เมตตา สยบโกรธ เกลียดชัง
ฤทธิ์ขมัง สงบ สงครามได้
อารมณ์ร้าย ลาโรง ล้มละลาย
อารีหลาย โอบเอื้อ จุนเจือแทน
พระเจ้าโกศลมีมหาอำมาตย์อยู่สองคน
ซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าบังคับบัญชา ทหารคนสนิทของพระองค์
แต่ทั้งสอง หากได้พบปะ พูดคุยกันทีไร เป็นต้องทำสงครามอารมณ์ใส่กัน
ทะเลาะ บาดหมางกันทุกทีไป แล้วก็ผูกเวรกัน มาเป็นเวลาเนินนาน
จนกระทั่ง เรื่องที่ทั้งสอง
จองเวรต่อกัน เป็นที่อื้อฉาว รู้กันทั่วทั้งกรุงสาวัตถี แม้แต่พระราชา
หรือ ญาติสนิทมิตรสหาย ก็ไม่สามาถ ทำให้มหาอำมาตย์ทั้งสอง เกิดความปรองดอง
สามัคคีกันได้เลย
วันหนึ่ง....ในเวลาใกล้รุ่ง
พระศาสดา ทรงตรวจดูเผ่าพันธุ์มนุษย์
ผู้ที่ควรแนะนำให้รู้แจ้งได้ ทรงเล็งเห็นอุปนิสัย ที่จะได้มรรคผล
ของมหาอำมาตย์ทั้งสอง จึงเสร็จเข้าสู่กรุงสาวัตถี ไปบิณฑบาต เพียงลำพัง
พระองค์เดียวเท่านั้น
เสด็จไปประทับยืนอยู่
ที่หน้าประตูเรือน ของมหาอำมาตย์คนหนึ่ง
พอเขารู้ก็รีบออกมารับบาตร จากพระศาสดา แล้วนิมนต์ ให้เสด็จเข้าไป
ภายในเรือน จัดแจงปูอาสนะ (ที่นั่งให้ประทับ ด้วยความเคารพเลื่อมใสอย่างยิ่ง
เมื่อพระศาสดา ประทับนั่งเรียบร้อย
ทรงปฏิสันถาร (ทักทาย) มหาอำมาตย์ แล้วตรัสแสดงผลบุญ ผลประโยชน์
แห่งการเจริญเมตตา แก่มหาอำมาตย์นั้นว่า
"ดูก่อนมหาอำมาตย์
เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ (จิตหลุดพ้น กิเลสทุกข์ ด้วยอำนาจ แห่งการเมตตา)
อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน (เครื่องพาไป)
ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ตั้งต้นด้วยดีแล้ว
พึงหวังผลบุญผลประโยชน์ ๑๑ ประการนี้คือ
๑.ย่อมหลับเป็นสุข
๒.ย่อมตื่นเป็นสุข
๓.ย่อมไม่ฝันลามก
๔.เป็นที่รักของมนุษย์ (คนใจสูง) ทั้งหลาย
๕.เป็นที่รักของอมนุษย์ (คนใจต่ำ) ทั้งหลาย
๖.เทวดา (ผู้มีใจประเสริฐ) ย่อมรักษา
๗.ไฟ ยาพิษ ของมีคม ย่อมไม่กล้ำกรายได้
๘.จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว
๙.สีหน้าย่อมผ่องใส
๑๐.เป็นผู้ไม่หลงกระทำความตาย (แก่ตนและผู้อื่น)
๑๑.เมื่อไม่รู้แจ้งแทงตลอดคุณอันยิ่ง ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก
(โลกของผู้มีคุณความดี อันยิ่งใหญ่คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา)"
มหาอำมาตย์น้อมจิต
ตั้งใจฟังด้วยศรัทธา จิตนุ่มนวล เหมาะควร แก่การดัดได้แล้ว ดังนั้น
พระศาสดา จึงทรงประกาศ อริยสัจให้ฟัง ในเวลาจบอริยสัจแล้ว เขาก็ตั้งอยู่ใน
โสดาปัตติผลทันที
พระศาสดาทรงทราบว่า
เขาบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว จึงทรงลุกขึ้น ให้เขาถือบาตร ติดตามข้างหลัง
แลัวเสด็จไป ยังประตูเรือน ของมหาอำมาตย์
อีกคนหนึ่ง มหาอำมาตย์นั้น ก็รีบออกมา ถวายบังคมพระศาสดา
แล้วกราบทูลว่า "นิมนต์ขอเชิญเสด็จ เข้าไปในเรือนเถิด พระเจ้าข้า"
พระศาสดา จึงทรงเข้าไปในเรือน
พร้อมกับมหาอำมาตย์ ที่ถือบาตรติดตามมา ครั้นพระศาสดาทรงสนทนาสักครู่
ก็ได้ตรัสพรรณนา คุณของการเจริญเมตตา ๑๑ ประการให้เขาฟัง แล้วทรงประกาศอริยสัจ
เมื่อแสดงธรรมจบ มหาอำมาตย์นั้น ก็บรรลุธรรม เป็นพระโสดาบัน
เช่นกัน
เมื่อมหาอำมาตย์ทั้งสอง
ต่างก็บรรลุโสดาบัน ด้วยกันแล้ว ก็ละอายแก่ใจ
ในพฤติกรรมเก่าก่อน ที่ทะเลาะเบาะแว้งกันมา จึงกล่าวแสดงโทษของตน
ขอขมาต่อกันและกันแล้ว ก็มีจิตสมัครสมาน บันเทิงใจ มีอัธยาศัย เอื้อเฟื้อแก่กัน
ในวันนั้นเอง มหาอำมาตย์ทั้งสอง จึงได้ร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน
อย่างสนิทสนม ต่อหน้าพระพักตร์ ของพระผู้มี พระภาคเจ้า
ในเวลาเย็นวันนั้น...
