รายการเสวนาเรื่อ
ศิลปะโลกีย์ - โลกุตระเป็นอย่างไร

ณ พุทธสถานสันติอโศก วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๔ เวลา ๐๙.๓๐-๑๑.๒๐ น.
ผู้ร่วมเสวนา : สมณะโพธิรักษ์, อังคาร กัลยาณพงศ์, ไม้ร่ม ธรรมชาติอโศก ดำเนินรายการโดย : สมณะกล้าจริง ตถภาโว

ณ ลานทราย บริเวณพุทธสถานสันติอโศก เสียงกังวานของกวีแห่งสยาม นาม อังคาร กัลยาณพงศ์ เปิดวงสนทนา ด้วยการร่ายบทกวีเป็นทำนองเสนาะ

"นี่เป็นการลองเสียง ถ้าใครอยากเสียงดีให้กินพุทราไทยตามโบราณสถานที่อยุธยามีเยอะ ไม่มีสารเคมี"

"ศิลปินแห่งชาตินั่นหรือก็คล้ายวัวควายที่ถูกเหล็กนาบไฟแดงๆ ประทับตราที่หน้าผากว่า ไอ้นี่เป็นศิลปินนะ"

อังคาร กัลยาณพงศ์ (ซึ่งต่อไปนี้ขอเรียกว่า ท่านอังคาร ตามความนิยมของผู้ชื่นชม) สัพยอก ตนเอง เมื่อผู้ดำเนินรายการ กล่าวขยายความถึงท่าน

"มโนมัยแปรจิตเจตนาจักรวาล" บทกวีท่อนนี้ท่านอังคารอธิบายเป็นความเปรียบดังนี้

"จิ้นซีฮ่องเต้ผู้เรืองอำนาจพิโรธตั้กแตนตำข้าว ที่มันยกสองขาขึ้น ด้วยคิดว่ามันขบถ ที่แท้ขบถตัวจริง คือไขมัน ที่อุดตันเส้นเลือดพระองค์ แม้จะเป็นฮ่องเต้ผู้ยิ่งใหญ่แต่ก็สู้มฤตยูไม่ได้ การยกขาของตั้กแตน นั่นแหละคือ เจตนาจักรวาลที่ให้มันทำท่าอย่างนั้น เพื่อหาอาหารหรือหาคู่ พอมันผสมพันธุ์กัน ตัวเมียจะกัดตัวผู้จนคอขาด ตัวผู้ก็ตายด้วยดำกฤษณา นี่ก็เป็นเจตนาจักรวาล"

มาถึงเรื่องศิลปะ ท่านอธิบายว่า "ศิลปินจริงๆต้องปฏิบัติ ต้องธุดงค์เข้าไปในความลึกล้ำของธรรมะ หากจะพูด ต้องพูดสารนฤมิตธรรม ศิลปินที่สร้าง พระพุทธรูปนั้นต้องถือศีลแปด"

ท่านอังคารยังอธิบายสัญลักษณ์ของดอกบัวว่า "เรณูบุปผชาติไม่มีเปือกตม...บัวที่เกิดแต่ตม พอพ้นน้ำก็สะอาดงาม ดอกบัวจึงเป็นหัวใจศิลปะไทย และเป็นดอกไม้ที่รองรับพระบาทของพระพุทธเจ้า ดอกบัว เป็นเครื่องหมาย ของอรหันต์"

"ศิลปินจริงๆ ต้องสงบนิ่ง ศึกษาเล่าเรียน และสอนตนเองให้ลึกซึ้ง...โดยหลักแล้ว ศิลปินอุทิศชีวิตให้มนุษย์ หากจะเข้าใจต้องคงแก่เรียน ศึกษาแล้วต้องปฏิบัติให้จริงจัง ตัวเราจะเป็นขุมทรัพย์พิเศษ"

ไม้ร่ม ธรรมชาติอโศก ศิลปินอาวุโส ซึ่งบัดนี้กลายเป็นคนงานของวัด อธิบายเกี่ยวกับศิลปะว่า

"เมื่อพูดถึงนิพพานนั้น เป็นสากล มีสิทธิสำหรับทุกชีวิต วิธีการที่ศิลปินเข้าหานิพพานคือ เขาทำงานศิลปะ ด้วยความงาม ความสงบและความเรียบง่าย พระพุทธเจ้าทรงมีทางปฏิบัติลดละกิเลสให้มีศีล สมาธิ ปัญญา ตามขั้นตอน แนวทางของพระพุทธองค์ มีกฎระเบียบวินัย แต่ศิลปะไม่มีอะไรบังคับใช้สีรูปทรง ศิลปินนั้น คำนึงถึง สุนทรียภาพ แต่คนที่ไม่ใช่ศิลปิน เข้าถึงธรรมโดยไม่คำนึงถึงสุนทรียภาพ เมื่อเป็นเช่นนี้ ศิลปินจึงสร้างงานศิลปะ ให้คนสวยงาม โดยใช้สีสันปั้นแต่ง และอาจไปถึงนิพพานช้ากว่าคนอื่น เพราะอาจมัวหลงอะไรอยู่ อาจไปตามแรง ดึงดูดของโลก ซึ่งหากศิลปินขาดสติก็จะถูกดูดไปสู่ที่ต่ำ"

