็หมักดอง ไว้เป็นภพ เป็นชาติ ลงเอยด้วยความทุกข์ เพราะมันไม่มีอะไรจะได้อย่างใจเลย สักอย่างเดียว เช่นเดียวกับความรู้แจ้งทางใจ ถ้าเกิดความเพลิดเพลินในธรรมารมณ์ซึ่งกระทบเข้ามาที่ใจ เกิดความปรารถนา ความใคร่ ความพอใจ ความหลงใหล ยินดีในธรรมารมณ์นั้น ก็ทุกข์เกิดอีกเหมือนกัน ยินดีเกิดทุกข์เกิด ยินดีดับทุกข์ดับ ฉะนั้น ถ้าไม่อยากให้ทุกข์เกิด ก็ต้องอย่าให้ความยินดีเกิด ดับความยินดีให้ได้ พอเกิดความเพลิดเพลินยินดีในรูป อย่าติดใจ อย่าหลงใหล อย่าพูดถึง เห็นทันทีว่ามันมีแต่ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรคงทนอยู่ได้ ไม่มีอะไร เป็นตัวตน ให้ยึดมั่นถือมั่นได้เลยสักอย่างเดียว จะต้องบอกตัวเองอย่างนี้ แล้วทุกข์ก็จะดับ เช่นเดียวกัน เมื่อได้ยินเสียงที่ถูกอกถูกใจ ชวนให้เพลิดเพลิน ชวนให้รักใคร่หลงใหล ติดใจ ก็ไม่ติดใจ ไม่พูดถึง เพราะเห็น ทันท่วงทีด้วยสติและปัญญาว่า เป็นเพียงสิ่งสักว่าเท่านั้นหนอ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ฉะนั้น เมื่อความยินดีในเสียงดับ ทุกข์นั้นก็ดับ เช่นเดียวกับความยินดีในกลิ่น เมื่อเกิดขึ้นก็ตัดทันที เห็นเป็นเพียงสิ่งสักว่า เป็นเพียงกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ติดใจ ไม่พูดถึง ไม่ หลงใหล ความยินดีในกลิ่นดับ ทุกข์ก็ดับอีกเหมือนกัน เมื่อความยินดีในรสเกิด ก็ไม่ยอมเพลิดเพลิน ไม่ยอมปรารถนา ไม่ยอมหลงใหล เพราะเห็นทันด้วยสติปัญญาว่า มันเป็นเพียง สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ปล่อยได้ทันที ความยินดีในรสดับ ทุกข์ก็ดับ ความยินดีในสัมผัสก็เหมือนกัน จะรับสัมผัสที่อ่อนนุ่ม อ่อนโยน ชวนให้น่าปรารถนาเพียงใด อ๋อ! มันเป็นเพียง สิ่งสักว่า เท่านั้นเอง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่มีตัวตนให้ยึดมั่นถือมั่น ความยินดีในสัมผัสนั้นก็ดับ ทุกข์ก็ดับไปด้วย มีธรรมารมณ์ผ่านมาทางใจ กระทบเข้าก็ไม่ยินดีในธรรมารมณ์นั้น เพราะเห็นทันท่วงทีว่าเป็นเพียงสิ่งสักว่าธาตุตามธรรมชาติ ความยินดีในธรรมา-รมณ์ดับ ทุกข์ก็ดับ นี่เป็นพระพุทธโอวาทที่ย่อมาก ทรงสอนว่ายินดีเกิด ทุกข์เกิด ยินดีดับ ทุกข์ดับ ทุกข์เกิดและดับในทุกกรณีของผัสสะ ที่เกิดขึ้น ทางอายตนะภายในและอายตนะภายนอกที่เป็นคู่ของมัน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ฉะนั้น เราก็สามารถจะนำมาใช้เตือนใจตนเองได้ว่า ยินดีเกิด ทุกข์เกิดนะ ยินดีในรูป ทุกข์เกิด ยินดีในเสียง ทุกข์เกิด ยินดี ในกลิ่น ทุกข์เกิด ยินดีในรส ทุกข์เกิด ยินดีในสัมผัส ทุกข์เกิด ยินดีในธรรมารมณ์ ทุกข์เกิด แล้วจะดับได้อย่างไรล่ะ ก็ดับความยินดีเสียสิ ความยินดีดับ ทุกข์ก็ดับ ยินดีในรูปดับ ทุกข์ดับ ยินดีในเสียงดับ ทุกข์ดับ ยินดีในกลิ่นดับ ทุกข์ดับ ยินดีในรสดับ ทุกข์ดับ ยินดีในสัมผัสดับ ทุกข์ดับ ยินดีในธรรมารมณ์ดับ ทุกข์ดับ พิจารณาสองอย่างให้ตรงกันข้ามอยู่อย่างนี้เสมอ เท่านี้เองทุกข์ดับได้ เหมือน กับที่ทรงรับสั่งในตอนท้ายว่า "ดูก่อนปุณณะ มีธรรมารมณ์ที่แจ้งด้วยมโน (ก็คือใจ) อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ติดใจ ธรรมารมณ์นั้นย่อมดับไป เพราะความยินดีดับ เราจึงกล่าวว่าทุกข์ดับ นะปุณณะ" ถ้าท่านผู้ใดรู้สึกว่าไม่อยากทำความเข้าใจเรื่องอะไรมากๆ ยาวๆ ก็ลองพิจารณา พระพุทธโอวาทนี้ดู แล้วนำมาใคร่ครวญ อยู่ในใจเสมอ แรกๆ อาจจะเป็นการพูดหรือท่องจำไว้ก็ได้ นานไปก็จะค่อยๆ เข้าใจซาบซึ้งมากเข้าจนซาบซ่านอยู่ในใจ ไม่ต้องท่อง ไม่ต้องคิด ไม่ต้องพูด มันก็ผุดพุ่งขึ้นมาในใจได้ตลอดเวลา แล้วก็จะมีความรู้สึกชัดขึ้นๆๆ จนผลที่สุดความรู้สึก ที่เคยเห็นว่า "สุข" ซึ่งสมมุติเรียกกันนั้น เป็นสิ่งน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ก็จะค่อยๆ หมดไปทีละน้อยๆ ความสุขสงบเย็น ที่แท้จริงก็จะเข้ามาแทนที่ ธรรมประจำใจผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม "ดูก่อนปุณณะ ก็เธออันเรากล่าวสอนด้วยโอวาทย่อๆ นี้แล้ว จะไปอยู่ที่ถิ่นไหน" ต่อไปนี้ก็น่าสนใจเหมือนกัน เพราะจะเป็นเครื่องเตือนใจ ให้กำลังใจแก่เรา ผู้หวังจะประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์ ท่านพระปุณณะก็กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีชนบทชื่อสุนาปรันตะ เป็นชนบทที่ห่างไกล นี่แหละเป็นที่ที่ข้าพระองค์ จักไปอยู่" พระพุทธองค์ก็รับสั่งว่า "ดูก่อนปุณณะ พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท ได้ยินว่าดุร้าย หยาบช้านักหนา แล้วถ้าพวกมนุษย์ ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษเธอ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์นั้น" สังเกตนะ พระองค์ทรงใช้คำว่า "เธอจักมีความคิดอย่างไร" มิได้ทรงใช้ว่า เธอจักรู้สึกอย่างไร เธอจักมีความคิดอย่างไร ในมนุษย์เหล่านั้น ถ้าเขาบริภาษเธอโดยไม่มีเหตุ ท่านพระปุณณะก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ มีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้" พระองค์ก็รับสั่งถามต่อไปว่า "ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตะจักใช้ฝ่ามือตบตีเธอ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น" ท่านพระปุณณะก็กราบทูลว่า "ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนี้ว่า ดีนักหนา ที่เขาไม่ใช้ก้อนหินขว้างปาเรา พระเจ้าข้า" พระองค์ก็รับสั่งถามต่อไปอีกว่า "ก็ถ้าเขาใช้ก้อนหินขว้างปาเธอล่ะ เธอจักมีความคิดในมนุษย์พวกนี้อย่างไร" ท่านพระปุณณะก็กราบทูลว่า "ข้าพระองค์ก็จักมีความคิดว่า มนุษย์ชาวสุนาปรันตะนี้ยังดีนะ ที่เขาไม่ใช้ท่อนไม้ทุบตีเรา พระเจ้าข้า" พระองค์ก็รับสั่งถามต่ออีกว่า "ก็ถ้าหากเขาใช้ท่อนไม้ทุบตีเธอล่ะ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนี้" ท่านพระปุณณะก็กราบทูลว่า "ข้าพระองค์ก็จักมีความคิดในมนุษย์พวกนี้ ว่า ยังดีนักหนาที่เขาไม่ได้ใช้ศาสตรา ประหัตประหารเรา พระเจ้าข้า" "ก็ถ้าหากว่าเขาใช้ศาสตราประหัต-ประหารเธอล่ะ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนี้" "ข้าพระองค์ก็จักมีความคิดว่า ยังดี นักหนาที่มนุษย์ชาวสุนาปรันตะไม่ปลิดชีพเราเสียด้วยศาสตราอันคมพระเจ้าข้า" ก็ทรงรับสั่งถามต่อไปอีกว่า "ก็ถ้ามนุษย์พวกนี้จักปลิดชีพเธอเสียด้วยศาสตราอันคมเล่า เธอจักมีความคิดอย่างไร ในมนุษย์พวกนี้" ท่านพระปุณณะก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์เหล่านั้น
ดังนี้พระเจ้าข้า" เป็นอย่างไร ฟังแล้วรู้สึกซาบซึ้งไหม แล้วลองย้อนกลับมานึกถึงตัวเรา เราจะทำได้อย่างนี้ไหม ไม่ต้องถึงขนาดขั้นสุดท้ายหรอก เพียงแค่เขาด่าว่า จะทนได้ไหมที่จะคิดว่า ดีกว่าที่เขาจะใช้ฝ่ามือตบตีเรา เป็นสิ่งที่ชวนคิดนะ พระพุทธองค์ทรงฟังท่านพระปุณณะกราบทูลดังนั้น ก็ทรงรับสั่งว่า "ดีละ ดีละปุณณะ เธอมีทมะคือความข่มใจ และความสงบรำงับนี้แล้ว เธออาจอยู่ในสุนาปรันตะได้แล เธอจง กำหนดเวลา ในการเดินทางไปได้แล้ว" ความข่มใจคืออะไร ก็คือ ทมะ ความข่มใจอย่างยิ่งยวดที่จะไม่โกรธตอบ คือไม่มีโทสะจากการที่ถูกกระทบกระแทก เบียดเบียน ด้วยการกระทำต่างๆ ดังกล่าว ข้างต้น แต่กลับสามารถรักษาความสงบรำงับภายในไว้ได้เป็นปกติ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงฟังคำกราบทูล แล้ว ก็ทรงเห็นว่าท่านพระปุณณะนี้ เป็นผู้ที่ สามารถข่มใจให้มีทั้งความอดทนและอดกลั้น รักษาใจให้มีความสงบรำงับได้ดียิ่ง เขาด่าว่าก็เห็นว่ายังดีกว่าเขาตบตี เขาตบตี ก็ยังดีกว่าเขาใช้ก้อนหินขว้างปา เขาเอาก้อนหินขว้างปาก็ดีกว่าเขาเอาท่อนไม้ทุบ เขาเอาท่อนไม้ทุบก็ดีกว่าใช้ศาสตรา ประหัต ประหาร เขาใช้ศาสตราประหัตประหารก็ดีกว่าเขาฆ่าเสียให้ตาย แม้ที่สุดถ้าเขาฆ่าเสียให้ตาย ท่านก็ยังอุตส่าห์คิด ในทางที่ดีว่า ก็ดีเหมือนกันนะที่เราไม่ต้องฆ่าตัวเองเหมือนบางคนที่มีความอึดอัด เบื่อหน่าย เกลียดชังชีวิตร่างกายของตน จนต้องฆ่าตัวตาย ท่านมองทุกอย่างในแง่ดีหมด ผู้ที่มองได้อย่างนี้สามารถทำได้อย่างไร ก็แน่นอนว่านอกจากท่านผู้นั้นจะมีทมะ ความข่มขี่บังคับใจอย่างยิ่งยวด มีขันติ โสรัจจะ ความอดทนเสงี่ยมงาม