น้ำใจกระจายรวย (คุณชาดก)

๏ รวยน้ำใจไม่มีจน
ยิ่งส่งผลกระจายรวย
ให้ข้าวของให้แรงช่วย
โลกสุขสวยด้วยน้ำใจ

ณ พระราชวังของพระเจ้าอุเทนในกรุงโกสัมพี แคว้นวังสะ มีอยู่วันหนึ่ง เหล่าพระสนมของพระองค์ พากันคิดขึ้นมาว่า
"พระพุทธเจ้า ก็ได้อุบัติขึ้นแล้วในโลก เป็นสภาพที่หาได้ยากยิ่ง และการที่มีโอกาสได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็แสนยากเหมือนกัน ชาตินี้เราได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ได้พบพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ยังไม่ได้ฟังธรรมของพระศาสดา ยังไม่ได้กระทำการบูชาพระองค์ ยังไม่ได้ให้ทานตามพอใจ ต้องอยู่แต่ในพระราชวัง เสมือนสิ่งของที่ถูกเก็บไว้ในหีบ ฉะนั้นพวกเราจะกราบทูลพระราชา ให้ทรงพระกรุณานิมนต์ภิกษุผู้สมควร มาแสดงธรรมโปรดพวกเรา จะได้ศึกษาธรรม จะได้บำเพ็ญบุญถวายทานด้วย"

พระสนมทั้งหมดจึงไปเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลขอในเรื่องนั้น พระเจ้าอุเทนทรงสดับแล้ว ตรัสว่า

"สาธุ! ดีล่ะ"

พระราชาจึงเสด็จไปทูลขอต่อพระศาสดา ทรงให้พระอานนทเถระเป็นผู้แสดงธรรม โปรดแก่เหล่าพระสนมในพระราชวัง

มีอยู่วันหนึ่งพระราชาได้พระราชทานผ้าสาฎก(ผ้านุ่งห่ม) ราคาผืนละ ๑๐๐๐ จำนวน ๕๐๐ ผืนแก่เหล่าพระสนม ๕๐๐ นาง พระสนมทั้งหลายต่างก็เก็บผ้าสาฎกนั้นไว้ทุกคนโดยมิได้ใช้

เช้าวันรุ่งขึ้น ต่างพากันนำมาถวายทานแด่พระอานนทเถระ แล้วแต่ละคนล้วนห่มผ้าสาฎกผืนเก่า ไปเข้าเฝ้าปฏิบัติพระราชา

ฝ่ายพระเจ้าอุเทนทรงคิดว่า เช้านี้จะได้ทอดพระเนตรเหล่าพระสนมในชุดใหม่ๆ แต่เมื่อไม่ทรงเห็นเป็นเช่นนั้น จึงตรัสถามด้วยความสงสัย

"เราให้ผ้านุ่งห่มอย่างดีราคาแพงแก่พวกเจ้า เพราะเหตุใดจึงไม่นุ่งห่มผ้าเหล่านั้นเล่า"

"ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท พวกหม่อมฉันได้ถวายแก่พระอานนทเถระไปแล้ว เพคะ"

"อ้าว! พระเถระรับไว้ทั้งหมดเชียวหรือ"

"รับไว้ทั้งหมด เพคะ"

ทรงสดับอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่พอพระทัยด้วยทรงดำริว่า

"พระศาสดาทรงอนุญาตจีวรแค่ ๓ ผืน แต่นี่พระอานนทเถระรับเอาไปหมด เห็นทีจะทำการค้าผ้าหรือไร จึงต้องรับไว้ มากมายนัก"

เมื่อเสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จแล้ว จึงเสด็จไปพระวิหารเชตวัน ตรงไปยังที่พักของพระเถระทันที พอพบแล้วทรงนมัสการ ตรัสถามว่า


"พระคุณเจ้า เหล่าสนมยังฟังธรรมจากท่านดีอยู่หรือ"

"ยังฟังธรรม เรียนธรรมกันดี ได้ฟังสิ่งที่ควรฟัง ได้เรียนสิ่งที่ควรเรียน ถวายพระพร"

"แล้วพวกนางฟังธรรมเท่านั้น หรือถวายผ้านุ่งห่มแก่พระคุณเจ้าด้วย"

"วันนี้ได้ถวายผ้าสาฎก ๕๐๐ ผืนแด่อาตมา"

