> ดอกหญ้า

เร่ร่อน-ร่อนเร่

ดอกหญ้า อันดับที่ 97
เสฏฐชน หน้า 2/2


ต่อจากหน้า 1

วันจันทร์ที่ 17 ม.ย.'43 ตื่นขึ้นมาทำวัตรเช้าที่ห้องพระ ตอนตี 4 เพราะเกรงใจว่า หากตื่นเช้า เหมือนที่เราตื่นตามกันตามปกติ จะเป็นการรบกวนเขาเกินไป ไม่ได้ออก บิณฑบาต เพราะต้องไปให้ทันลอยอังคาร ที่ปากเม็ง ตามที่กำหนดหมาย พิธีการไว้ พี่สะไภ้บอกว่า หากทราบว่าแม่เณรมา จะได้ไม่ต้องนิมนต์พระ จึงต้องเอารถไปสองคัน คันหนึ่งมีพระภิกษุ นำโถกระดูก ที่จะลอยไปด้วย สิกขมาตุ 3 รูป กับหลานสาว หลานเขย นั่งไปอีกคันหนึ่ง แล้วไปต่อเรือ ที่ปากเม็ง เพื่อแล่นไปกลางทะเล ช่วงลึกพอ ที่จะหย่อนอังคาร ลงไปได้ เสร็จจากลอย อังคารแล้ว จึงฉันอาหาร ณ ที่นั่นเฉพาะ พวกเรา ส่วนพระภิกษุ กลับไปฉันเพล ที่วัดก่อน เมื่อเสร็จกิจส่วนตัว เรียบร้อยแล้ว เขาก็ไปส่งที่ท่ารถแท็กซี่ เพื่อไปต่อรถ ที่หาดใหญ่ เดินทางไปยะลา อีกช่วงหนึ่ง หลานเขย ตีตั๋วเพิ่มอีก 2 นั่ง เพื่อไม่ให้คนนอก มาปะปน เพราะตามธรรมดา รถแท็กซี่ ทางใต้ เบาะหลังจะต้องนั่ง 5 คน พวกเรา 3 รูป เป็นนักบวชหญิง จึงต้องคำนวณ เผื่อผู้โดยสารผู้ชายด้วย เพื่อตัดปัญหาเรื่องนี้ จึงยอมเสียเงินเปล่าๆ ไปอีก 2 ที่นั่ง แล้วให้เงินคนขับรถแท็กซี่ ไปส่งพวกเราขึ้นแท็กซี่ ที่คิวหาดใหญ่ ต่อไปยะลาอีกครั้งหนึ่ง พอไปถึงหาดใหญ่ ฝนตกเทลงมาอย่างหนัก และเกิดปัญหา ระหว่างแท็กซี่ ที่รับช่วง จากคนเดิม ไม่ยอมให้พวกเราขึ้นโดยลำพัง เขาจะต้องรอให้คนเต็ม คันรถเสียก่อน ซึ่งก็มีผู้ชายทั้งนั้น มิหนำซ้ำ ยังแสดงท่าที ไม่เอาใจใส่ ไม่สนใจ ที่พวกเรา จะเป็นอย่างไร เพราะเขาคำนึงแต่รายได้ ที่ต้องไม่ขาด ไม่น้อยกว่า ที่เคยได้รับ ทั้งๆที่ ฝนตกลงมา อย่างไม่ลืมหูลืมตา เขาปฏิเสธที่จะรอ มิหนำซ้ำ ยังบอกกับพวกเราว่า ถ้าไม่ไปกับเขา เราก็ต้องเสียสิทธิไปเปล่าๆ

เนื่องจากรถเขาจัดตามคิว กระทบสัมผัสแรก จากท่าที อันไม่น่าเจรจาพาทีด้วย เกือบๆ จะผลีผลามใจร้อน บอกพวกเราว่า ตัดใจเหมือนทิ้งชิ้นเนื้อให้เปล่าเถอะ เราไป ของพวกเราเองดีกว่า ไปโบกรถ หรือจะไปหาที่พัก ที่ไหนก็ได้ แม้จะต้องฝ่าสายฝน ที่ตกลงมาอย่างหนัก ทั้งที่ยืนรออยู่ที่คิวรถ ที่เขาต้องปล่อย ตามหมายเลข และเวลา ก็ยังเปียกปอนกันหมด แต่เมื่อมาคิดอีกทีหนึ่ง เราน่าจะลองดู จริงอยู่ เราไม่กลัว ความลำบาก ไม่กลัวอะไรทั้งนั้น ทั้งจะได้แสดงให้เขาเห็นว่า เราไม่ง้อเขาด้วย แต่ทำ อย่างนั้น น่ะมันง่าย ถ้าเราลองใช้บุญญาวุธดู จะมิดี ประณีตกว่าหรือ? คิดดังนั้นแล้ว จึงยิ้มแย้ม บอกกับเขา ด้วยภาษาพื้นเมืองว่า พวกเราเป็นสิกขมาตุ ถือศีล 10 ทานมังสวิรัติ ฉันอาหารมื้อเดียว ญาติโยมเขาส่งต่อมา แล้วเขาเดินเรื่อง กับคนขับรถ แท็กซี่คนเดิม จากตรัง เราก็ไม่รู้ว่า อะไรเป็นอะไร รู้แต่ว่าเขามาให้เราต่อรถที่นี่ และเรา เป็นนักบวชหญิงแล้ว เราถือ พรหมจรรย์ ฉะนั้น จึงต้องระมัดระวังตัว เรื่องเพศ ตรงกันข้าม ให้ดูเหมาะสม ดูงามด้วย ฉะนั้น หากทำให้เขาไม่สบายใจ เสียเวลา เสียรายได้ ก็ขอให้เขา ไปก่อนเถอะ เราจะรอจนกว่า จะมีคันอื่น ที่มีผู้หญิงขึ้นมาแทน หรือไม่พวกเรา ก็จะไม่ไป จะหาทางอื่นต่อไป

