เราคิดอะไร.

กติกาเมือง
‘ประคอง เตกฉัตร
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักงานศาลยุติธรรม ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จังหวัดนครศรีธรรมราช

นิติบุคคลและตัวแทน กับองค์กรทางศาสนา
เดิมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๒ (๒) บัญญัติให้วัดวาอารามเป็นนิติบุคคล และพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๑ กำหนดประเภทของวัดไว้ ๒ ประเภท คือ วัดที่ได้รับ พระราชทานวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์ ผู้มีอำนาจกระทำแทน วัดทั้งสองประเภทนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดไว้ในมาตรา ๓๖ ว่า ให้เจ้าอาวาส เป็นผู้ทำการแทน ปัจจุบันการแต่งตั้ง เจ้าอาวาส มีกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๐๖) ข้อที่ ๒๓ กำหนดข้อระเบียบวิธีปฏิบัติไว้ และปัจจุบันนี้ มีกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๖ (พ.ศ.๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้ง ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ในกรณีไม่มีเจ้าอาวาส หรือเจ้าอาวาส ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้

ต่อมามีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา ๗๒ (๒) เดิมศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา ฎีกาที่ ๗๔๙๐/๒๕๔๒ ระหว่างวัดโนนสูง และนายสมร บุญคน กับพวก จำเลยว่า วัดที่ได้รับอนุญาต ให้สร้างเป็นวัดได้ แต่ยังไม่ดำเนินการ จัดตั้งเป็นวัด เป็นเพียงสำนักสงฆ์ ไม่มีอำนาจฟ้องคดี จึงถือว่ายังไม่เป็นนิติบุคคล

สำหรับมัสยิดเดิมนั้น มีพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๕ บัญญัติให้มัสยิด ซึ่งได้จดทะเบียน ต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่แล้ว เป็นนิติบุคคล และบัญญัติไว้ในมาตรา ๗ ว่า ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ไม่น้อยกว่า ๗ คน เรียกว่า คณะกรรมการมัสยิด มีหน้าที่จัดการทั่วไป ในกิจการและทรัพย์สิน ของมัสยิด โดยในมาตรา ๙ ให้ถือเสียงข้างมาก ของคณะกรรมการมัสยิด ต่อมามีการออก พระราชบัญญัติ การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ ยกเลิกบท บัญญัติดังกล่าวข้างต้น และได้บัญญัติใหม่ ไว้ในมาตรา ๑๓ ว่า ให้มัสยิดที่ได้จดทะเบียนจัดตั้ง ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยให้คณะกรรมการมัสยิด ประจำมัสยิด เป็นผู้แทน ของมัสยิด

สำหรับวัดของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิคนั้น มีพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะของวัด บาทหลวงโรมันคาธอลิค ในกรุงสยาม ตามกฎหมาย ร.ศ.๑๒๘ ข้อที่ ๑ กำหนดให้วัดคาธอลิค เป็นเสมือนบริษัท และข้อที่ ๒ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ให้มิสซังมีฐานะเป็นบริษัท ดังนั้น มิสซัง จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคล

พระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู ประมุขศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิคในประเทศไทย ได้มอบอำนาจ ให้นายสาโรจน์ เล็กกระจ่าง ฟ้องขับไล่ จำเลย รวม ๒๙ สำนวน ให้ออกจากที่วัด ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๖๕๘-๘๖๘๖/๒๕๔๒ ศาลฎีกา พิพากษาว่า พระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู มีอำนาจมอบอำนาจ ให้ฟ้องจำเลย ทั้ง ๒๙ สำนวนได้ เพราะพระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู เป็นผู้แทน ของวัดคาธอลิค ตามกฎหมาย ดังกล่าวข้างต้น