"ก็แล้วพระศาสดาทรงอนุญาตจีวร ๓ ผืนเท่านั้นมิใช่หรือ"

"ขอถวายพระพร ถูกแล้ว ทรงอนุญาตผ้า ๓ ผืน สำหรับภิกษุ ๑ รูปเอาไว้ใช้ แต่มิได้ทรงห้ามการรับ เพื่อถวายแก่ภิกษุอื่น ซึ่งมีจีวรเก่า"

"ก็แล้วภิกษุอื่นได้ผ้าใหม่จากพระคุณเจ้าแล้ว จะทำอย่างไรกับจีวรผืนเก่าเล่า"
"จะนำจีวรผืนเก่า ไปใช้เป็นผ้าห่ม"
"ก็แล้วผ้าห่มผืนเก่าเล่าจะทำอย่างไร"
"จะนำผ้าห่มผืนเก่า ไปใช้เป็นผ้านุ่ง"
"ก็แล้วผ้านุ่งผืนเก่าเล่าจะทำอย่างไร"
"จะนำผ้านุ่งผืนเก่า ไปใช้เป็นผ้าปูนอน"
"ก็แล้วผ้าปูนอนผืนเก่าเล่าจะทำอย่างไร"
"จะนำผ้าปูนอนผืนเก่า ไปใช้เป็นผ้าปูพื้น"
"ก็แล้วผ้าปูพื้นผืนเก่าเล่าจะทำอย่างไร"
"จะนำผ้าปูพื้นผืนเก่า ไปใช้เป็นผ้าเช็ดเท้า"
"ก็แล้วผ้าเช็ดเท้าผืนเก่าเล่าจะทำอย่างไร"

"ขอถวายพระพร ธรรมดาของที่ถวายด้วยศรัทธา จะทำให้เสียไปเปล่าๆ นั้นไม่ควร ฉะนั้นภิกษุทั้งหลายจะสับผ้าเช็ดเท้า ผืนเก่า แล้วผสมกับดินเหนียว ใช้ฉาบที่พักอาศัย"

"ของที่ถวายท่านแล้ว จะไม่เสียหายเปล่าๆ แม้ที่สุดกระทั่งผ้าเช็ดเท้าเชียวหรือ"

"ถูกแล้ว ผ้าที่ถวายอาตมาจะไม่เสียเปล่า สามารถ เป็นของใช้สอยได้ทั้งสิ้น"

ทรงสดับอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงชื่นชมยิ่งนัก รับสั่งให้จ่ายผ้าอีก ๕๐๐ ผืน ถวายแด่พระเถระ แล้วจึงเสด็จกลับ

พระเถระได้ถวายผ้าสาฎก ๕๐๐ ผืนแรก แก่ภิกษุซึ่งมีจีวรเก่า แต่อีก ๕๐๐ ผืนหลัง ถวายแก่ภิกษุลูกศิษย์รูปหนึ่ง ซึ่งมีอุปการะ แก่พระเถระมาก เช่น ช่วยปัดกวาดทำความสะอาดสถานที่ ตั้งน้ำใช้น้ำฉัน ถวายไม้สีฟัน ชำระล้างวัจกุฎี(ห้องส้วม) จัดเรือนไฟ (ห้องอบสมุนไพร) และที่พักอาศัยให้

ครั้นภิกษุรูปนั้นได้รับผ้า ๕๐๐ ผืนจากพระเถระแล้ว ก็แบ่งผ้าทั้งหมดถวายแก่ภิกษุทั้งหลายที่ร่วมอาจารย์ของตน

จากเหตุการณ์นี้เอง จึงมีภิกษุกลุ่มหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระศาสดา แล้วกราบทูลถามว่า

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุที่เป็นพระอริยสาวกชั้นโสดาบันแล้ว ยังจะมีการให้สิ่งของโดยเห็นแก่หน้ากันอีกหรือ"

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวกย่อมไม่ให้สิ่งของเพราะเห็นแก่หน้ากัน"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอานนทเถระได้ให้ผ้าสาฎก ๕๐๐ ผืน แก่ภิกษุรูปเดียวเท่านั้น"