ไม้ร่ม สรุปว่า "ศิลปะอยู่เหนือความรู้ เหนือเหตุผล แต่ไม่ใช้เพ้อเจ้อ หากใช้จินตนาการ ยกตัวอย่าง หนูน้อยคนหนึ่ง มาฝึกวาดรูป เขารู้จักแก้ปัญหา ในกระดาษหนึ่งแผ่น สร้างความกว้างความลึกให้แก่ จิตวิญญาณตนเอง และในที่สุดเมื่อเขาโตขึ้นเขาจะไม่ฉีกกระดาษทิ้งบนถนน ไม่ฆ่าสัตว์ นี่คือพัฒนาการทางศิลปะที่จะช่วยสังคม ศิลปินต้องใช้ความรู้สึกหยั่งรู้ และสร้างงานที่ง่าย งาม สงบ ศิลปินที่หมดกิเลสคนแรก และคนเดียว ของโลก คือพระพุทธเจ้า"

สมณะโพธิรักษ์ อธิบายว่า "ศิลปะหรือสิปปะ แปลว่า ฝีมือหรือความสามารถของคน ถ้าผู้มีความสามารถเอาดิน น้ำ ลม ไฟ วิญญาณเข้ามาประกอบกันขึ้น หรือเรียกว่า Composition ยังผลให้ผู้สัมผัสงานนั้น เกิดความสุข สูง สร้างสรร เสียสละ หรือเป็นสมบัติ นั่นคืองานศิลปะ

ศิลปะในระดับโลกีย์จะไม่หลุดพ้นจากลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ศิลปะโลกุตระจะเพิ่มจากระดับโลกีย์ คือ เป็น สูญ และ สัมบูรณ์ หรือ absolute ฤทธิ์เดชของ 'สูญ' และ 'สัมบูรณ์' จะเป็นตัวแปรของ รส

สุขโลกีย์ อันได้แก่ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ กาม นั้นหากเข้าใจโลกีย์มีปัญญารู้เหตุแห่งการติดในโลกีย์ คือ อวิชชา เรียนรู้อัสสาทะของโลกีย์ จับเหตุของมันให้ได้ หากอ่านออก ล้างได้จริง เข้าหา สูญ จะเป็น สุข ที่ลบอารมณ์โลกีย์ หาก สูง อย่างหมดความเห็นแก่ตัว มีคุณค่าสามารถแบ่งปัน สมบัติที่โลกเขาแย่งกัน คืนแก่โลกไป นี่คือผู้เข้าไปหา สูญ ซึ่ง สูญ และ สัมบูรณ์ จะเป็นตัวแปรอันนำสู่ 'วูปสโมสุโข'

การ 'สร้างสรร' เพื่อผู้อื่น ได้แก่ สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ เหล่านี้นำสู่ความเป็นโลกุตระ ซึ่งศิลปินโลกุตระต้องเข้าใจอย่างนี้ แล้วประกอบงานที่คนสัมผัสได้แล้วเข้าใจ เปลี่ยนใจไปใน แนวทางดังกล่าว

สมณะ โพธิรักษ์ได้ให้ แง่คิดเกี่ยวกับ 'ศิลปะ' และ 'อนาจาร' ว่า งานใดที่สัมผัสแล้วกิเลสลดเป็น 'ศิลปะ' งานใด ที่สัมผัสแล้วกิเลสเพิ่มเป็น 'อนาจาร' ยกตัวอย่าง ภาพยนตร์เรื่องไททานิค ถือเป็นงาน 'อนาจาร' เพราะทำให้ ผู้ชมบรรลุความใคร่หลายเหลี่ยมหลายนัย เป็นงานเน่า สุดทุเรศ ทุกวันนี้คนไม่เข้าใจว่าอะไรเป็น 'ศิลปะ' อะไรเป็น 'อนาจาร' จึงชื่นชมให้รางวัลงานอนาจารกัน หลงกันจนถึงระดับโลก

สรุป ศิลปะคือ ฝีมือของคนที่สามารถประกอบงานให้ผู้รับเกิดความสุข สูง สร้างสรร เสียสละ เป็นสมบัติ หากหยุดแค่นี้เป็นศิลปะโลกีย์ หากเข้าสู่สูญและสัมบูรณ์ตามนัยที่อธิบายข้างต้นเป็นศิลปะ โลกุตระ

ศิลปะเป็นมงคลอันอุดม โลกจะเจริญได้ด้วยฝีมือความสามารถของศิลปิน และพระพุทธเจ้าคือยอดศิลปิน"

ประเด็นสังเขปในเรื่องศิลปะโลกีย์และศิลปะโลกุตระ ตามนัยแห่งศิลปินทั้ง ๓ ท่าน สรุปได้โดยประการฉะนี้แล

หายโง่ ธรรมชาติอโศก รายงาน ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๔

( ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๕ หน้า ๕๑-๕๕)