หายโง่ ธรรมชาติอโศก


เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๔ รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งนำเรื่องราวของนักไต่ลด ระดับโลกซึ่งครองสถิติ ๔ ปีซ้อน ของหนังสือกินเนสส์ บุ๊ค (Guinness book) ซึ่งบันทึก เรื่องราวของผู้ที่ทำอะไรได้ พิลึกที่สุดในโลกเอาไว้

ชายนักไต่ลวดคนนี้ เป็นชาวอเมริกัน เขาเดินบนลวด ที่มีขนาดไม่กว้างกว่าฝ่ามือ และมีรอย ต่อเป็นระยะๆ สายลวดนี้ขึงบนตึกสูง ๓๐ ชั้น ที่เมืองลาสเวกัส เครื่องช่วยของเขาคือ เหล็กเส้นยาวๆที่เขาใช้สองมือประคองไว้เพื่อรักษาสมดุลย์ และเครื่องฟังเสียงของพี่เลี้ยง ซึ่งจะบอกว่า ระยะทางอีกประมาณกี่ก้าว จะถึงรอยต่อของเส้นลวด ที่เขาเหยียบย่างอยู่ รวม ทั้งไมโครโฟนจิ๋ว ติดตัว หากเขาต้องการ จะพูดอะไร

ไม่มีตาข่าย รองรับอยู่ข้างล่าง ไม่มีสายรั้งใดๆ เพื่อยุดร่างของเขาไว้ หากเหยียบพลาดพลั้งไป แค่เสี้ยววินาที ตายสถานเดียว ตาถูกปิดสนิท เขาย่างก้าวช้าๆ ในบางขณะฝ่าลมแรง จนลวดใต้ฝ่าเท้าไหวเพยิบๆ เมื่อเขาหยุดนิ่งครู่หนึ่ง นั่นหมายถึง เขาสัมผัสรู้ว่า เส้นลวดตรงนั้น มีความชื้น จึงต้องระวังเป็นพิเศษ

ที่สุด เขาถึงเส้นชัย ภายในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ว่า เขามีกลยุทธ์สำคัญอย่างไร จึงบรรลุความสำเร็จ

เขาตอบอย่างอารมณ์ดีว่า "เป็นเรื่องดีมาก ที่ตามองไม่เห็นอะไร ผมใช้จิตเพ่งไปที่เส้นลวด ตรงหน้าที่ผมจะก้าวไป" เขาชี้ที่กลางหน้าผาก ขณะพูดถึง"จิต" เขาอธิบายต่อ...ว่า เหล็ก เส้นที่เขาประคองอยู่ ช่วยให้เขาทรงตัวได้ดี ตั้งสติให้มั่น ก้าวเดินไปอย่างช้าๆ สัมผัสรู้ทุก ขณะว่า อีกหนึ่งนิ้วฟุต ต่อจากปลายเท้าของเขานั้น มีสิ่งที่เขาจะต้องแก้ปัญหาหรือไม่ เช่น เส้นลวดชื้น หรือกำลังจะเดินถึงรอยต่อ ปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องยาก สำหรับมืออาชีพอย่างเขา

ในประเทศไทย หวังว่าคงไม่มีใครอุตริ เดินข้ามตึกสูงด้วยวิธีเช่นนี้ ให้อเมริกา มหาอำนาจ ทำไปเถิด ขณะนี้ บ้านเมืองของเรา หน่วยกู้ภัย หมอ พยาบาล ต้องทำงานหนัก สำหรับอุบัติภัย ที่เกิดขึ้นแทบทุกวัน

ที่จริงแล้ว ชีวิตเราก็ปานนักเสี่ยงภัย เราทุกคน กำลังเดิน บนเส้นลวดกันทั้งนั้น ก้าวพลาดก็หล่น หากโชคดีไปค้างบนต้นไม้ ก็พอรอด แต่หากโชคร้ายก็ "ตาย" การก้าวพลาด มีเหตุมาจาก "การขาดสติ" อันทำให้ "ตกร่วง" คือ "ตกต่ำ" และอาจ "ตาย" นั่นคือ "ตายจากความเป็นมนุษย์ ที่ควรจะเป็น"

ใช้ "จิต" สำรวจเส้นทางข้างหน้า ย่างก้าวช้าๆ ด้วยสติอันสุขุม สักวันหนึ่ง ก็ถึงที่หมาย ไม่ได้ ลงกินเนสส์ บุ๊ค ก็ไม่เป็นไร

๗ ธ.ค.๔๔