ตัวตนที่สร้างปัญหาให้แก่มนุษย์

พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงประเภทของอุปาทานหรือความยึดมั่นถือมั่นของมนุษย์ว่ามีอยู่ ๔ ประเภท ได้แก่
๑. กามุปาทาน (ความถือมั่นในกาม)
๒. ทิฏฐุปาทาน (ความถือมั่นในทิฏฐิความเห็น)
๓. สีลัพพตุปาทาน (ความถือมั่นในศีลและพรต)
๔. อัตตวาทุปาทาน (ความถือมั่นวาทะว่าตน)

ในบรรดาอุปาทานทั้ง ๔ ประเภทนี้ อัตตวาทุปาทานจัดเป็นระดับของความถือมั่น หรืออุปาทานที่ลึกละเอียดที่สุด รู้ตัวยากที่สุด และถอนความถือมั่น ได้ยากที่สุดด้วย

สมณะโพธิรักษ์แห่งสำนักสันติอโศก อธิบายความหมายของ อัตตวาทุปาทานว่า มาจากรากศัพท์ อัตตา+วาทะ+อุปาทาน ซึ่งแปลเอาความว่า การยึดถือภาษา (หรือ วาทะ) เป็นอัตตาตัวตน

มหาเปรียญที่ติดอยู่ในกรอบความรู้ของพุทธศาสนากระแสหลัก อาจจะเห็นว่าการแปลความหมายของคำว่า อัตตวาทุปาทาน แบบนี้เป็นการพูดเอาเองตามใจชอบ อย่างไรก็แล้วแต่ สำหรับผู้เขียนแล้ว ความหมายของการ ยึดถือภาษาเป็นอัตตาตัวตน ตามที่ท่าน สมณะโพธิรักษ์อธิบายไว้นี้ มีนัยแฝงที่กินความลึกซึ้งมากในทางพุทธปรัชญา

เพราะมนุษย์คิดเป็นภาษา (วจีสังขาร) และความคิดรวบยอด (concepts) ต่างๆ ของมนุษย์จะสะท้อนผ่านทางภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงทฤษฎี (theoritical terms)
ที่มีลักษณะเป็นนามธรรมต่างๆ อาทิ แรงโน้มถ่วง อนุภาคสนามแม่เหล็ก อะตอม พระเจ้า อาตมัน ปรอาตมัน ฯลฯ

ความคิดรวบยอดหรือมโนทัศน์(concepts)ที่สะท้อน ผ่านทางภาษาทั้งหลาย เหล่านี้ เป็นหน่วยพื้นฐานของ ความรู้ ที่ประกอบกันขึ้น เป็นโลกแห่งความจริง ในการรับรู้ ของมนุษย์


การที่มนุษย์ ไปยึดถือตัวตนแห่งความหมายของ มโนทัศน์(หรือความคิดรวบยอด)ที่สะท้อน ผ่านทางภาษาเหล่านี้มาเป็นอัตตาตัวตน จึงเป็นรากฐาน ที่ทำให้มนุษย์ เกิดความรู้สึกนึกคิดว่า มีตัวตนของสิ่งต่างๆ ที่ดำรงอยู่อย่างสัมบูรณ์ ในอวกาศและเวลาที่สัมบูรณ์(absolute space and time)

ตัวอย่างเช่น ในขณะที่ธรรมชาติจริงๆ ดำรงอยู่เพียงแค่แต่ละเสี้ยวของปัจจุบันขณะ เกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดขึ้นแล้วดับไป อดีตเมื่อวินาทีที่แล้วก็ดับสูญ มิได้ดำรงอยู่ ณ ที่ไหนในกาลอวกาศ อนาคตก็เป็นความว่างเปล่าที่ยังมาไม่ถึงและมิได้ดำรงอยู่ที่ไหนในกาลอวกาศอีกเช่นกัน แต่ความจำ (สัญญา) และความคิด(สังขาร)
ได้เชื่อมโยงภาพ แต่ละภาพของความทรงจำเกี่ยวกับตัวเราในอดีต บูรณาการปรุงแต่งเป็นอัตตาตัวตนของสิ่งๆ หนึ่งที่สะท้อนผ่านทางมโนทัศน์หรือภาษาคำว่า ตัวฉัน
การยึดเอามโนทัศน์(หรือความคิดรวบยอด)ที่สะท้อนผ่านทางภาษาคำว่า ตัวฉัน ว่าเป็นอัตตาตัวตนของสิ่งๆ หนึ่งที่ดำรงอยู่จริงๆ อย่างเที่ยงแท้สัมบูรณ์ ในกาลอวกาศ อันคือ ตัวตนของฉัน สิ่งนี้ก็คืออัตตวาทุปาทาน