ที่ธรรมสภา เหล่าภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากัน กล่าวแสดงคุณอันยิ่ง
ของพระศาสดาว่า "พระศาสดา ทรงฝึกคน ที่ใครๆ
ก็ฝึกไม่ได้ ทรงฝึกมหาอำมาตย์ทั้งสอง ซึ่งวิวาทบาดหมางกันมาช้านาน
เพียงวันเดียว เท่านั้น ทั้งๆที่พระราชา และญาติสนิท มิตรสหาย ไม่สามารถทำให้ทั้งสอง
คืนดีสามัคคีกันได้เลย"
พระศาสดาเสด็จมา ในเวลานั้นพอดี
ได้ทราบเรื่องแล้ว จึงตรัสว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามิใช่ทำให้คนทั้งสองนี้ สามัคคีกันในบัดนี้เท่านั้น
แม้เมื่อก่อน เราก็ทำให้ สามัคคีกันมาแล้ว" แล้วทรงนำ เรื่องเก่าก่อน
มาตรัสเล่า
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต
เสวยราชสมบัติ อยู่ในกรุงพาราณสี เขาประกาศให้มีมหรสพยิ่งใหญ่ ในพระนคร
ในงานนั้น บรรดาพวกมนุษย์ (ผู้มีใจสูง) เป็นอันมาก และเหล่าเทวดา
(ผู้มีใจประเสริฐ) ทั้งหลาย ต่างก็มุ่งมาเที่ยว ชมมหรสพนี้
แม้แต่พญานาค กับพญาครุฑ ซึ่งเป็นศัตรูทำสงคราม ล้างผลาญกันมาช้านาน
ก็แปลงโฉม มาร่วมสนุก ชมงานมหรสพ กับเขาด้วย
ณ หน้าโรงมหรสพแห่งหนึ่ง
ขณะที่พญาครุฑ กำลังยืนดูมหรสพ การละเล่น อยู่อย่าง สบายอารมณ์ พญานาค
ซึ่งจำพญาครุฑไม่ได้ เข้ามายืนดูใกล้ๆ และด้วยความสนุกสนานลืมตัว
จึงเอามือไปพาดบ่า ของพญาครุฑไว้
พญาครุฑคราแรก ก็ไม่ถือสา
แต่พอนานเข้า ก็ชักไม่ชอบใจ จึงหันไปจ้องหน้าดูอยู่ ครั้นพิจารณาแล้ว
ก็จำได้ว่า เป็นพญานาค ส่วนพญานาค พอถูกมองเขม็ง ก็ถลึงตาจ้องดูกลับไปบ้าง
ก็จำได้ว่า เป็นพญาครุฑ จึงตกใจกลัวสุดขีด หวั่นเกรงว่า จะถูกพญาครุฑ
จับไปกินเสีย รีบตะลีตะลานหลบหนี ออกจากพระนคร ไปทางท่าน้ำทันที
พญาครุฑ ก็ไม่รอช้า ตามติดไล่ล่าไปตลอดทาง ด้วยหมายใจว่า ต้องจับกินพญานาค
ให้จงได้
ณ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำนั้นเอง
มีพระดาบสตนหนึ่ง อาศัยบำเพ็ญพรตอยู่ กำลังเดินไปยัง ริมน้ำ เพื่ออาบน้ำ
ได้ถอดผ้าเปลือกไม้ ที่นุ่งห่มเอาไว้ที่บนฝั่ง แล้วลงไปอาบน้ำ ชำระกาย
ในเวลานั้น พญานาคหนีมาถึงที่ตรงนี้
ได้เห็นพระดาบส อาบน้ำอยู่ ก็เกิดความคิดขึ้นว่า "เราจะรอดชีวิตได้
ก็คงต้องอาศัย พระดาบสนี้แล้ว"
จึงรีบหนีเข้าไปหลบซ่อนตัว
อยู่ในผ้าเปลือกไม้นั้น ทำตัวขดให้เป็นก้อนกลมเล็ก ราวกับก้อนมณีเลยทีเดียว
พญาครุฑติดตามมา เห็นเช่นนั้น แม้อยากจะเข้าไปจับพญานาคกิน แต่ด้วยความเคารพ
ในผู้ประพฤติพรหมจรรย์ จึงมิได้ทำเช่นนั้น ได้กล่าวขออนุญาต กับพระดาบสก่อนว่า
"พระคุณเจ้าที่เคารพ
ข้าพเจ้ากำลังโหยหิวจัด ต้องการอาหาร ประทังชีวิต แต่พญานาค ซึ่งประเสริฐกว่า
