มาช่วยกันกอบกู้ฟ้าดิน
กองบรรณาธิการ
คุณสมหมาย หนูแดง อดีตตำแหน่งศึกษานิเทศ
ซี.๖ ปัจจุบันเป็นเกษตรกรอยู่บ้านพุน้ำทิพย์ อ.หนองแขม ต.โคกสำโรง
จ.ลพบุรี ลาออกจากราชการเมื่อประมาณ ๘ ปีที่แล้ว สาเหตุเพราะมีความรู้สึกว่า
ชีวิตไม่มีประโยชน์ ตื่นตี ๔ ทุกวัน แล้วก็กระเสือกกระสน รีบแต่งตัวไปทำงาน
ไปถึงที่ทำงานประมาณ ๗ โมงเช้า ทำโน่นนิดนี่หน่อย ถึงเวลา ๕ โมงเย็นก็เลิกงาน
กว่าจะถึงบ้าน ๔ ทุ่ม เป็นอย่างนี้ทุกวัน รู้สึกเบื่อหน่าย อีกประการ
พ่อแม่เธอก็เป็นชาวนาอยู่ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เป็นลูกชาวนาโดยกำเนิด
นั่นคือจุดหักเหให้เธอย้อนรอย กลับมาใช้ชีวิตเกษตรกรที่ใฝ่ฝัน
ชีวิตอิสระ
ดิฉันนึกย้อนไปถึงชีวิตของพ่อแม่ที่ทำนาอยู่ว่าชีวิตเขามีอิสระ ไม่ต้องมาดิ้นรนกระเสือกกระสนแบบเรา
เขามีความสุข มีอิสรภาพ จึงปรึกษาพ่อแม่ว่าจะลาออกจากราชการ พ่อแม่ญาติพี่น้องทุกคนห้าม
ดิฉันก็ว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่มีอิสระ ทำอะไรก็ได้อย่างใจชอบ
เพราะดิฉันมีความรู้สึกส่วนตัวว่า ชีวิตราชการนั้นไม่มีอิสระ บางครั้งเราคิดโครงการที่คิดว่าดีที่สุด
มันก็ผ่านโน่นผ่านนี่ไปจนกระทั่งผลสุดท้ายไม่ประสบผลสำเร็จ รู้สึกขัดใจตลอดเวลา
เลยตัดสินใจลาออกจากราชการ
พอไปบอกพ่อแม่ พ่อแม่แทบเป็นลม บอกว่าอุตส่าห์ส่งเสียลูกให้ไปเป็นเจ้าเป็นนายแล้วก็มาลาออก
ดิฉันไม่สนใจ ไปตั้งต้นอยู่ที่ บ้านพุน้ำทิพย์ ซึ่งเป็นที่ของพ่อแม่
เป็นที่เปิดป่าใหม่เมื่อประมาณ ๕๐ ปีมาแล้ว ปลูกข้าวโพดมาตลอดอย่างเดียว
ให้เขาเช่า ไม่เคยบำรุงรักษา ตอนแรกที่ไปดู ข้าวโพดฝักเท่าแขน ตอนหลังเข้าไปดูเหลือฝักนิดเดียว
พร้อมกันนั้นพื้นที่ตรงนั้นเขาเรียกว่าเป็นสังคมแบบล่มสลาย เมื่อก่อนคนแถบนั้นก็มีพื้นที่ของตนเอง
ปลูกข้าวโพดกันคนละ ๑๐๐-๒๐๐ ไร่ หรือ ๔๐-๕๐ ไร่ แต่ที่ดิฉันไปตอนหลังนั้น
ที่ที่เป็นของชาวบ้านแทบไม่มี เป็นของนายทุนแทบทั้งหมด จุดนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่ตัดสินใจมาทำเกษตร
อีกจุดหนึ่งคือ ตั้งแต่ตอนเด็กๆ
ผู้ปกครองมักพูดว่า ลูกคนไหนเรียนหนังสือไม่เก่งให้ไปทำเกษตร ส่วนคนเรียนเก่งก็ให้ไปเรียนเป็นเจ้านาย
ดิฉันเรียนเก่ง สอบได้ที่ ๑ ตลอด พ่อแม่จึงไมjอยากให้มาทำเกษตร
บททดสอบความเข้มแข็ง
เมื่อดิฉันลาออกจากราชการก็คิดว่าจะทำอาชีพเกษตรนี่แหละ ที่ใครๆ ดูถูกว่าเป็นอาชีพต่ำต้อยสำหรับคนโง่เขลา
ดูซิว่า ดิฉันทำเกษตรแล้วจะเป็นยังไง ทีแรกตอนลาออกมาก็ฝันหวานคิดว่าง่าย