สำหรับโบสถ์คริสต์ นิกายโปรเตสแตนท์นั้น ส่วนใหญ่จะทำในรูป มูลนิธิ หรือสมาคม

ในเรื่องตัวแทนของวัดนี้ พระครูสังฆรักษ์ผล เจ้าอาวาสวัดบุญรอดธรรมาราม เคยเป็นโจทก์ ฟ้องพระครูศรีวรวินิจ เจ้าคณะตำบล บางนาในว่า การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามฎีกาที่ ๑๖๐๕/๒๕๒๑ และ พระนิเทศธรรมวาที เจ้าคณะ จังหวัดราชบุรี ในนามเจ้าอาวาสวัดช่องลม ได้ฟ้องพระครูปลัดบรรจบ ฉันทวิริโย รักษาการ เจ้าอาวาส วัดช่องลม ให้ส่งมอบ ทรัพย์สิน ของวัด ตามคำพิพากษา ศาลฎีกาที่ ๑๕๓๔/๒๕๓๖ วัดราชสามัคคีธรรม เป็นโจทก์ฟ้อง พระครูปริยัติวัชรคุณ เป็นจำเลย ให้ออกจาก วัดราชสามัคคีธรรม ตามคำพิพากษา ศาลฎีกาที่ ๓๙๔๗/๒๕๒๘ พระภิกษุโกวิทย์ (หอม) สว่างวงศ์ เป็นโจทก์ ฟ้องพระมหาเจษฎา จันทโก (วังมะนาว) กับพวกเป็นจำเลย กล่าวหาว่า พระมหาเจษฎา ในฐานะเจ้าอาวาส สั่งรื้อกุฏิของโจทก์ โดยไม่ชอบตามฎีกาที่ ๑๐๙๖/๒๕๑๓ พระครูพิพัฒน์สิทธิการ ฟ้องวัดโคกสำโรง และพระครูปลัดธนิต ชินงภุโร กับพวกรวม ๔ คน ให้ชดใช้เงิน ที่โจทก์ทดรอง สร้างโบสถ์ ให้วัด จำเลย แล้วจัดงานฝังลูกนิมิต ได้เงินไม่พอชดใช้หนี้ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๖๙/๒๕๓๑ นายเสงี่ยม คงสิริ กับพวกเป็นโจทก์ ฟ้องพระครู พิสิทธิ์กิตติยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดยี่แส ที่รับฝากเงิน ในนามวัดไว้แล้ว ไม่ยอมให้ดอกเบี้ย ตามที่ตกลงไว้ ตามคำพิพากษา ศาลฎีกา ที่ ๑๔๗๑/๒๕๓๖ นางสาวบุญช่วย หรตะ เป็นโจทก์ ฟ้องพระครูชื้น และวัดให้รับผิดชอบ ที่พระครูชื้น เจ้าอาวาส จ้างรถ แทรกเตอร์ ไถที่ดิน แล้วไม่ยอมชำระราคา ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๖๒๐/๒๕๑๙ หรือกรณีวัด ไปร้องขัดทรัพย์ ตามคดีศาลฎีกาที่ ๙๒๖/๒๕๐๕ หรือวัดเข้าไปรับฝากซื้อขายที่ดิน ตามฎีกาที่ ๕๘๖/๒๕๐๙ หรือกรณีพันตำรวจโท สุนทร สังข์ประกุล กับพวก ฟ้องวัด จันทร์สโมสร เรื่องการให้เช่าที่ดิน ตามฎีกาที่ ๑๐๐๖/๒๕๑๒ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ผดุงสุข ฟ้องวัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษดิ์ เป็นจำเลย ตามคำพิพากษา ศาลฎีกาที่ ๔๖๐๗/๒๕๓๔ เรื่องไม่ชำระค่าวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น จะเห็นได้ว่า การที่วัด ไม่ว่าทางพุทธศาสนา หรือคริสต์ ศาสนา เป็นโจทก์ฟ้องบุคคลอื่น หรือถูกฟ้อง หรือนักบวชในทางศาสนานั้นๆ ถูกฟ้องในกิจการที่เกี่ยวพัน ด้วยกิจการ ของศาสนา ย่อมเป็นที่ สะเทือนใจ แก่ศาสนิกของศาสนานั้นๆ ถ้ากฎหมายเรา ไม่เป็นเช่นปัจจุบันนี้ เหตุการณ์ต่างๆ นี้ก็คงไม่เกิดขึ้น

