เราคิดอะไร.

บ้านป่านาดอย โดยจำลอง ศรีเมือง


ไก่ป่าที่หายหน้าไปหลายวัน กลับมาส่งเสียงขันทั้งเช้าทั้งเย็น บางตัวออกมาเดินชายป่าอย่างชะล่าใจ คงมั่นใจว่า ถึงอย่างไรคนที่นั่น ก็ไม่เปลี่ยนใจ กลับไปกินเนื้อเพื่อน

ต้นไม้บนภูจำนวนไม่น้อยพากันทิ้งใบหมด ใบที่ติดต้นอยู่บ้างก็เปลี่ยนเป็นสีแดงแห้งๆ เดินไปไหนมาไหน เหมือนเดิน บนพรมใบไผ่ ที่นุ่มๆ

เกษตรกรคนหนึ่งที่กำลังรับการฝึกอบรม ตามโครงการพักชำระหนี้ ล่าให้ฟังว่า บ้านป่านาดอย บริเวณที่เป็น โรงเรียนผู้นำอยู่ ในขณะนี้นั้น เมื่อ ๔๐ ปีก่อน ชุกชุมไปด้วย ช้าง เสือ เก้ง กวาง เป็นป่าทึบ ไม่มีใครกล้าเข้าไปปลูกบ้าน เพราะไข้ป่าแรงมาก แต่ด้วยความสามารถของชาวบ้าน ทำให้โล้นเลี่ยน เตียนโล่งได้อย่างน่าชื่นชม

คนไทยทำลายเก่ง ก็น่าจะสร้างสรรเก่ง แก้ปัญหาความทุกข์ยากได้เก่ง

จากสองกรกฎาปีสี่ศูนย์ วันที่เศรษฐกิจ ฟองสบู่แตก จนถึงวันนี้สี่ปีกว่าๆ เรายังใช้หนี้เขาไม่ได้ อย่าว่าแต่เงินต้นเลย ดอกเบี้ยอย่างเดียวก็แย่แล้ว ผิดกับบางประเทศ ที่เกิดวิกฤติการณ์เหมือนๆ เรา

ผมเคยเล่าให้สมาชิก "เราคิดอะไร" ทราบบ้างแล้ว ประเทศเกาหลีใต้ ใช้หนี้หมด เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ก่อนกำหนดถึง ๒ ปี ๘ เดือน

เมื่อต้น เดือนมกราคม ผมมีความจำเป็น ต้องเดินทางไปเกาหลีเรื่องการเรื่องงาน โชคดีมีเพื่อน ร่วมเดินทางไปด้วยคือ ดร.อนุสรณ์ และ คุณยุทธยง พร้อมช่างถ่ายโทรทัศน์ ช่อง ๓ อีก ๑ คน ดร.อนุสรณ์นั้น หลายคนรู้จัก เพราะออกโทรทัศน ์รายการ "กรองสถานการณ์" ช่อง ๑๑ บ่อยๆ ส่วนคุณยุทธยง เป็นผู้จัดรายการ ตอนเช้าๆ ของโทรทัศน์ช่อง ๓

พอเราไปถึงโรงเรียนผู้นำของเกาหลีซึ่งยังใช้ชื่อเดิมว่า "โรงเรียนชาวนาคานาอาน" ผู้อำนวยการ ก็ออกมาต้อนรับ ผมอดไม่ได้ ที่จะกล่าวชม ก่อนการพูดคุยเรื่องอื่น ผมชมเขาว่า โรงเรียนคานาอาน ช่วยแก้วิกฤติประเทศเกาหลีได้ เพราะเขาฝึกอบรมผู้คน ถึงสี่แสนกว่า กระจาย อยู่ทั่วเกาหลี ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกว่า ไม่ใช่สี่แสน ฝึกอบรมไปแล้ว ถึงหกแสน