ฉับพลันคนขับรถแท็กซี่ ทีแรกที่พูด กระทบกระเทียบ ก่อนว่า "ก็ชี ทำไมนั่งกับ ผู้ชายได้ล่ะ ไม่เห็นเขาถือเลย" เจอกับคำชี้แจงดีๆ อย่างจริงจัง จริงใจ ประโยคเหล่านี้ เข้า ก็นะจังงัง ! เปลี่ยนสีหน้าท่าที ดั่งพลิกฝ่ามือ ด้วยกำลังของธรรมฤทธิ์ ที่เปล่งออกมา จากวาจา กิริยาของเรา ทำให้เขาได้คิด และคิดได้ เขาเผยอรอยยิ้ม แล้วพูดด้วยถ้อยคำ สุภาพทันที บอกว่าหากโชคดี คงจะได้ผู้โดยสารผู้หญิง จนครบ จำนวน ตามกำหนด เราจะได้เดินทาง ไปแน่ๆ

พูดจบยังไม่ทันไร ! ก็มีผู้หญิงมา 2 คน รวมกับพวกเรา เต็มรถแท็กซี่พอดี ดังกับฟ้า บันดาล คนขับรถแท็กซี่ หัวเราะด้วยความดีใจ ประหนึ่งโล่งอก ที่ได้ทำความดีแก้ตัว ที่พลาดท่าไป ในครั้งแรกกับพวกเรา ขมีขมันขนของ ผู้โดยสารหญิงขึ้นรถ แล้วนำรถ ฝ่าสายฝนอันหนัก ไม่เห็นหนทาง ออกจากอำเภอหาดใหญ่ทันที ผู้โดยสารหญิง ลงที่จังหวัดปัตตานี ระหว่างทาง ทำให้มีที่ว่างขึ้น คนขับรถแท็กซี่ รีบบอกให้พวกเรา ขยับที่นั่งให้สบายๆ และพูดคุยด้วยดีว่า จะไปลงที่ไหน? จะให้ส่งตรงไหน? เขายินดี บริการ ให้ถึงที่เลยทีเดียว เพราะพวกเรา ก็ไม่แน่ใจ ถนนหนทาง ที่จะไปโรงเจซิวจินตึ๊ง ว่าไปทางไหน เนื่องจากไม่ได้มา ยะลา 10-20 ปีแล้ว คนขับรถที่จิตใจดีขึ้น ยิ้มแย้ม แจ่มใส ตั้งใจที่จะส่งพวกเรา ให้ถึงปลายทาง โดยเรียบร้อย ทำให้พวกเรา ยิ่งเกิด ความมั่นใจ ในพุทธพจน์ ที่ตรัสไว้ว่า "พึงชนะความโกรธของเขา ด้วยความไม่โกรธ ของเรา"นั้น เป็นความจริงแท้ คงทนต่อการพิสูจน์ ถ้าหากเราชนะ ความโกรธ ของเราไม่ได้ เราก็คงจะไม่ได้รับไมตรีจิต จากคนขับ รถแท็กซี่อย่างนี้ เพราะเราละลาย ความโกรธของเราได้ เราจึงปรับกายกรรม วจีกรรมของเราได้ แล้วแสดงกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศลออกไป ทำให้คนขับรถแท็กซี่ เปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนความรู้สึก นี่แหละที่พระท่านกล่าวว่า "เวรย่อมชนะ ด้วยการไม่จองเวร" หากเราโต้ตอบเขาไปทันที ที่เขาแสดงอาการไม่ดี ป่านนี้คงจะต้อง ต่อความยาว สาวความยืด จนพวกเราอาจต้อง ใช้เวลามากขึ้น กว่าจะมาถึงยะลา

โกเนี้ย และคุณแดงดีใจมาก ที่เจอพวกเราอีกครั้งหนึ่ง เพราะนานแล้ว เมื่อนับจาก ครั้งหลังสุด ที่เคยมาเยี่ยมเยียนกัน จนโกเนี้ยบอกว่า ถ้าขืนปล่อยเวลา ให้นานเช่นนี้ มาอีกที คงจะไม่ได้เจอกับโกเนี้ยอีก เพราะอายุโกเนี้ย ก็เกือบ 90 แล้ว แต่เสียง ยังแจ่มใส ใบหน้ายังอิ่มเอิบ เพราะมีปกต ิเป็นคนปล่อยวางเก่ง และจิตใจเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ดี คุณแดงกับน้องสาว ก็ยังอัธยาสัยดีเหมือนเดิม เขาจัดให้เราจำวัด ชั้นบน ของโรงเจ อีกด้านหนึ่ง คุณพัชรี (อั้ง) ทราบข่าว จากโทรศัพท์ รีบมาคุยด้วย จนดึกดื่น อย่างอิ่มอกอิ่มใจ ชดเชยที่ไม่ได้ พบกันมานาน