คิดว่าที่ดินเหมือนกับเปิดป่าใหม่ คิดวางแผนทำการใหญ่โต ขุดหลุมกว้าง
๑ เมตร ยาว ๑ เมตร เตรียมวางแผนปลูกเต็มพื้นที่ ๕๐ ไร่ ผลที่สุด ปีเดียวต้นไม้ตายหมดเลย
ใครปลูกอะไรดิฉันก็ปลูกตาม ผักอะไรที่เขาว่าได้ราคาดีก็ปลูกตาม ผลที่สุด
๒ ปีผ่านไป ดิฉันแทบเอาตัวไม่รอดกับความล้มเหลว ถ้าหากใจไม่สู้ ดิฉันคงจะต้องเป็นคนล้มละลาย
เลิกทำเกษตร แต่ด้วยใจสู้ คิดว่า ถ้าทำไม่สำเร็จดิฉันจะไม่ยอมเลิก
หลังจากนั้น ดิฉันก็ศึกษาทุกสิ่งทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกษตรหรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะจุดมุ่งหมายที่คิดแต่แรกคือ
ปลูกผักผลไม้ปลอดสารพิษ จนบัดนี้จึงรู้ว่าเกษตรธรรมชาติไม่ใช่ของยาก
แต่ตอนแรกยากมาก เพราะจับต้นชนปลายไม่ถูก ใครว่าอะไรดีๆ ดิฉันก็ทำตามเขาหมด
แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงศึกษาทุกเรื่อง ศึกษาจากแหล่งวิชาการ
เอกสารทางวิชาการ ไม่ว่าใครว่าอะไรตรงไหนดี ดิฉันจะไปศึกษาทั้งหมดแล้วก็นำมาประยุกต์ใช้
ดิฉันไม่เคยจะยึดอะไรเป็นหลัก มีแต่เอามาลองแล้วประยุกต์ใช้ จนทุกวันนี้
ปัจจุบันนี้ดิฉันเห็นว่าง่ายค่ะ ไม่ใช่ของยากอย่างแต่ก่อนแล้ว
ปัจจุบันดิฉันไม่มีการฉีดสารเคมี
ดิฉันทำเกษตรธรรมชาติแบบชีววิธี คือ ใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี
ไม่มีการขับไล่แมลงอะไรทั้งนั้น ไม่มีการใช้สมุนไพร ให้ธรรมชาติปราบธรรมชาติ
ให้อยู่กับธรรมชาติ แมลงปราบแมลง โรคก็ปราบด้วยโรค ถ้าแมลงตัวไหนไม่มีในไร่ในสวน
ดิฉันก็จะไปขอจากศูนย์ Bio เช่น มวลเพชฌฆาต ตัวห้ำตัวเบียน ซึ่งมันจะทำลายหนอน
ทำลายเพลี้ย เขาก็เอามาปล่อยให้ บางอย่างก็ปราบด้วยไส้เดือนฝอย โรคราก็ใช้ไตรโคโดม่า
แล้วก็ทำดินให้อุดมสมบูรณ์ ทุกอย่างก็เป็นไปอย่างธรรมชาติ ปัจจุบันนี้เกษตรธรรมชาติที่บ้านสบายที่สุด
แทบว่าไม่ต้องทำอะไรเลย ถึงเวลาปลูกก็ปลูก ถึงเวลาเก็บก็เก็บ
วิธีบำรุงดิน
วิธีบำรุงดินก็คือทำดินให้เป็นดิน เปิดป่าใหม่
คือจะต้องยึดหลักว่า ถ้าดินเปิดป่าใหม่มีลักษณะเป็นแบบไหน ก็ทำดินให้เป็นอย่างนั้น
ดินเปิดป่าใหม่นั้นจะต้องเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอินทรียวัตถุ ป่าที่เกิดจากใบไม้
กิ่งไม้ทับถมกันนานๆ เข้า ดินก็จะนุ่ม เต็มไปด้วยอินทรียวัตถุ ดิฉันก็จะเอาอินทรียวัตถุนั้นมาหมัก
แล้วคลุกเคล้ากันจำนวนมากจนกระทั่งลักษณะดินนั้นเหมือนกับดินเปิดป่าใหม่
ทำดินให้ดีที่สุด เหมือนกับมันเป็นฐาน เหมือนร่างกายคนเราแข็งแรงก็จะโตได้