"พวกเธอจงฟังให้ดีเถิด อานนท์มิได้ให้ผ้าแก่ภิกษุนั้นเพราะเห็นแก่หน้า แต่ว่าภิกษุนั้นเป็นผู้มีอุปการะมากแก่ท่าน เพราะขึ้น ชื่อว่า ผู้มีอุปการะแล้ว ควรได้รับอุปการะตอบ อานนท์จึงให้ผ้าแก่ภิกษุนั้นด้วยความกตัญญู-กตเวที (รู้คุณแล้วตอบแทนคุณ) อันที่จริง เคยมีบัณฑิตในกาลก่อน กระทำอุปการะตอบแก่ผู้มีอุปการะแก่ตนเหมือนกัน"

ภิกษุเหล่านั้นได้ยินอย่างนี้ พากันทูลนิมนต์เล่าให้ฟัง พระศาสดาจึงตรัสแสดง
- - - - - - - - - - - -

ในอดีตกาล มีราชสีห์ตัวหนึ่งอาศัยอยู่กับนางราชสีห์บนภูเขา วันหนึ่งราชสีห์ได้ออกจากถ้ำ เพื่อล่าเหยื่อเป็นอาหาร

พอลงมาถึงเชิงเขา ซึ่งมีสระใหญ่อยู่ มีที่ดอนริมสระเป็นเปือกตมแห้ง อุดมด้วยหญ้าอ่อน เหล่าสัตว์เล็กๆ พวกกระต่าย พวกเนื้อ มาเล็มหญ้ากินกันอยู่มากมาย

เมื่อราชสีห์มาถึงบริเวณนี้ ก็คิดจะจับเนื้อสักตัวกินเป็นอาหาร พอได้ช่องได้โอกาส ก็กระโจนออกจากที่ซ่อน วิ่งไปด้วย ความเร็ว แรงสุดกำลัง เหล่าเนื้อพอเห็นราชสีห์โผล่พุ่งทะยานมา ก็ตกใจกลัวตาย ส่งเสียงร้องดังลั่น พากันวิ่งหนีตายอลหม่าน ราชสีห์ ยิ่งเร่งฝีเท้าเต็มที่ กระโจนหมายตะครุบเหยื่อ แต่พลาด แล้วไม่สามารถยั้งกายไว้ได้ ต้องพลัดตกลงไปในเปือกตมนั้น ติดหล่ม แน่นไม่อาจจะถอนตัวขึ้นมาได้ เท้าทั้งสี่ปักแน่นอยู่ในโคลน เสมือนเสาติดแน่น อยู่ในตม ฉะนั้น

ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าใด ดินโคลนยิ่งแห้งแข็ง ทำให้ราชสีห์กระดิกตัวไปไหนไม่ได้เลย ต้องยืนจมเปือกตม อดอาหาร อยู่ที่ตรงนั้นถึง ๗ วันเข้าไปแล้ว

วันนี้เอง...ปรากฏสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง เที่ยวหาอาหารมาถึงที่ตรงนั้น ครั้นแลเห็นราชสีห์เข้าเท่านั้น ก็รีบจะหนีไปด้วยความกลัว แต่ราชสีห์ ร้องเรียกไว้ก่อนว่า

"พ่อมหาจำเริญ อย่าหนีเลย เราติดหล่มอยู่ โปรดช่วยด้วยเถิด"

สุนัขจิ้งจอกได้ยินดังนั้น จึงหันไปดู ก็เห็นราชสีห์ยืนติดหล่มอยู่จริงๆ จึงเอ่ยปากว่า

"ข้าพเจ้าจะช่วยท่านก็ได้ แต่พอช่วยแล้ว เกรงว่าท่านจะกินข้าพเจ้าเสียนะซี"

"อย่ากลัวเลย เราจะไม่กินท่าน แล้วยังจะตอบแทนคุณท่านด้วย จงหาทางเอาเราออกจากหล่มนี้เถิด"

สุนัขจิ้งจอกจึงยอมรับคำสัญญาของราชสีห์ ช่วยตะกุยโคลนแห้งรอบเท้าทั้งสี่ แล้วขุดดินเป็นรางน้ำ ให้น้ำไหลเข้ามาที่ บริเวณดิน รอบเท้าของราชสีห์ ทำให้ดินโคลนอ่อนนุ่มขึ้น

เมื่อดินอ่อนตัวพอแล้ว สุนัขจิ้งจอกก็มุดหัวเข้าไปที่ใต้ท้องของราชสีห์ พร้อมกับร้องบอกว่า

