อุดมการณ์ และ ความใฝ่ฝัน

เมื่อครั้งที่เป็นเด็กอยู่ชั้น อนุบาลหรือประถมต้น มักจะถูกครูถามกันเสมอว่า ในอนาคตโตขึ้นอยากจะเป็นอะไร หลากหลายคน ก็หลากหลายอาชีพ ทั้งหมอ ตำรวจ พยาบาล ทหาร ฯลฯ แต่แทบไม่มีใครเลย ที่อยากจะเป็น ชาวไร่ชาวนา ในครั้งนั้น ความคิดความอ่าน อาจจะไม่เป็นตัวของตัวเอง จนเมื่อโตขึ้น ถึงระดับมหาวิทยาลัย เพิ่งรู้สึกว่า ในอนาคต อยากจะเป็นชาวไร่ชาวนา ในขณะที่สังคมส่วนใหญ่ หมิ่นแคลน อาจจะถึงขั้น เหยียดหยาม ชาวไร่ชาวนา แต่หากมอง บางแง่บางมุมในสังคม ที่กว้างใหญ่หลากหลายอาชีพ

คนทุกคนไม่ใช่เป็นชาวไร่ชาวนากันหมด เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ นักธุรกิจ ฯลฯ ไม่ได้มีอาชีพเพาะปลูก แต่ทุกคนต้องบริโภคอาหาร ซึ่งมาจาก ภาคกสิกรรมเป็นหลัก แม้สินค้าอุตสาหกรรมบางอย่าง ยังต้องนำวัตถุดิบ จากภาคกสิกรรม มาแปรรูปเป็นอาหารสำเร็จรูปต่างๆ ฉะนั้น จะต้องมีคนบางกลุ่ม ทำอาชีพ เพาะปลูกเลี้ยงคน ในสังคม นี่แหละคือ ภาระหน้าที่ของกสิกร

เนื่องจากทุกวันนี้ ไม่มีใครคิดจะเป็นชาวไร่ชาวนา แม้ลูกหลานชาวไร่ชาวนาเอง ก็หาน้อยเต็มที ที่จะกลับไปสืบสาน อาชีพบรรพบุรุษ ฉะนั้น ถ้าหมดคนรุ่นพ่อรุ่นแม่แล้ว คนที่จะทำหน้าที่เพาะปลูก คงจะน้อยลงมาก ถ้าหากเรามองดู ความต้องการ (ดีมานด์) และการตอบสนอง (ซับพลาย) ของสังคมแล้ว อาชีพทำกสิกรรม เป็นความต้องการ ของสังคม อย่างยิ่ง และหากกสิกรเอง มีระบบการจัดการ เรื่องการผลิต การตลาด ที่เท่าทันกลไก ของตลาดทั่วไปแล้ว กสิกรจะเป็นผู้กำหนดบทบาท และมีอิทธิพล ต่อสังคมอย่างมาก เพราะเป็นผู้กุมชะตากรรม เรื่องปากเรื่องท้อง ของคนในสังคม เป็นส่วนใหญ่

ในอนาคตนั้น ราคาสินค้าภาคกสิกรรมจะสูงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิต คือกสิกรปริมาณลดลง ผลิตผล ต่างๆ ย่อมออกมาน้อย ฉะนั้น ตามกลไกการผลิต ราคาพืชผัก ผลไม้ จะสูงขึ้นแน่นอน และถึงแม้ราคาจะสูงขึ้น คนก็ต้องซื้อบริโภค เพราะเป็นเรื่องจำเป็น ตรงกันข้าม สินค้าประเภทฟุ่มเฟือย ยอดขาย ย่อมจะต้องลดลง อันเนื่องมาจาก ประเทศไทย ยังไม่พ้นวิกฤตเศรษฐกิจ อำนาจการซื้อของประชาชน จึงมีไม่มากเหมือนก่อน และผู้เชี่ยวชาญ ยังได้ทำนาย ทายทักกันอีกว่า วิกฤตเศรษฐกิจ อาจจะเกิดอีกระลอกหนึ่ง ฉะนั้น ในอนาคตอันใกล้ และยาวไกล หากใครก็ตาม หันมาจับ อาชีพกสิกรรม เชื่อได้ว่าไม่หมด หนทางหากินแน่นอน

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ราคาสินค้าภาคกสิกรรม จะมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ผลิตก็ไม่ควรขึ้นราคาสูงจนเกินไป เพราะคนในสังคมส่วนใหญ่ ไม่ใช่จะร่ำรวยมาก สำหรับคนที่ร่ำรวย ข้าวสารกระสอบหนึ่ง จะแพงเท่าไร ก็สามารถซื้อได้ แต่คนที่เขาไม่มีเงินมากนี่สิ น่าเห็นใจ กสิกรเอง ต้องมีอุดมการณ์ และไม่ควรละเลย ประเด็นนี้ ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ ขณะนี้ประเทศไทย ได้เปิดการค้าเสรี นั่นย่อมหมายถึง สินค้าจากต่างประเทศ สามารถนำเข้ามาขายกันได้ อย่างเสรี การทำกสิกรรม ของต่างประเทศ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย พื้นที่หลายสิบไร่ ใช้คนเพียงไม่กี่คน ต้นทุนการผลิต ย่อมต่ำกว่าเมืองเรา ที่ยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก ทำให้ต้นทุน ในบ้านเรา ค่อนข้างสูง เมื่อเป็นเช่นนี้ สินค้าของต่างประเทศ ย่อมจะถูกกว่าบ้านเราเป็นแน่ การกีดกันด้านภาษี ก็ไม่มีแล้ว ฉะนั้น สินค้าเกษตรบ้านเรา ราคาไม่ควรจะแพงมาก เพื่อจะได้แข่งขัน กับตลาดได้

ประการสำคัญอันหนึ่งคือ การทำกสิกรรมนั้น ไม่ควรมุ่งไปที่ การจะขายอย่างเดียว หากแต่เป็นการผลิต เพื่อบริโภคกินเองใช้เอง เหลือแล้ว จึงนำไปขาย จริงอยู่ การทำไร่ทำนา ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากมีความใฝ่ฝัน และอุดมการณ์ ก็ไม่น่าจะยาก เกินความพยายาม โดยเฉพาะ นิสิตนักศึกษา ในมหาวิทยาลัย หลายคน อาจจะเข้าใจผิดไปว่า เรียนจบมาสูง ถึงขั้นปริญญา ทำไมจึงต้องมาทำไร่ทำนา แล้วจะเรียนกันไปทำไม หากทำความเข้าใจให้ดี ผู้ที่เรียนสูงๆ นี่แหละ ควรที่จะต้องไปทำไร่ทำนา เพราะอุตส่าห์เรียนมาสูง จะให้แค่ไปนั่ง ในห้องเย็นๆ วันๆไม่ต้องทำอะไรมาก นอกจากเซ็นเอกสาร หรือนั่งหน้าจอ คอมพิวเตอร์ เป็นอย่างนี้ เหมือนการดูถูกกัน เพราะอุตส่าห์ เรียนมาตั้งนาน และ ใช้เงินใช้ทองไปก็เยอะ แล้วมีโอกาส ทำงานเพียงเท่านี้เองหรือ !?!?

บัณฑิตที่แท้จริงต้องติดดิน และพร้อมจะนำความรู้ไป บูรณาการชนบท ช่วยคนที่มี โอกาสน้อย ในสังคม อันกว้างใหญ่ เรียนจบนิติศาสตร์มา ก็ควรนำความรู้ เรื่องกฎหมายไปช่วยชาวบ้าน เป็นผู้นำชาวบ้าน ให้เขามีที่พึ่ง ปรึกษาได้ ให้ความรู้สึกว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ไม่ใช่ถูกอำนาจรัฐ สร้างความแตกต่าง ระหว่างชนชั้น โดยเฉพาะ เวลาติดต่อราชการ เรียนจบรัฐศาสตร์ หรือบริหารธุรกิจหรืออื่นๆ ก็ตาม ควรที่จะนำความรู้ที่ได้ ไปรับใช้ชนบท อย่างนี้แหละ ที่ควรค่าแก่การยกย่อง ว่าเป็นบัณฑิตแท้ นี่ไม่ใช่ความฝันลมๆ แล้งๆ หากว่า กล้าทำและทำจริง ย่อมเป็นไปได้

การจบเป็นบัณฑิต มิใช่จะแสดงความโก้หรู ถ้าหากขาดสำนึก และความรับผิดชอบในสังคม ก็เป็นแต่เพียง เป็นบัณฑิตเปลือกๆ เท่านั้นเอง และอาชีพที่เหมาะ แก่บัณฑิตทุกคน คืออาชีพชาวไร่ชาวนา นี่เอง ไม่ว่าจะจบคณะไหน สามารถ ทำได้เหมือนกันหมด ต่างแต่ว่ากล้าลงมือจริง หรือไม่เท่านั้นเอง

(หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๕ หน้า ๕๙-๖๓)