สู้โรคได้ ทุกวันนี้จึงรู้สึกง่ายและไม่มีการขับไล่แมลง
วิธีทำปุ๋ยหมัก
วิธีทำปุ๋ยหมัก ขั้นแรกต้องหาน้ำจุลินทรีย์ ตามที่ศึกษามา มันมีจุลินทรีย์เยอะแยะ
พด.๑ ของกรมวิชาการเกษตร ก็เป็นจุลินทรีย์ สำหรับย่อยอินทรียวัตถุได้
EM ของคิวเซก็ใช้ได้ หรือแม้แต่จุลินทรีย์ที่เกิดในป่าก็เป็นจุลินทรีย์ได้
จะเห็นว่าพวกใบไม้ที่ทับถมกันต่างๆ ที่เราเอามาใช้นั้นก็เป็นดินปุ๋ยหมักซึ่งมันถูกย่อยแล้ว
มันมีจุลินทรีย์จำนวนมาก ซึ่งเราสามารถเอามาหมัก แล้วใช้ละลาย เป็นน้ำจุลินทรีย์ได้
จุลินทรีย์ที่อยู่ในป่านั้น จะเห็นได้ชัดในฤดูฝน
ใบไม้ทับถมกัน หากไปดูแถวใต้ต้นไม้ตามป่า จะเห็นเชื้อราขึ้นเต็มไปหมด
ให้ไปเก็บเอาเชื้อรา พวกใบไม้ที่ทับถมต่างๆ เอาหลายๆ จุด อย่าเอาจุดเดียว
เราจะได้จุลินทรีย์หลายตัว แม้แต่ตามคอกหมู คอกวัวที่มีใบไม้ทับถมกัน
เอามารวมกันหมักกับน้ำตาลและรำจนได้ที่ แล้วละลายด้วยกากน้ำตาล เอามาเลี้ยงไว้
เมื่อได้น้ำจุลินทรีย์มาเลี้ยงไว้แล้ว เมื่อนำไปใช้ เราก็สามารถจะต่อเชื้อไปได้ตลอด
ที่บ้านดิฉันทำน้ำ จุลินทรีย์ไว้ใช้อยู่ ๒ แกลลอน ทำ ๔ ปี ๕ ปี เท่านั้น
ไม่เคยหาใหม่ ใช้ได้ตลอด เมื่อดูดไปใช้ครึ่งแกลลอน ก็เติมน้ำให้เต็ม
แล้วก็เติมกากน้ำตาลไปด้วย ถ้าไม่เติมกากน้ำตาล จุลินทรีย์มันจะไม่ขยายตัวเพราะจุลินทรีย์จะขยายตัวเมื่อได้อาหาร
หรือจะเป็นน้ำตาลทรายแดงก็ได้ หลังการใช้เราก็เติมเข้าไป เพราะฉะนั้นเราจะมีจุลินทรีย์ใช้ตลอดหรือจะแจกญาติพี่น้องทั้งหมู่บ้านก็ได้โดยไม่ต้องไปซื้อหา
มีแค่ถังสองถัง ก็ใช้ตลอดชีวิต เพียงแต่ต้องรู้จักขยาย ไม่ต้องหมักไว้นาน
ดมดูจะมีกลิ่นหอมหวาน ถ้ามีกลิ่นเน่าๆ แสดงว่าอาหารไม่พอ ต้องเติมกากน้ำตาลเข้าไป
เมื่อเรามีจุลินทรีย์เป็นหลัก ต่อไปจุลินทรีย์ตัวนี้เราก็จะเอาไปหมัก
จุลินทรีย์ตัวนี้เหมือนน้ำย่อยในอาหาร นึกถึงคน เรากินอาหารเข้าไปวันนี้
มันจะมีน้ำย่อยเพื่อไปย่อยอาหารเพื่อให้ร่างกายเอาอาหารไปใช้ ส่วนกากก็จะถูกถ่ายออกมา
จุลินทรีย์ตัวนี้ไม่ใช่ปุ๋ย จุลินทรีย์เหมือนกับตัวย่อยอินทรียวัตถุ
เราก็ไปหาพวกเศษวัสดุทั้งหลาย จะเป็นใบไม้ มูลสัตว์ เอามาผสมกับรำอ่อน
รำอ่อนก็เป็นอาหารของจุลินทรีย์เหมือนกัน เราก็ดูดเอาจุลินทรีย์นั้นไปคลุกเคล้าแค่พอหมาดๆ
แล้วก็เอาเขี่ยกองไว้กับพื้นซีเมนต์ แล้วหาซาแลน หรือถุงก็ได้คลุมไว้
ให้ใช้ความสูงประมาณ ๓๐-๔๐ ซม. นี้ทำไว้ประมาณ ๗ วัน ก็ใช้ได้ ไม่ต้องไปกลับกองนะคะ
มันจะเป็นงานยุ่งยากเกินไป คุณภาพก็ใช้ได้ดี อย่าไปทำกองใหญ่นัก จุลินทรีย์จะได้เดินทั่วถึง
