> ดอกหญ้า

สยบยุคสงคราม
อุบาสก ชอบทำทาน

วารสารรายสองเดือน
"ดอกหญ้า" อันดับที่ 98

ความจริงสงครามเขามีมาตั้งนานแล้วครับ ใครเห็นก็หาทางดับก่อน ใครไม่เห็นก็ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ๒,๕๐๐ กว่าปีนั้น พระพุทธเจ้าทรงมีดวงตาที่สาม เห็นสงครามชีวิตมาก่อน เช่นเดียวกับเหล่านักบวชมากมาย แต่พระองค์ ประสบความสำเร็จ ในการหาทางขจัด "สงครามชีวิต" โดยเริ่มต้นที่ "ตัวของเราเอง!"

"โลกลุกเป็นไฟ ยังมัวสนุกอยู่ได้อย่างไร ตัวตกอยู่ในความมืด ยังไม่รู้จักหาแสงสว่าง !" พระองค์ตรัส เตือนชาวโลก มานาน หลายพันปีนะครับ แต่วันนี้ก็ยังทันสมัย

"สงครามชีวิต" นับวันจะสลับซับซ้อนมากขึ้น แนวคิดเชิงวัตถุนิยมปิดบังแสงสว่าง สะกัดกั้นความฉลาด มิให้เคลื่อนไหว ออกมา

"ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" ผู้เข้มแข็งหาทางข่มเหงผู้อ่อนแอ" เป็นสัจธรรมของสังคมสัตว์โลกทั่วไป หลายๆประเทศ ถูกรุกราน ด้วยการใช้กำลัง ถูกปล้น แย่งชิงทรัพยากร มีการค้าขายอาวุธในวงเงินมหาศาล จากผู้ประเทศผู้ผลิต ที่เป็นคณะกรรมการ ดูแลสันติภาพของโลก!

วันนี้การใช้กำลังยังคงมีอยู่ดาษดื่น แต่เพิ่มวิธีการมากขึ้น กลไกของธุรกิจ เป้าหมายของธุรกิจ ที่เน้น "ผลกำไรสูงสุด" เป็นสรณะ ได้ทำลายประเทศที่อ่อนแอ ผู้คนที่อ่อนแอ ให้ล้มหายตายจาก ไปวันแล้ววันเล่า

ระหว่างประเทศเรามีบริษัทข้ามชาติคอยโจมตี ภายในประเทศเรามีบริษัทยักษ์ใหญ่ คอยกระหน่ำ แม้ทั้งสองค่าย จะแย่งชิงผลประโยชน์ กันก็จริงนะครับ แต่เป้าหมายการโจมตีก็มาตกอยู่ที่ "ประชาชน" อยู่ดี

เมื่อระบบธุรกิจเน้นผลกำไรสูงสุด จึงต้องเน้นการผลิตให้มากที่สุด พร้อมๆกับการประชาสัมพันธ์ ป้อนค่านิยม ป้อนความรู้สึกว่า "ชีวิตนี้จะต้องมีสิ่งนี้ จะต้องได้สิ่งนี้ จะต้องเป็นสิ่งนี้" การหล่อหลอมจิตสำนึก ต้องใช้งบ ประชาสัมพันธ์ มหาศาล ผ่านทางสื่อต่างๆ วันแล้ววันเล่า ถ้าจะอาบน้ำ เธอต้องใช้สบู่ตัวนี้ ถ้าจะกินข้าว เธอต้องเข้าร้านนี้ ถ้าจะแต่งตัว เธอต้องสวยแบบนี้....ฯลฯ

ครับ จากไม่เคยรู้จัก ก็ค่อยกลายมาเป็นรสนิยม รสนิยมหลายๆ คน รวมกันมากๆ สุดท้าย ก็กลายเป็น "ค่านิยม"

"ค่านิยม" ที่ถึงจุดๆหนึ่ง แล้วจะมีบรรดาศักดิ์เป็น "ความปกติ" และเป็น "เกณฑ์มาตรฐานของชีวิต !" กลไกแห่งการมอมเมา จึงลึกซึ้งด้วยประการฉะนี้

"จอดด้วย ผมจะลง" ใครเคยคิดหรือเปล่า? อ.ธีรยุทธ เปรียบเทียบคนเป็นควาย จึงไม่ใช่เรื่องผิดพลาดหรอกครับ คนก็เป็นจิ้งหรีดด้วยครับ ถูกเขาจับมาปั่นหัวให้กัดกัน จน ณ วันนี้เพียงถามว่า "เกิดมาทำไม?" เขาก็จะโกรธ หาว่า เอาคำถามไร้สาระ มาถามทำไม?