มีความสงบรำงับอย่างถึงที่สุด อย่างบริบูรณ์แล้ว ท่านผู้นั้นยังจะต้องพร้อมด้วยความเมตตา กรุณาอย่างไม่มีประมาณ คือหาขอบเขตจำกัดมิได้ เพราะว่าชาวสุนาปรันตะไม่ใช่พี่น้องพวกพ้อง เรียกว่าเป็นคนแปลกหน้า ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย แต่ท่านพระปุณณะเถระก็ยังอุตส่าห์มองในแง่ดีว่า ยังดีนะที่เขาไม่ทำรุนแรงกว่านี้ ยังดีกว่านะ คิดอย่างนี้อยู่ตลอด นี่คือจิตที่พรั่งพร้อม เป็นอัปปมัญญา เต็มเปี่ยมอยู่ด้วยความเมตตากรุณาอย่างไม่เลือก ที่รักมักที่ชัง ไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นพี่น้องเพื่อนพ้อง หรือเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักคุ้นเคย ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด เมื่อเป็นเพื่อนมนุษย์ ก็สมควร ได้รับความเมตตากรุณาเสมอเหมือนกันหมด คำกราบทูลของท่านพระปุณณะเถระแสดงถึงความเป็นผู้พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา สัมปชัญญะ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม อยู่ทุกขณะ ทำให้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวางพระทัยได้ว่า ท่านพระปุณณะคงจะไม่ไปพลาดพลั้งเสียที แก่กิเลส ตัณหา อุปาทาน และผัสสะที่จะต้อง เผชิญเป็นแน่นอน ไม่จำเป็นที่จะต้องประทานพระโอวาทใดเพิ่มเติมอีก จึงรับสั่ง ว่า ดีละ เธอเตรียมตัวไปได้แล้ว กำหนด เวลาที่จะออกเดินทางได้แล้ว ท่านพระปุณณะก็เดินทางไปพำนักยังสุนาปรันตชนบทตามที่ได้กราบทูลไว้ และภายในพรรษานั้นเอง ท่านก็สามารถทำให้ ชาวสุนาปรันตะนับพันกลับใจ จากที่เคยเป็นคนดุร้าย ชอบเบียดเบียนข่มเหงผู้อื่น มาเป็นคนมีศีลมีธรรม ประกาศตนเป็น อุบาสกอุบาสิกา สมาทานศีลและประพฤติธรรมตามกำลังของตน ส่วนตัวท่านเองก็พากเพียรปฏิบัติจนบรรลุอรหัตผล ได้ในพรรษาเดียวกัน สมตามความมุ่งหมายที่ได้ตั้งใจไว้ สุขเวทนา ฉะนั้น ในอานาปานสติ หมวดที่สอง ที่ชื่อว่าเวทนานุปัสสนา ท่านจึงเน้นการฝึกปฏิบัติของผู้ปฏิบัติอานาปานสติในหมวดนี้ว่า ต้องฝึก การพิจารณาในเรื่องของสุขเวทนาทุกขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก พิจารณาอะไรในเรื่องสุขเวทนาทุกลมหายใจเข้า-ออก ก็คือ พิจารณาให้เห็นโทษทุกข์ของสุขเวทนาว่า เมื่อยึดติด ในสุขเวทนา แล้ว มันสามารถก่อโทษทุกข์แก่จิตใจได้อย่างไรบ้าง มันทำให้ร้อนเร่า ดิ้นรนทะยานอยาก ปรารถนาไม่รู้อิ่มไม่รู้พอ เกิดความ ตะกละ ตะกราม หิวกระหาย อยากจะได้อีกเรื่อยๆ ให้มากให้พอ แต่ไม่เคยพอ ได้แล้วก็อยากได้อีกๆ อย่างถ้าจะเปรียบก็ว่า ได้ร้อยอยากได้พัน ได้พันอยากได้หมื่น ได้หมื่นอยากได้แสน ได้แสนอยากได้ล้าน ได้ล้านแล้วก็อยากได้หลายๆ ล้าน จนเป็น พันล้าน หมื่นล้านไม่รู้จบ นี่ก็คือโทษทุกข์ของสุขเวทนา ที่ก่อให้เกิดกิเลสตัวโลภะขึ้นในจิต แล้วเมื่อไม่ได้อย่างใจ ก็นำให้เกิดโทสะต่อไป ขัดแค้นเคืองใจ ทำไมจึงไม่ได้ แล้วก็วนเวียน ที่จะหาหนทางเพื่อที่จะให้ได้ ก็ตกลงไปในหลุมของโมหะคือกิเลสตัวที่สาม หลงใหล ใคร่ครวญ ผูกรัดอยู่กับสิ่งที่ต้องการจะได้ตามความโลภ ทั้งกิเลสทั้งตัณหารุมเร้าให้ร้อนเร่าทรมาน แต่เผอิญไม่รู้สึก เห็นไปว่าเป็น ธรรมดา มันก็เลยหมดหนทาง แล้วก็เกิดอุปาทานยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนว่า นี่เป็นสุขของฉัน ฉันจะต้องหาให้ได้ ฉันจะต้อง เป็นให้ได้ ต้องมีให้ได้ โทษทุกข์ของสุขเวทนานี้ร้ายกาจนัก ร้ายกาจมาก ถ้าไม่ยึดติดก็ไม่เป็นไร สุขเวทนามันก็อยู่ของมัน ไม่มาทำอะไรได้ แต่พอ ยึดติดเข้า มีความอยาก มีอุปาทาน เข้าไปเท่านั้นแหละ เป็นโอกาสทีเดียวที่มันจะโหมเข้ามาคุกคาม แล้วก็กอดรัดฟัดเหวี่ยง ไม่ยอมให้หลุดออกไปได้ เพราะฉะนั้นในอานาปานสติ หมวด ที่สองนี้ ท่านจึงเน้นการพิจารณาเรื่องของสุขเวทนาคือความสุขให้ละเอียดถี่ถ้วน ให้รู้ว่า สิ่งที่เรียกว่าสุขนั้นมันคืออะไร มีลักษณะอาการอย่างไร แล้วมันมีสุขได้กี่อย่าง ถ้าเราลองใคร่ครวญพิจารณาในชีวิตของเราที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่ามีสุขได้หลายประการ แล้วอาการของความสุขที่เกิดจาก ปัจจัยแต่ละอย่างๆ มันก็ไม่เหมือนกัน สุขเพราะความรักมันก็มีอาการอย่างหนึ่ง สุขเพราะความพอใจที่ได้อย่างใจ มันก็มี อาการอย่างหนึ่ง สุขเพราะได้เงินทองก็ต่างกับสุขเพราะได้คนรัก สุขเพราะได้คนรักก็ต่างจากสุขเพราะได้การงาน สุขเพราะ ได้การงานก็ต่างจากสุขเพราะมีชื่อเสียง เกียรติยศ ความมีหน้ามีตา ลองคิดพิจารณาเอามาเรียงกันดู จะเห็นว่าอาการของ ความสุขจะแตกต่าง กันไป แล้วถ้าหากว่าเราพลาด ไม่ใคร่ครวญให้ถี่ถ้วน เราก็จะไม่รู้หรอกว่าอาการของความสุขแต่ละอาการที่เกิดขึ้นนี้ มันมีลักษณะ อย่างไร พอรู้ไม่ทันมัน มันก็จู่โจมได้ง่าย จู่โจมเข้ามาเต็มที่เลย หนักเข้าๆ ก็ตกเป็นทาสของมันอย่างโงหัวไม่ขึ้น เพราะฉะนั้นท่านจึงให้พิจารณาเรื่องของสุขเวทนาให้ละเอียดยิ่งกว่าเรื่องของความทุกข์เสียอีก เพราะทุกข์นี้คนมักจะ เกลียดกลัว อยู่แล้ว ไม่ค่อยอยากเข้าใกล้ แต่สุขนี่อยากถลาเข้าไปหา มันติดง่าย จึงต้องพิจารณาให้ละเอียด จนกระทั่ง เห็นความเป็นมายาของความสุข เห็นว่าสุขนั้นมันเป็นมายา มันเหมือนกับรุ้งกินน้ำ มองดูสวยด้วยแสงสีนานาชนิด สีเหลือง สีฟ้า สีเขียว สีน้ำเงิน สีแดงอ่อนๆ มองดูแล้วสวยงามน่าจับต้อง น่าคว้าเอามาไว้ดูเล่นใกล้ๆ ตัว แต่มีใครสามารถจับรุ้งกินน้ำได้บ้าง ก็ได้แต่มองด้วยตา แล้วไม่ช้าไม่นาน