ภายในวันสองวัน จุลินทรีย์ก็เดินทั่ว
ชมพู่ที่สวนก็มี เพชรน้ำผึ้ง ทับทิมจันทร์
ทยอยกันออกตลอดเวลาโดยไม่มีการพ่นสารกระตุ้นใดๆ ที่บ้านมันจะทยอยออกเป็นรุ่นๆ
๔, ๕, ๖ รุ่นในปีหนึ่งๆ โดยเราใช้ปุ๋ยหมัก ใช้น้ำหมัก หมายถึง เราหาพวกอินทรียวัตถุที่เหมาะสม
ที่จะทำให้ผลไม้ออกดอกออกผลได้ตลอดเวลา แล้วก็ไปบำรุงความหวาน เราก็วิเคราะห์เอาจากน้ำหมักตัวนี้เหมือนกัน
เพิ่มรสชาติ
ตัวบำรุงความหวานของผลไม้ คือ พวกฟอสฟอรัส โปแตสเซียม ขี้ไก่มีฟอสฟอรัส
โปแตสเซียมเยอะ เอาขี้ไก่มาหมักก่อน จะช่วยให้ผลไม้มีรสชาติมากขึ้น
สำหรับมะละกอที่สวนดิฉัน ปีแรกประกวดได้ชนะที่ ๑ ประเภทมะละกอหวานพันธุ์แขกดำ
หลังจากนั้นมาก็มีมะละกอแม่เนื้อหอม ซึ่งทั้งหวานทั้งหอมใหญ่ ลูกใหญ่ประมาณ
๑ ๑/๒ - ๒ กก. มันใหญ่เกินไป ดิฉันไม่ชอบ จึงมาผสมใหม่ก็ได้พันธุ์หวานน้ำทิพย์
ซึ่งได้ลูกพอเหมาะขนาดหนึ่งกิโล ผลจากการที่ดิฉันใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกเป็นหลัก
ปุ๋ยเคมีเม็ดหนึ่งก็ไม่ได้ใช้ จึงอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่มันไม่เป็นโรควงแหวน
ดิฉันใช้ธรรมชาติปราบธรรมชาติ แมลงปราบแมลง ถ้านักวิชาการเขาบอกว่าโรควงแหวนนี่เกิดจากเชื้ออ่อนเป็นตัวนำเชื้อโรค
ดิฉันทำอาชีพปลูกมะละกอมา ๖ ปี ผลสุดท้ายเพราะปลูกซ้ำที่เดิม นานเข้า
มะละกอตรงบริเวณที่ปลูกผักทั้งหมด ๖ ไร่นั้นเป็นโรควงแหวนทั้งหมด แต่พอเกษตรธรรมชาติสมบูรณ์แบบ
ก็มีมะละกอที่ดิฉันผสมได้เป็นพันธุ์หวานน้ำทิพย์ ซึ่งอยู่ท่ามกลางของโรควงแหวนแต่มันทนต่อโรค
ดิฉันก็เอาต้นนี้มาขยายพันธุ์ ลักษณะแข็งแรง ไม่มีอาการของโรค มีรสชาติหวานหอม
คิดว่ามันคงจะมาจากดินซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปุ๋ยหมัก
มีความคิดอย่างไรเรื่องของการตลาด
บริเวณที่ดิฉันอยู่ค่อนข้างจะโดดเดี่ยว ไม่มีกลุ่มเหมือนทางวังน้ำเขียว
ครั้งแรกทำอยู่คนเดียว ปัจจุบันมีเพื่อนกลุ่มอยู่ ๘ คน เรื่องตลาดเมื่อก่อนดิ้นรนไปขายเองในตลาดโคกสำโรง
ตลาดบ้านหมี่ ก็พออยู่ได้ ตอนหลังเลมอนฟาร์มเปิด ดิฉันก็ไปเสนอขายที่เลมอนฟาร์ม
เขาเช็คดูแล้วว่าดิฉัน ผักผลไม้ทำปลอดสารพิษ เพราะมีทั้งหนังสือและรายการโทรทัศน์
มีการออกเอกสาร แล้วก็มีศูนย์ Bio รับรอง เขาก็รับเข้าไปขาย ต่อมาลูกชายเหนื่อย
ขอหยุดส่ง
สำหรับตลาดนี่ ดิฉันจะไม่ค่อยมีปัญหา
เพราะจะวางแผนปลูก ตอนแรกดิฉันทำตามเขาหมด ตอนหลังดิฉันก็วิเคราะห์ดูในฐานะที่เป็นแม่บ้านรู้ว่าฤดูไหนอะไรแพง