ระบบธุรกิจนั้น มีเป้าหมายที่ผลกำไร โดยเร่งการบริโภคของประชาชน แต่ยิ่งผลิตมาก ทรัพยากรต่างๆในโลก จะค่อยๆทะยอยดูดออกมาใช้ เหมือนน้ำบาดาล ที่นับวันจะหมดไป ทรัพยากร ของลูกหลาน เป็นมรดกที่จะได้ ก็จะถูกรุ่นของเรา ขโมยเอามาใช้ก่อน

โลกาภิวัตน์ คำนี้ ไพเราะนะครับ แต่จริงก็คือการผูกขาดธุรกิจ โดยการตั้งกฎเกณฑ์ ตั้งกติกาขึ้นมา "เป็นการเอาเปรียบ โดยชอบธรรม"

"การค้าเสรี" ฟังดูซาบซึ้ง แต่ประเทศที่ยังไม่แข็งแรง กลไกการผลิตยังไม่ทันสมัย เช่นอย่างประเทศไทย หรืออีกหลายๆ ประเทศ ในอีกหลายทวีป คำนี้ก็จะกลายเป็น การถูกเอารัดเอาเปรียบทันที

กติกาที่ตั้งจากคนรวย คนมีความรู้สูง เราจะตามเขาได้อย่างไร แม้ตามทัน ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งสูงลิ่ว ระบบ ISO ด้านหนึ่งเป็นการช่วยโลก คุ้มครองโลกก็จริง แต่อีกด้านหนึ่ง เท่ากับทำให้ประเทศเล็กๆอย่างเราต้อง "แบกน้ำหนัก" ขี้นต่อสู้ แล้วประเทศที่อ้างว่า "เพื่อโลก" เบื้องหลัง การถ่ายทำ กลับมีพฤติกรรมทำร้าย ทำลายโลก มากกว่าประเทศใดๆ !

"ปากว่าตาขยิบ" หรือ "มือถือสาก ปากถือศีล" ผมว่าก็ไม่พ้นจากสุภาษิตเหล่านี้ หรอกครับ

ธุรกิจค้ากำไรวันนี้ลึกซึ้งกว่านั้น เมื่อมีธุรกิจนี้ ไม่มีผลิตผล มีแต่ตัวเงินวิ่งไปวิ่งมา มีแต่การเก็งกำไร เช่นการค้าหุ้น การซื้อขายเงินตรา ฯลฯ มีการปั่นราคา มีการวางแผนหลอกล่อ

สุดท้ายก็เห็นอยู่ ระบบการเงินในหลายๆประเทศ ก็มีอันเป็นไป แม้แต่ไทยเราเอง ยังจำเทพบุตร "โซรอส" ที่มีชื่อคล้าย กางเกงในชาย ได้ไหมครับ?

ระบบการพึ่งพา "ต่างประเทศ" ยังจำเป็นอยู่ แต่ต้อง "พึ่งตน" เป็นหลัก เราจะเดินทางอย่างระมัดระวัง ไม่ทุ่มหัวใจ ให้กับระบบการพึ่งพาคนอื่น ต้องมีสติ มีสำนึกตัวนี้อยู่ในจิตใจเรา เพื่อจะได้ไม่ผิดพลาด เหมือนอย่างที่เคยพลาดมาแล้ว

ผู้บริหารระดับประเทศ ท่านจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ ส่วนประชาชน ก็ต้องหันมาบริโภคของคนไทย เลือกซื้อ สินค้าไทย และถ้าเป็นของจากชุมชน เราต้องเลือกชุมชนก่อนบริษัท เพราะชุมชนชนบท เป็นทางเลือกส่วนใหญ่ ของประเทศ ที่มีอาชีพทำเกษตร การให้เขามีรายได้เพิ่ม มิใช่เรื่อง "น้ำใจ" แต่เป็น "หน้าที่" ทีเดียวเลยครับ

