เราคิดอะไร.

เทคนิคและวิธีการ (ชีวิตไร้สารพิษ ต่อจากกฉบับที่ ๑๓๖)

ในเรื่องการเริ่มต้นการเกษตรนี้ เราจะพูดถึงเทคนิควิธีการและขั้นตอนต่างๆ รวม ๖ ข้อ คือ
๑. การเลือกพืชเกษตร
๒. การปลูกพืชหลายชนิดพร้อมกัน
๓. การปลูกพืชหมุนเวียน
๔. การปลูกผักในระบบเพอร์มาคัลเชอร์
๕. วิธีการปลูกกล้วยและมะพร้าว
๖. สรุปประโยชน์ ๓ ประการ ในการทำการเกษตรถาวรหรือเพอร์มาคัลเชอร์

๑. การเลือกพืชเกษตร

มีคนเคยพูดว่า ถ้าอยากรู้ว่าสังคมมีสุขภาพจิตดีหรือไม่ ก็ต้องลองสัมผัสดินดู ถ้าดินแข็ง แสดงว่าสังคมนั้น มีสุขภาพไม่ดี ถ้าดินอ่อนนุ่ม ร่วนซุย แสดงว่าสังคมนั้น เป็นสังคมที่ดี ชีวิตนั้นมิใช่จะมีแต่ความเรียบร้อยเสมอไป วิกฤติการณ์เกิดขึ้นได้เสมอ แต่อย่างไร ก็ตามชีวิต จะต้องมีรากฐาน ที่มั่นคง แผ่นดินก็ต้องเป็นเช่นเดียวกัน

แผ่นดินก็ต้องมีรากฐานชีวิตที่มั่นคง แข็งแรง เครื่องแสดงชีวิตของดิน ก็คือ พืช ถ้าพืชแข็งแรง เขียวขจีสมบูรณ์ ก็แสดงภาพ ชีวิตของดิน ที่อุดม เป็นที่อยู่อาศัย ของพืชพันธุ์ ธัญญาหาร และ สิ่งมีชีวิต น้อยใหญ่ทั้งมวล

พืชแต่ละชนิด จะมีระยะการเจริญเติบโต และอายุเก็บเกี่ยวต่างกัน เราอาจจะหว่านเมล็ดพืช หลายๆ ชนิด พร้อมๆ กัน และเมล็ดพืช แต่ละชนิด ก็จะงอก และเติบโต เมื่อถึงเวลาของมัน

มีการวิเคราะห์กันมากว่า ใบไม้ใดๆ ก็คลุมดินได้ทั้งนั้น จริงอยู่...ที่ใบไม้อะไร ก็คลุมดินได้ ไม่ว่า จะใบเล็กหรือใบใหญ่ หลายคนดึงดันว่า ใบสักหรือใบมะม่วง คลุมดินได้ ก็จริงเช่นกัน ทุกอย่างอยู่บนดิน ก็คลุมดินได้ทั้งนั้น แต่ในการพัฒนา การเกษตร ในที่ซึ่งสิ่งแวดล้อม ถูกทำลาย ให้เข้าสู่ระบบวนเกษตร และระบบเพอร์มาคัลเชอร์ ซึ่งช่วยฟื้นฟู สิ่งแวดล้อมนั้น เราจำต้องคัดเลือก สิ่งที่ดีที่สุด และเหมาะที่สุด
เพราะเรามีเวลาน้อย และในการคลุมดินนั้น พืชใบเล็ก จะมีคุณสมบัติ เหมาะสมกว่าพืชใบใหญ่ เนื่องจากเวลาฝนตก พืชใบใหญ่ ใบไม้จะรองรับน้ำฝนไว้ บังไม่ให้น้ำฝน ตกลงดิน น้ำฝนจึงมีโอกาส ไหลซึมลงดินได้น้อย อีกประการหนึ่ง คือ เมื่อน้ำฝน ค้างอยู่บนใบไม้ จำนวนมาก เมื่อลมพัด ใบไม้ก็จะพลิก น้ำฝนบนใบไม้ ก็จะตกลงสู่พื้นดิน ด้วยกำลังแรง ทำให้เกิดการชะล้างหน้าดิน ส่วนพืชใบเล็ก ไม่รองรับน้ำไว้มาก แต่จะช่วยชะลอ ความแรงของฝน ที่ตกลงสู่พื้นดิน ช่วยให้น้ำซึมลงดิน และสำรองความชุ่มชื้น ไว้บนดิน นอกจากนี้ ใบยังเล็ก ซึ่งจะย่อยสลาย ได้ง่ายกว่าใบสัก หรือใบมะม่วง ซึ่งมีขนาดใหญ่ จึงเป็นการคืนอินทรียวัตถุ ให้แก่ดินได้เร็วกว่า การคลุมด้วย พืชใบใหญ่

เพอร์มาคัลเชอร์ นอกจากจะเป็นระบบการเพาะปลูก ที่มีการจัดวางรูปแบบ เพื่อการสร้างทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเหมาะสม แล้ว ยังอาจจะเรียกได้ว่า เป็นวิถีทางการเกษตร เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเอื้ออำนวย ให้แก่แผ่นดิน น้ำ พืช สัตว์ และมนุษย์ มีชีวิต อยู่ร่วมกัน อย่างกลมกลืน สมดุล มีความสุข ได้อย่างต่อเนื่อง และยืนนาน

บิล มอลลิสัน แนะนำว่าให้เราเขียนรายชื่อพืช ที่เราอยากจะปลูก ในพื้นดินของเรา ไว้ให้หมด แล้วไปถามคนเฒ่าคนแก่ คนเฒ่าคนแก่ จะบอกได้ว่า จะปลูกพืชอะไร ต่อเนื่องกับอะไร ปลูกได้เมื่อไหร่ และจะได้กินเมื่อไหร่ คนเฒ่าคนแก่เหล่านี้ ก็คือตัวแทนภูมิปัญญา ในพื้นที่นั้น ซึ่งจะเป็นพื้นที่ รู้เรื่องเหล่านี้ได้ดีที่สุด

พืชผักตระกูลถั่ว ธัญพืชและผัก จะเป็นพืชที่สามารถปลูก ด้วยกันเป็นอย่างดีจนสามารถเรียกว่า เป็นพี่น้อง ๓ คน เราจะ ไม่พบคนใด คนหนึ่ง หรือตัวอย่างใด ตัวอย่างหนึ่ง อย่างโดดเดี่ยว ควรจะต้องมี ๓ อย่าง รวมกัน มีตำนานโบราณ ของอินเดียว่า พี่น้อง ๓ คนนี้ เป็นคนสวย เป็นคนเก่งทั้ง ๓ คน และมีนิสัยต่างกันทั้ง ๓ คน และทั้ง ๓ คน ก็ทะเลาะกัน ตลอดเวลา วันหนึ่ง แม่เบื่อเต็มที ก็เลยไปหา พระเจ้า และขอพระเจ้า ให้ช่วยจัดการลูกสาว ทั้ง ๓ คนนี้ด้วย พระเจ้าก็เลยจัดการ ให้พวกนี้หยุดทะเลาะกัน โดยสั่งสอนว่า ต่างคน ต่างก็มีความดี มีความสามารถ มีความเก่งของตัว และอย่างไรเสีย ก็ต้องอยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้น ให้ใช้ประโยชน์ จากความเก่ง ของคนอื่น ตัวอย่างสัมพันธภาพ ระหว่าง ๓ พี่น้องนี้ ก็เช่น พืชตระกูลถั่ว กับข้าวโพด และฟักทอง

พืชตระกูลถั่วจะให้ไนโตรเจน แก่ฟักทองและข้าวโพด ส่วนฟักทอง จะมีใบที่คลุมดิน ให้ดินเย็น และรักษาความชุ่มชื้น ให้พืชตระกูลถั่ว และข้าวโพด ส่วนข้าวโพด จะเป็นพืชที่มีความสูง ก็จะทำหน้าที่ ป้องกันลม ให้แก่ ๒ พี่น้อง ฟักทองและถั่ว

อีกประการหนึ่ง พืชทั้ง ๓ ประเภทนี้ ถ้าอยู่รวมกันแล้ว จะมีคุณค่าทางอาหารมาก แต่ถ้าแยกกันอยู่ ก็จะไม่มีคุณค่า ทางอาหารมากนัก ในอัฟริกา มีแตงอยู่ชนิดหนึ่ง ลูกใหญ่ขนาดลูกฟักใหญ่ๆ อัฟริกานี้แห้งแล้งมาก คนก็เลยเก็บแตงกวา เอาไว้กินแทนน้ำ แตงจึงเหมือนกับ เป็นแท็งก์น้ำ วางอยู่บนดิน และในฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูที่แห้งแล้งมาก ก็จะเป็นแท็งก์น้ำ วางอยู่เต็มไปหมด และชาวบ้าน จะเก็บเอาไว้ เป็นแหล่งน้ำสำรอง ไม่ได้ใช้ทำเป็นอาหาร ส่วนข้าวโพดกับถั่ว เอามาทำเป็นอาหาร ในทะเลทรายนั้น จะไม่มีธาตุสังกะสี ซึ่งร่างกาย ของคนเรา จะต้องการ แต่โชคดี ที่เมล็ดของแตงกวา แตงโม แตงไทย ฟักทอง จะมีสังกะสีมากทีเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า เรามีผัก ประเภทแตงไว้กิน ร่างกายเรา ก็จะมีสารอาหารอย่างหนึ่ง ที่จะไปย่อยอาหาร และดูดซึมโปรตีน ที่อยู่ในข้าวโพด และในถั่วไว้ ดังนั้น เมื่อเอาพืชทั้ง ๓ ชนิดนี้ ทำอาหารด้วยกัน อาหารนั้น ก็จะมีคุณค่า ทางอาหารมาก นี่เป็นระบบอาหาร ที่มาจากอารยธรรม อัฟริกา และ ของชาวอินเดียนแดง

๒. การปลูกพืชหลายชนิดพร้อมกัน
วิธีการปลูกพืชหลายชนิดด้วยวิธีการง่ายๆ ๓ วิธี คือ
๑. หว่านสุ่ม พืชพันธุ์แต่ละกลุ่มแต่ละวงศ์ จะไม่แย่งอาหารกัน เพราะระบบการหาอาหาร และธาตุอาหาร ที่พืชเหล่านั้นต้องการ จะแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเรานำเมล็ดบางชนิด ของแต่ละกลุ่ม มารวมกัน แล้วหว่านไปพร้อมๆ กันเลย นี่เป็นการ ทำการเกษตร แบบหว่านสุ่ม ถ้าเรามีเมล็ดพันธุ์ เราจะแยกเมล็ดพืช แต่ละกลุ่ม แล้วหว่านทีละกลุ่มก็ได้ ลักษณะการหว่าน เมล็ดพืช แบบนี้ ต้นพืชจะขึ้น กระจัดกระจาย ไม่เป็นแถวเป็นแนว

๒. หยอดเป็นเส้น จะหยอดอะไรก็หยอดให้เป็นเส้น ๆ ไป อาจจะมีการสลับ ไปใช้พืชที่จะใช้ขับไล่ ป้องกันแมลงศัตรูพืช ปลูกแซมเข้าไป ในระหว่างเส้น และรอบๆ เช่น ปลูกดอกทานตะวัน หรือดาวเรือง ก็จะ ไม่มีปัญหาเรื่องแมลง การหยอดเป็นเส้นโค้ง จะได้พืช มากว่า เส้นตรง
[Permaculture โดย Bill Mollison]

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๗ ธันวาคม ๒๕๔๔)