ฟางมีค่ากว่าทองคำ

เคล็ดที่(ไม่)ลับบนความสำเร็จของการทำกสิกรรมธรรมชาติ ในยุคที่ประเทศไทย กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ฟางคือชิ้นส่วน ของต้นข้าว ที่ชาวนาเก็บเกี่ยว เอาเมล็ดข้าวเปลือกไปแล้ว ส่วนมากชาวนาเผาทิ้ง การเผาฟางทิ้ง เป็นการสูญเสีย ทรัพยากรในประเทศ โดยเปล่าประโยชน์ เคยมีผู้รู้ และผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่ง กล่าวเปรียบเปรยเอาไว้ว่า

ผู้ใดเผาฟาง ผู้นั้นกำลังเผาธนบัตร ฉบับละ ๑๐๐ บาท ฉบับละ ๕๐๐ บาท จำนวนมาก ของตนเองทิ้ง

ฟังท่านพูดดูเหมือนจะสมเหตุสมผลมากที่สุด เพราะฟางมีประโยชน์มากมาย นับอนันต์จริงๆ โดยเฉพาะ เป็นปัจจัยพื้นฐาน ในการบำรุงดิน และสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์

ประโยชน์ของฟาง
๑. เป็นหัวปุ๋ยชั้นดี ฟางอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และไนโตรเจน ฯลฯ ถ้าหากเรานำฟาง ไปคลุมดิน จะทำให้พืชผัก เจริญเติบโต แข็งแรง ทนต่อศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี ท่านที่ไม่ชอบฟาง อาจทำให้ระคายผิวบ้าง จึงหันไปใช้มูลวัว มูลควายแทน ท่านเคยสังเกตไหมครับว่า วัวควายกินอะไรพวกมันกินหญ้า กินฟาง ก็นำไปบำรุงร่างกาย ของมันทั้งหมด ส่วนที่เหลือ ก็ขับถ่ายออกมา ซึ่งเป็นกากเดนของฟาง ประโยชน์ก็มีน้อย จึงมีผู้เปรียบเทียบเอาไว้ว่า มูลวัวมูลควาย ๑๐ ส่วน จึงจะเท่าฟาง ๑ ส่วน หรือเปรียบเทียบ ให้ชัดเจนเข้าไปอีกว่า ฟางเปรียบเหมือนรถมือหนึ่ง หรือรถใหม่ มูลวัวมูลควาย เปรียบเสมือน รถมือสอง ท่านจะเลือกเอาอะไร ฟางเป็นส่วนหนึ่ง ของแม่โพสพ (ข้าว) นอกจากฟางแล้ว ยังมีแกลบ รำ ละอองข้าว (คายข้าว) ทั้งหมดคือผลผลิต ที่ออกมาจากข้าว เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อดิน และมนุษย์เป็นอย่างมาก ถ้าหากชาวไร่ชาวนา หันมาใช้วัตถุดิบเหล่านี้ แทนปุ๋ยเคมีแล้ว จะทำให้ ประเทศไทย ไม่ต้องสั่งซื้อปุ๋ยเคมี จากต่างประเทศ ซึ่งทำให้เราขาดดุลการค้า อย่างมากมายมหาศาล

