> ดอกหญ้า

     
สุขที่ไม่ธรรมดา
(สุขวิหาริชาดก)

จากหนังสือดอกหญ้า

อันดับที่ 97


ปวงสุขหมื่นแสนในแดนโลกย์
มีโทษกำกับให้หวาดเสียว
ไม่เหมือนสุขสิ้นกามนั่นเทียว
ส่วนเดียวมีแต่สุขทุกเมื่อ

กษัตริย์หนุ่มแห่งศากยวงศ์นามว่า ภัททิยะ ทรงสละราชสมบัติ ที่ได้มาโดยธรรม ตามวาระ แล้วเสด็จออกทรงผนวช พร้อมกับพระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระกิมพิละ พระภคุ และพระเทวทัต โดยให้พระอุบาลี ซึ่งเคยเป็นช่างกัลบก (ช่างแต่งผม) เป็นผู้บวช ก่อนกษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์

พระภัททิยะนั้น แต่ก่อนเคยเป็นถึง พระราชา มีหมู่ทหาร คอยปกป้อง ดูแลรักษา มีทั้ง ป้อม-กำแพง-คูเมือง และซุ้มประตูแน่นหนา แต่ก็ยังมีความหวาดเสียว อยู่เป็นนิจ เพราะเกรงว่า จะมีภัยเกิดขึ้น

ครั้นบัดนี้บวชแล้วในพระพุทธศาสนา บำเพ็ญสมณธรรม (ธรรมของผู้สงบ ระงับกิเลส) จนกระทั่งไม่ช้านักก็ได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ไม่ว่าจะไปอยู่ ณ ที่แห่งหนใด ในป่าก็ตาม ในเมืองก็ตาม พระภัททิยเถระ ก็มีปกติอยู่เป็นสุขทุกเมื่อ ไร้ความสะดุ้ง หวาดเสียว ไม่มีความขลาดกลัว ภัยใดๆทั้งสิ้น จึงมีบ่อยครั้ง มักอุทาน ออกมาเสมอว่า "สุขหนอ... สุขหนอ... สุขหนอ..."

ภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ยินดังนั้น จึงกราบทูลแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านภัททิยะคงไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ เพราะหวนระลึก ถึงความสุขในราชสมบัติ จึงได้อุทานอยู่เนืองๆว่า สุขหนอ...สุขหนอ...สุขหนอ..."

พระศาสดาจึงรับสั่งเรียกพระภัททิยะมาซักถาม ได้ความว่า ความสุขของ พระภัททิยะนั้นคือ สุขในความหมดกิเลสทั้งปวง ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตามก็เป็นสุข ไม่มีความกลัว ไม่หวาดเสียว ไม่ระแวง ไม่สะดุ้งอันใดเลย มีแต่ความสุขโดยส่วนเดียว ดังนั้นพระศาสดาจึงตรัสว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัททิยะมีปกติอยู่เป็นสุข อย่างปราศจากกิเลส ในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็มีปกติอยู่เป็นสุข มาแล้วเหมือนกัน" แล้วทรงเล่าเรื่องในอดีตนั้น


ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์ อยู่ในพระนครพาราณสี มีพราหมณ์ มหาศาล (พราหมณ์ผู้มั่งคั่งร่ำรวย) คนหนึ่งเกิดอยู่ใน ตระกูลสูง ได้เห็นโทษภัย ในกามทั้งหลาย และเห็นถึงผลบุญ ผลประโยชน์ ในการออกบวช จึงสลัดละทิ้ง กามทั้งปวง แล้วเข้าป่าหิมพานต์ บวชเป็นฤาษี มีความเพียร เผาผลาญกิเลส กระทั่ง สามารถทำ สมาบัติ ๘ (สภาวะสงบอันประณีตยิ่ง ๘ อย่างคือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔) ให้บังเกิดขึ้น แล้วมีลูกศิษย์ เป็นบริวารถึง ๕๐๐ อยู่ในป่านั้น

ครั้นย่างเข้าฤดูฝน ฤาษีผู้เป็นอาจาย์ ได้พาลูกศิษย์ทั้งหมด ออกจากป่าหิมพานต์ เที่ยวจาริก ไปในคามนิคมต่างๆ จนกระทั่ง มาถึงพระนคร พาราณสี

พระเจ้าพรหมทัตทรงพบเห็นเหล่าฤาษีนั้นแล้ว ทรงศรัทธาเลื่อมใสยิ่งนัก จึงนิมนต์ ให้พักอยู่ใน พระราชอุทยาน ทรงคอยปรนนิบัติ ดูแลให้ทุกๆวัน

เมื่อฤดูผล ๔ เดือนพ้นแล้ว ฤาษีทั้งหมดก็ปราถนาที่จะจาริก กลับสู่ป่าหิมพานต์ แต่พระราชา ทรงอ้อนวอน กับฤาษี ผู้เป็นอาจารย์ว่า

"ท่านฤาษีผู้เจริญ ท่านก็แก่มากแล้ว ยังจะมีประโยชน์อันใดอีกเล่า ที่จะกลับ ไปอยู่ในป่า ได้โปรดบอก ให้ลูกศิษย์ของท่าน กลับไปป่า แต่ตัวท่านเอง นิมนต์อยู่ต่อ ในที่นี้เถิด"

พระราชาเฝ้าอ้อนวอนอยู่อย่างนั้น จนในที่สุด ฤาษีผู้เป็นอาจารย์ ก็ใจอ่อน จึงสั่งกับ พวกฤาษี ที่เป็นลูกศิษย์ รุ่นพี่ว่า