มันก็ลับหายไป ความสุขก็เหมือนกันอย่างนี้ หรือจะเปรียบอะไรก็ได้ตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละท่าน ความสุขหรือสุขเวทนานี้ เราจะเปรียบกับอะไรดีนะ มันถึง ยั่วเย้าใจ ให้ติดเสียเหลือเกิน จนกระทั่งเห็นชัดถึงความเป็นมายาของมัน ชัดเมื่อไหร่นั่นแหละ ความยินดีในสุขเวทนา ทั้งหลายที่เกิดผ่านทางตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายก็ดี หรือใจก็ดี จึงจะหยุดยั้ง แล้วก็สงบระงับไม่ยึดติด และ เมื่อนั้นแหละ เมื่อความยินดีดับ ทุกข์ก็ดับ ฉะนั้น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงชี้ชัดทีเดียวว่า การติดในสุขเวทนานี้เป็นสิ่งน่ากลัว ต้องระมัดระวัง ระมัด ระวังมากในสิ่งที่เรียกว่าความสุข มันไม่ใช่ของดี มันเป็นไฟเย็น หรือบางทีท่านก็เรียกว่าเป็น ทุกข์ที่ซ่อนเร้น ความทุกข์นี้มาได้สองอย่าง อย่างหนึ่งมาอย่างเปิดเผย อย่างที่เราพูดกันแล้วในอริยสัจสี่ มาอย่างเปิดเผย ก็คือมาในรูป ของความทุกข์ ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ ต้องคร่ำครวญหวนไห้ เกลือกกลิ้ง ขมขื่น ทรมาน อยู่ด้วยความอัดอั้นตันใจ ยากที่จะ พรรณนา นั่นมาในรูปของความเปิด-เผย แล้วเราก็สมมุติเรียกว่าความทุกข์ แต่อีกอย่างหนึ่งที่คนมองไม่ค่อยเห็น แล้วก็อ้าแขนรับ ก็คือมาอย่างซ่อนเร้น มาในรูปของสิ่งที่สมมุติเรียกว่าความสุข มันเป็น ไฟเผาได้เท่าๆ กัน แล้วก็จะเป็นไฟเผาได้นานกว่า ทำไมถึงนานกว่า ก็เพราะว่ามีความติดยึด ติดยึดแล้วก็กอดรัด ไม่อยากปล่อย ไม่ยอมให้ ไม่ยอมแบ่งปัน เพราะคิดว่ามันดี ก็เลยถูกมันไหม้เอาๆๆ มันเป็นไฟเย็น มันก็เลยไหม้ได้ลึกกว่า ได้นานกว่า แล้วก็ไม่หยุดได้ง่ายๆ ข้อคิดจากพระสูตร เชื่อกันบ้างไหมว่า ความสุขนี้น่ากลัวมาก เพราะมันทำร้ายเราได้ลึก ผู้ถูกทำร้ายก็บาดเจ็บสาหัส ขมขื่นทรมาน แต่เราไม่รู้ ไม่เคยสังเกต ฉะนั้น เราจึงควรจะได้ฝึกสังเกตในเรื่องโทษทุกข์ของสุขให้มากขึ้น จนกระทั่งเห็นความเป็นมายาของมัน พอเห็นเข้าเท่านั้น มันประจักษ์ใจ ปล่อยเลย ปล่อยหมด ไม่เอาแล้ว เพราะมันไม่มีประโยชน์ เก็บไว้ก็เหมือนเอาไฟมาสุมอก ความยินดีเกิด ทุกข์เกิด พระองค์ตรัสเตือนไว้ ยินดีในอะไรก็ตาม พอยินดีก็จะเกิดความเพลิดเพลิน ความน่าใคร่ น่าพอใจ น่าปรารถนา พูดถึงอยู่นั่นแล้ว ไม่รู้จบ ทุกข์เกิดแล้ว แต่เมื่อความยินดีดับ ไม่เพลิดเพลิน ไม่ติดใจ รู้หรอกว่ามันดี มันงาม มันสวย มันน่าเพลิดเพลิน น่าติดใจ แต่เห็นโทษทุกข์ในตัวของมัน เห็นความเป็นมายาของมัน ก็จะไม่หลงใหลอีก ไม่พูดถึง ปล่อย ตัดได้ทันที ความยินดีดับ ทุกข์ดับ นิโรธวารเกิดขึ้นแล้ว ความยินดีดับได้เพราะวิชชาปรากฏชัดขึ้นในจิต ปัญญาส่องสว่าง