โรงเรียนผู้นำของเราส่งคนหนุ่มๆ สาวๆ ไปฝึกอบรมร่วมกับชาวเกาหลีเป็นประจำทุกปี ทุกรุ่นกลับมายืนยันว่า ได้ไปกิน ไปนอน ไปฝึกงาน ที่นั่นสองอาทิตย์ โรงเรียนคานาอาน มีส่วนสำคัญยิ่ง ที่ช่วยพลิกเกาหลี จากประเทศยากจน เป็นประเทศ ชั้นนำของเอเชีย เขาแก้ปัญหา โดยเน้นเรื่อง การพัฒนาคนมานาน เมื่อเกิดวิกฤติ ก็สามารถแก้ได้เร็ว

หลายคนคงจำได้ หลังสงครามโลก ครั้งที่สองใหม่ๆ ผู้นำญี่ปุ่นออกมาพูด ในทำนองว่า ญี่ปุ่นสูญเสียหมด เกือบทุกอย่าง แต่ยังโชคดี ที่มีคนญี่ปุ่น

ผมเคยพาคณะเป็นตัวแทนรัฐบาลไทย หอบผ้านวม ข้าวหลาม อาหารแห้งไปช่วย เมื่อตอนที่เมืองโกเบ เกิดแผ่นดินไหว เจ็ดปีที่แล้ว ได้เห็นความทุกข์ยาก และซากปรักหักพัง ของบ้านเมือง ซึ่งหนักหนาสาหัสสากรรจ์ ป่านนี้เขาคงก่อสร้าง ปรับปรุงเรียบร้อย นานแล้ว แม้ผมจะไม่มีโอกาสกลับไปดูก็เดาได้ถูก เพราะเขามีคนญี่ปุ่น เช่นเดียวกับ ที่ผมเคยเล่า ความเป็นมา ของเมืองฮิโรชิมาว่า ฟื้นตัวเร็วอย่างไร

เขียนเล่าไป ไม่มีเจตนาดูถูกคนไทย แต่แปลกใจคนไทยยุคนี้ความเก่ง ความแกร่งหายไปไหนหมด

ห้างสรรพสินค้า ยักษ์ใหญ่ ต่างชาติ ออกอาละวาด ทำลายร้านเล็กๆ ของคนไทยในหลายๆ จังหวัด คนไทยก็เฉยๆ แถมชอบเสียด้วย

"ผมคนหนึ่งละที่สนับสนุน ผมชอบเข้าห้างใหญ่ๆ เพราะมันเย็นดี" เป็นคำพูดของ ส.ส.ผู้ทรงเกียรติคนหนึ่ง ของจังหวัด กาญจนบุรี ที่ชาวเมืองกาญจน์ นำไปบอกผมด้วยความช้ำใจ เขาจัดการอภิปรายที่สถาบันราชภัฏกาญจน์ เพื่อต่อต้านการค้าปลีกของต่างชาติ (ห้างฝรั่งซื้อที่ดิน ๓๕ ไร่ ตรงข้ามโรงพยาบาลพหลโยธิน จะลงมือก่อสร้าง ห้างยักษ์เร็วๆ นี้) ท่านส.ส.กลับไปช่วยพูดสนับสนุนเขาเสียนี่

ตอนนี้มีข่าวแปลกๆ แปลกแต่จริง ชาวยโสธร เรียกร้อง ให้ต่างชาติ เข้าไปสร้างห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ กันให้มากๆ ยโสธรจะได้เจริญ หากพระยาตาก และเพื่อนร่วมตาย มีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ คงจะเสียใจแล้วเสียใจอีก

ชาวระยองซึ่งกำลังต่อต้านอยู่ในขณะนี้ ถ้าย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ตอนเสียกรุงครั้งที่สอง ที่พระยาตาก พร้อมไพร่พล ยกออกจากกำแพงกรุง มุ่งไปทางระยอง จันทบุรี แล้วกลับไปกู้กรุงได้สำเร็จคงจะมีกำลังใจ

เมื่อวันขึ้นปีใหม่ เจ้าของห้างค้าปลีกของคนไทยรายหนึ่งที่ประสบผลสำเร็จอย่างสุดยอด ไปพบผม ไม่ได้ตั้งใจ จะไปคุยเรื่องงานเรื่องการ ตั้งใจไปพบ เพื่ออวยชัยให้พร อย่างที่เคยทำมาเงียบๆ ทุกปี ผมถือโอกาสถามความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้คำตอบชัดเจนว่า คงต่อต้านห้างสรรพสินค้าต่างชาติไม่สำเร็จ เพราะเราทำกันแบบไฟไหม้ฟาง ไม่ทำจริงจังอย่างต่อเนื่อง

อาจารย์กมล กมลตระกูล นักวิชาการคนหนึ่ง ของโครงการ จดหมายคนกู้เมือง ได้เขียนจดหมาย เมื่อปลายเดือน มกราคม ชี้ให้เห็นอันตราย และเล่ารายละเอียด เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ทราบ

"ยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติซึ่งมีเงินทุน ประสบการณ์ในด้านบริหารจัดการ และการตลาด รวมทั้งวิธีการปัดภาระค่าใช้จ่าย มาให้กับผู้ผลิตสินค้า กำลังรุกเข้ายึด หัวหาดการค้าปลีก ในขอบเขตทั่วประเทศ ในทุกชุมชน

วิถีชีวิต วิถีเศรษฐกิจชุมชน วิถีสังคมแบบเอื้ออาทร ของผู้ซื้อกับผู้ขาย ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐาน ของความไว้เนื้อเชื่อใจ ฉันเพื่อนบ้าน ฉันพี่น้อง ซึ่งเชื่อของ เชื่อสินค้าไปกินไปใช้ ได้ก่อน สิ้นเดือน เมื่อเงินเดือนออก ค่อยมาจ่าย หรือหักหนี้กัน สิ่งเหล่านี้กำลังจะหมดไป และถูกแทนที่ ด้วยระบบบัตรเครดิต ที่มีอัตราดอกเบี้ยมหาโหด

ประเทศไทย กำลังติดเชื้อโรค "การค้าเสรี" ซึ่งถ้าวิเคราะห์กันให้ถึงที่สุดแล้ว มีอันตรายเสียยิ่งกว่า โรคแอนแทร็กซ์ และโรคเอดส์เสียอีก..."

เมืองนอก มีการป้องกัน การค้าปลีก ไม่ให้ปลาเล็ก ถูกปลาใหญ่กิน ด้วยวิธีการต่างๆ

"....กิจการค้าปลีกของอเมริกา ก็มีกฎระเบียบของชุมชน และเทศบาลมากมาย ออกมาคุ้มครองธุรกิจขนาดย่อย ให้ดำรงอยู่ได้ เช่นเรื่องการกำหนด เขตการค้า หรือเรื่องการจราจร ที่นำมาจำกัด การขยายตัวในเมือง ของธุรกิจเหล่านี้ รวมทั้งระเบียบ กฎเกณฑ์อื่นๆ อีกเช่น การห้ามขายของตัดราคา หรือห้ามลดราคา อย่างพร่ำเพรื่อ หรือห้ามลดราคา อย่างกระหน่ำตลอดปี

ในยุโรปเช่นประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น เขาห้ามไมˆให้ห้างสรรพสินค้าและห้างยักษ์ค้าปลีก ลดราคาสินค้า เกินปีละ ๒ ครั้ง เพื่อให้เกิด กิจการแข่งขัน ที่เป็นธรรม กับร้านค้าย่อย หรือโชห่วย คือลดราคาได้ เฉพาะในช่วงฤดูร้อน และคริสต์มาส ได้เท่านั้น

แม้แต่กติกา ขององค์การการค้าโลก ก็มีข้อห้ามนี้คือ ห้ามส่งออกสินค้า ในราคาต่ำกว่าทุน"