"ท่านพยายามดึงตัวขึ้นไปเถิด"

แล้วใช้หัวดันยกท้องของราชสีห์ขึ้น ราชสีห์เองก็อาศัยจังหวะนั้นกระโดดขึ้นจากหล่ม สามารถหลุดออกมาได้ แล้วจึงลงไป สู่สระ อาบน้ำชำระโคลนตม จากนั้นก็ออกล่าควายป่าได้ตัวหนึ่ง แล้วลากเอามาวางไว้ข้างหน้าสุนัขจิ้งจอก พร้อมกับ เชื้อเชิญว่า

"กินเถิดสหาย เมื่อท่านกินแล้ว ตัวเราจะกินภายหลัง"

สุนัขจิ้งจอกจึงกัดฉีกเอาเนื้อชิ้นหนึ่งออกมา แล้วคายไว้ข้างๆ ราชสีห์จึงสงสัยถามว่า

"สหายทำอย่างนี้เพื่ออะไรกัน"

"ก็เมียของข้าพเจ้ามีอยู่ เนื้อชิ้นนี้จะเป็นของนาง"

ราชสีห์ได้ยินแล้วก็สิ้นสงสัย กล่าวบ้างว่า

"เอาไปเถิด แม้เราเองก็จะคาบชิ้นเนื้อไปให้นางราชสีห์ของเราเช่นกัน มาเถิดสหาย เดี๋ยวเราจะไปยังที่อยู่ของเราบนยอดเขา"

ทั้งสองพากันคาบชิ้นเนื้อไปที่ถ้ำราชสีห์ พอให้นางราชสีห์กินเนื้อแล้ว ราชสีห์ก็เอ่ยปากชวนสุนัขจิ้งจอกว่า

"ตั้งแต่นี้ไป เราจะปฏิบัติดูแลท่านเอง"

แล้วร่วมกันไปนำนางสุนัขจิ้งจอก ให้มาอาศัยอยู่ในถ้ำที่ติดกันนั้นเอง

นับแต่นั้นมา เมื่อราชสีห์กับสุนัขจิ้งจอกออกไปล่าสัตว์เป็นอาหาร ทั้งสองจะกินด้วยกัน แล้วคาบชิ้นเนื้อกลับมาให้นางราชสีห์ กับนางสุนัขจิ้งจอกที่อยู่เฝ้าถ้ำ

กาลผ่านไป นางราชสีห์คลอดลูกออกมาสองตัว แม้นางสุนัขจิ้งจอกก็คลอดลูกออกมาสองตัวเหมือนกัน สัตว์เหล่านั้น ทั้งหมดทุกตัว อยู่กันอย่างกลมเกลียวเป็นอย่างดี

จนกระทั่งวันหนึ่ง นางราชสีห์เกิดความระแวงขึ้นมาว่า

"ราชสีห์คู่ของเรา ดูช่างรักและเอาใจใส่นางสุนัขจิ้งจอกกับลูกสุนัขจิ้งจอกเสียเหลือเกิน สงสัยว่าราชสีห์จะมีการเชยชม กับ นางสุนัขจิ้งจอกก็เป็นได้ จึงรักกันถึงปานนี้ เห็นทีเราจะต้องคุกคามให้นางสุนัขจิ้งจอก หนีไปจากที่นี้ให้ได้"

นางราชสีห์จึงฉวยโอกาสที่ราชสีห์กับสุนัขจิ้งจอกออกไปหาอาหาร ลงมือข่มขู่เบียดเบียนนางสุนัขจิ้งจอกเสมอๆ

"ทำไมเจ้าจึงอยู่ที่นี่นานนัก ไม่ไปที่อื่นเสียที"

แม้แต่ลูกๆ ของนางราชสีห์ก็พลอยคุกคามลูกๆของนางสุนัขจิ้งจอกไปด้วย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ในที่สุดนางสุนัขจิ้งจอก ก็ทนไม่ไหว จึงบอกเรื่องราวแก่สุนัขจิ้งจอก แล้วสรุปว่า

"เราไม่รู้ว่า นางราชสีห์นี้กระทำตามคำของราชสีห์หรือไม่ แต่พวกเราก็อยู่ที่นี่กันนานมากแล้ว ควรที่จะกลับไปที่อยู่ของเรา กันเถิด"