เกิดความ สะอาด สว่าง สงบ ไม่มีอะไรหลงเหลือ เป็นไฝฝ้า เห็นชัดเจนทุกซอกทุกมุม จึงเกิดวิราคะความจางคลาย เกิดนิโรธ ความดับในความยึดมั่นถือมั่น ทั้งสิ้นทั้งปวง ได้ในที่สุด นี่เป็นข้อสังเกตข้อที่ ๑ ที่อยากจะนำมาพูดคุยสนทนากันเพื่อเป็นข้อเตือนใจที่สำคัญในการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะการ ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น จะให้ได้ความสุขอย่างโลกๆ ไม่มีหรอก ความสุขที่ชวนให้เพลิดเพลิน ติดใจ ไม่มี แต่ปฏิบัติไปเถิด ด้วยความทุกข์ ด้วยน้ำตา แล้วความทุกข์จะค่อยๆ สิ้น น้ำตาจะค่อยๆ แห้ง ความเย็น ความสงบ ความเป็นปกติ จะเกิด ยิ่งขึ้นๆ ตามลำดับ ข้อสังเกตข้อที่ ๒ ที่ควรจะได้พิจารณาก็คือ ธรรมะสำคัญที่ควรต้องมีในการประพฤติปฏิบัติธรรม จากการประพฤติ ปฏิบัติ ของท่านพระปุณณะ จะเห็นได้ว่า ความข่มใจ หรือ ทมะเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้ประพฤติธรรม ถ้าขาดความข่มใจ เสียแล้ว ก็ยอมแพ้ได้ง่ายๆ ไม่อยากจะฝืนกระแสของ ความอยาก ความยึด หรือความต้องการนานาประการ คืออยาก จะตามใจตัว พอเกิดความอยาก ในสิ่งใดก็รีบตามตะครุบเอา เกิดโกรธ ขึ้นมาก็ทำตามอารมณ์โกรธ เกิดความลังเล ก็หลงวนเวียน หาทางออกไม่ได้ ฉะนั้น จึงต้องมีความข่มใจ ที่จะทวน กระแสโลก ว่ายน้ำทวนกระแสอยู่ตลอดเวลา ด้วยความหนักหน่วง ด้วยความเหน็ดเหนื่อย แต่ก็ต้องทำ เพราะรู้ว่า จุดหมายปลายทาง คือความสงบเย็น ก็ต้องฝืนใจ ยอม ลำบากตรากตรำ ทนทุกข์ทรมานไปในระหว่างการเดินทางนี้ จนกว่า จะถึงจุดหมาย นอกจากนี้ก็จะต้องรักษาความสงบรำงับไว้ให้ได้เสมอ ความสงบรำงับจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความเมตตากรุณา บางครั้ง อาจเกือบจะสิ้นสุดความอดทน แต่หากว่าได้ปลูกเพาะความเมตตากรุณาเป็นธรรมประจำใจอยู่ทุกขณะทีละน้อยๆ จนเป็น พื้นฐาน ในจิตใจได้แล้ว สิ่งนี้จะช่วยสะกัดกั้นโทสะ และเป็นต้นทุนให้สามารถข่มใจบังคับใจไว้ได้ไม่ขาดตอน จนเกิด ความสงบรำงับที่หนักแน่นมั่นคง พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา ข้อสังเกตข้อที่ ๓ ก็นึกถึงคำกล่าว ของเจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ ที่ท่านมักจะพูดให้พุทธบริษัทได้ยินเสมอว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นหรือได้ประสบพบเห็นมานี้ "ดูให้ดี มีแต่ได้ ไม่มีเสีย" ดูให้ดี มีแต่ได้ ไม่มีเสีย ไม่มีอะไรเสียเลย ทุกสิ่ง ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เชื่อไหมว่าไม่มีอะไรเสีย บางท่านอาจจะบอกว่า ไม่เสียยังไง ฉันเสียเงินไปตั้งเยอะแยะ ไฟไหม้บ้าน หรือว่า ฉันถูกเปลี่ยนงานโดยไม่เป็นธรรม