วันอังคารที่ 18 เม.ย.'43 พวกเราออกบิณฑบาต ในตัวเมืองจังหวัดยะลา หลังเสร็จจาก การทำวัตรเช้า หน้าพระแล้ว สังเกตดู รู้สึกจะเป็นถิ่น ของคนไทยมุสลิม มากขึ้นกว่า 20 ปีที่เคยมา พวกเราบิณฑบาตไป ทางด้านตลาดรถไฟ ไปอีกด้านหนึ่ง โดยลืมไปว่า คนถิ่นนี้ เขาแบ่งเขตพุทธ - อิสลามกัน ฉะนั้น เมื่อเราเดินล้ำเขตไป ตำรวจจราจร และญาติโยม ก็มาบอก ด้วยความหวังดีว่า นิมนต์ไปอีกเขตหนึ่ง เขตนี่เป็น เขตอิสลาม คงไม่มีคน ใส่บาตรหรอก

พวกเรากล่าว ขอบคุณเขา ที่เขามีน้ำใจดี คงเป็นห่วงเรา เพราะมองออกว่า เป็นนักบวช ต่างถิ่น และเราก็สังเกตเห็นอยู่ว่า ไทยมุสลิม ยืนมองดูพวกเรา เป็นกลุ่มๆ แต่ก็ยังมีคน ใส่บาตร ผู้ชายคนหนึ่ง เอาข้าวยำมาใส่ให้ พวกเราก็อธิบายฝากคืน เมื่อเขารู้ว่า เราฉันมังสวิรัติ เขาจึงถามว่า ใส่นมกล่องได้ไหม? เมื่อ ได้รับคำตอบ เขาก็ซื้อนมมาใส่ แม้หลังจากที่เรา เดินผ่านทางนั้นไปแล้ว ผู้ชายคนนั้น ก็ยังวิ่งตามไป หาของใส่ เพิ่มให้อีก เขาคงเป็นห่วงว่า นมกล่อง เพียงองค์ละ 2 กล่อง จะฉันอิ่มอะไร นับว่าเป็น ปรากฎการณ์ ที่หาไม่ได้มากนัก ที่ผู้ชายจะตั้งใจใส่บาตร ให้นักบวชหญิง และใส่ให้ อย่างเอาใจใส่จริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่า ใส่บาตรให้กิน ดูได้จากกิริยาอาการ ที่เขาแสดงออก ด้วยความเคารพ นบนอบ นี่แหละคือการ "โปรดสัตว์บิณฑบาต" ถูกต้องตรง ดังพุทธประสงค์ ด้วยกายกรรม วจีกรรมที่ถูกต้อง ตรงธรรม ของผู้แสดง กายธรรมนั้น จึงทำให้การบิณฑบาต โปรดสัตว์นั้น ศักดิ์สิทธิ์ ดังพระบรมศาสดา กำหนดหมาย และสั่งสอนเตือนสติ ให้นักบวชพุทธ พึงนำมาสังวรณ์ ระลึกอยู่กับตัวเองเสมอ ระยะทางที่บิณฑบาต ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แน่นอนว่า ตลอดทาง จะต้องมี ผู้นำเงินมาใส่ นำอาหารเนื้อสัตว์มาใส่ แต่เมื่ออนุโมทนา รับแล้วฝากคืนเขา ก็ยังรับบาตร เกือบเต็ม เพราะล้วนเป็นนมกล่อง ขนมปังแห้ง บางคนก็บอกว่า ไม่ทราบ จึงไม่ได้เตรียม เราก็อธิบายว่าเราจรมา ไม่ต้องกังวลมาก ตามมีตามได้ก็แล้วกัน เพราะพวกเรา ก็ฝึกหัดการกิน การอยู่อย่างมักน้อย สันโดษมาแล้ว