๒. ฟางช่วยปรับโครงสร้างของดิน ที่เป็นกรดหรือเป็นด่าง ให้เกิดความสมดุล ในตัวของมันเอง ดินที่เป็นกรด (Acid Soils) หมายถึง ดินที่มีค่า PH ต่ำกว่า ๗.๐ ดินที่เป็นด่าง (Alkaline Soils) หมายถึง ดินที่มีค่า PH สูงกว่า ๗.๐ ไม่ว่าดินจะเป็นกรดหรือเป็นด่าง ถ้าหากท่านเอาฟาง ไปคลุมดินไว้ สิ่งเหล่านี้ จะค่อยๆ หายไปเองทันที ช่วยรักษา หน้าดิน ตามธรรมชาติของดิน ถ้าหากไม่มีอะไรปกคลุม หรือกั้นเอาไว้ หน้าของดิน จะเสื่อมสลาย และสูญเสีย ไปกับสายลม น้ำและแสงแดด ซึ่งจะทำให้ดิน เป็นดินด้าน อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าหากเรานำฟาง ไปคลุมดินเอาไว้ จะทำให้เกิด ชั้นหน้าดินอีกทีหนึ่ง ช่วยคลุมหญ้า และวัชพืชต่างๆ เมื่อเรานำฟาง ไปคลุมหญ้า และวัชพืชหนา พอสมควร โดยไม่ให้อากาศ หรือแสงแดด ส่องถึงพื้นดิน จะทำให้หญ้า และวัชพืชเน่า เป็นปุ๋ยหมัก ตามธรรมชาติ อย่างดี หลังจากนั้น เราก็จะสามารถแหวกฟาง ออกปลูกพืชผักต่างๆ ได้โดยไม่ต้องออกแรงมากนัก ฟางรักษาความชื้น ให้แก่ดิน เป็นการสร้างดินให้มีชีวิต

๓. สร้างระบบนิเวศ ถ้าหากเราทำกสิกรรมที่ใช้ฟางเป็นหลัก จะทำให้ประหยัดน้ำมากขึ้น ช่วยให้เกิด วัฏจักรชีวิตของสัตว์ ที่มีประโยชน์ต่อดิน ตามธรรมดาดินที่ว่างเปล่า หรือดินโล้น จะเป็นดินป่วยดินดาน ดังนั้น ถ้าหากเราปลูกพืชลงไป พืชผักก็จะอ่อนแอ ไม่เจริญเติบโต ศัตรูของพืช ก็จะมาทำลาย แต่ดินที่คลุมด้วยฟาง จะเป็นดินที่ร่วนซุยเพราะไส้เดือน จุลินทรีย์และสัตว์ต่างๆ ช่วยกันพรวนดิน ดินที่คลุมด้วยฟาง ก็จะเป็นอาณาจักร ของสัตว์ต่างๆ เพราะระบบนิเวศวิทยาอุดมสมบูรณ์ เช่น คางคก แย้ จิ้งเหลน แมงมุม ฯลฯ การระบาด ของแมลงศัตรูพืช ก็จะค่อยๆ หายไป โดยที่เราไม่ต้องไปใช้ สารขับไล่แมลง ดังนั้น การทำลายชีวิต ของสัตว์ต่างๆ ในไร่นา นอกจากจะผิดศีลธรรม ตามหลักของพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ที่เราอาศัยอยู่ให้เสื่อมลงไป อย่างน่าเสียดายเป็นที่สุด

ถ้าหากเรานำไปคลุมสวนผัก ของเราทุกๆ ปี จะเกิดความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ พืชผักนานาชนิด จะเกิดขึ้น โดยที่เราไม่ต้องไปดูแล ประคบประหงม มากนัก ยิ่งไปกว่านั้น จะเกิดเห็ดต่างๆ โดยเฉพาะเห็ดฟาง ให้เราได้มีอยู่ มีกินทั้งปี ดังนั้น จึงขอเชิญชวน ให้พวกเรา เห็นความสำคัญของฟาง เมื่อเห็นกองฟาง หรือเส้นฟาง จงระลึกอยู่เสมอว่า นี่คือทองคำ หรือทรัพยากรอันมีค่า และนำไปใช้ ให้เกิดประโยชน์สูง ประหยัดสุด เพื่อประโยชน์ตน และผู้อื่น ในโอกาสต่อไป อีกอย่างหนึ่ง การทำกสิกรรมธรรมชาติด้วยฟาง ควรเริ่มทำในพื้นที่ ขนาดเล็ก ไปหาพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือทำในสิ่งที่ใกล้ๆ ตัวไปสิ่งที่อยู่ไกลตัว พยายามปลูกพืชผัก ที่ปลูกง่าย ไปหาผักที่ปลูกยาก หรือ ถ้าคิดอะไรไม่ออก ขอบอกให้ปลูก พืชตระกูลถั่ว เราจะประสบ ผลสำเร็จในที่สุด