ผู้เขียนเห็นว่า การดำเนินการแทนวัดหรือองค์กรทางศาสนานั้น น่าจะดูแนวทางตัวอย่าง จากพระราชบัญญัติ การบริหารองค์กร ศาสนาอิสลาม พ.ศ.๒๕๔๐ ที่กำหนดในรูปคณะกรรมการ และอาศัยเสียงส่วนมาก ซึ่งกลายเป็นโจทก์ หรือจำเลยนั้น ก็คือคณะกรรมการ ของมัสยิด ดังกล่าว ซึ่งตามลักษณะของ ศาสนาอิสลามนั้น เป็นศาสนาที่ไม่มีนักบวช แต่พุทธศาสนา และคริสต์ศาสนา นิกาย โรมันคาธอลิค เป็นศาสนาในรูปแบบ ที่มีนักบวช แต่ไม่ควรให้นักบวช เข้าไปเกี่ยวข้อง กับกิจการ ที่เกี่ยวข้องในทางโลก น่าจะให้ คณะกรรมการ ซึ่งเป็นศาสนิก หรือสัปบุรุษ หรือสมาชิกของวัดนั้นๆ แต่งตั้งคณะกรรมการ ดำเนินการกันเอง นักบวชของ ทั้งสองศาสนา จะเป็นเพียงที่ปรึกษา หรือยกไว้ ในฐานะที่น่าเคารพ นับถือยกย่อง ไม่สมควร จะเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นคดีพิพาทกัน ในโรงศาล ให้ผู้พิพากษา ตุลาการ ซึ่งเป็นประชาชนธรรมดา ไปตัดสินพิจารณาคดี และไม่ควร ไปทำนิติกรรมใดๆ ในทางธุรกิจ หรือ ผูกพัน ตามกฎหมาย เพราะเพียงการเผยแผ่ศาสนา ก็เป็นภาระ อันยิ่งใหญ่แล้ว การให้ไปศึกษา ในระบบนิติกรรม หรือ กฎหมาย ในทางโลก จักย่อมเป็นการ กำหนดหน้าที่ ให้ท่านมากขึ้นอีก และอาจผิดพลาดได้ โดยเฉพาะ อำนาจต่างๆ ที่ไม่ควรให้มี เพราะหมิ่นเหม่ ในการขัดแย้ง กับทางธรรมได้ โดยเฉพาะพุทธศาสนา ที่พระภิกษุ ต้องละกิจทางโลก เพราะเครือญาติมาอุทิศ เพื่อพระพุทธศาสนา

คณะสงฆ์สันติอโศก เป็นคณะสงฆ์ใหม่ พุทธสถาน และสังฆสถาน ของคณะสงฆ์สันติอโศก ไม่ได้เป็นนิติบุคคล ฉะนั้น เจ้าอาวาส ของพุทธสถาน และสังฆสถานต่างๆ ของคณะสงฆ์ชาวอโศก จึงไม่ใช่ตัวแทนของนิติบุคคล ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ที่จะทำนิติกรรมใดๆ ผูกพันต่อ บุคคลภายนอก และพุทธสถาน และสังฆสถานนั้นๆ ทั้งเจ้าอาวาส ก็ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน ตามกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจ ตามกฎหมาย ที่จะไปสั่งการใดๆ ได้ และไม่มีทางที่จะมีความผิด ฐานเจ้าพนักงานละเว้น ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

การบริหารงาน กระทำในนามของมูลนิธิ และสมาคมเช่นเดียวกับโบสถ์ต่างๆ ของคริสต์ศาสนา นิกายโปรเตสแตนท์ ที่มีหลายคณะ หลายนิกาย ในประเทศไทย และเป็นที่น่าสังเกตว่า กิจการของคณะสงฆ์ ชาวอโศก ก็สามารถวิวัฒนา ก้าวหน้าไป ในอัตราที่น่าพอใจ ไม่ว่าด้าน สิ่งแวดล้อม การศึกษา และการสร้างชุมชน การอบรมคุณธรรม การต่อต้าน ยาเสพติด และพัฒนาบุคลากร ทั้งในรูปนักบวช และศาสนา ฯลฯ การร่างพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ฉบับใหม่ ที่กำลังโต้เถียงกันอยู่ ในฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติในคณะนี้ น่าจะสนใจ การจัดการ การเป็นนิติบุคคลของวัด และตัวแทนของวัด จากคณะสงฆ์ชาวอโศก และพระราชบัญญัติ การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ ฉบับใหม่ที่บังคับใช้อยู่ ในปัจจุบันนี้

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๗ ธันวาคม ๒๕๔๔)