กลับมาถึงโรงเจ เล่าบรรยากาศ การบิณฑบาต ให้โกเนี้ยกับคุณแดงฟัง โกเนี้ยกับคุณแดง บอกว่า เราสัมผัสไม่ผิด ความจริงหรอก ปัจจุบันนี้ คนไทยจีน ที่จังหวัดยะลา กลายเป็นชน กลุ่มน้อย ไทยมุสลิม เปลี่ยนเป็นชนกลุ่มใหญ่ และคนทำบุญ ใส่ใจในการไหว้พระน้อยลง สังเกตได้ จากเทศกาลกินเจ และคนเข้า-ออกโรงเจ แต่ละวัน จะมีก็แต่คนเก่าๆ เจ้าประจำ ที่เคยไปมาหาสู่อยู่เท่านั้น การประกอบพิธีต่างๆ ก็ต้องลดประหยัดลง ผนวกกับ สภาพเศรษฐกิจ ยุคไอเอ็มเอฟด้วย แต่ก็ดีเหมือนกัน ทำให้มีเวลา เป็นส่วนตัวบ้าง ไม่เช่นนั้น ก็ต้องมา นั่งรับแขก สนทนากับ คนที่มาไหว้พระ ในโรงเจ และบอกให้พวกเรา หยุดบิณฑบาต เพราะอยากจะทำบุญเลี้ยงพวกเรา แต่พวกเราขอร้องว่า อย่าให้พวกเรา ขาดกิจ ส่วนนี้เลย แม้ฝนจะตก ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค กลับจะยิ่งเป็นการบำเพ็ญซะอีก ซึ่งทั้งโกเนี้ย และคุณแดง เข้าใจง่ายอยู่แล้ว ก็ยินยอม โดยไม่ต่อรองอะไร แต่บอกว่า อยากให้พวกเรา พักอยู่หลายๆวัน ให้สมกับที่ ไม่ได้มาเยี่ยมเยียน เป็นเวลานาน ฉันเสร็จแล้ว จะพาพวกเรา ไปที่ถ้ำเขาทะลุ อำเภอบันนังสตา ทางไปเบตง อยากให้ไป สัมผัสกับ บรรยากาศดีๆ เป็นธรรมชาติ ถ้าฝนไม่ตก พวกเราก็ตกลง

ช่วงบ่าย คุณแดงจึงเป็นคนขับรถเอง ไปกันเฉพาะพวกเรา กับน้องๆคุณแดง โกเนี้ยขอตัว ไม่ไปด้วย เพราะสุขภาพไม่ค่อยดีแล้ว ตลอดรายทาง ที่ผ่านไป อำเภอบันนังสตา เต็มไปด้วยกล้วยดิบ กับแตงโม ที่ไทยมุสลิมปลูกไว้ ในครัวเรือน หรือไม่ก็เป็น สวนกล้วยหินโดยเฉพาะ คุณแดงเล่าว่า อำเภอนี้ เป็นแหล่งเดียว ที่มีกล้วยชนิดนี้ มากที่สุด และชาวบ้าน จะทำผลิตภัณฑ์ จากกล้วยหิน ประเภท กล้วยฉาบ นานาชนิดออกจำหน่าย จากเหล่าแม่บ้านตำบล เขามีทั้งกล้วยฉาบเนย กล้วยฉาบน้ำตาล กล้วยฉาบเครื่องเทศ กล้วยฉาบน้ำพริก กล้วยฉาบเปล่าๆ กิตติศัพท์ ของกล้วยหินฉาบที่นี่ เป็นอันดับหนึ่ง จนผู้มาเยือน ผู้ท่องเที่ยว จะต้องถือติดมือไป เป็นสัญลักษณ์ ทั้งกล้วยหินดิบ กล้วยหินสุก และกล้วยหินฉาบ ไม่ยกเว้น แม้คุณแดงเอง ก็ต้องแวะซื้อ จากแผงหน้าบ้านชาวบ้าน ที่อยู่ติดริมถนน บอกว่าจะไว้ ถวายพวกเรา ให้พวกเราชิมดู ในวันพรุ่งนี้

ใช้เวลาชมโรงเจ ที่ถูกทอดทิ้งไว้ ที่เขาทะลุนี้ จนกระทั่งเย็น จึงเดินทางกลับมาพักที่ โรงเจซิวจินตึ๊ง เป็นคืนที่ 2 ตอนค่ำก็มีโอกาส สนทนากับญาติโยม เช่นเคย

วันพุธที่ 19 เม.ย.'43 พวกเราก็ยังคงออกบิณฑบาต แต่เปลี่ยนสายบิณฑบาตใหม่ ด้วยคิดว่าจะโปรดไปให้ทั่วๆ แม้โกเนี้ยกับคุณแดง และคุณพัชรี รีบบอกว่า จะทำอาหาร มาเลี้ยงส่ง บังเอิญ เดินบิณฑบาตไปทาง โรงแรมเทพพิมาน ซึ่งเป็นเขต พ่อค้าชาวจีน ส่วนใหญ่ มีร้านอาหารเจ จำหน่ายแถบนั้นอยู่ ไม่ต้องกล่าวเลยว่า เต็มบาตรอีกเช่นเคย เพราะคนทะยอยกันใส่ ตามเจ้าของร้านเจ เมื่อทราบว่า พวกเราฉันมังสวิรัติ สอบถามว่า พวกเราพักอยู่ที่ไหน เสียดายที่พวกเรา จะต้องเดินทาง ไปสงขลา หลังฉันเสร็จในวันนี้ โดยคุณพัชรี ไปตกลงให้รถแท็กซี่ มารับที่โรงเจ เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีโอกาส โปรดโยม ที่นี่มากนัก ออกจากโรงเจ ที่ยะลา บ่ายโมงครึ่ง ภายหลัง ที่ร่ำลา เจ้าภาพเรียบร้อยแล้ว ประโยคที่ว่า "ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง" ยังคงมี น้ำหนักอยู่ สำหรับ กัลยาณมิตร แม้อยู่ห่างไกล แต่ไมตรีจิตที่ดีงาม ยังไม่เปลี่ยนแปลง เพราะ 2 วันที่พักที่นี่ พวกเราก็ยัง ทำวัตร สวดมนต์ เช่นที่ปฏิบัติอยู่ เป็นปกติ