พืชตระกูลถั่ว
ถ้าพูดถึงพืชตระกูลถั่วแล้ว ประเทศไทยเรามีถั่วหลายร้อยชนิด เริ่มตั้งแต่พืชตระกูลถั่ว ที่ใหญ่ที่สุด เช่น มะแต้ มะค่า มะขามเทศ จามจุรี จนถึงพืช ตระกูลถั่ว ที่เล็กที่สุด เช่น ถั่วมะแฮะ ถั่วเขียว ถั่วพร้า ถั่วขอ พืชตระกูลถั่วเหล่านี้ มีประโยชน์ต่อดิน เป็นอย่างมาก ถ้าหากเรารู้ และสามารถนำมาใช้ เป็นปุ๋ยบำรุงดินแล้ว ปุ๋ยเคมี ก็จะไม่มีประโยชน์ ต่อเราเลย

ประโยชน์และคุณสมบัติของพืชตระกูลถั่ว
๑. ให้แร่ธาตุไนโตรเจนจำนวนมาก ๗๐-๗๘%
๒. เมื่อเราปลูกถั่ว คลุมด้วยฟาง จะได้แร่ธาตุ NPK ครบสมบูรณ์
๓. ป้องกันศัตรูของพืชและโรคระบาดได้เป็นอย่างดี
๔. เป็นอาหารที่ให้โปรตีนแก่มนุษย์เป็นอย่างมาก โดยที่เราไม่ต้องไปกินเนื้อสัตว์ต่างๆ
๕. ใช้เป็นพืชปลูกคลุมดินและหญ้าชั้นเยี่ยม ควรปลูกปลายฤดูร้อน ต้นฤดูฝน ซึ่งในฤดูกาลนี้ วัชพืชและหญ้าจะมีไม่มากนัก ถั่วที่คลุมดินได้ดี มีประสิทธิภาพ ปราบหญ้าได้อย่างดีเยี่ยม คือ ถั่วขอ ถั่วพร้า

ปุ๋ยเคมีคืออะไร
ปุ๋ยเคมี คือ ปุ๋ยที่มีต้นกำเนิดจากสิ่งที่ไม่มีชีวิตหรืออนินทรียสาร เมื่อเกษตรกรปลูกพืช และใส่ปุ๋ยเคมีลงไป พืชจะดูดสารเหล่านี้ เข้าไปใช้ เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนที่เหลือ ก็จะเป็นสารพิษ ตกค้างในดินและน้ำ กลายเป็นมลภาวะ ต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ในที่สุด การใช้ปุ๋ยเคมี ติดต่อกัน เป็นเวลานาน จะทำให้โครงสร้าง ของดินเสียไป ดินจะกลายเป็นดินด้าน ดินดาน ดินตาย

ดินไม่มีชีวิตชีวา (ดินป่วย) เมื่อปลูกพืชผักในดินเหล่านี้ พืชผักจะไม่ค่อยแข็งแรง แมลงและศัตรูของพืช ก็จะเข้ามา ทำลาย พืชผักทันที ดินป่วย ปลูกพืชผักก็จะป่วย คนกินผักที่ป่วย ก็จะกลายเป็นคนป่วย สุขภาพไม่แข็งแรง สุดท้ายก็ไปหาหมอ เพื่อเยียวยารักษา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหา ที่ปลายเหตุ ดังนั้น เราต้องมาเป็นหมอให้ตัวเอง โดยการเลิก ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี หันกลับมาใช้ฟาง และถั่วเป็นพืชบำรุงดิน สุขภาพกาย และจิตของเรา จะดีถ้วนหน้า

เงินทองเป็นของมายา พืชผักนานาเป็นของจริง

ทำอย่างไรจึงจะเขียวตลอดปี
ในหนึ่งปีถ้าหากคิดเป็นเดือน มีอยู่ ๑๒ เดือน ถ้าคิดเป็นวันมี ๓๖๕ หรือ ๓๖๖ วัน แบ่งออกเป็น ๓ ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว พืชผักแต่ละชนิด จะเติบโตแตกต่างกันไป องค์ประกอบสำคัญ ที่จะทำให้พืชผัก เจริญเติบโต แข็งแรงนั้นคือ คน ดิน น้ำ อากาศ ในบรรดาสิ่งเหล่านี้ ถ้าหากจะจัดลำดับ ความสำคัญแล้ว คนสำคัญที่สุด ดินจะดี น้ำจะใสสะอาด อากาศจะปลอดโปร่ง ขนาดไหนก็ตาม ถ้าหากคนไม่รัก ไม่ศรัทธาในอาชีพนี้แล้ว ก็ยากจะประสบ ผลสำเร็จได้

ถามว่า อะไรเป็นตัวแปรที่จะทำให้พืชผักเจริญเติบโตแข็งแรง หรือไม่เจริญเติบโต

คำตอบ อากาศเป็นตัวแปรสำคัญที่สุด พืชผักบางชนิดชอบอากาศหนาว บางชนิดชอบอากาศร้อน บางชนิด ชอบอากาศอบอุ่น ดังนั้น ถ้าหากเราศึกษา พฤติกรรมการเจริญเติบโต ของพืชแต่ละชนิด ให้ละเอียดแล้ว การปลูกผัก ไร้สารพิษ ที่พวกเรากำลังท้อแท้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ยาก เกินไปนัก

อีกประการหนึ่ง สิ่งที่เราน่าจะศึกษาเรียนรู้ และปรับตัวเอง ให้เข้ากับสิ่งเหล่านี้คือ ศัตรูของพืช และแมลงต่างๆ ที่จริงสัตว์เหล่านี้ ไม่ใช่เป็นสัตว์เลวร้าย ที่จะต้องปราบ หรือกำจัดมัน ด้วยสารเคมี และยาฆ่าแมลง ที่รุนแรงเสมอไป แมลงเป็นสัตว์ที่ ไม่มีกระดูกสันหลัง สมองนิดเดียว มีมากในฤดูฝน ฤดูร้อนจะวางไข่เป็นตัวหนอน ดังนั้น แมลง ในฤดูร้อน จึงมีน้อย ถ้าเราหมั่นศึกษา สิ่งเหล่านี้ และ ปรับวิถีชีวิตของเรา ให้เข้ากับธรรมชาติแล้ว คำว่า ไร้สารพิษ และ เขียวตลอดทั้งปี ก็จะเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินคิด เกินหวังจนเกินไป

หมายเหตุ ฤดูร้อนจะมีเพลี้ยต่างๆมาก ฤดูฝนจะมีแมลงมาก โดยเฉพาะ ปลายฤดูฝน แมลงจะเตรียมตัววางไข่ ฤดูหนาว จะมีเพลี้ย และแมลงน้อย ดังนั้น ชาวไร่ชาวนา จะนิยมปลูกพืช หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว

อุดม ศรีเชียงสา


ตารางพืชผักที่ควรปลูกในแต่ละฤดู

ฤดูร้อน พืชตระกูลเถา เลื้อย และถั่วชนิดต่างๆ จะเจริญเติบโตงอกงามได้ดี ทนแดด ทนร้อน เช่น ฟัก แฟง แตงโม แตงไทย บวบ พริก มะเขือชนิดต่างๆ มันแกว มันเทศ ฟักทอง หอม ผักบุ้ง ข้าวโพด งา

ฤดูฝน ข้าว พริก มะเขือ ตำลึง บวบ ฟักทอง มะระ ชะอม แตงกวา แตงไทย เผือก ฟัก แฟง ข้าวโพด มันแกว โหระพา แมงลัก ตะไคร้ ผักพื้นบ้านต่างๆ

ฤดูหนาว กะหล่ำปลี คะน้า กวางตุ้ง ขาวปลี เขียวปลี ผักกาดหอม บล็อคโคลี่ หอมใหญ่ หอมแบ่ง มะเขือเทศ กระเทียม แครอท หัวไชเท้า ข้าวโพด พริก

(จากหนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๕ หน้า ๖๔ – ๗๑)