ชีวิตวัยเด็ก ดิฉันมีพี่น้อง
๓ คน พี่ชาย น้องชาย และตัวเอง ซึ่งเป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัว
ดิฉัน เริ่มเรียนหนังสือจนจบมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย
ชีวิตครอบครัว
พ่อแม่ดิฉันมีอาชีพค้าขาย ใช้ชีวิตเรียบง่าย ระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่าย
จะประหยัดมาก ดิฉันจึงซึมซับสิ่งเหล่านี้ มาจากพ่อแม่ ตั้งแต่เด็ก
ชีวิตการทำงาน
จบ ม. ๖ แล้ว
ก็เริ่มทำงาน ที่บริษัทนำเข้า-ส่งออก จากนั้นก็ย้ายไปทำงานที่ แผนกไอโซโถป
ที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นเวลาปีกว่า แล้วก็ไปทำงานที่กระทรวงยุติธรรม
ประมาณครึ่งเดือน ก็ลาออก ไปทำงานใหม่ ที่ธนาคารกรุงเทพฯ ที่นี่อยู่นานถึง
๗ ปีกว่า สุดท้าย ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ด้านเลขานุการ เป็นเวลา
๓ ปี
รู้จักอโศก
หลังกลับจากอังกฤษ
แม่ก็แนะนำ ให้ไปที่สันติอโศก อันที่จริงดิฉันรู้จัก พ่อท่านโพธิรักษ์
มาตั้งแต่สมัยที่ ท่านยังเป็นฆราวาส จัดรายการ 'แมวมอง' และตอนที่ทำงาน
ธนาคารกรุงเทพฯ เพื่อนเคยชวน ไปกราบพ่อท่าน ที่วัดอโศการาม แต่เนื่องจาก
เป็นคนที่ไม่ชอบเดินทาง จึงปฏิเสธที่จะไป
แต่ครั้งนี้ เมื่อไปสันติอโศก
และได้ฟังธรรมจากพ่อท่าน เกิดความประทับใจมาก และเกิดคำ ถามขึ้นในใจว่า
ชาตินี้ เราจะอุทิศชีวิต ให้ศาสนาสักชาติ ไม่ได้หรือ ก็เลยตัดสินใจ
ไม่ไปหางานทำที่อื่น และเริ่มมาช่วยงาน ที่มูลนิธิธรรมสันติ โดยเริ่มงานด้านการเงิน
ที่ห้องเท็ป ทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน ดูแลการใช้จ่ายเงินทอง และอื่นๆของวัด
*เมื่อพูดถึงคุณฉันทนา
ชาวอโศกรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าเป็นรุ่นเก่า ทุกคนต้องรู้จักและ
ยืนยันกิตติศัพท์ ของความประหยัด ว่าคุณฉันทนา เป็นสุดยอดแห่งความประหยัด
จริงไหมคะ
ดิฉันคิดว่า
เงินที่คนบริจาคให้มูลนิธิฯนั้น เขาหามาด้วยความยากลำบาก ดังนั้น
เราจึงต้อง ดูแลเงินส่วนนี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เท่าที่จะทำได้
เมื่อใครมาของเบิกเงิน ดิฉันจึงจำเป็นต้องพิจารณา อย่างละเอียดถี่ถ้วน
ก่อนจะจ่ายเงินให้
*จนมีคนบ่นอึดอัดขัดเคือง
เมื่อต้องมาขอเบิกเงิน จากคุณฉันทนา เพราะมันไม่ง่ายอย่างที่ เขานึก
ใช่ไหมคะ
"ค่ะ"
เพราะดิฉันจะซักถามเขาว่ามีความจำเป็นอย่างไร บางทีดิฉันก็แนะนำเขาว่า
ให้ลอง อย่างนั้นอย่างนี้ คือจะหาวิธีอื่นๆ ก่อนที่จะเบิกเงินไปง่ายๆ
*ของก็เป็นของส่วนรวม
เราจะมานั่งประหยัดอยู่คนเดียว ให้คนอื่นเขาว่าทำไมคะ
ถ้าคนที่บริจาค
เขาเห็นเราฟุ่มเฟือย เขาคงไม่อยากมาบริจาค (แล้วต่อไปพวกเราจะเอา
เงินที่ไหนใช้) ถ้าเราผลาญพร่า ทรัพยากร ก็เป็นการสร้างบาป
เมื่อก่อนนี้ จะพูดตลอดเวลา จ้ำจี้จ้ำไช แต่เดี๋ยวนี้ ไม่แล้วค่ะ
ใช้การกระทำของเรา ให้เป็นตัวอย่างมากกว่า และจะสอน หรือตักเตือน
เฉพาะคนที่เตือนได้
*ทำไมถึงคิดว่า
การประหยัด เป็นเรื่องสำคัญมากคะ
ดิฉันถือว่า
การประหยัด เป็นส่วนหนึ่ง ของการปฏิบัติธรรม เช่นการเก็บสิ่งของ
เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ถือเป็นการฝึก เรื่องการขจัดความขี้เกียจ บางครั้งเราเห็นหนังยาง
ตกอยู่ที่พื้น จิตขี้เกียจก็จะบอกว่า ไม่ต้องไปสนใจ ช่างมันเถอะ!
