- นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ -

ซื้ออะไร ใช้กาลามสูตร


สินค้าสุขภาพที่มีออกมามากมายหลายรูปแบบ นัยว่าเพื่อสนองตอบคนรักสุขภาพทั้งหลาย จนมีมูลค่าการตลาด หลายหมื่น ล้านบาทเข้าไปแล้ว กำลังสร้างปัญหาให้แก่ผู้บริโภคอย่างมาก ทั้งใช้ไม่ได้ผล มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพ และราคาที่แพง แสนแพง การมีหลักในการซื้อหาสินค้าต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน

คนที่ชอบซื้อ (บางคนเดาะภาษาอังกฤษว่า "ช็อปปิ้ง") ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดซื้อเพราะ "ตัณหา" (ความทะยานอยาก) มากกว่า "ความจำเป็น"

ความทะยานอยากคือความอยากที่เกินจะระงับหรืออดกลั้น มักเกิดจากการถูกโฆษณามอมเมา กระตุ้นกิเลสและตัณหา ให้เกิดขึ้น หรือถูกล่อ (หลอก) ให้ซื้อด้วยการลดแลกแจกแถมสารพัดจน "ติดเบ็ด" เขาจนได้ ไม่ว่าจะด้วยการ "ขายตรง" หรือ "ขายสะพัด"

ในปัจจุบัน การโฆษณามอมเมาทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะที่ผ่านทางสื่อโทรทัศน์ เป้าหมายสำคัญคือลูกเล็กเด็กแดง และ วัยรุ่น ซึ่งกลายเป็นตลาดใหญ่สำหรับ "สินค้าที่ไม่จำเป็น" แก่การดำรงชีวิต

พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ในปัจจุบันมักจะทนการรบเร้าของลูกหลานไม่ได้ และมักจะตามใจลูกหลานเกินกว่าเหตุจนทำให้ "เสียเด็ก" และเสีย "สุขภาพ" เช่น การซื้อ "ขนม" (ของขบเคี้ยว ของหวาน น้ำอัดลม ฯลฯ) และอาหาร "แดกด่วน" (ตามศัพท์ ของคุณชายถนัดศรี) ที่มีการโฆษณากันอย่างครึกโครม จนเด็กอิ่มและไม่กินอาหารให้ครบ ๕ หมู่ ไม่กินอาหารเป็นมื้อๆ (แต่กินจุบ กินจิบจนเป็นนิสัย) จน "สุขภาพ" เสื่อมโทรมลง กลายเป็นเด็ก "ขี้โรค" "อ้วนผิดปกติ" "อ่อนแอ" "ไม่อดทนอดกลั้น" และ อื่นๆ

การซื้อ "แมงกะไซ" (จักรยานยนต์) ให้ลูกหลานขี่เล่นจนบาดเจ็บพิการและเสียชีวิตกันมากมายในแต่ละวัน แล้วยังทำให้ คนอื่นต้องบาดเจ็บ พิการ เสียชีวิต และเสียสุขภาพจิตอีกด้วย (เพราะทนรำคาญ "แมงกะไซซิ่ง" ไม่ไหว) เป็นต้น

จะซื้ออะไรจึงต้องคิดถึง "ผลดี-ผลเสีย" ของการซื้อสิ่งนั้น และการมีสิ่งนั้นไว้ในครอบครองเสมอ

ถ้าซื้อแล้วทำให้เราเองหรือคนที่เรารักเสีย "สุขภาพ" บาดเจ็บ พิการหรือเสียชีวิต... ถ้ามีแล้ว ทำให้เราเอง หรือคนที่เรารัก ต้องคอยห่วงใย ไม่เป็นอันเรียนหรือทำมาหากิน หรือต้องกลายเป็น "ทาส" ของมัน (เช่น โทรศัพท์มือถือ)...อย่าซื้อมันจะดีกว่า สุขภาพ กายสุขภาพจิตและใจจะได้สงบ และไม่ถูกรบกวน

ของอะไรที่ไม่จำเป็นจริงๆ หรือจำเป็นน้อย เมื่อซื้อไว้นอกจากจะทำให้ "รกบ้าน" หรือ "รกกาย" แล้ว ยังทำให้ "รกใจ" และร้อนใจด้วย

เมื่อคิดว่าจำเป็นแก่การดำรงชีวิตและจำเป็นต้องซื้อ (เพราะใช้ตลอดไป ถ้าใช้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ควรเช่าหรือยืมใช้ จะดีกว่า มาเก็บไว้ให้ รกบ้าน พอถึงเวลาจะใช้ก็หาไม่เจอ เป็นต้น) ให้ซื้อด้วยการพิจารณาไตร่ตรองอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ ให้คิดถึง "กาลามสูตร" เสมอ คือ

๑. อย่าเชื่อด้วยการฟังตามๆ กันมา
๒. อย่าเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา
๓. อย่าเชื่อด้วยการเล่าลือ
๔. อย่าเชื่อด้วยการอ้างคัมภีร์หรือตำรา
๕. อย่าเชื่อเพราะตรรกะ (คิดว่าสมเหตุสมผล)
๖. อย่าเชื่อเพราะการอนุมาน (คาดคะเนตามหลักเหตุผล)
๗. อย่าเชื่อด้วยการคิดตรองเอาตามสภาพ
๘. อย่าเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่คิดไว้
๙. อย่าเชื่อเพราะเห็นรูปลักษณ์ว่าน่าจะเป็นไปได้
๑๐. อย่าเชื่อเพราะนับถือว่าเป็นพระหรือครู

จะเชื่อต่อเมื่อมีคนซื้อและใช้แล้วเกิดผลดี ไม่มีผลเสีย หรือมีผลเสียน้อยมาก โดยดูตัวอย่างจากคนอื่นที่ซื้อของสิ่งนั้นไปใช้ แล้วเกิด ประโยชน์และโทษอย่างไรบ้าง อย่าเชื่อคำกล่าวอ้างต่างๆ

"ฉลาดซื้อในตลาดสุขภาพ" จึงเท่ากับ "ไม่ซื้อ" เพราะสุขภาพไม่ใช่ของซื้อขายและซื้อขายไม่ได้ ใครโฆษณาขาย "บริการ สุขภาพ" หรือ "สินค้าสุขภาพ" รวมทั้ง "การตรวจสุขภาพ (โดยผู้อื่น)" ให้ถือว่าเป็น "การหลอกลวง" ไว้ก่อน

ส่วน "ฉลาดซื้อ" ในเรื่องอื่นให้คิดถึงความจำเป็น ประโยชน์และโทษ หรือผลดีผลเสีย และ "จะซื้ออะไรใช้กาลามสูตร" เสมอ

ผมไม่เคยลืมคำพ่อสอนไว้ "ของดีไม่ต้องโฆษณา ของที่ต้องโฆษณาให้คิดว่าไม่ดีไว้ก่อน"

(จากหนังสือฉลาดซื้อ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๕๒)

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๒๒ พ.ย. - ธ.ค. ๒๕๔๘ -