> ดอกหญ้า

ถ้อยคำสิริมงคล สุวลี
อย่ากินทิ้ง-ขว้าง

วารสารรายสองเดือน
"ดอกหญ้า" อันดับที่ 98

มี "คุณธรรม" หลายๆตัว เมื่อพูดถึง ก็ต้องฟังอย่างเคารพ เพราะดูลีลาช่างยิ่งใหญ่ สมศักดิ์ศรี เหมือนคนใส่เสื้อนอก แต่บทปฏิบัติจริงๆ อาจตกใจ เมื่อรู้ว่า "คุณธรรม" เหล่านั้น กลับไม่ใช่มัคคุเทสก์ของเรา กลับมี "คุณธรรม" ทึ่ดูกระจอก ดูแบกะดิน ไม่เร้าใจ เป็นผู้นำพาตะลุยฝ่าด่าน

ศึกษาชีวิต ย่อมมีเส้นทางให้เลือก จะแบบใส่เสื้อนอก ก็อาจดูโก้หรู คนฟังเลื่อมใส แต่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ โลกจึงมีภาพมายา ร้อยแปดพันเก้า แต่งตัวหลากหลายรูปแบบ แม้สุดท้าย แอบใส่จีวร มาหลอกล่อเรา นึกว่า "ใช่แล้ว"

ฝึกคุณธรรม ฝึกสร้างความดี หากบอกให้มาลงมืออย่างจริงจัง ปฏิบัติลดละสังวร ระวังเรื่องกิน เรื่องอยู่พื้นๆ ผู้คนส่วนใหญ่ อาจเบือนหน้าหนี ไม่สนใจ

เหมือนอย่างที่เข้าใจพระอรหันต์ ต้องเหาะเหินเดินอากาศ มีอิทธิฤทธิ์ ฉันจึงเคารพ วันนี้เราจึงไม่พบพระอรหันต์ แม้กำลังคุยกับพระอรหันต์ เราจึงไม่พบพระอริยเจ้า ระดับพระโสดาบัน แม้จะสัมผัส ท่านอยู่ทุกวี่วัน

การตั้งเกณฑ์มาตรฐาน ไว้สูงเกินไป ไม่ใช่ความผิด แต่เป็นกิเลสของคน ที่ชอบมองคนดี ให้สูงสุดยอด แต่มองตัวเอง กลับกดให้ต่ำ เตี้ยติดดิน เหมือนการประนามนักปฏิบัติธรรม ประนามคนดีๆ ทำไมยังบกพร่อง ข้อนั้นข้อโน้น แต่พอตัวเองจะแย่ โอ๊ย-เป็นของธรรมดา ก็ฉันมันมนุษย์ปุถุชน!

คนดี พ.ศ.นี้จึงถูกโห่ไล่เข้าป่าคนแล้วคนเล่า "ดีไม่จริงนี่หว่า ยิ่งมีกิเลสตัวนั้นตัวนี้" กบเลือกนาย สุดท้าย นกกระสา ก็มาเป็นเสียเลย ให้รู้แล้วรู้รอด

จงทำความดี ไม่ต้องมองสุดสายตา เริ่มต้นอย่างง่ายๆ แบบแบกะดิน "อย่ากิน ทิ้งขว้าง" เพราะอาหารเป็นใหญ่ในโลก มนุษย์มีสุขมีทุกข์ มีชะตาอาภัพ หรือ วาสนาก็เพราะเรื่อง "กิน"

ฝึกเรื่อง "กิน" เท่ากับชีวิตเริ่มพัฒนา "สูงขึ้น" ปราชญ์ทุกท่าน ศาสดาทุกพระองค์ ต่าง "กินน้อย-ใช้น้อย" เป็น "ธรรมกาย" เป็น "กายสักขี" ให้ประชาชนได้ดู เป็นตัวอย่าง