เมืองไทยใจดี เอื้ออำนวยประโยชน์ให้ยักษ์ใหญ่ต่างชาติ สมัยรัฐบาลที่แล้ว ได้ออกกฎหมายประกอบธุรกิจ ของคนต่างด้าว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ และเริ่มใช้ ในปีต่อมา

ตกมาถึงรัฐบาลนี้ เริ่มเตรียมการแก้กฎหมายฉบับดังกล่าวอย่างเงียบๆ กลับมาปะทุเป็นข่าวขึ้น เมื่อตัวแทน หอการค้านานาชาติ ๒๔ ประเทศ ที่ประจำอยู่ ในประเทศไทย มีหนังสือยื่นต่อ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงพาณิชย์ คัดค้าน ข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการ ที่เสนอแก้กฎหมาย

บริษัทต่างชาติทำสองอย่างพร้อมๆ กันคือ คัดค้านการแก้กฎหมาย และรีบขยายสาขา รีบก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ก่อนที่กฎหมายใหม่ จะออกมา

หลายวันมาแล้วมีชาวพนัสนิคม ชลบุรี คนหนึ่ง อุตส่าห์นั่งรถไปพบผม ที่เมืองกาญจน์ ชื่อคุณวัลลภ เป็นคนตำบล นาเริก ร้อนอกร้อนใจเรื่องนี้

"ลุงผมรู้นะลุง นายกฯ เป็นลูกน้องของลุง รัฐมนตรีบางคน ก็เป็นลูกน้องลุง ลุงต้องเรียกเขามาสั่ง สั่งให้ช่วยร้านค้าปลีก ของคนไทย..." แกอธิบาย รายละเอียดยืดยาว จนผมจำไม่หวัดไม่ไหว ผมบอกแกว่า ถ้าผมสั่งนายกฯ สั่งรัฐมนตรีได้ก็ดีซี

คุยอยู่นาน (แกคุยข้างเดียว) จนเวลาใกล้ค่ำ ผมขอร้องให้ช่วยเขียนวิธีการ ที่เห็นว่าแก้ปัญหาได้ชะงัดนัก เมื่อผมมีโอกาส อาจช่วยเสนอ ผู้เกี่ยวข้องได้ แกบรรจงเขียนถึง ๗ หน้ากระดาษ พร้อมกับให้ที่อยู่ และ หมายเลข โทรศัพท์พร้อม ซึ่งสามารถติดต่อได้โดยด่วน

ข้อความในจดหมาย ส่วนใหญ่เล่าถึงปัญหา มีข้อเสนออยู่ตอนท้าย นิดเดียวคือ

"........กระผมอยากให้รัฐบาลทำเหมือนกับฝรั่งเศส ที่ให้ห้างใหญ่ทุกบริษัท หยุดขยายสาขา ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป หรืออย่างที่อิตาลี รัฐบาลออกกฎ ห้ามสร้างซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เป็นระยะเวลา ๓ ปี ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า เขาใช้เหตุผลอะไร ในการออกกฎบังคับ เช่นนั้นได้........

สิ่งที่กระผมอยากให้รัฐบาลกระทำต่อไป คือ อยากให้รัฐบาล กระโดดลงมาเต็มตัว มาเป็นผู้ค้ารายใหญ่มั่ง รู้อยู่แล้วว่า ระบบก็คือปลาใหญ่ กินปลาเล็ก ก็ให้กระทรวงพาณิชย์ ทำตัวเป็นปลาใหญ่ สู้กับห้างต่างชาติดูบ้าง เราเองได้เปรียบ ในฐานะ เจ้าของบ้าน วางกำลังขาย ให้มากกว่าทุกห้าง ที่มีอยู่ในเวลานี้..."