การจะก้มลงเก็บ ต้องฝืนใจตัวเอง ต้องละความขี้เกียจ ดูตัวอย่างพ่อท่าน
ก็ยังมีนิสัยประหยัดมากเช่นกัน ปัจฉาฯ เคยเล่าว่า เมื่อพ่อท่านเดินไปเจอ
คลิปหนีบกระดาษ บนพื้น พ่อท่านก็จะก้มลงเก็บ นี่คือความละเอียดของพ่อท่าน
กระดาษ พ่อท่านก็ใช้อย่างประหยัด ยังมีอีกหลายๆตัวอย่างของพ่อท่าน
ที่เราควรนำมา ปฏิบัติตาม เพื่อความเจริญ ของตัวเราเอง หลายคนอาจมองว่า
นี่เป็นสิ่งเล็กน้อย จึงไม่ค่อย ให้ความสนใจ เขาไปมองที่งานใหญ่ๆ
ทำให้ละเลย เรื่องละเอียดอ่อนเช่นนี้
*นิสัยประหยัดสามารถปลูกฝังได้ไหมคะ
อันที่จริงตอนเด็กๆ
ดิฉันได้เรียนที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เน้นเรื่อง
มารยาท ความมีระเบียบวินัย ความสะอาด จึงทำให้ตัวเอง ซึมซับส่วนนี้ไว้มาก
ในเรื่องของการประหยัด ดิฉันคิดว่า แต่ละคนต้องพิจารณาเองว่า สิ่งที่เราทำลงไป
มีผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม มากน้อยเพียงใด ถ้าเราตระหนักชัดว่า 'เด็ดดอกไม้
ย่อมสะเทือน ถึงดวงดาว' เราก็จะรู้ว่า การประหยัด เป็นการช่วยรักษา
ทรัพยากรของโลก
*ช่วยยกตัวอย่างเรื่องความประหยัดที่ตนเองทำเป็นประจำหน่อยสิคะ
-เก็บถุงพลาสติกมาใช้ใหม่ เก็บหนังยาง คลิบหนีบกระดาษ เก็บของสารพัดอย่าง
ที่นำกลับมา ทำประโยชน์ได้อีก เพราะดิฉันถือว่า ทั้งหมดนี้ เป็นการช่วยลดมลพิษ
รักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นการประหยัดเงินด้วย แถมยังสามารถ นำสิ่งที่เก็บมาได้
กระจายให้ผู้อื่นใช้ต่อได้อีก เป็นประโยชน์หลายชั้น -ประหยัดน้ำ
หลายคนใช้น้ำ อย่างไม่รู้คุณค่า เปิดก๊อกแรงสุดๆ ปล่อยน้ำล้น ดิฉันจะใช้น้ำ
อย่างประหยัด แต่สะอาดนะคะ คือ ต้องรู้จักใช้ หลายคนคิดว่า ถ้าประหยัด
แล้วต้องสกปรก ไม่จริงเลย ถ้ารู้วิธีก็สะอาดได้ แล้วประหยัดด้วย
เช่นจะล้างจาน ซักผ้า ควรใส่น้ำยาพอ ประมาณ บางคนใส่มากเกินไป ก็ทำให้ต้องใช้น้ำล้างออกมาก
เรื่องการประหยัด มีรายละเอียดเยอะ และสามารถ ประหยัดได้มาก หากช่างสังเกต
และรู้วิธี
*ตัวอย่างที่ขึ้นชื่อที่สุดของคุณฉันทนา
เรื่องความประหยัดลวดเย็บกระดาษ มันเป็นยังไงคะ
ก็ไม่มีอะไรหรอกค่ะ เพียงแค่ดิฉัน เก็บไส้แม็ก มาใช้ใหม่ วิธีการก็คือ