ธรรมะมีมากมาย เหมือนดวงดาว บนท้องฟ้า เริ่มสักจุดจะดีไหม "อย่ากินทิ้ง-ขว้าง" เริ่มมีสติ นึกถึงผู้อื่น ชีวิตอื่น วัตถุอื่น ยังมีผู้คนอีกมาก ที่อดอยาก เกรงใจกันบ้าง ชีวิตกว่าจะก่อหวอด พัฒนาตัวตนจนได้เห็นอย่างวันนี้ กี่ล้านๆปี ไม่มีใคร ตอบได้

พระพุทธองค์ตรัส เพียงแค่ชีวิตกว่าจะถึงวันนี้ หากรวบรวมน้ำตาที่ร้องไห้ ในแต่ละชาติ ด้วยความเศร้าโศก มารวมกันแล้ว ก็น้องๆ ทะเลมหาสมุทร! คนบาปจึงคือ คนที่ทำร้ายทำลายชีวิต ชีวิตมนุษย์ หากทำลาย ถือว่าบาป หมายเลข ๑ เนื่องจาก ใช้เวลาฟูมฟัก พัฒนานานกว่า ทุกๆชีวิตในจักรวาล

สัตว์ทั้งหลาย ใช้เวลาฟูมฟักพัฒนาน้อยกว่าก็จริง ก็เป็นบาปกรรม ที่ลดหลั่นกันไป "บาปน้อย" แค่ไหนเรียกว่า บาปน้อย ใครตอบได้ ไม่ใช่แค่ใส่เข่ง ใบเล็กๆก็แล้วกัน

คำว่า "น้อย" จึงเป็นภาษาอำพราง ทำให้เราไม่กลัวบาปกรรม แต่แปลกดีนะ พระอรหันต์เจ้า บาปแม้ "ธุลี" ท่านก็จะไม่ทำ! ใครว่า บาปน้อยตัวเท่ามด?

"อย่ากินทิ้ง-ขว้าง" เพราะพืชพันธุ์ธัญญาหาร ก่อเกิด ต้องใช้เวลา กว่าจะถึงวันนี้ เราจึงเคารพ พระแม่โพสพ พระแม่ธรณี พระแม่คงคาและพระแม่อีกมากมาย เราสมมติว่า ท่านเป็นผู้ดูแลสรรพชีวิต

แต่เมื่อได้มาแล้ว มาเป็นขนม มาเป็นข้าวสวย มาเป็นอาหารสารพัด ก็มิอาจละเลยคุณค่า ด้วยความมักง่าย ด้วยการกินไม่หมด ก็ทิ้งถังขยะ อย่าถือสิทธิ์ เงินของฉันซื้อมา ย่อมมีสิทธิทุบทำลายฟ้าดิน! คิดพรรค์นี้ ตกนรกไปเยอะแล้ว เพราะเป็นความคิด "มิจฉาทิฏฐิ" ยังไม่ถูกต้อง

สรรพสิ่งต้องใช้เวลา ต้องผ่านกระบวนการปรุงแต่งทั้งสิ้น การทิ้ง-ขว้างก็คือ กายกรรม ที่ลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของชีวิต... ของธรรมชาติ

มนุษย์ไม่ฆ่ามนุษย์ ต่อไปก็จะไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำลายชีวิตอื่นๆ แม้ของกินของใช้ ก็ควรใช้ให้คุ้ม ใช้อย่างประหยัด หมดประโยชน์กับเรา ยังส่งผ่าน ให้คนอื่นใช้ได้อีก คนแล้วคนเล่า

ความเชื่อโบราณยังสร้างทัศนคติ มีผีอยู่ในข้าวของเครื่องใช้ มีผีกะลา ผีช้อน ผีหม้อไห ผีในครัว มีสารพัด หากของใช้ทุกชิ้น ของกินทุกอย่างมีชีวิต เราคงเกรงใจ น่าดูเลย!

"อย่ากินทิ้ง-ขว้าง" ความจริงไม่จำกัดแค่ ของกินเท่านั้น จะให้ดีกว่านี้ ต้องขยายความนัย เลยไปถึง "ของใช้"

มิซูโน หมอดูมีชื่อชาวญี่ปุ่น ชี้กรรมให้ลูกค้าดู กรณีเกิดมาเดียวดาย ไร้ญาติขาดมิตร "เพราะเธอทิ้งขว้าง ข้าวของเครื่องใช้ ก่อนเวลาอันควร เธอจึงต้องรับวิบากเหล่านี้..." มิซูโน เจาะลึกถึงชะตาอาภัพของมนุษย์ หากจะแก้ไขขอให้เริ่มที่ "อย่ากิน ทิ้ง-ขว้าง"

"คนโหงวเฮ้งดี แต่กินเกินฟ้ากำหนด ชีวิตก็จะพบแต่ความย่ำแย่ คนโหงวเฮ้งไม่ดี แต่หากไม่กินเกินฟ้ากำหนด ชีวิตที่แย่ๆ ก็พลันจะดีขึ้น..."

"อย่ากินทิ้ง-ขว้าง" เตือนกันนิด คิดกันหน่อย แม้ข้าวของจะติดวันหมดอายุ ก็ อย่าเถรตรง โยนลงถังขยะ ห่วงสุขภาพก็ดีอยู่ แต่กรุณา ให้ความเคารพ ของกินของใช้กันบ้าง

ดีกว่านี้ยังมีอีก ใครจะลดมื้อ บริโภคน้อยลง ก็เป็นสิ่งซึ่งศาสดา ทุกพระองค์ ทรงสั่งสอน กองทัพเดินด้วยท้อง แต่หากท้อง ไม่กินเยอะ กองทัพก็จะยิ่งใหญ่ มีพลานุภาพมหาศาล วิกาลโภชนา กินให้น้อยมื้อลง ใครบอกเธอ ชีวิตต้องกิน วันละ ๓ มื้อ?

๓ ให้เหลือ ๒ จุบจิบจงเลิกเสีย สุขภาพก็จะดี ความอ้วนจะไม่มี เป็นความดีชั้นประถม ที่ต้องสอบผ่าน ลดจำนวนมื้อ ทวีความดีต่อไป ก็ยังต้องลด "ปริมาณ" อย่าให้สะสม ในร่างกาย มากเกินไป

ธรรมะอันลึกซึ้งนั้น มิใช่เริ่มที่นั่งสมาธิหลับตาเห็นแสงสว่าง แต่คือการเริ่มสำรวจตน จัดการกับชีวิต ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนโลก ธรรมะเนื้อแท้ จึงรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัว ของแท้ต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่เปลือง ไม่ผลาญพล่า

คิดอย่างนี้เถิด เมื่อเกิดมาทุกคนต่างมีโควต้าแม้อายุ แม้อาหารการกิน ฟ้าลิขิต กี่สิบปี หากถึงวันนั้น เราก็ต้องตายจาก ฟ้าลิขิต ชามข้าว ขนมปัง ตั้งแต่เราเกิด ชีวิตของคนคนนี้ ฟ้าประทานให้ กี่หมื่นชาม ขนมปังกี่แสนก้อน ก็ว่ากันไป

ทุกครั้งที่ใช้ ทุกครั้งที่กิน เจ้าหน้าที่จะจดลงบัญชี ตัดยอดทุกวัน วันแล้ววันเล่า เกินโควต้า อาจไม่รู้ตัว ที่เหลือเริ่มเป็นหนี้! คิดเป็นบุคลาธิษฐานแบบนี้ ใครจะลองปรุงแต่งดู ก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์

เกิดมาชาตินี้ เตือนตน เตือนภัย อย่าหลงคึกคะนอง เพราะของฟรีไม่มีในโลก จะกินจะใช้ โปรดระลึกเสมอ

"อย่ากินทิ้ง-ขว้าง!"
"ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง
อย่ากินทั้งขว้าง เป็นของมีค่า
หลายคนเหนื่อยยาก ลำบากหนักหนา
กว่าจะได้มา เปลืองแรงเปลืองทุน
ขอบคุณทุกท่าน ปรานีเกื้อหนุน
ทดแทนพระคุณ ด้วยการทำดี

(ดอกหญ้า อันดับ ที่ ๙๘ หน้า ๗๖ ถ้อยคำสิริมงคล อย่ากินทิ้ง-ขว้าง)