สุนัขจิ้งจอกฟังคำบอกเล่าแล้ว ก็ไม่สบายใจเข้าไปหาราชสีห์ กล่าวกับสหายว่า

"เราอยู่ที่นี่มานานแล้ว ธรรมดาผู้ที่อยู่กันนานๆ อาจไม่เป็นที่พอใจกันได้ ตอนนี้เมียของเราถูกเมียของท่านข่มขู่ว่า ทำไมจึงอยู่ ที่นี่ ทำไมไม่ไปเสียที่อื่น แม้ลูกของเราก็ถูกลูกของท่านคุกคาม

นี่ก็คงเพราะผู้ใดๆ ก็ไม่ชอบให้ใครๆ มาอยู่ในบ้านของตน ผู้เป็นใหญ่ย่อมขับไล่ผู้น้อยได้ ตามความต้องการของตน นี่เป็น ธรรมดาของผู้มีกำลัง

ดังนั้นนางราชสีห์ของท่าน ผู้ซึ่งมีฟันอันแหลมคม จึงได้ข่มขู่คุกคามเมียกับลูกของเรา ขอท่านจงทราบเถิด ภัยได้เกิดจาก ที่อยู่อาศัยแล้ว"

ได้ฟังอย่างนั้น ราชสีห์จึงตรงไปหานางราชสีห์ แล้วกล่าวว่า

"นี่แน่ะ เมื่อครั้งโน้น เจ้ายังระลึกได้ไหม เราออกไปหาอาหาร นานถึง ๗ วันจึงได้กลับมาพร้อมกับสุนัขจิ้งจอก ครั้งนั้น เราตั้งใจ จะจับสัตว์ แต่พลาดตกลงไปติดหล่มโคลน ไม่อาจขึ้นมาได้ เพราะอาศัยสุนัขจิ้งจอกนี้แหละ ช่วยชีวิตเรา เป็นสหายเรา

ฉะนั้น ถ้าผู้ใดเป็นมิตร แม้จะมีกำลังน้อย แต่ตั้งอยู่ ในมิตรธรรม (ความประพฤติของการเป็นมิตร) ผู้นั้นได้ชื่อว่า เป็นญาติ เป็นเผ่าพันธุ์ เป็นสหายของเรา แน่ะ! นางราชสีห์ เจ้าอย่าดูหมิ่นสหายของเราอีก เพราะสุนัขจิ้งจอกนี้ เป็นผู้ให้ชีวิตเรา"

นางราชสีห์ได้ฟังเรื่องราวแล้ว ก็ให้รู้สึกสำนึกผิด จึงขอโทษต่อเหล่าสุนัขจิ้งจอกทั้งหมด

ตั้งแต่นั้นมา ทั้งสองครอบครัวก็รักใคร่สามัคคีกันดี ลูกราชสีห์ก็เล่นหัวกับลูกสุนัขจิ้งจอก แม้เมื่อพ่อแม่ซึ่งชื่นชอบกัน ได้ล่วงลับ ไปแล้ว ก็ไม่ทำลายความเป็นมิตรที่ดีต่อกัน อยู่กันอย่างรื่นเริงบันเทิงใจ ไมตรีของสัตว์เหล่านั้น มิได้แตกทำลาย เป็นไปได้ ถึงชั่วเจ็ดตระกูลเลยทีเดียว
- - - - - - - - - - - -

พระศาสดา ทรงแสดงชาดกนี้แล้ว จึงตรัสว่า

"สุนัขจิ้งจอกในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนทเถระในบัดนี้ ส่วนราชสีห์ได้มาเป็นเราตถาคตนี้เอง"

เมื่อจบการแสดงธรรมนี้แล้ว ทรงประกาศอริยสัจ ภิกษุทั้งหลายที่ได้ฟังธรรมและพิจารณาตาม บางรูปก็ได้สำเร็จเป็น พระโสดาบัน บางรูปก็ได้เป็นพระสกทาคามี บางรูปก็ได้เป็นพระอนาคามี และบางรูปก็ได้เป็นพระอรหันต์เลยทีเดียว

(พระวินัยปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๖๒๕ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๖๓ อรรถกถาแปล เล่ม ๕๗ หน้า ๔๔)

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ -