บ้านป่า นาดอย
โดย จำลอง
เมืองกาญจน์ฝนปีนี้ทำท่าจะน้อยกว่าปีก่อนๆ
ถึงวันเข้าพรรษาแล้วฝนยังตกอย่างเสียไม่ได้ ตกปรอยๆ ตกวันหนึ่งเว้นไปหลายวัน
พืชพันธุ์ไม้บนเขาและในพื้นราบจะเขียวชะอุ่มเพราะฝนปรอย
ก็ไม่ทำให้ คลายวิตกได้ เพราะน้ำกี่บ่อๆก็เริ่มจะแห้งขอดด้วยกันทั้งนั้นเพราะขาดฝนหนัก
การฝึกอบรมเกษตรกร พักชำระหนี้ ที่โรงเรียนผู้นำอาจได้รับผลกระทบ
น้ำที่ไม่ขาดคือน้ำใจ ทั้งครูผู้สอนและเกษตรกรต่างก็มีพร้อม
แสดงให้เห็นชัด ตอนที่คณะครูไปเยี่ยม หลังจบการฝึกอบรมแต่ละรุ่น เกษตรกรดีอกดีใจ
ผลิตอะไรไว้ก็ขนมาอวด ขนมาให้ เห็นใจที่เดินทางไกล จากโรงเรียนผู้นำ
ไปเยี่ยมกว่าร้อยกิโลเมตรก็มี ระยะทางเท่าๆ หรือมากกว่าจากกาญจน์ไปกรุง
ตัวอย่างหนึ่งในหลายๆตัวอย่างที่คณะครูภูมิใจ เกษตรกรคนหนึ่งเป็นหนี้ธนาคารธกส.สามหมื่นกว่าบาท
มั่นใจว่าภายใน ๗เดือนใช้หนี้หมดแน่ เพราะเดิมดื่มเหล้าจัดและเล่นหวยไม่ต่ำกว่างวดละ
๑,๐๐๐ บาท กลับจากโรงเรียนผู้นำก็เลิกก็งดทันที เป็นเรื่องยืนยันว่า
ถ้าบ้านเมืองเรามีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อย่างทั่วถึงและติดต่อกันมายาวนาน
คงไม่ลำบากอย่างนี้
ต้นเดือนกรกฎาคม ผมเดินทางจากเมืองกาญจน์ไปออกโทรทัศน์ที่กรุงเทพฯ
แล้วบึ่งกลับเพื่อแจกวุฒิบัตร เกษตรกรที่จบการฝึกอบรม พอเสร็จก็รีบเดินทางไปร่วมงานวันเกิดพี่สุวัฒน์
วรดิลก ที่ศรีราชาทันที
งานจัดที่โรงแรมศรีราชาลอดจ์ริมทะเลเช่นเดียวกับเมื่อ ๒ ปีก่อน แขกที่ไปในงานส่วนใหญ่เป็นศิลปิน
คนนอกวงการอย่างผมมีน้อย เมื่อได้รับเชิญให้ขึ้นเวทีพูดเนื่องในวันเกิดพี่สุวัฒน์
ผมถือโอกาสเพิ่มเติม ด้วยการเชิญศิลปินไปช่วยงานคอนเสิร์ต
ธารน้ำใจสู่วัชราภรณ์ ที่สันติอโศก ปรากฏว่าได้ผลทั้งคุณธานินทร์
อินทรเทพ คุณลินจง บุญนากรินทร์, คุณอ้อยใจ วลัยพรรณ และคุณวินัย พันธุรักษ์ยืนยันไปแน่
คุณวิสา คัญทัพ ซึ่งเป็นทั้งนักร้อง นักดนตรีและนักกวี ก่อนจะบรรเลงเพลง
ก็เล่าถึงความหลัง ครั้งหนึ่ง เคยสมัครส.ส.พรรคพลังธรรมที่ผมเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว
เกือบได้ ผมยังจำภาพได้ วันนั้นตอนใกล้เที่ยง ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด
มีคนยืนฟังการปราศัยมาก ขณะที่คุณวิสากับผมกำลังพูดหาเสียงบนเวที ก็มีผู้ชายคนหนึ่งยกมือขึ้น
แล้วร้องตะโกนเสนอความเห็น "คะแนนเขาซื้อหมดแล้วครับ"
หวังดีกลัวว่าเราจะเหนื่อยเปล่า เหมือนกับจะเตือนว่าอย่ามัวเสียเวลาอยู่เลย
ตรงจุดนั้นเจ้าบุญทุ่ม กวาดซื้อเสียง หมดแล้ว ให้รีบไปหาเสียงเอาข้างหน้าเถิด
เล่นกีตาร์ ร้องเพลงเสร็จ
คุณวิสาก็ไปนั่งข้างๆ ผม พร้อมกับกระซิบให้เผยแพร่ เพลงของพ่อท่าน
สมณะโพธิรักษ์มากๆ เป็นเพลงเพราะจริงๆ
ผมบอกว่า สู้เพลงในค่ายเทปไม่ได้ คุณวิสาแย้งว่า เผยแพร่โดยไม่ต้อง
เข้าค่ายก็ได้ หาเวทีเปิดเพลงไปเรื่อยๆ
เมื่อต้นเดือนมิถุนายน
ผมคุยกับคุณวิชาญ จิระเวชบวรกิจ ซึ่งเคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง จัดคอนเสิร์ต
ช่วยคุณวัชราภรณ์ เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว จึงทราบว่า ๓ ปีที่ผ่านไป คุณวัชราภรณ์เกือบเสียชีวิต
เพราะโรคไตถึง ๓ หน เห็นมีความจำเป็น ต้องจัดอีกสักครั้ง คราวนี้คงรักษาให้หายขาดได้แน่