อาชีพเกษตรกรรมอุ้มชูประเทศของเรามานานแสนนาน มีคุณูปการต่อชาวไทยตลอดมา สมควรที่คนไทย โดยเฉพาะ ชุมชนเมืองมี "กตัญญูตา" การซื้อของ หรือสนับสนุนสินค้า ชุมชนชนบท ท่านทราบไหม "หนึ่งชิ้นที่ท่านซื้อ คือหมื่นพัน ครอบครัว ที่อยู่ข้างหลัง"

และนี่คือการลดไฟสงครามในสังคม ดับไฟก่อนที่จะไม่มีไฟให้ดับ ! เราเร่งให้ชุมชนผลิตอย่างเดียว ไม่พอนะครับ เราต้องเร่งให้ประชาชน มีความรู้เรื่องนี้ เพื่อจะได้ช่วยกันซื้อสินค้าเหล่านี้ด้วย

ผมคิดถึงภาคเอกชนที่วันนี้ทำอย่างจริงจัง คือ "สหกรณ์เลม่อนฟาร์ม" ที่ระดมทุนจากประชาชน นับหมื่นคน ลงขัน ตั้งตลาด รองรับสินค้าชุมชน โดยเน้นสินค้าปลอดสารพิษเป็นหลัก และวันนี้ ก็กำลังมีตลาดรองรับ สินค้ามากขึ้น ไม่ใช่เลม่อนฟาร์มแห่งเดียว ยังมีอีกหลายบริษัท ที่ทะยอยเกิดขึ้น

"วันแบ่งปัน คือ วันพี่ช่วยน้อง คือวัน "คนเมือง" ช่วยซื้อผลิตผลิต "คนชนบท" ซื้อของตามอำเภอใจ ไม่ได้แล้วนะครับ เดี๋ยวนี้เขามีปฏิรูป กันเยอะแยะ จะซื้อของทั้งที ก็ต้องมีวิสัยทัศน์ กับเขาเหมือนกัน !

ครับ เราจะไม่ก่อสงครามกับคนอื่น..... และเราก็จะไม่ก่อสงครามกับตัวเองอีกด้วย ! กิเลสในโลกนี้ แบ่งเป็นหมวดหมู่ ใหญ่ๆ ก็เพียง 3 หมวดหมู่ "โลภะ-โทสะ-โมหะ"

พระสูตรบทแรก ที่พระพุทธองค์เลือก นำมาใช้กับโลกมนุษย์ก็คือ "ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร" ว่าด้วยความเลยเถิด ของมนุษย์อันคือ การทรมานตนนั้นหนึ่ง และการมัวเมาหลงใหล ในรสชาติแห่งกามคุณ

กามคุณมี รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส รวมไปถึงอบายมุขทั้งหลาย เพราะนั่นคือ กามคุณที่หยาบใหญ่ที่สุด กามคุณ เป็นเรื่องของ "โลภะ" ดับ "โลภะ" ทำโลภะให้ลดลงกว่าเดิม สงครามในตัวเรา จะคลี่คลาย สงครามของโลก จะลดลงตามไปด้วย

เพราะโลกนี้ก็คือพวกเราทุกคน หากทุกคนเริ่มรู้จักตัวเอง เริ่มรู้เท่าทันเรื่องของกามคุณ แม้จะไม่มีโอกาสหลุดพ้น แต่สถานการณ์เลวร้ายต่างๆ จะพลันคลี่คลาย เราจะมีชีวิตที่สงบขึ้น ไม่วุ่นวาย การบริโภคจะลดลง การเอาแต่ใจ จะลดลง

ชีวิตเริ่มเข้าสู่ความเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย รู้จักกามคุณ ก็จะรู้จักความสุข ที่ไม่จำเป็นต้องซื้อ เมื่อเราไม่มัวเมา ในวัตถุ เราก็จะไม่เป็น นักบริโภคนิยม โลกของกามคุณ แม้ผู้ที่พ้น จะเข้าสู่ฐานพระอริยะ "พระอนาคามี" ก็ตาม แต่ชาวบ้าน มนุษย์ปุถุชน คนเดินดิน ก็จำเป็นต้องมีภูมิรู้ประจำชีวิต เพื่อพิษร้ายแห่งความหลงใหลในรูป รส กลิ่น เสียง จะได้บันยะบันยัง ตามสมควร!

การจัดการกับ "โลภะ" ของตัวเองโดยตรง ก็จะมีอานิสงส์ ไปถึงส่วนรวมด้วย เป็นระบบทูอินวัน ทรีอินวัน หรือมากกว่านี้ ก็ยังได้นะครับ รู้เท่าทันโลภะ เห็นกระบวนท่า บทบาทลีลาของโลภะ จะทำให้ "ครองตน" ได้ปลอดภัย และมีคุณภาพ

หากยังไม่พอมือ หรือพอมีเวลาจะมาศึกษา "โทสะ" เพิ่มเติม ก็จะยิ่งเป็นการดี เราทำงาน ก็ยังมีอาชีพเสริม การปฏิบัติ ต่อตนเอง หากมีวิธีการอื่นๆ ก็น่าจะสนใจ การจัดการ "โทสะ" ก็จะเป็นความรู้ อีกระดับที่น่าศึกษา

ก็มีความเครียดใดเล่า จะมากมายไปกว่าเวลาโมโห แถมมีเรื่องน่าโมโห วันละสิบหน ร้อยหน! เคยสังเกตไหมครับ จิตใจ ย่อมสัมพันธ์กับร่างกาย เวลาอับอายตัวก็ชา เวลาตื่นเต้น หัวใจก็เต้นแรง เวลาโกรธ ร่างกายก็แทบ จะระเบิด เป็นเสี่ยง โกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจ สะสมไปเรื่อยๆ ร่างกายก็จะเต็มไปด้วยสารพิษ!

วงการแพทย์ท่านสรุปมาแล้วนะครับว่า "อารมณ์และจิตใจ เป็นต้นเหตุของโรคทางกาย" ซึ่งจะทำให้ระบบร่างกาย วิปริตไปหมด มีอะไรบ้างครับ ที่ปรวนแปร
๑. ผิวหนัง เช่น ชา เจ็บ คัน ภูมิแพ้ ฯลฯ
๒. ระบบหายใจ เช่น เป็นลม เจ็บหน้าอก ใจสั่น ปวดศีรษะ ตาพร่า เนื้องอกในสมอง หืด หอบ ฯลฯ
๓. ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันสูง ใจสั่น ใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก ฯลฯ
๔. ระบบย่อยอาหาร เช่น ปวดท้อง ลำไส้อักเสบ อ้วนผิดปกติฯลฯ
. ระบบขับถ่าย และสืบพันธุ์ ในสตรีและบุรุษ เช่น ปวดท้องขณะมีประจำเดือน ประจำเดือนขาด สมรรถภาพ ทางเพศเสื่อม

ตัวอย่างเหล่านี้ ถือเป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยๆ นะครับ ความจริงมีมากกว่านี้มหาศาล อารมณ์ "ไม่พอใจ" เป็นการหย่อน ลูกระเบิด ถล่มตัวเอง พอๆกับสงครามโลกทีเดียวครับ แล้วชีวิตนี้จะเหลืออะไร

สงครามในใจเราตัวนี้ สุดจะร้ายกาจ มันได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ในชีวิตของเราให้ย่อยยับ นับแต่เรื่องของสุขภาพ การทำงาน ชีวิตครอบครัว ชีวิตในการคบหามิตรสหาย

อย่าไปมัวสนใจสงคราม ตามหน้า น.ส.พ. อยู่เลยครับ สงครามในชีวิต ของแต่ละคนต่างหาก ที่ต้องหาทางจัดการ

ขอให้ทุกท่าน ประสบความสำเร็จ ในการต่อสู้นะครับ

 

(ดอกหญ้า อันดับ ที่ ๙๘ หน้า ๑๑ รอบบ้านรอบตัว สยบยุคสงคราม )