แกะไส้แม็กออกจากเอกสารเก่า ที่ไม่ใช้แล้ว จากนั้น เอาเข็มกลัดเจาะกระดาษ
ที่เราต้องการจะแม็ก แล้วเอาไส้แม็กเก่า มาสอดเข้าไป แล้วกดทับ บางคนว่าดิฉันว่า
เกินไปจริงๆ ก็แล้วแต่เขาจะมอง แต่สำหรับดิฉันถือว่า การทำเช่นนี้
เป็นการฝึกสมาธิไปในตัว ทำให้อารมณ์เย็นลงด้วย (ในขณะที่ บางคนแค่ฟัง
อารมณ์ร้อนขึ้นทันที เพราะรู้สึกว่า เป็นเรื่องไร้สาระ และเสียเวลาอย่างยิ่ง)
(เรื่องนี้ผู้สัมภาษณ์เอง พอจะเข้าใจ แม้ไม่มีประสบการณ์ตรง เกี่ยวกับแม็กอย่างคุณฉันทนา
แต่เคยต้องเด็ดหางถั่วงอก จำนวนมาก แรกๆรู้สึกทรมาน และคิดว่า เป็นเรื่องไร้สาระ
เสีย เวลาเป็นที่สุด ต่อเมื่อเด็ดไปเรื่อยๆ รู้สึกว่าตัวเองมีสมาธิ
สงบ และ เพลิดเพลิน เห็นสาระ ในการเด็ด หางถั่วงอก จนถึงขนาดรู้สึก
ผ่อนคลาย และบางครั้ง เมื่อเครียดจากงาน อยากพักผ่อน ให้รู้สึกคิดถึง
ถั่วงอกหางยาวๆ เป็นกำลัง)
*งานที่รับผิดชอบในปัจจุบันมีอะไรบ้างคะ
เนื่องจากดิฉันไม่มีบ้านเป็นของตนเอง ก็จะสัญจรไปตามที่ต่างๆ ไปช่วยงานที่สถาบันฝึก
อบรมผู้นำ จังหวัดกาญจนบุรี ก็ช่วยเขาเก็บ วัสดุต่างๆ มาใช้ใหม่
บางช่วง ก็ช่วยขายหนังสือ และเท็ป ที่ธรรมทัศน์สมาคม และไปเป็นลูกมือ
ทำอาหาร ที่ศูนย์วิปัสสนาธรรมกมลาด้วย
*เป้าหมายในอนาคตล่ะคะ
ไม่เคยคิดถึงอนาคต คิดแต่ว่า ทำวันนี้ให้ดีที่สุด คิดว่าบั้นปลาย
จะขอตายอย่างพุทธ ดิฉันไม่เคยคิด หาเงินทองเก็บ เผื่ออนาคต เพราะมั่นใจ
ในทางที่ปฏิบัติอยู่ สิ่งสำคัญ คือต้องพยายาม ฝึกตัวข้างในให้ได้
ต้องล้างอนุสัย อาสวะที่มีอยู่
การไปฝึกสมาธิ ตามแนวทางของท่านโกแองก้า
ก็มีการสอนศิลปะแห่งการตาย ซึ่งจริงๆแล้ว พ่อท่านก็สอนในจุดนี้ เป็นแต่เพียง
เรามองไม่ชัด ดิฉันเป็นสายฟุ้งซ่าน จึงต้องพยายามฝึกเพิ่มในส่วนนี้
และเห็นว่า หลายคนเวลาจะตาย ตามเวทนาไม่ทัน จึงเกิดความทุกข์ทรมาน
ดังนั้น จึงต้องฝึกตัวนี้ไว้
*ช่วง
๒๐ ปีที่มาอยู่วัด มองการเปลี่ยนแปลงต่างๆในวัดอย่างไรคะ
เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคที่งานเยอะ พวกเราจึงค่อนข้าง จะขาดการฝึกภายใน
หากใครมีโอกาส ก็อยากแนะนำให้ ไปฝึกสมาธิ ตามแนวทางของท่านโกแองก้า
ซึ่งเป็นการฝึกจากภายใน ออกสู่ภายนอกเพิ่มเติม เราต้องรู้จักปล่อยวาง
อย่าแบกสิ่งต่างๆ ไว้กับตัวมากเกิน ไป |