ชาดกทันยุค ตอน คนว่ายาก หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ปีที่ 7 ฉบับ 124 เดือนพฤศจิกายน 2543
หน้า 1/1

ดนตรี กีฬา มหรสพ ฯลฯ
ถ้าเล่นมาก ก็จะได้ "สังคมเล่นๆ"
ถ้าเล่นน้อย ก็จะได้ "สังคมจริงๆ"

ดังนั้น "คนว่ายาก" จึงเล่นมาก
เป็น "การละเล่น" ไม่ใช่ "การจริง"


คนว่ายาก เภริวาทชาดก

พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงกล่าวถึงภิกษุผู้ว่ายากรูปหนึ่ง แล้วรับสั่งเรียกตัวมาหา ได้ตรัสถามภิกษุนั้นว่า

"จริงหรือภิกษุที่ใครๆ เขาบอกว่า เธอเป็นผู้ว่ายากสอนยาก"

ภิกษุนั้นกราบทูลต่อพระผู้พระภาคว่า "เป็นความจริงพระเจ้าข้า"

พระศาสดา จึงตรัสอบรมสั่งสอนว่า

"ดูกรภิกษุ เธอไม่ได้เป็นผู้ว่ายากในบัดนี้เท่านั้น แม้ในอดีตชาติกาลก่อน ก็เคยเป็นผู้ว่ายากมาแล้ว"

จากนั้นก็ได้ตรัส เล่าเรื่องในอดีตชาตินั้น

--------------------------------------------------------------------------

ในอดีตกาล ณ แคว้นกาสี มีนครหลวงอยู่ที่เมืองพาราณสี พระราชาทรงให้จัดงานเฉลิมฉลองขึ้นครึกครื้น มีทั้งกีฬา ดนตรี มหรสพ ขับร้อง ฟ้อนรำทั่วพระนคร

ในเวลานั้นไม่ไกลเกินไปนักจากนครหลวง มีบ้านตำบลหนึ่ง เป็นที่อาศักอยู่ของนักดนตรีผู้ชำนาญการตีกลองคนหนึ่ง พอเขาได้ข่าวว่า ในเมืองพาราณสีกำลังจัดงานรื่นเริงเอิกเกริก ก็คิดขึ้นว่า

"เราน่าจะไปแสดงการตีกลองที่ในเมือง ตีกลองหาทรัพย์ใกล้ๆ กับบริเวณที่เขามีมหรสพนั่นแหละ"

คิดแล้วไม่รอช้า เขาจึงตระเตรียมกลองและของจำเป็นพาลูกชายวัยรุ่นของตนเดินทางผ่านป่าใหญ่ เข้าเมืองทันที

เมื่อได้ทำเลหากินแล้ว ทุกครั้งที่เปิดการแสดง ผู้คนมากมายในเมืองนิยมชมชอบฝีมือการตีกลองของเขากับลูกมาก จึงได้ทรัพย์เป็นจำนวนมาก กระทั่งสิ้นสุดงานฉลอง ก็นำทรัพย์ที่หามาได้เดินทางกลับบ้านอย่างสุขสำราญใจ

ระหว่างทาง… ต้องผ่านป่าที่เป็นดงโจร พ่อได้ห้ามปรามลูกชายที่ยังคึกคะนองอยู่ ตีกลองไม่หยุดหย่อนตลอดการเดินทางว่า

"ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าตีกลองอย่างเมามันสนุกสนานเกินไปนักเลย บริเวณแถวนี้ไม่ปลอดภัยอาจมีโจรร้ายได้ จงรู้จักหยุดยั้งการตีกลองเสียบ้าง จงตีกลองให้เป็นระยะๆ เหมือนเขาตีกลองนำขบวน ในเวลาที่คนใหญ่คนโตเดินทางไปที่ไหนๆ เถิด"

แม้จะถูกผู้เป็นพ่อตักเตือนห้ามไว้ แต่ลูกชายของเขากลับไม่เชื่อฟัง ยิ่งว่าก็เหมือนยิ่งยุ โต้ตอบกลับโดยทันที