"พวกท่านเป็นลูกศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ มีความรู้ความสามารถมากพอแล้ว จงพาเหล่าฤาษี ทั้งหมดกลับคืน ไปอยู่ป่าหิมพานต์ ฝึกฝน บำเพ็ญธรรม สืบไปเถิด ส่วนตัวเรา จะยังคงอยู่ ในที่นี้แหละ"

บรรดาฤาษีทั้งหมด ล้วนปฏิบัติตามคำ ของอาจารย์ ล่ำลาด้วยความอาลัย ต่ออาจารย์ อันเป็นที่เคารพรัก แล้วเดินทาง กลับคืนสู่ป่า หิมพานต์ตามเดิม

อยู่มาวันหนึ่ง ฤาษีที่เป็นพี่ใหญ่สุด ซึ่งในอดีตเคยเป็นพระราชามาก่อน ได้ฝึกฝนตน กระทั่งบรรลุถึง สมาบัติ ๘ แล้ว มีความประสงค์ ที่จะไปกราบเยี่ยมอาจารย์ จึงกล่าว กับฤาษีทั้งหลายว่า

"พวกท่านจงขยันหมั่นเพียร เพ่งเผากิเลสอยู่ในที่นี้แหละ อย่าได้ท้อถอย รำคาญ ใดๆเลย เราจะไปกราบเคารพ เยี่ยมเยียนอาจารย์ เสร็จแล้วจะรีบกลับมา"

จากนั้นก็ออกเดินทางไปยังพระนครพาราณสี ครั้นถึงแล้ว ก็ตรงไปที่ พระราชอุทยาน ทันที พอพบกับอาจารย์ ก็ได้ทำการเคารพ กราบไหว้ กระทำปฏิสันถาร ครั้นพูดคุย สนทนากับอาจารย์ เรียบร้อยแล้ว ด้วยความเหน็ดเหนื่อย จากการเดินทาง จึงขออนุญาต อาจารย์นอนพัก กลางวันนั้น

ในเวลาเดียวกันนั้นเอง พระเจ้าพรหมทัตได้เสด็จมาหาฤาษี ผู้เป็นอาจารย์ อยู่ร่วมสนทนา ด้วยกันสักครู่ พลันได้ยินเสียงอุทาน ดังแว่วมาชัดเจนว่า "สุขหนอ...สุขหนอ...สุขหนอ..."

ทรงประหลาดพระทัย จึงทอดพระเนตรไปยังต้นเสียง เห็นฤาษีนั้น นอนเปล่งอุทานอยู่ ทำให้ทรงนึกน้อยพระทัยว่า

"ฤาษีนี้แม้รู้ว่าเราผู้เป็นกษัตริย์อยู่ในที่นี้ ก็ยังไม่ยอมลุกขึ้นมาพูดจา กลับนอน กล่าวอยู่อย่างนี้ ช่างไม่ให้เกียรติแก่เราบ้างเลย"

ทรงดำริเช่นนั้นแล้ว จึงตรัสตำหนิว่า "ท่านอาจารย์ของหมู่ฤาษีผู้เจริญ ฤาษีผู้นี้ คงจะฉัน ตามต้องการ มากเกินไป จึงได้มานอนสบาย พร่ำเพ้อพูดจา ถึงความสุขเช่นนี้"

ฤาษีผู้เป็นอาจารย์ต้องรีบแก้ความเข้าใจผิดทันทีว่า "มหาบพิตร ฤาษีนี้ เคยเป็นพระราชา เช่นเดียวกันกับท่านมาก่อน มีราชสมบัติมากมาย มีทหารถือาวุธ คอยคุ้มครองอยู่เสมอ ได้รับความสุขเหลือล้น แต่ความสุขทั้งปวงเหล่านั้น ก็ยังเทียบ ไม่ถึงความสุข ในการบวช สุขในฌานของตน จึงได้เปล่งอุทาน ออกมาเยี่ยงนี้"

แล้วได้กล่าวคาถาธรรม แด่พระราชาอีกว่า "คนทั้งหลาย ไม่ต้องรักษา คุ้มครอง ผู้ใดด้วย ผู้ใดก็ไม่ต้องรักษา คุ้มครอง คนทั้งหลายด้วย ดูก่อนมหาบพิตร ผู้นั้นแล ไม่เยื่อใย ในกามทั้งหลายแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข"

พระราชาทรงสดับเช่นนั้นแล้ว ก็มีพระทัยยินดี สิ้นความถือสา ทรงกล่าวลา แล้วเสด็จกลับคืน สู่พระราชวัง

ฝ่ายฤาษีผู้เป็นศิษย์พี่ใหญ่นั้น ได้พบอาจารย์แล้ว ก็กลับคืนสู่ป่าหิมพานต์

ส่วนฤาษีผู้เป็นอาจารย์นั้น เป็นผู้มีฌานอันไม่เสื่อม ต่อเมื่อการกระทำกาละ (ตาย) แล้ว ก็ได้ไปบังเกิด อยู่ในพรหมโลก


พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้ตรัสว่า "ฤาษีผู้เป็นลูกศิษย์พี่ใหญ่ในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระภัททิยเถระนี่เอง ส่วนอาจารย์ ของฤาษีนั้น ก็คือ เราตถาคต"

*ณวมพุทธ อังคาร ๑๘ ก.ย.๒๕๔๔ (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๖๔ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๐ อรรถกถาแปล เล่ม ๕๕ หน้า ๒๒๕)

สุขที่ไม่ธรรมดา ชาดก อดีตชาติของพระพุทธเจ้า ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๗ หน้า ๑๐-๑๔