รถแท็กซี่พาพวกเรา มาถึงบ้านอาจารย์พเยาว์ ที่สงขลา เย็นพอดี ระหว่างทาง กว่าจะถึง ที่สงขลา ผ่านบรรยากาศ ของทะเลปัตตานี และหมู่บ้าน ชาวมุสลิม มาโดยตลอด ดูเงียบเหงา โดดเดี่ยว และชื้นเย็น ด้วยเงาฝน ปลายแดด มาโดยตลอด ความรู้สึก เหมือนเรา อยู่ต่างประเทศ เพราะสภาพภูมิประเทศ และผู้คน จากการแต่งกาย ภาษา ล้วนเป็น ชาวไทยมุสลิม แทบทั้งนั้น กลิ่นอายเหล่านี้ เริ่มจางลง เมื่อเข้าเขต จังหวัด สงขลา เป็นการมาพักครั้งแรก หลังจากการเสียชีวิต ของ"นม" (คุณแม่ของพี่น้องทั้ง 4 ของตระกูล อินทร์ตรา) จึงไม่ต้องสงสัยว่า ทั้ง 4 พี่น้องจะยินดีเพียงใด เพราะพลาด โอกาส ไปครั้งหนึ่ง เมื่อปีที่แล้ว

พฤหัสที่ 20 เม.ย.'43 บิณฑบาตซอกแซกไปตามตรอก ซอยในตัวเมืองสงขลา ซึ่งอาจ เป็นเพราะ พวกเราไม่ค่อยได้มาบ่อยนัก ฉะนั้น ผู้ที่เห็นแล้ว เกิดจิตอยากจะใส่ ในฉับพลันทันที ไม่ได้เตรียมอะไร ไว้ล่วงหน้า อีกทั้งใส่บาตรพระ ประจำท้องถิ่นไปแล้ว จึงเปรยให้พวกเรา ได้ยินว่า "โอ! ไม่ได้เตรียมอะไรไว้เลย เพราะไม่มีใครรู้ ว่าจะมา แล้วนี่ จะทำยังไงล่ะ นิมนต์ก่อนค่ะ" แล้วเขาก็มักจะเอาเงิน ข้าวสารดิบ ปลากระป๋อง ไข่เค็ม มาใส่บาตรให้ เพราะปกติที่นานๆ ครั้ง อาจจะมีแม่ชี มาบิณฑบาตบ้าง ก็ยังรับของพวกนี้ ต่างกับพวกเราโดยสิ้นเชิง วันแรกของการบิณฑบาต เมื่อเปลี่ยน สถานที่ จึงมักต้องปฏิเสธ หรือผ่านเลยไป โดยโยมไม่ได้ใส่ สมใจนึกหลายคน วันต่อๆมานั่นแหละ โยมจึงตระเตรียม ของที่พวกเรารับได้ ซึ่งโยมก็มักจะ เอาความสะดวก ด้วยการใส่ขนม ผลไม้ มากกว่า ข้าวกับกับข้าว ยกเว้นจะเจอ โยมเชื้อสายจีน รู้จักเจ นั่นแหละ จึงจะได้กับข้าวเจ ประเภทอาหาร เหลาสุดยอด ไปโน่นอีก

ถึงอย่างไร พวกเราก็ยินดีกับผลไม้ ข้าวสุก ขนมสดมากกว่า อาหารประเภทปรุงแต่ง ที่เป็นพาหะของโรค ไขมันอุดตันเส้นเลือด แม้ในความรู้สึกของผู้ใส่ ที่เลื่อมใสว่า จะปรุงให้พวกเรา ฉันอย่างอร่อยที่สุด ในทัศนะของเขา เพราะเขาแน่ใจว่า พวกเรา คงไม่ได้ฉันกับข้าว ในเมื่อคนส่วนใหญ่ ชีวิตปกติกินเนื้อสัตว์ และไม่คิดว่า นักบวช ที่ออกบิณฑบาต จะละเว้น อาหารเนื้อสัตว์ โยมบางคน ถึงกับยกมือไหว้ ยอมถามพวกเรา ด้วยความกังวลว่า "แล้วท่านจะฉันกับอะไรนี่?" เมื่อมองเห็นในบาตร อาจไม่มีข้าว แกง ผัดเลย นอกจากผลไม้ ขนม บางครั้งก็มีแต่ขนม หรือเครื่องกระป๋อง จนโยมเป็นห่วง ควักเงินให้อีก บอกว่า "ขอถวายให้ท่านไปซื้อกับข้าว หรือไปซื้ออะไร ที่ฉันได้เอง ก็แล้วกัน"