"พ่อไม่ต้องกลัว ฉันจะไล่โจรให้หนีไปด้วยเสียงกลองนี้แหละ ฉันจะตีกลองให้สนั่นหวั่นไหวไปเลย"

แล้วก็กระหน่ำตีกลองไม่ขาดระยะเลย เสียงกลองดังสะท้านสะเทือนก้องทั้งป่าบริเวณนั้น ทำให้พวกโจรที่อยู่ในป่าพากันตกใจกลัว เพราะคิดว่า

"จังหวะกลองเยี่ยงนี้ คงเป็นขบวนมโหฬารของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเป็นแน่"

จึงยกพวกหลบหนีไป แต่หนีได้สักพักหนึ่งแล้ว เสียงกลองก็ยังดังติดต่ออยู่ตลอดเวลา ไม่มีหยุด ไม่มีพักระยะเลย ผิดปกติวิสัยยิ่งนัก พวกโจรจึงเอะใจสงสัยขึ้นมา ต่างพากันรวมตัวเข้าแล้วหวนกลับไปแอบซุ่มดู จึงได้พบเห็นว่ามีเพียงสองพ่อลูกเท่านั้น ไม่มีขบวนผู้คนอื่นใดเลย

ดังนั้นจึงออกจากที่ซ่อน ตรงเข้าปล้นทรัพย์ทันที รุมทุบตีและแย่งชิงทรัพย์จากสองพ่อลูกอย่างง่ายดาย แล้วพวกโจรก็จากไป ปล่อยให้สองพ่อลูกที่บาดเจ็บและหมดทรัพย์ทิ้งอยู่ที่ตรงนั้นเอง ฝ่ายผู้เป็นพ่อพยายามพยุงกายของตนไว้แล้วตำหนิสั่งสอนลูกชายที่ว่ายากสอนยากว่า

เพราะการไม่เชื่อฟัง การดื้อรั้น เจ้าจึงตีกลองเกินประมาณ การตีกลองเกินประมาณเป็นความชั่วช้า ทำให้ทรัพย์ที่เราได้มามากมายด้วยความเหนื่อยยาก ต้องฉิบหายไปสิ้น"

--------------------------------------------------------------------------

พระศาสดาครั้นทรงนำชาดกนี้มาแสดงแล้วได้ตรัสว่า

"ลูกชายผู้ว่ายากสอนยากนั้น ได้มาเป็นภิกษุผู้ว่ายากในบัดนี้ ส่วนพ่อผู้เป็นนักตีกลอง ได้มาเป็นเราตถาคตเอง"

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๕๙ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๖ หน้า ๑๐๕)

 

 

ลักษณะของคนว่ายาก คือ

มักโกรธแล้วเปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ
1
ปรารถนาลามก ลุอำนาจปรารถนาลามกนั้น
2
ยกตกข่มผู้อื่น
3
มักโกรธ
4
มักโกรธและผูกโกรธ
5
มักโกรธแล้วระแวงจัด
6
มักโกรธแล้วเปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ
7
เวลาถูกฟ้อง (กล่าวหา) กลับโต้เถียงโจทก์ (ผู้ฟ้อง)
8
เวลาถูกฟ้อง กลับรุกรานโจทก์
9
เวลาถูกฟ้อง กลับปรักปรำโจทก์
10
เวลาถูกฟ้อง กลับเอาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อน พูดนอกเรื่อง แสดงความโกรธมุ่งร้าย ไม่เชื่อฟัง
11
เวลาถูกฟ้องไม่พอใจตอบในความประพฤติ (ของตน)
12
ลบหลู่ ตีเสมอ
13
ริษยา ตระหนี่
14
โอ้อวด เจ้ามายา
15
กระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่น
16
เอาแต่ความเห็นของตน ดื้นรั้น ถอนได้ยาก
(พระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ ข้อ ๒๒๑)