ผมพยายามติดต่อกลับไป เพื่อบอกแกว่า ให้รัฐบาลลงไปค้าขายเอง ไม่สำเร็จหรอก มีตัวอย่างให้เห็นเยอะแล้ว ขายเองเมื่อไหร่เจ๊งเมื่อนั้น

คุณยุทธยง ถ่ายทำโทรทัศน์ มุ่งอยู่สอง เรื่อง คือ โรงเรียนผู้นำของเกาหลี และการค้าปลีก ของเกาหลี ได้นำมาเผยแพร่ ให้คนไทยได้ทราบ ทางโทรทัศน์ช่อง ๓ ในช่วงเช้า ของวันที่ ๗ และวันที่ ๘ มกราคม หลังจากกลับ ได้วันสองวัน

วันนั้นอากาศหนาวจัดมาก ผมเคยไปมา ๓๐ กว่าประเทศ ไม่เคยพบที่ใดหนาวขนาดนั้น ลบ ๒๓ องศาเซลเซียส ยกเก้าอี้ ไปตั้งกลางแจ้ง พูดคุยบนลานหิมะ ขณะกำลังถ่ายโทรทัศน์ คุณยุทธยง หัวเราะเสียงดังลั่น ถามไถ่ได้ความว่า เหลือบไปเห็น ผู้ถูกสัมภาษณ์ หนวดเป็นน้ำแข็ง

คณะโทรทัศน์ช่อง ๓ ตระเวนย่านธุรกิจ ถ่ายร้านรวงต่างๆ ๒ ข้างทาง ใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ หาห้างฝรั่งไม่เจอเลย มองไปร้านไหน เห็นแต่ตัวอักษร ภาษาเกาหลี ในถนน ก็มีแต่รถเกาหลี กี่คันๆ ก็ซ้ำกันอยู่ ๔ ยี่ห้อ คือ ฮุนได เกีย แดวู และแซมซุง

ถนนที่กำลังก่อสร้างรถขุด รถตัก รถไถ รถแทรกเตอร์มีแต่ของเกาหลี อะไรๆ ก็ "เกาหลีเพื่อเกาหลี" ชาตินิยมของเขา มันเข้มข้นจริงๆ เรานิยมชาตินิดๆ ดูหนังบางระจันบ้าง สุริโยไทบ้างแค่นั้นพอแล้ว

ใครจะเห็นเป็นอย่างไรก็ช่าง ทุกครั้งที่ผมบรรยายในโรงเรียนผู้นำ จะย้ำเสมอๆ ว่าเราต้องช่วยกัน ละ เลิกอบายมุข พัฒนาตนเอง ที่ดีอยู่แล้ว ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งความสะอาดกายใจ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ เสียสละ กตัญญู ทำตามแนว พระราชดำรัส เศรษฐกิจพอเพียง ช่วยกันทำชุมชน ให้เข้มแข็ง และนิยมไทยอย่างจริงจัง

พลเอก ดร.จารุภัทร เรืองสุวรรณ ซึ่งเคยทำงานร่วมกับผม สมัยที่ผมเป็นเลขาธิการ ของท่านประธานองคมนตรี เปรม เล่าให้ฟังว่า คุณหมอ ประเวศ วะสี ครูท่านหนึ่ง ของโรงเรียนผู้นำ ไปบรรยายที่ สถาบันวิชาทหารชั้นสูง กล่าวว่า "โรงเรียนผู้นำ คือโรงเรียน ลดความเห็นแก่ตัว"

คราวที่แล้วท่านไปสอนที่โรงเรียนผู้นำตามปรกติ พูดกับนักเรียน (อายุ ๒๕ ถึง ๕๕ ปี) ว่า "โรงเรียนผู้นำ เป็นกระบวนการ ปฏิวัติเงียบ ในประเทศไทย" ผมจึงแนะ ดร.อนุสรณ์ว่า หนังสือที่จะเขียนขายนั้นใช้ชื่อ ตามคำของ คุณหมอประเวศ คงจะดี

"โรงเรียนผู้นำกับการปฏิวัติเงียบในประเทศไทย"

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙)