- จำลอง ศรีเมือง -
อยู่บ้านป่ายามนี้น่าจะมีความสุข มองไปทางไหน ก็เห็นต้นไม้เขียวชะอุ่มไปหมด ทั้งบนเขา และพื้นราบ น้ำท่าคงจะอุดมสมบูรณ์ แต่ที่ไหนได้ ต้องใช้รถ ๑๐ ล้อวิ่งไปสูบน้ำตั้งไกล ทุกวัน วันละหลายเที่ยว กะว่าจะสู้ จนกว่าน้ำในแม่น้ำแควจะแห้ง น้ำมันก็ขึ้นราคา ทุกอาทิตย์ บางอาทิตย์ขึ้น ๒ ครั้งก็มี ที่จริงฝนตกบ่อย ตกได้ตกดีติดต่อกันเกือบเดือน แต่ตกปรอยๆ เพียงแค่ช่วยรดน้ำผักเท่านั้น น้ำไม่ไหล ลงบ่อเลย ทั้งๆ ที่วางแผน ไว้ล่วงหน้า เป็นอย่างดี ขุดดักน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขาหลายสาย ชาวโรงเรียน ผู้นำ หลายคนบ่นร้อนอกร้อนใจ ขืนร้อนไปก็แค่นั้น เพราะฝนฟ้า อยู่นอกเหนือ การควบคุมของเรา สิ่งที่คุมได้ ทำได้ คือการประหยัด ในโรงเรียนผู้นำวันหนึ่งๆ มีคนใช้น้ำเกือบ ๒๐๐ คน สำหรับอาบอย่างเดียวก็ใช้น้ำมากมายอยู่แล้ว ไหนจะล้าง ภาชนะ ซักผ้า และอื่นๆ อีกจิปาถะ เกือบทุกคนอาบน้ำด้วยความเคยชิน ไม่ต่ำกว่า ๒๐ ขัน ต่อครั้ง ถ้าหันมา ฝึกอาบน้ำครั้งละ ๓ ขัน ได้จะประหยัด น้ำลงได้เดือนละ ไม่รู้เท่าไร แต่ก่อนเอาแต่ ค่อนแคะ คนที่อาบน้ำไม่เกิน ๕ ขัน ตอนนี้เห็นผลแล้ว น้ำไม่ได้แล้งเฉพาะประเทศใดประเทศเดียว แต่แล้งหลายประเทศ ผมพบรัฐมนตรีสาธารณสุขเขมร ที่โตเกียว ได้รับคำ บอกเล่าว่า เขมรก็แห้งแล้งมาก ตอนนี้ไม่รู้จะไปหาน้ำที่ไหนมาให้พอใช้ ผมไม่ได้ถามท่านอยู่เรื่องหนึ่งคือ "บ่อนในเขมร" มั่นใจโดยไม่ต้องถาม ขาประจำคือคนไทยไม่ใช่เขมร ตอนนี้ ไม่ต้องบึ่งข้ามแดน ไปเล่นการพนัน ที่เขมรแล้ว นอนอยู่กับบ้าน ก็เล่นการพนันได้สบาย พนันฟุตบอล กลายเป็น ปัญหาใหญ่ ต้องประกาศ เป็นวาระแห่งชาติ เล่นกันทั้งเยาวชนและชราชนเดือนละไม่ต่ำกว่า ๗,๖๐๐ ล้านบาท คลั่งไคล้ใหลหลง ติดตามดู ถ่ายทอดสด ทางโทรทัศน์ ข้ามมาจาก อีกซีกโลกหนึ่ง การพนันฟุตบอล ทำให้เกิดคดีร้ายแรง ตามมามากมาย นี่ถ้าท่านนายกฯ ทักษิณออกหวยเพื่อซื้อหุ้นทีมฟุตบอลหงส์แดง จะย่ำแย่กว่านี้กี่เท่าไม่รู้ ดีที่ช่วยกัน คัดค้านไว้ บราซิลเป็นประเทศ ที่คลั่งฟุตบอลมาก และคนอีกหลายๆ ประเทศก็คลั่ง ตามชาวบราซิล ไปด้วย ที่โรงพยาบาล ในนครโตเกียว ซึ่งมีผู้แทนจากหลายๆ ประเทศ ไปร่วมในพิธีเปิด ผมคุยกับหมอบราซิลเรื่องนี้ มีความเห็น ตรงกันว่า การแข่งขันฟุตบอลเดี๋ยวนี้มีแต่โทษ สินค้า บางอย่าง ที่อาศัยการแข่งขันฟุตบอลล์ เป็นเวทีโฆษณา ก็เป็นสินค้ามีพิษ เช่น น้ำเมา เป็นต้น ไปกันไม่ได้เลยกับการกีฬา เพราะทำลาย สุขภาพอย่างยิ่ง ขณะนี้บริษัทน้ำเมากำลังรุกเร้า รีบร้อนจะเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ภายในปีนี้ (มีทั้งเบียร์ช้าง, เหล้าแม่โขง, เหล้าแสงโสม, เหล้าหงส์ อีก ๕ ชนิด และเหล้าขาว) ผมทราบจากผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับ ตลาดหุ้นว่า ถ้าได้รับ อนุญาต ให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ ทันก่อนสิ้นปี จะได้รับการลดหย่อนภาษีถึง ๑,๐๐๐ ล้านบาทเศษ เรียกว่าได้ ๑,๐๐๐ ล้านไปเปล่าๆ มิน่าเล่า ถึงได้ดับเครื่องชน เช่น ลงโฆษณา หนังสือพิมพ์ เต็มหน้า เกือบทุกฉบับ ติดต่อกันนานๆ เป็นต้น ของเราลงฉบับสองฉบับวันสองวัน ก็ถามกันใหญ่ว่า ผมเอาเงินจากไหน คณะกรรมการ ต่อต้านเบียร์เหล้า เขาออกกันเอง โดยผม เป็นผู้รับผิดชอบ ในข้อความที่ชี้แจง ผ่านหนังสือพิมพ์ และ ลงลายมือชื่อ ในฐานะ ประธาน กองทัพธรรมมูลนิธิ และผู้ประสานงาน ศาสนิกชน ทุกศาสนา และเครือข่าย องค์กรงดเหล้า เราชี้แจงในประเด็นว่าเบียร์เหล้าเป็นสิ่งเสพติดถูกกฎหมายก็จริง แต่เอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ เพราะขัด ต่อประกาศ ของคณะกรรมการ ก.ล.ต. (คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และ ตลาดหลักทรัพย์) ปี ๒๕๔๓ ประกาศดังกล่าวมีผล เท่ากฎหมาย เพราะอาศัย อำนาจของกฎหมาย (เช่นเดียวกับ กฎกระทรวง) ซึ่งระบุไว้ ชัดว่า ธุรกิจที่จะเอาเข้า ตลาดหลักทรัพย์ได้ ต้องเป็นธุรกิจ ที่เป็นประโยชน์ ทางเศรษฐกิจและสังคม ต่อประเทศชาติ ทั้งเบียร์ทั้งเหล้าเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อเจ้าของบริษัทผู้ถือหุ้นและผู้มีอิทธิพลหนุนหลัง เท่านั้น ไม่ได้เป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติเลย เสียภาษีให้รัฐ ปีละ ๖ หมื่นล้านบาทเศษ แต่ชาวบ้านต้อง เสียเงินซื้อ เบียร์ และเหล้า ๒ แสนล้านบาทเศษ แค่นี้ก็ไม่คุ้มแล้ว ไหนประเทศชาติเสียเงิน อีกมากมาย เพราะอุบัติเหตุ และ โรคภัยไข้เจ็บ อันเนื่องมาจากการดื่ม ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับสังคม เสียหายเท่าไรก็รู้ๆ กันอยู่ ชีวิตที่ต้องเสียไป ความพิการที่เกิดขึ้น และการแตกแยก ในครอบครัว ใช้เงินเท่าไร ก็ซื้อกลับคืนมาไม่ได้ ที่ญี่ปุ่นอีกเช่นกัน ผมพบนักหนังสือพิมพ์ไทยคนหนึ่ง บ่นให้ผมฟังว่า สื่อมวลชนจำนวนน้อยมาก ที่กล้า ออกมา ต้านเบียร์-เหล้า เพราะเขาใช้เงิน โฆษณา ปีละกว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท ใครหือ ถูกถอดโฆษณา ก็จบกัน ผู้ใหญ่ ในรัฐบาลท่านหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า สื่อมวลชน เป็นอันมาก สนับสนุน ให้เบียร์เหล้า เข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ประชาชน ออกเสียงผ่านสื่อ คัดค้านอย่างท่วมท้น เช่น รายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" โดยคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ร้อยละ ๙๐.๙๗ คัดค้าน เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ เมื่อ ๑๔ สิงหาคม เวลา ๑๐.๒๕ น. ประชาชน ๔๗๔,๐๘๒ คน ร้อยละ ๘๖ คัดค้าน และรายการ "ข่าวเช้า" ของโทรทัศน์ ช่อง ๗ วันที่ ๒ สิงหาคม ผู้ชมออกเสียงร้อยละ ๙๑ คัดค้าน บทวิเคราะห์ของสื่อมวลชนส่วนมาก อย่าถามหาเรื่องคัดค้านเลย เพียงแต่เสนอความเห็น อย่างกลางๆ ก็หายากแล้ว อย่ากลางๆ คือ บอกว่าการคัดค้าน เป็นเรื่องดีอยู่ แต่ดีกว่านั้นมีอีก ทำไมไม่ทำ เช่นบทความ ของหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ ๑๒ สิงหาคม ไปให้ไกลกว่าตลาดหุ้น โดยมีเหตุผลว่าเพิ่งมารับตำแหน่ง จึงต้องการศึกษารายละเอียดเรื่องดังกล่าว ให้รอบคอบ เพื่อหาข้อยุติ ที่ดีที่สุด สำหรับทุกฝ่าย ปัญหานี้จึงต้องรอกันต่อไป และก็หวังว่า คงไม่ใช่เพียงแค่การซื้อเวลาออกไปเท่านั้น "ข้อยุติที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย" ควรเป็นเป้าหมายและเป็นหัวใจของการตัดสินใจจริงๆ แล้วอะไรจะเป็นข้อยุติทีดีที่สุดล่ะ ขอร่วมวงถกแถลงด้วยคน โดยส่วนตัว ไม่ได้ตาโตกับข้อมูลของสถาบันวิจัยบางแห่งที่วิเคราะห์ออกมาว่า หากบริษัทเหล้า เข้าตลาด หลักทรัพย์ ประเทศ จะได้ภาษี สูงกว่า ๒ หมื่นล้าน หรืออาจจะ ๓ หมื่นล้านต่อไป ไม่ได้ตาโตว่าเมื่อบริษัทเหล้าเข้าตลาดหุ้นแล้วจะทำให้ตลาดหุ้นบูมขึ้นไปอีกเท่าไหร่ ขณะเดียวกันก็ได้ยืนยันมาตลอดว่า ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านเรื่องนี้เลย เพราะขณะที่กลุ่มที่ต่อต้านกล่าวหากลุ่มที่สนับสนุนว่าคิดแยกส่วนคือคิดแยกส่วนว่าจะเอากำไรทาง เศรษฐกิจ โดยไม่คำนึง ต้นทุนทางสังคม ต้นทุนทางศีลธรรมนั้น ก็เกิดคำถามที่อยากย้อนกลับไปเช่นกันว่า แล้วการที่เคลื่อนไหวคัดค้านบริษัทเหล้าเข้าตลาดหุ้น ไม่ได้เป็น การคิดแยกส่วนหรือ มันก็แยกส่วนเหมือนกัน ถ้าเราติดตามการเคลื่อนไหวคัดค้าน สิ่งหนึ่งที่รู้สึกก็คือ เห็นว่าเป็นการพยายามเจาะจง ไปยังบริษัทหนึ่ง บริษัทใด จนคล้ายกับว่า หากห้ามบริษัทนี้ เข้าตลาดหุ้นได้ ปัญหาเรื่องเหล้า จะหมดไปจากสังคมไทย ซึ่งมันไม่น่าจะใช่ กลุ่มผู้คัดค้านไม่ได้พูดถึง "องค์รวม" ว่าจะแก้ปัญหาเหล้าอย่างไร หรือถ้าพูดก็พูดอย่างผิวเผิน ไม่ได้ลงลึก มัวสนใจ แต่ว่า จะเข้าตลาดหุ้น ได้หรือไม่ได้เท่านั้น ส่วนบริษัทเหล้าที่ไม่คิดเข้าตลาดหุ้น และขายกัน โครมๆ อยู่ขณะนี้ จะมีมาตรการ ควบคุมอย่างไร ไม่เห็นจะขับเน้นกันสักเท่าไหร่ จนดูเหมือนเป็นการ "เลือกปฏิบัติ" อยู่มาก หากกลุ่มที่คัดค้านเสนออะไรที่มากไปกว่าการคัดค้านบริษัทเหล้าใดบริษัทเหล้าหนึ่งเข้าตลาดก็คงน่า จะจับเข่า เสวนาด้วย มากกว่านี้ จริงๆ ก็ได้ยิน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง พูดว่าหากจะให้เบียร์-เหล้าเข้าตลาด ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ให้สังคม ด้วยการ ออกกฎหมาย บังคับให้เยาวชน อายุต่ำกว่า ๒๑ ปี ห้ามดื่มเหล้า และ ห้ามโฆษณาสุรา ในสื่อ ทุกประเภท หากทำได้จริง ค่อยอนุญาต ให้เข้าตลาด มันก็ดูดีออก ทำไมไม่ขยายเรื่องนี้ให้มันกว้างขวางไปกว่าจำกัดวงแค่ต้านการนำบริษัทเหล้าเข้าตลาดหุ้นเล่า ถ้าเรามีกฎหมายควบคุมดีๆ บริษัทเหล้าไหนจะเข้าตลาดก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป ด้วยศักยภาพของผู้คัดค้านเบียร์ช้าง เชื่อว่าไม่ยากหรอกที่จะร่วมกันเข้าชื่อสัก ๕ หมื่น เพื่อเสนอ กฎหมาย ฉบับประชาชน ในการสกัดกั้น ปัญหาเหล้า และสิ่งของมึนเมา หรือไม่ก็รวมพลกดดันพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล อย่างหนักหน่วงไม่แพ้กัน หรือมากกว่า การต้าน บริษัทเหล้าเข้าตลาด เพื่อให้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมเหล้าให้เป็นเรื่องเป็นราวกันเลย เพราะโดยส่วนตัวยังข้องใจกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณา ไม่รับธุรกิจตัวใด เข้าตลาด อยู่มาก โดย ก.ล.ต. บอกว่า ใช้หลักพิจารณาว่าเป็นหลักทรัพย์ ที่มีประโยชน์ ต่อเศรษฐกิจ และ สังคม หรือไม่ ถ้าไม่เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับยาสูบ การพนัน และ การค้าอาวุธสงคราม เป็นต้น ก็ไม่ให้เข้า ถามว่า ธุรกิจเกี่ยวกับยาสูบ กับธุรกิจแอลกอฮอล์ มันแตกต่างกันอย่างไรถึงแยกส่วนกัน และบุหรี่มีโทษมากกว่าเหล้าหรือ จึงมีกฎหมายพิเศษควบคุมเฉพาะบุหรี่เช่นนั้นหรือ เป็นไปได้ไหม ที่ข้างขวดเหล้าจะติดรูปโหดๆ เหมือนซองบุหรี่ เพื่อเตือนใจผู้บริโภคว่าดื่มเข้าไปแล้ว เป็นอันตราย เป็นไปได้ไหม ที่จะห้ามโฆษณาขายเหล้าอย่างสิ้นเชิงเหมือนบุหรี่ เป็นไปได้ไหม ที่จะจำกัดเขตดื่มเหล้าเหมือนจำกัดเขตสูบบุหรี่ เป็นไปได้ไหม ที่จะห้ามวางจำหน่ายเหล้าอย่างเปิดเผย เหมือนอย่างที่ห้ามบุหรี่ เป็นไปได้ไหม ที่จะห้ามคนขับรถทุกประเภทดื่มเหล้าขณะที่ขับรถ หรืออย่างที่ว่ากัน คือการห้ามคนที่อายุไม่ถึง ๒๑ ปีดื่มเหล้า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยากให้มีการนำเสนอแล้วถกเถียงกันให้กว้างขวางเพื่อนำไปสู่ความสมานฉันท์ ของสังคม เพื่อที่จะออก กฎหมาย เกี่ยวกับการควบคุมเหล้าอย่างเป็นกิจจะลักษณะ แล้วนำไปสู่ การควบคุม และ ปฏิบัติ อย่างเคร่งครัด เป็นธรรม ไม่ละเว้น ให้ฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใดโดยเฉพาะ หากมีการเคลื่อนไหวในภาพรวมเช่นนี้ได้ เชื่อว่า
"สังคม" จะหันมาเอาใจใส่ พูดคุย ถกเถียง หรืออาจจะ สนับสนุน มากกว่า
การเคลื่อนไหว แบบแยกส่วนเพียงแค่การต้านบริษัทเหล้าเข้าตลาดหุ้น อย่างที่เป็นอยู่
เท่านั้น กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ให้สัมภาษณ์ คนไม่สงสัย เพราะเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ของท่าน และท่าน มีหน้าที่ เกี่ยวข้องอยู่ แต่การให้สัมภาษณ์ ของท่านนายกฯ ทักษิณนี่สิ คนงงไปตามๆ กัน ป้ายหาเสียงของพรรคไทยรักไทย ที่ติดเต็มบ้านเต็มเมือง ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง ครั้งที่แล้ว ประกาศ นโยบาย ของพรรค เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ชัด "สร้างโอกาสให้เยาวชน ปลอดภัยจาก การถูกมอมเมา จาก สิ่งเสพติด" ในคำประกาศ วาระสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาลประกาศชัดว่า จะให้ประชาชน ละ ลด การดื่ม เบียร์เหล้า โดยเฉพาะ ในอีก ๒ ปีข้างหน้า จะให้ลดลง อย่างมาก เพื่อถวายแด่ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาส ทรงมีพระชนมพรรษาครบ ๘๐ ในการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ท่านนายกฯ ทักษิณ หยิบเอาปัญหา พ่อบ้านเมาเหล้าขึ้นมา ให้ผู้ว่าฯ ช่วยกันแก้ แต่เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ลงข่าวว่า ...ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายทนง พิทยะ รมว.คลัง สั่งชะลอ การนำ เบียร์ช้าง เข้าระดมทุน ในตลาดหลักทรัพย์ว่า ยังไม่ทราบเรื่อง การสั่งชะลอการนำเบียร์ช้าง เข้าตลาด คิดว่า คงเป็นเพียงการต้องการ ทำความเข้าใจ ซึ่งกันและกัน แต่ต้องถามว่า วันนี้ถ้าไม่เข้า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังค้าขายกันอยู่หรือไม่ ก็ค้าขายกันอยู่แล้ว "พอถามว่าทำไมจึงอยากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทางเบียร์ช้างก็อธิบายว่า เพราะอยาก จะขยายไป ต่างประเทศ เพราะวันนี้ ฝีมือคนไทย สามารถพัฒนาและมีตราสินค้าของเราเอง อย่างเบียร์ช้าง ก็ได้ไป ลงทุนโฆษณา ในสโมสรฟุตบอล เอฟเวอร์ตัน ก็อยากไปขาย ในต่างประเทศ แต่การจะไป ต่างประเทศ ต้องไปออกเครื่องมือ ทางการเงิน ในต่างประเทศด้วย ฉะนั้น ถ้าไม่อยู่ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ไม่สามารถ ทำสิ่งเหล่านี้ได้ นี่คือ เหตุผล ถามว่า วันนี้พวกเหล้าต่างๆ ยังขายไหม ก็ยังขายอยู่ โรงงาน ก็ยังเปิดอยู่ เข้าตลาดหุ้น หรือไม่เข้า ตลาดหุ้น ก็ขายเหมือนกัน" สำหรับการชะลอการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเพราะ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้ออกมา คัดค้าน ด้วยหรือไม่นั้น พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า แน่นอน การคัดค้าน ก็ต้องฟังกัน แต่ต้องคุยกัน ด้วยเหตุ ด้วยผล ไม่ใช่ จะใช้ลักษณะคนหมู่มาก อย่างนี้ไม่ได้ ต้องสื่อกัน ด้วยเหตุผล" คนเลยงงว่า ตอนนี้ท่านนายกฯ จะเอายังไง - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๒ กันยายน ๒๕๔๘ - |