อะไรต่ออะไรอีกตั้งมากมาย แล้วจะว่า "ดูให้ดี มีแต่ได้ ไม่มีเสีย" ได้อย่างไร ถึงแม้ในทางสมมุติหรือในทางโลกจะพูดว่า "เสีย" เช่น เสียตำแหน่งการงาน ชื่อเสียงเกียรติยศ ทรัพย์สินเงินทอง หรือเสีย สิ่งที่ควรจะได้ แต่มันไม่ใช่เสียอย่างเดียว ในความเสียนั้นมันมีความ "ได้" ซ่อนอยู่ด้วย ทำไมจึงว่ามีความได้ซ่อนอยู่ในความเสีย ก็เพราะว่าในความเสียนั้นมันเกิดบทเรียน มันให้บทเรียนแก่ชีวิต ทำให้เกิด ความระมัดระวัง ความไม่ประมาท เกิดความมีสติยั้งคิด เกิดความรอบคอบ ในขณะเดียวกันก็เกิดปัญญาด้วย เกิดความฉลาด รู้จักแก้ไขเหตุการณ์นั้นๆ ไม่ให้เกิดซ้ำรอยอีก และเมื่อจะทำสิ่งใด ก็จะทำด้วยความรู้ ด้วยประสบการณ์ มีความรอบคอบ พร้อมอยู่ด้วยสติปัญญาความสามารถอย่างเต็มที่ ผลซึ่งเกิดจากการกระทำด้วยบทเรียนที่ผ่านมาแล้ว จะมีการ "ได้" คือ ได้ผลที่ดีขึ้น รอบคอบ ขึ้น เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น ตรงตามจุดประสงค์มากขึ้น ถ้อยคำธรรมดาๆ "ดูให้ดี มีแต่ได้ ไม่มีเสีย" ของเจ้าประคุณท่านอาจารย์พุทธทาสแห่งสวนโมกขพลาราม จึงเป็นคำเตือน ที่ควรแก่การนำมาพิจารณาใคร่ครวญอยู่ในใจเสมอ เพราะจะช่วยให้เราเป็นผู้ที่ไม่เสียใจง่าย ไม่ร้องไห้ง่าย ไม่ท้อถอยง่าย ไม่วิ่งเข้าป่าง่ายๆ "วิ่งเข้าป่า" ในที่นี้หมายความว่า วิ่งหนีปัญหา วิ่งหนีสิ่งที่ต้องเผชิญ เราจะไม่วิ่งหนี แต่จะหันหน้าเข้าเผชิญกับ ปัญหา อย่างพร้อมด้วยสติ สมาธิ และปัญญา เพราะมองเห็นแล้วว่า สิ่งที่มองดูเสียนี้ มันมีความได้ซ่อนอยู่ในนั้น จริงหรือไม่จริง ก็ขอให้ลองคิดดู ความน่ากลัวหรืออันตรายของสิ่งที่เรียกว่า "สุข" ซึ่งได้คุยกันในวันนี้ จึงเป็นสิ่งที่ประสงค์จะฝากไว้ให้ระวังว่า เมื่อ ได้รับ สิ่งที่เรียกกันว่า ความสุขตามที่ปรารถนา ก็อย่าเพิ่งผวาเข้าไปหา และเมื่อได้พบสิ่งใด ที่เป็นความสูญเสีย ก็อย่าเพิ่งเสียใจ แต่ทว่า "ดูให้ดี มีแต่ได้ ไม่มีเสีย" เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิตให้ยิ่งๆ ขึ้น อันจะเป็นการพัฒนาชีวิตไปในหนทาง ที่ถูกต้อง ตามแนวทางแห่งสัมมาทิฏฐิ และที่สำคัญมากก็คือ เท่ากับว่าเราได้พิจารณาในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท อันเป็นธรรมที่ทำให้องค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้า ได้ทรงทราบถึงเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ และเหตุที่ทำให้ทุกข์ดับ เมื่อเราเป็นพุทธบริษัท เป็นชาวพุทธที่ตั้งใจ จะเจริญรอย ตามคำสอนของพระพุทธองค์ แล้วทำไมเราไม่ลองเริ่มปฏิบัติเสียแต่เดี๋ยวนี้ ด้วยการพยายามดับความยินดี เสียให้ได้ แล้วความทุกข์ก็จะดับไปด้วย - ดอกหญ้าอันดับที่ ๑๒๑ กันยา-ตุลา ๒๕๔๘ - |