ฉะนั้น เหตุผลที่มักจะมี ผู้ออกบิณฑบาต บอกว่า "ลำบาก ถ้าฉันมังสวิรัติ เพราะผู้ใส่บาตร ไม่ได้ทานอาหารเช่นนี้" ก็ด้วยประสบกับ เหตุการณ์อย่างนี้แหละ แต่สำหรับ พวกเราแล้ว กลับจะเป็นเรื่อง น่ายินดี ดีใจว่า เราได้แสดงธรรมอีกแล้ว แม้เราจะไม่ได้อาหารเลย หรือ ได้แต่ข้าวเปล่าๆมา ก็ไม่เป็นไร เพราะการบิณฑบาต ก็คือการโปรดสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น จิตเปรต เดรัจฉานในตัวเรา เราจะได้สังเกตอ่าน เห็นว่าจิตของเรา กลัวอดไหม? เลือกอาหาร ตามความอยากไหม? รำคาญ คนใส่บาตรไหม? ติเตียนผู้ทำทานไหม? อีกนานาสาระพัด เมื่อเราฆ่าสัตว์ ภายในจิตของเราได้ เราก็จึงมี อินทรีย์ผ่องใส ทำให้ผู้กระทบสัมผัสกับ "กายธรรม" ของเรานั้นเลื่อมใส ศรัทธา เราจึงต้องโปรดสัตว์ ในตัว เราเองก่อน ไม่ใช่เพียงแต่ ไปบิณฑบาต เพื่อหาอาหาร มาใส่ปากท้อง นี้คือสิ่งที่ เรานำมา ระลึกอยู่ กับตัวเอง เป็นปกติ เสมอๆ

เวลา 11.30 น. คุณจรินทร์ กับคุณชดช้อย ญาติธรรมเก่าแก่ จังหวัดสงขลา ที่ไม่ได้เจอ กันมานาน มารับพวกเรา ไปชมถ้ำเขารูปช้าง อ.สะเดา แล้วข้ามไป ปาดังเปซาร์ ฝั่งมาเลเซีย โดยโยมคล้าม (ลุงเปี้ยน) ให้ลูกสาว ที่ทำงานอยู่ที่ด่านนั้น นำพาเข้าไป ทั้งๆที่ไม่มีโปรแกรม มาก่อน แต่บรรดาโยมๆบอกว่า พวกเรายังไม่เคยมา ก็น่าจะถือโอกาส ให้พวกเรา ไปเยี่ยมโยม แถบนี้ด้วย

ทัศนียภาพของถ้ำเขารูปช้างงดงาม ร่มเย็น สมคำร่ำลือ โดยเฉพาะบรรยากาศ ส่วนที่เป็น รูปปั้น กวนอิมโพธิสัตว์ และบริเวณอื่นๆ แม้จะเป็นช่วง ฝนตกมาหนัก โดยตลอด น่าจะชื้นสกปรก แต่กลับตรงกันข้าม เมื่อเข้าไปแล้ว ทำให้รู้สึกเหมือน โลกของความวิเวก เป็นเอกเทศ เหมือนเราเข้าไปอยู่ในโลก ของหิมพานต์ แม้บางส่วน ของถ้ำ ต้องอาศัย ไฟฟ้าช่วย ก็ไม่ทำให้เสีย ความเป็นธรรมชาติไป ทราบจากโยมเล่าว่า ถ้าเป็นเทศกาล กินเจ หรือช่วงมีงานประจำปี จะมีคนมาทำบุญ มาถือศีลกันมาก เจ้าอาวาส ก็ฉันเจประจำ มีโรงครัวเจด้วย แต่วันนี้ ท่านไปกิจนิมนต์ข้างนอก วันนี้เป็น วันธรรมดา จึงไม่มีแขกมา ซึ่งก็ถูกใจพวกเรา ที่จะได้ชมอย่างกันเอง ต้องการจะนั่ง ตรงไหนนาน หน่อยก็ได้ สดชื่นกับภูมิประเทศ ของเขารูปช้าง พอสมควรแล้ว โยมก็ขอต่อไปที่ ปาดังเบซาร์ ลูกสาวโยมเปี้ยน นำทางผ่านสะดวกดาย เพราะเป็น เจ้าหน้าที่ด่านอยู่แล้ว เธอบอกว่า น้ำมันที่นี่ ถูกกว่าทางฝั่งไทยมาก ผู้เดินทางมาปาดังฯ จึงไม่คำนึงถึงเรื่องเติม น้ำมันรถ เมื่อเราถามถึงว่าพอไหม ที่จะไปถึงฝั่งโน้น เพราะเขา จะพยายามใช้รถไปที่อื่นๆ ก่อน จนเกือบจะหมด กะน้ำมันหมดที่ปาดังฯ พอดี แล้วเติมขากลับ เข้าฝั่งไทย จะได้ไม่ผิดกติกา

สังเกตดูสภาพด่าน ช่วงข้ามระหว่าง 2 ประเทศ มีความเป็นระเบียบ เรียบร้อย เจ้าหน้าที่ด่าน แต่งเครื่องแบบ ทำงานกันอย่างรวดเร็ว มีวินัยดี การจัดคิวทางเข้า-ออกเป็นลำดับ บริเวณรอบๆ สวยงาม สะอาด แสดงถึงการวางผังดีมากทีเดียว เมื่อเข้าไปด้านใน ซึ่งเป็นร้านค้า ของคนจีนส่วนใหญ่ ชาวบ้านที่เดินไปมา เป็นชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะผู้หญิง และเด็กน่ารักมาก เพราะแต่งตัว ปกปิดร่างกาย ปิดผม ปิดหน้า ถูกต้องตามบัญญัติ ศาสนาอิสลาม น่าชื่นชม ในวัฒนธรรมที่ดีงาม รักษาความเป็นสุภาพสตรีไว้ ไม่ยกเว้น แม้แต่เด็กหญิง เล็กๆ อายุขวบ-สองขวบ เป็นเรื่องช่วยถ่วงดุล ความก้าวตามสมัย ยุคแฟชั่น ที่ค่อนข้าง ความละอายลดน้อย ถอยลง ในสังคม ผู้หญิงไทยบางส่วน ได้มากทีเดียว

