ฆวาลา

ดิฉันได้ไปเป็นวิทยากรบรรยายและพูดคุยกับนิสิต หน่วยจุฬา-ชนบท ในหัวข้อ เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า เป็นเวลา ๓ ชั่วโมง ดิฉันได้ให้นิสิตดูวีดีทัศน์ เรื่อง ครูบ้านนอกเกาหลี ซึ่งเป็นโครงการในยุคสมัยที่เกาหลีสร้างชาติ ด้วยการส่งครู ที่มีอุดมการณ์ มีจิตใจเสียสละ ออกไปพัฒนาชนบท จนประสบผลสำเร็จ (วีดิทัศน์ม้วนนี้ ขอแนะนำ ให้ครูบาอาจารย์ ทุกท่านดู จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งต่อครูและศิษย์ ขอยืมหรือซื้อได้ ในราคาม้วนละ ๑๐๐ บาท ที่แผนกธรรมโสต สันติอโศกค่ะ) จากนั้น จึงให้ทุกคนเขียนเรื่อง คุณครูในดวงใจ ใครจะเขียนถึงครูกี่คนก็ได้

หลังจากที่ดิฉันได้อ่านเรื่องราวของครูผู้เสียสละ และตั้งใจทำงาน อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ของครูหลายๆ ท่าน รู้สึกเกิดปีติ และซาบซึ้งใจ ในความดี ของบุคคลเหล่านั้น เป็นอย่างมาก

อยากให้ครูทุกท่านที่ได้รับการเอ่ยถึงจากศิษย์ได้อ่านสิ่งเหล่านี้ และเพื่อเป็นการเชิดชู อาชีพครู ซึ่งเป็นอาชีพ ที่สำคัญที่สุด อาชีพหนึ่ง ดิฉันจึงขอนำงานเขียน ของนิสิตเหล่านั้น มาลงเป็นตอนๆ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ และ ร่วมอนุโมทนา กับครูดีๆ ที่ควรยกย่อง ให้เป็นแบบอย่าง อีกทั้งควรช่วยกัน เป็นกำลังใจ ให้ครูเหล่านั้น ทำดีต่อไป เพราะ ณ ขณะนี้ เมล็ดพันธุ์ที่พวกท่าน ช่วยกันปลูก ด้วยความรัก และเสียสละได้เริ่มเจริญงอกงามแล้ว

ด้วยความชื่นชมจากใจจริง
แด่แม่พิมพ์ที่งดงามทุกท่าน

รัศมี กฤษณมิษ


คุณครูในดวงใจของข้าพเจ้า

๑. อ.มยุรี ศกุนะสิงห์ (ม.๒) ร.ร.ร้อยเอ็ดวิทยาลัย เป็นครูที่ให้กำลังใจ ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีค่า

๒. อ.จินตนา ผาวิการ และ อ.อัมพร อุตระชัย (ม.๑, ม.๖) ร.ร.ร้อยเอ็ดวิทยาลัย เป็นครูที่เปรียบเหมือนแม่ ให้ความช่วยเหลือ ตลอดมา

๓. อ.สุปราณี ธรรมวิเศษ (ม.๑, ม.๔) ร.ร.ร้อยเอ็ดวิทยาลัย เป็นครูที่ชอบว่า แต่ผมรู้ว่าอาจารย์รักจึงตักเตือน

๔. อ.สุวัลลี บุญภักดี (ม.๓, ม.๖) ร.ร.ร้อยเอ็ดวิทยาลัย เป็นครูผู้คอยชี้แนะ และบอกว่าผมควรแก้ไขอะไรบ้าง

๕. อ.อุดม สังขเนตร (ม.๖) ร.ร.ร้อยเอ็ดวิทยาลัย เป็นครูที่บอกผมว่า คนจนและคนบ้านนอกได้เปรียบ เพราะได้รู้จัก ทั้งสองด้าน

๖. อ.บุญศิริ (สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เป็นครูที่ active สอนสนุก ทำให้ผมพลอยร่าเริง และ กล้าแสดงออกไปด้วย

๗. อ.รัศมี (คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เป็นครูผู้จุดไฟอุดมการณ์ให้ลุกโชน

นายไพรัตน์ วิเศษหมอ ลูกชาวนาจาก ร.ร.ร้อยเอ็ดวิทยาลัย
นิสิตชั้นปีที่ ๑ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


คุณครูอมรา ปานแก้ว เป็นผู้หญิงร่างใหญ่ ใจดี สอนภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และเป็นครูประจำชั้น ป.๖ ร.ร.วัดสุขเกษม คือครูที่ข้าพเจ้าประทับใจมาก เพราะครูเอาใจใส่ นักเรียนทุกคนเหมือนลูก สอนทั้งเรื่องเรียน และเรื่องอื่นๆ มีมุขตลก และศิลปะ ในการจูงใจให้เด็กๆ ใส่ใจการเรียนสูง คุณครูอมรา รู้จักครอบครัวข้าพเจ้า เป็นอย่างดี คอยให้คำปรึกษา เวลาที่ข้าพเจ้าท้อแท้ ดึงจุดเด่นของข้าพเจ้าออกมา ให้ข้าพเจ้า รู้จักตัวเองมากขึ้น ทำให้ข้าพเจ้า มั่นใจในตนเอง แรงบันดาลใจ ในการเรียนวิศวะ ส่วนหนึ่ง มาจากครูอมรา เพราะตอนปลาย ม.๖ ครูเคยถามข้าพเจ้าว่า อยากเป็นอะไร ข้าพเจ้าตอบว่า วิศวกร ตอนนั้น ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่า เรียนอย่างไร รู้สึกเพียงว่า ฟังดูเท่ดี ครูจึงช่วยให้ข้อมูล กับข้าพเจ้า และเรียกข้าพเจ้า ในชั้นเรียนว่า นายช่างนิ่ม หรือ ดร.นิ่ม อยู่เสมอ นอกจากนี้ ครูยังทำให้ข้าพเจ้า ได้รับโล่พระราชทาน รองชนะเลิศ อันดับ ๒ ในการสวดมนต์หมู่ ทำนองสรภัญญะ ข้าพเจ้าจึงรักครู อมรามาก เพราะครูคือ แสงไฟนำทาง ที่ถูกต้องของศิษย์

น.ส.อรณัฐ วงษ์ทองดี
จบมัธยมปลายจาก ร.ร.สงวนหญิง จ.สุพรรณบุรี
นิสิตชั้นปีที่ ๑ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๕ หน้า ๗๒ – ๗๔)