งูทั้งหลาย ได้หนีหลบอยู่ใน กองผ้าเปลือกไม้ของท่าน ข้าพเจ้าเคารพ
ยำเกรงในเพศของพระคุณเจ้า ซึ่งเป็นเพศบริสุทธิ์ ประเสริฐนัก ถึงแม้จะหิวจัดปานใด
ก็มิบังอาจ ลบหลู่ เข้าไปจับพญานาค ในกองผ้าเปลือกไม้นั้น
จึงขอให้พระคุณเจ้า เอาเฉพาะ ผ้าเปลือกไม้ไปเถิด ส่วนข้าพเจ้า จะกินพญานาคตัวนี้
ระงับความหิว"
พระดาบสทั้งๆ ที่ยืนอยู่ในน้ำ
ได้เห็นเหตุการณ์ ทั้งหมดแล้ว จึงได้กล่าวสรรเสริญ พญาครุฑว่า "ท่านนั้นเคารพย้ำเกรง
ผู้มีเพศประเสริฐ แม้หิวอยู่ก็ไม่จับพญานาค ในผ้าเปลือกไม้ของเรา
ขอท่านจงเป็นผู้มีใจประเสริฐ อันพรหม (เมตตา
กรุณา มุทิตา อุเบกขา) คุ้มครอง ให้ดำรงชีพอยู่ สิ้นกาลนาน แล้วขอให้อาหาร
อันเป็นทิพย์ (อาหารของเทวดา อันปราศจากการฆ่า และซากศพ) จงปรากฏแก่ท่านเถิด"
กล่าวจบคำชื่นชมในความดีของพญาครุฑแล้ว
พระดาบสก็ขึ้นจากน้ำ มานุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ แล้วเรียกให้พญานาค และพญาครุฑ
ติดตามไปที่อาศรม จากนั้น ก็แสดงคุณ ของการเจริญเมตตาให้ฟัง
ทำให้สัตว์ทั้งสอง เลิกเป็นศัตรูกัน หันมาช่วยเหลือ สามัคคีกัน
นับตั้งแต่บัดนั้นมา
สัตว์ทั้งสอง จึงสมัครสมาน เบิกบานกัน อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก
พระศาสดาทรงนำชาดกนี้มาแสดงแล้ว
ตรัสว่า "พญานาคและพญาครุฑในครั้งนั้น ได้มาเป็นมหาอำมาตย์
ทั้งสองนี้ ส่วนพระดาบส ได้มาเป็น เราตถาคตเอง"
ณวมพุทธ
พุธ ๑๕ ก.ค.๒๕๔๑ (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๕๗,
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๗ หน้า ๒๒)
พระพุทธองค์ตรัส
ธรรมอันเป็นที่ระงับความอาฆาต ๕
ประการนี้คือ
เมื่อความอาฆาตบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงระงับด้วย.....
๑.พึงเจริญเมตตา (คิดช่วยเหลือ) ในบุคคลนั้น
๒.พึงเจริญกรุณา (ลงมือช่วยเหลือ) ในบุคคลนั้น
๓.พึงเจริญอุเบกขา (วางใจเที่ยงธรรมเป็นกลาง) ในบุคคลนั้น
๔.พึงถึงการไม่นึก ไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น
๕.พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตนให้มั่นว่า
แม้บุคคลนั้นก็เป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน
ต้องเป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด
มีการเป็นเผ่าพันธ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง
จะกระทำกรรมใด ดีหรือชั่วก็ตาม
ก็จะต้องเป็นทายาทของกรรมนั้นๆ
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ "อาฆาตวินยสูตรที่ ๑" ข้อ๑๖๑) |