พร้อมกันนั้นก็เปิดตำราดูด้วย ดิฉันก็จะวางแผนปลูกโดยการศึกษาหรือโทรศัพท์ติดต่อไปที่กรมอุตุฯ
ว่าบ้านเรานี้ฝนมันตกชุกช่วงไหน ที่ของมันแพงเพราะมันไม่มี หรือของมีเยอะราคาถูกแล้วก็ขายไม่ได้
นี่คือทฤษฎีหลักเลยของพี่น้องชาวเกษตร ถ้าของที่มีเยอะเกินไป จะขายไม่ได้
และถูกด้วย แต่ถ้าของไม่มีจะขายคล่องได้ราคาแพง เมื่อรู้ว่าการปลูกผักผลไม้ขึ้นอยู่กับอากาศเป็นตัวหลัก
การทำมาหากิน ถ้ารู้จักวางแผน เราจะทำเพียงไม่กี่เดือน ถ้าจะให้อยู่ได้ก็อยู่ได้
สมมุติว่าผักชีมันจะแพงช่วงเดือนกันยา-ตุลา เพราะภาคกลาง-เหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ
ฝนจะตกชุกประมาณเดือนกรกฎา พื้นที่แฉะจะปลูกไม่ได้ ดิฉันก็เตรียมลงเลย
ตั้งแต่เดือนกรกฎาไปเรื่อยๆ ผักชีก็ได้กิโลละเป็นร้อย ไร่หนึ่งจะเอาแสนหนึ่งก็ได้
เรื่องจริงนะคะ ไม่ใช่โม้ ปีที่ผ่านมาพื้นที่ ๑ ไร่ก็ได้เป็นแสนเหมือนกัน
ขณะที่คนอื่นเขาขาย ๑๒๐ ดิฉันบอกว่าเอาแค่ร้อยเดียว ผักชีของดิฉันต้นใหญ่
ใช้วิธีเกษตรธรรมชาติ ใครบอกว่าทำเกษตรใช้ปุ๋ยอินทรีย์แล้วเบา ดิฉันไม่เชื่อ
เพราะผักของดิฉันหนัก ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า รู้ดินฟ้าอากาศ ฤดูหนาวผักเยอะ
ดิฉันก็จะไม่ค่อยปลูก ถ้าหากจะเอาราคาดีๆ ก็ให้ไปเริ่มต้นกลางเดือนมีนา
เพราะช่วงเมษา-พฤษภา อากาศร้อนจัด ปลูกผักไม่ขึ้น ตรงจุดนี้แหละ เราต้องศึกษาตรงนี้
ถ้าเราเลี่ยงเวลา ผักก็จะไม่ล้นตลาด ก็จะพออยู่ได้
ประมาณเดือนมีนานี้จะมีชมพู่ออกเป็นจำนวนมาก
ดิฉันอยากเชิญพี่น้องไปเยี่ยมและชิมชมพู่ปลอดสารว่า รสชาติชมพู่ที่ไม่ใช้สารเคมีเป็นอย่างไร
มันชุ่มคอชื่นใจ ใครๆ ที่ชิมว่าอย่างนั้น แขกไปดิฉันไม่ขาย จะให้เก็บเอาเอง
ขอยืนยันว่า ไร้สารเคมีค่ะ
ดิฉันขอฝากพี่น้องว่า เมื่อก่อนดิฉันคิดว่าเกษตรกรคือคนโง่
คนโง่เท่านั้นที่จะเป็นเกษตรกร แต่มาถึงวันนี้ ดิฉันรู้ว่าเกษตรกรไม่ใช่คนโง่
เพียงแต่ว่า เราต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนเมื่อไร ตอนไหนก็ได้
คือถ้าเรียนแล้ว เราคิดว่าเราโง่ เราก็จะทำไม่สำเร็จ แต่ถ้าคิดว่าฉลาด
เราต้องพยายามทำให้สำเร็จให้ได้ ดิฉันภูมิใจมากที่ได้มาเป็นเกษตรกร
และอยากให้พี่น้องภูมิใจในอาชีพเกษตรกรค่ะ
(ถอดความจากรายการภาคค่ำ
งานพุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหาริย์ ครั้งที่ ๒๕ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
(หนังสือ
ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๔ หน้า ๔๗-๕๔)
|