โยมอดที่จะซื้อรับประทาน จำพวกขนมปัง ผลไม้แห้งไม่ได้ เพราะโยมบอกว่า ราคาถูกกว่า ที่หาดใหญ่เกือบครึ่ง เมื่อเข้ามาแล้ว น่าติดไม้ติดมือไปบ้าง พลอยให้คุ้ม ค่าเดินทาง เพราะถึงยังไง ก็เอารถเข้ามาแล้ว มิหน้ำซ้ำบางคน บ่นเสียดายว่า ไม่ได้ตั้งใจ มาซื้อของ จึงไม่ได้เอาเงินติดตัว มามากนัก ต้องหยิบยืมจากคน ที่เอาเงินมา มากกว่าก็เอา ตามประสา คนไทยที่มักช่างซื้อ นี่แหละความสุข ของคฤหัสถ์ ผู้ครองเรือน มีการใช้จ่ายทรัพย์ เป็นหนึ่งในอีกหลายๆอย่าง ตามประสาผู้บริโภคกาม ดังพระธรรมคำสอน ที่เขียนไว้

กลับถึงสงขลา 6 โมงเย็น โยมพาพวกเราไปชมสภาพชายทะเล มองเห็นผู้คนมากมาย ในตัวจังหวัดสงขลา นั่งกินลมชมวิวฯ สูดอากาศบริสุทธิ์ ยินดีในความเรียบง่าย ของชาวสงขลา และชื่นชอบ ในความอนุรักษ์ วัฒนธรรมท้องถิ่น เรื่องความเป็นปึกแผ่น ในสถาบันครอบครัว ความเอื้ออาทร ต่อผู้หลักผู้ใหญ่ ที่รับทราบ จากคำบอกเล่า ของโยม ว่าที่เราเห็นเขา พาผู้ป่วย คนชรา หรือคนพิการนั่งรถเข็น ลูกเล็กเด็กแดง มาชายทะเล ในยามเย็นนั้น ล้วนเป็นคน เมืองสงขลาทั้งนั้น เขาจะพากันมา เป็นครอบครัว บางครอบครัว นำเสื่อ อาหาร น้ำดื่มมากันเป็นทีม ภาพดึงดูดใจ ของพวกเรา ก็คือ ภาพคนชรา ที่นั่งรถเข็น แวดล้อมอยู่กับ ลูกๆ หลานๆ ที่นั่งก่อ เจดีย์ทรายใกล้ๆ หรือไม่ก็บรรดาสามี ภรรยา ที่นั่งคุยกัน ทอดสายตา มองดูเด็กๆ ที่กำลังเล่นน้ำทะเล หรือบางมุมของสวน ใต้ร่มสนบางต้น ชายหาดบางช่วง ฯลฯ แผ่รังสีของความอบอุ่น ความสงบ ความมีไมตรีจิต ความการุณ จนพวกเราสัมผัสได้ แตกต่างจาก ชายหาดที่อื่นๆ โดยเฉพาะทางภาคกลาง มักจะเป็นที่ๆทำการค้า เป็นบรรยากาศ ของการฉกฉวยโอกาส เป็นช่องทางประทุษกรรม อาชญากรรม แต่หาดสมิหรา เป็นสถานที่พักผ่อน คลายจิตใจ สื่อวิญญาณที่ดี ไม่ใช่รูป ของการค้าขาย เอารัดเอาเปรียบ หรือสกปรก เลอะเทอะ เหมือนหาดที่อื่นๆ ที่มักมี นักทัศนาจร นักท่องเที่ยว มีส่วนร่วม ในการก่อเหตุเช่นนั้น

น่าสรรเสริญ ขอบคุณชาวสงขลา ที่ช่วยกันรับผิดชอบ มีส่วนในการรักษา สิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ถูกต้อง ให้กับท้องถิ่น บ้านเกิดเมืองนอน ของตัวเอง โดยเฉพาะ ประเพณีที่ง่ายๆ เป็นไปอย่าง ธรรมชาติ พยายามละเว้น ปิดกั้นกระแสหายนธรรม ให้มากที่สุด แม้จะต้องเกี่ยวข้อง หรือ ต้องเปิดรับสนอง ตามสมัยนิยม ในโลกปัจจุบัน อยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ไม่ให้สิ่งเหล่านั้น มาทำลายเนื้อหาสาระ ที่ดีงามดั้งเดิม ของท้องถิ่น ให้สูญหายไป ดังพระพุทธองค์ ตรัสไว้ว่า ความเป็นอยู่ของฆราวาส ที่เจริญรุ่งเรืองนั้น จะต้องมี การซ่อมแซม ส่วนที่สึกหรอด้วย หาใช่จะเอาแต่ได้ หรือมุ่งแต่จะสร้างของใหม่ โดยไม่คำนึง ถึงความเสื่อมโทรม ที่แทรกแซงอยู่ด้วยเลย