เปรียบเสมือนฟิล์มภาพยนตร์ แต่ละเฟรมที่ถูกฉายไปปรากฏบนจอภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง ความรับรู้ของเรา ที่เชื่อมโยงภาพแต่ละเฟรม บนจอภาพยนตร์ ให้ปะติดปะต่อกัน เป็นบูรณาการของเรื่องราวต่างๆ จะทำให้เราเกิดความรู้สึกนึกคิดว่ามีตัวตนของพระเอก นางเอก ผู้-ร้าย ฯลฯ ที่เป็นตัวละครซึ่งมีชีวิตจิตใจจริงๆ ในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ขณะที่ถ้ามีแต่ภาพเฟรมเดียว โดดๆ ปรากฏบนจอภาพยนตร์แค่ไม่ถึงวินาทีแล้วหายไป ภาพดังกล่าว จะไม่มีความหมายอะไรสำหรับเราเลย ตัวตนแห่งความหมาย ของตัวละครในภาพยนตร์ จึงเกิดขึ้นจากกระแสความสืบต่อที่พุทธปรัชญาเรียกว่า สันตติ โดยจิตของเราไปปรุงแต่งเชื่อมโยงกระแสสันตตินั้นให้เป็นตัวตนต่างๆ
และยึดถือเอาความคิดรวบยอดหรือมโนทัศน์ที่เกิดจากการปรุงแต่งของจิต (ซึ่งสะท้อนผ่านทางสัญลักษณ์ของภาษารูปแบบต่างๆ) มาเป็นอัตตาตัวตนของสิ่งนั้นๆ

อัตตวาทุปาทาน จึงเป็นรากฐานแห่งเรื่องราวของปัญหา ทั้งหลาย ที่ก่อให้เกิดภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์สำหรับมนุษย์

ตัวอย่างของอัตตวาทุปาทานเรื่องหนึ่งที่มีอิทธิพลกำหนดวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง ภายใต้ระบบสังคมเศรษฐกิจของโลกทุกวันนี้ก็คือ การมีอุปาทาน ยึดเอาภาษา (หรือสัญลักษณ์)คำว่า เงิน มาเป็นอัตตาตัวตนของสิ่งๆ หนึ่ง ที่เราเรียกกันว่า เงิน ว่าเป็นสิ่งที่มีตัวตนแห่งมูลค่าดำรงอยู่อย่างจริงแท้ในชีวิตของมนุษย์

กระดาษเปื้อนหมึกที่เราเรียกว่า ธนบัตร จึงมิได้มีคุณค่าความหมายเป็นเพียงแค่เศษกระดาษชิ้นหนึ่งเท่านั้น แต่กลายเป็นตัวตนของสิ่งๆ หนึ่งที่มีมูลค่าในตัวเอง
ซึ่งมีอิทธิพลกำหนดบทบาทวิถีชีวิตของเรา เช่นเดียวกับตัวตนแห่งความมีอยู่ของอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ฯลฯ (ที่มีคุณค่าจริงๆ สำหรับชีวิตเรา)
โดยมูลค่าใช้สอย (value in use) ของเงินตราดังกล่าว จะอยู่ที่เป็นตัวกลางอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าต่างๆ เมื่อตัวตนของอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ฯลฯ มีมูลค่าแลกเปลี่ยน (value in exchange) ในฐานะเป็นสินค้า อย่างหนึ่งในตลาด ตัวตนของ เงิน ก็จะมีมูลค่าซื้อขายแลกเปลี่ยน ในลักษณะเป็นสินค้าอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน

ฉะนั้นถ้าความต้องการหรืออุปสงค์(demand)ของมนุษย์ที่มีต่อสินค้า เงิน มีมากกว่าอุปทาน (supply) มูลค่าของเงินตราสกุลนั้นๆ ก็จะเพิ่มสูงขึ้น (เช่นเดียวกับราคาสินค้า ชนิดอื่นๆ ที่แพงขึ้น) ส่งผลให้ค่าของเงินสกุลนั้นแข็งตัวหรือแพงขึ้น

ในทางกลับกัน ถ้ามนุษย์ผลิตเงินตราสกุลดังกล่าวออกมามากเกินไป (เช่น พิมพ์ธนบัตรออกมามากจนล้นตลาด) อุปทานของสินค้าเงินตราสกุลนั้นๆ ที่มีมากว่าอุปสงค์
จะทำให้ราคาของเงินตราสกุลนั้นลดต่ำลง ส่งผลให้ค่าของเงินอ่อนตัวหรือถูกลง

การแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า เงินตรา จึงนำไปสู่การเก็งกำไรได้เหมือนกับการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าชนิดอื่นๆ

เช่น พ่อค้าอาจจะกว้านซื้อน้ำตาลทรายราคาถูกมากักตุนเก็บไว้ในโกดัง จนเมื่อน้ำตาลทรายขาด ตลาดและมีราคาแพงขึ้น พ่อค้าก็จะระบายน้ำตาลออกจากโกดังมาขาย
ในราคาแพง เป็นการกอบโกยเอากำไรโดยไม่ได้ใช้แรงงานที่มีอยู่สร้างสรรผลิตสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์อะไรให้แก่ผู้บริโภคเลย เมื่อชาวไร่อ้อยที่ลงทุนปลูกอ้อย อันเป็นการสร้างผลผลิต ในภาคการผลิตแท้จริงได้รับผลตอบแทนเพียงเล็กน้อย ขณะที่พ่อค้าซึ่งเก็ง กำไรโดยไม่ได้ลงแรงสร้างผลผลิตอะไรให้แก่มนุษย์ กลับกอบโกยกำไร มากกว่า ความไม่เป็นธรรมและความเดือดร้อนของสังคมก็จะเกิดขึ้น เพราะผู้คนจะพากันเลิกสร้างผลผลิตจริงๆ แล้วเอาทุนรอน ไปใช้ลงทุนในภาค การเก็งกำไรแทน เป็นต้น

ขณะที่การแลกเปลี่ยนซื้อขายหรือกักตุนสินค้า เงินตรา สามารถทำได้ง่ายกว่าการกักตุนสินค้าอื่นๆ อย่างกรณีการกักตุนน้ำตาลทรายในตัวอย่างข้างต้น ต้องมีโกดังขนาดใหญ่ สำหรับกักตุน น้ำตาลทราย ต้องมีค่าขนส่ง ต้องมีค่าเสื่อมราคากรณีที่สินค้าเกิดความเสียหาย ฯลฯ แต่การกักตุนเงินตราไม่ต้องเสียค่าโสหุ้ยเหล่านี้เลย การเก็งกำไรจากสินค้า เงินตราในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปของเงินตราต่างประเทศ หรือตราสารหุ้น ในตลาดหลักทรัพย์ จึงกลายเป็นกิจกรรม ทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญของมนุษย์ทุกวันนี้

ประมาณกันว่ามูลค่าของเงินที่ลงทุนในภาคเศรษฐกิจเก็งกำไรรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ในโลกปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่าสูงกว่าเงินที่ลงทุนในภาคการผลิตแท้จริงกว่า ๔ เท่าตัว เศรษฐกิจแบบฟองสบู่จึงได้เกิดขึ้น เมื่อฟองสบู่แตก ก็ส่งผลให้เกิดภาวะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจแผ่ขยายไปทั่ว ดังที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้

อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่อง นุ่งห่ม ยารักษาโรค กระทั่งสิ่งต่างๆ แม้แต่ตัวตนของเราที่เป็นรูปธรรมจับต้องสัมผัสได้ เมื่อวิเคราะห์ถึงองค์ประกอบพื้นฐานในมิติแห่งเวลาแล้ว
พระพุทธเจ้ายังชี้ให้เห็นว่าเป็น อนัตตา กล่าวคือ ว่างเปล่าจากแก่นสารแห่งความเป็นตัวตน

ฉะนั้นจะกล่าวไปไยกับ เงิน ที่เป็นนามธรรมซึ่งจับต้องสัมผัสได้ยากกว่า มีความว่างเปล่าจากแก่นสารแห่งความเป็นตัวตนยิ่งกว่า เมื่อมนุษย์ไปมีอัตตวาทุปาทาน
ยึดถือสิ่งที่ว่างเปล่ายิ่งกว่ามาเป็นอัตตาตัวตนเช่นนี้ อวิชชาที่ซับซ้อนขึ้นดังกล่าว ก็จะสร้างปัญหาความบีบคั้น เป็นทุกข์ให้แก่มนุษย์สลับซับซ้อนมากยิ่งๆ
ขึ้น

ตัวอย่างเช่น เศรษฐีจำนวน ไม่น้อยในโลกทุกวันนี้ มีเงินมากขนาดใช้วันละ ๑ ล้าน บาท ยังใช้ไม่หมด ในชีวิต (ปีหนึ่งมี ๓๖๕ วัน ถ้าให้เศรษฐีเหล่านั้น มีอายุเฉลี่ย เหลือคนละ ๕๐ ปี ก็จะเหลือวันเวลาใช้เงินอยู่๑๘,๒๕๐ วัน ในโลกปัจจุบันเศรษฐีที่มีเงินมากกว่า ๑๘,๒๕๐ ล้านบาทนั้น มีอยู่ไม่น้อย) แต่การจะใช้เงินซื้อ สิ่งของต่างๆ มาบริโภค และใช้สอยวันละ ๑ ล้านบาททุกๆ วันนั้น เป็นเรื่องยากมาก เพราะคนเราแต่ละคนจะกินจะใช้ในวันหนึ่งๆ ก็แค่จำนวนหนึ่งเท่านั้น ถึงไปซื้อหาอะไรมามาก ก็บริโภค ใช้สอยไม่หมด ได้แต่เก็บไว้เฉยๆ เท่านั้น ด้วยเหตุนี้เงินส่วนใหญ่ของเศรษฐีทั้งหลายจึงต้องเอาไปลงทุน(เพราะบริโภคไม่หมด) กำไรที่ได้เพิ่มจากการลงทุน ก็จะเอาไปลงทุน เพิ่มมากขึ้นต่อไปอีก (เพราะไม่รู้จะเอามาใช้จ่ายในการบริโภคอะไร เก็บไว้เฉยๆ ก็ไม่ได้ประโยชน์ จึงต้องเอาไปลงทุน เพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ)

ผลที่สุด เงินก็เป็นเพียงตัวเลข สำหรับเศรษฐี(ที่มีอวิชชา)ที่มีเงิน ๑๘,๒๕๐ ล้านบาท กับการมีเงิน ๑๘๒,๕๐๐ ล้านบาท จะไม่มีความ แตกต่างอะไรในแก่นสารของชีวิตเลย
(เพราะต่างก็ใช้เงินไม่หมดเหมือนกัน มีเงินเหลือกินเหลือใช้จนไม่รู้จะทำอย่างไรกับเงินดังกล่าว นอกจากการเอาเงินไปลงทุนเพิ่มมากขึ้นๆ ต่อไปไม่รู้จบเหมือนกัน)
ความแตกต่างดังกล่าวจึงเป็นความ แตกต่างกันแค่ตัวเลข แล้วผู้คนก็พากันไปยึดเอา ตัวเลข เหล่านั้น เป็นอัตตาตัวตน และแข่งขันแย่งชิงแสวงหา ตัวเลข กันเพิ่มมากขึ้นๆ

การแย่งชิงวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่จับต้องสัมผัสได้ก็เป็นอัตตวาทุปาทานในระดับหนึ่งแล้ว การแย่งชิงเงินทอง ที่มีลักษณะเป็นนามธรรมมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นอัตตวาทุปาทาน ที่ยึดเอาความว่างเปล่ามาเป็นแก่นสารแห่ง อัตตาตัวตนมากขึ้น ส่วนการแย่งชิง ตัวเลข ที่ยิ่งเป็นความว่างเปล่า จากแก่นสารแห่งความเป็นตัวตน มากยิ่งขึ้นไปอีกนั้น ก็ยิ่งเป็นอวิชชา ความหลงในอัตตวาทุปาทาน ที่มากยิ่งๆ ขึ้น เป็นโมหะที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นเป็นลำดับๆ

ระบบทุนนิยมในโลกทุกวันนี้ จึงกำลังพัฒนาไปสู่ทิศทางของโมหะความหลง ในสิ่งที่ว่างเปล่าจากแก่นสารมากยิ่งๆ ขึ้น โลกถึงได้เดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้.

(จากหนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๔ หน้า ๒๑-๒๗)


หัวใจแกร่งหัวใจแกร่งด้วยถ้อยคำ

เธอจงสู้สู้ด้วยใจที่ใฝ่ฝัน
ทุกข์โรมรันเธอจงปล่อยให้ลอยหาย
แล้วจะพบความสุขอีกมากมาย
จงผ่อนคลายทุกข์เถิดเกิดผลดี

แม้น้ำตานองหน้าอย่าพาเศร้า
แม้สุดเหงาอ้างว้างไม่สุขี
ทำหัวใจให้แกร่งเท่าแรงมี
โลกใบนี้จะสดใสไร้หมองมัว
ฟากฝั่งฝัน

(หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๔ หน้า ๒๘)