วันศุกร์ที่ 21 เม.ย.'43 แดดวันนี้จัดกว่าที่ผ่านๆมา ตอนเย็นไปเดินดู ตามหาดสมิหรา อีกครั้ง ตามคำนิมนต์ของโยม เพราะอยากให้พวกเรา ไปดูอีกหลายๆมุม ที่โยมบอกว่า น่าสนใจ และเปรียบเทียบ ระหว่างภาพที่เห็น เมื่อวันก่อน ซึ่งก็ได้คำตอบสุดท้าย ที่เหมือนกัน ปะเหมาะได้เจอกับ สองสามีภรรยา ที่รู้จักกับโยมอีก จะถวายเงิน และรับอาสา มาส่งที่บ้าน คุยกันอีกเล็กน้อย บอกว่าพรุ่งนี้ จะมาฟังธรรม ถวายอาหารเช้าด้วย วันนี้ติดธุระ ต้องรีบกลับก่อน

วันเสาร์ที่ 22 เม.ย.'43 เปลี่ยนสายบิณฑบาตด้านชายทะเล มีญาติธรรมเก่าแก่ ที่ขาดการไปมา หาสู่กันนาน มาร่วมรายการ ตอนเช้าด้วย ทั้งจากปัตตานี ชุมพร ภูเก็ต รวมทั้งคุณไวย์ และภรรยา ที่สัญญาไว้เมื่อวาน วันนี้จึงเป็นรายการแสดงธรรม สนทนา กันยืดยาว ตามประสาผู้มีรสนิยมเดียวกัน เป็นการทบทวน ประวัติการปฏิบัติธรรม ทบทวนเรื่องราวเก่าๆ ที่ผ่านมา ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ปรับความเข้าใจ และเล่า เรื่องราว ต่างๆ จากข่าวคราว บรรดานักปฏิบัติธรรม ชาวอโศกด้วยกัน จนกระทั่งบ่าย 3 โมง คุณไวย์ก็ให้พวกเราขึ้นรถ เขาไปส่งที่สถานีขนส่งสงขลา เพื่อเดินทาง เข้ากรุงเทพฯอีก ภายหลังที่ร่ำลา กับญาติธรรมเรียบร้อยแล้ว รถแอร์ที่คุณชดช้อย บอกว่า เลือกสรร อย่างดีแล้ว เกิดเสียตั้งแต่ ยังไม่พ้นเขตอำเภอเมือง ต้องหยุดพัก กลางทาง ตามสถานี รายทางของเขามาตลอด แม้ฝนจะตก แต่อากาศก็ยิ่งอบอ้าว ผู้โดยสาร ต้องพากันลงไป เข้าห้องน้ำบ้าง ล้างหน้าเช็ดเหงื่อบ้าง เดินขยับแข้งขาบ้าง จนกระทั่งถึง ขนส่งสายใต้ กรุงเทพฯ ประมาณตี 5 กว่าๆ พวกเราต่อรถเมล์สาย 28 มาลงขนส่งหมอชิต ต่อรถสาย 96 อีกครั้งหนึ่ง กลับถึงสันติอโศกโมงเช้า ตรงกับวัน กตัญญูพอดี โดยไม่ได้นัดหมาย หรือ รู้โปรแกรมมาก่อน ช่างเป็นการบังเอิญ โดยธรรมแท้ๆ ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ปาฏิหาริย์ มักจะเกิดขึ้นเสมอ ในวงการ นักปฏิบัติธรรม ดังที่เคยบันทึกไว้ ในประไตรปิฎก แม้ในยุคปัจจุบันนี้ ก็ยังเป็น ความจริงอยู่ ผู้เห็นธรรม เข้าถึงธรรมจริง จะไม่คลางแคลง สงสัย

(บันทึกความจำเรื่อง ร่อนเร่-เร่ร่อนนี้ เป็นการระลึกครั้งหลังสุด ที่สิกขมาตุทั้ง 3 รูป ได้ใช้โอกาสหนึ่ง ของชีวิต ไปพบเห็นมา จึงถ่ายทอดเล่าสู่กันฟัง เพื่อความบันเทิง ความรับรู้ชีวิต อีกแบบหนึ่ง ส่วนประโยชน์ที่จะมี มากหรือ น้อยเพียงใด คงเป็นส่วนเฉพาะ ของผู้อ่านแต่ละคน ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า ประสบการณ์ แต่ละครั้งๆ ที่เคยผ่านไป และผ่านมา มักจะเป็น ครั้งเดียวในชีวิต และคงจะไม่มีครั้งต่อไป เหมือนกันอีก การเขียนเล่าเรื่อง จากความทรงจำ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่มีค่า หรือไม่มีค่า ความรู้สึก เป็นตัวตัดสิน เช่นเดียวกับผู้อ่าน คนใดจะตัดสิน ให้ค่าหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับ ความรู้สึก ของผู้อ่านนั้นๆ เช่นกัน)

เขียนเมื่อ เดือนสิงหาคม 2544

 

เร่ร่อน-ร่อนเร่ ดอกหญ้าอันดับที่ ๙๗ หน้า ๓๒ - ๕๕