|
|
พอข่าวคอนเสิร์ต "ธารน้ำใจสู่วัชราภรณ"
แพร่สะพัดออกไป หลายๆ คนก็ยื่นมือเข้ามาช่วย คุณสมิธ นักธุรกิจ
ที่ผ่านโรงเรียนผู้นำ รุ่นหลังสุด ขนนาฬิกาข้อมือ ให้ไปขายสมทบทุน
ผมรีบไปถามร้านนาฬิกา ใหญ่มาก แห่งหนึ่ง ได้รับคำตอบว่า นาฬิกาที่ถูกที่สุดในร้าน
๒๘๐ บาท ผมเลยขายเรือนละ ๒๕๐ บาท ถูกกว่าถูกที่สุด ภายในสองสามชั่วโมง
ก็ขายได้หมด
ดนตรีเริ่มเก้าโมงเช้าไปเลิกเอาประมาณหนึ่งทุ่ม เป็นเวลา ๑๐ ชั่วโมงเต็มๆ
ใครๆ ก็เข้าชมเข้าฟังได้ โดยไม่เก็บ บัตรผ่านประตู รับประทานอาหารมังสวิรัติอร่อยๆ
ฟรีตลอดวัน ไม่ว่าจะช่วยบริจาคเงิน หรือไม่ คอนเสิร์ตอย่างนี้ หาที่ไหนไม่ได้
นักร้องที่มีชื่อต่างทยอยไปช่วยกันไม่ขาดสาย บางคนต้องรอถึง สามสี่ชั่วโมง
กว่าจะได้ร้อง คนฟังที่นั่ง อยู่บนพื้นทราย หรือโขดหิน ที่มีเก้าอี้แซม
ไม่มีใครลุกหนีไปเลย ไปห้องน้ำ ก็ต้องรีบกลับ กลัวถูกแย่งที่
นอกจากศิลปินรางวัลแผ่นเสียงทองคำรุ่นเก่าๆ แล้ว นักร้องสาวๆ คราวหลาน
๕ คนจากค่ายแกรมมี่ ก็ไปช่วยเสริม ให้ครึกครื้นยิ่งขึ้น หนูคนหนึ่ง
เคยไปช่วย สมัยที่คุณศิริลักษณ์ เป็นประธาน จัดงาน คอนเสิร์ตเชยๆ
ที่ศูนย์วัฒนธรรม เมื่อหลายปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้น ยังเล็กอยู่ ถ้าเจ้าตัวไม่รื้อฟื้นให้ฟัง
คงจำไม่ได้
หลังการจัดงาน ๓ วัน มีพิธีเงียบๆ มอบเงินให้ คุณวัชราภรณ์ โดยมี คุณทิพวรรณ
ปิ่นภิบาล คุณประเสริฐศรี จันทร์อาภรณ์ คุณวิชาญ จิระเวชบวรกิจ และคุณ
อ้วน อรชร จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เป็นสักขีพยาน
เป็นเงินทั้งสิ้น ๘๖๗,๐๐๐ บาท มากเกินกว่าที่หลายคนคาด รวมทั้งตัวผมด้วย
ขอขอบคุณสมาชิก "เราคิดอะไร" ที่ไปช่วยบริจาค
และบางคนยังไปต่องาน ที่ศาลาเฉลิมกรุงวันรุ่งขึ้น ซึ่งสมาคม นักร้องแห่งประเทศไทย
จัดคอนเสิร์ต ช่วยคุณวัชราภรณ์ เช่นกัน ได้เงินห้าแสนบาทเศษ
กลางเดือนกรกฎาคม
ผมต้องเข้ากรุงบ่อย เพราะสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์
ขอสัมภาษณ์ ติดต่อกันเจ็ดแปดวัน เมื่อสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศว่า
ท่านนายกฯ ให้ผมเป็นที่ปรึกษา ด้านพัฒนาการ ทรัพยากรมนุษย์
สงสัยกันมาก สงสัยหลายเรื่อง
วิเคราะห์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา ซึ่งก็น่าเห็นใจ เพราะล้วนแล้วแต่
มีประเด็น ชวนให้คิดอย่างนั้น อย่างนี้ได้ทั้งสิ้น
เรื่องเวลา ก็ถามกันว่าทำไมท่านนายกฯ มาตั้งเอาตอนตอนนี้ ทำไมไม่ตั้งเมื่อเป็นนายกใหม่ๆ
ผมตอบว่า ไม่รู้ใจนายกฯ (ถ้าจะให้ดี ควรถามนายกฯ เอง) แต่ยืนยันได้ว่า
ผมไม่ได้เสนอตัวเอง สื่อมวลชนวิเคราะห์ต่อ ต้องเป็นเพราะนายกฯ กำลังเพลี่ยงพล้ำ
แน่เลย ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์ภาคใต้ ความขัดแย้งกับทหาร (ที่ลือกัน)
ความไม่ลงรอย กับวุฒิสภา จึงให้ผมไปช่วย
สื่อมวลชนบางรายสงสัยเรื่องตำแหน่ง เพราะยังไม่เคยมีตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้าน
พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถามผมว่า ท่านนายกฯ เคยคุยกับผมเรื่องทำนองนี้ไหม
ผมชี้แจงว่า เมื่อสามสี่เดือนก่อน พบนายกฯ ที่ทำเนียบ ท่านเอ่ยขึ้นสั้นๆ
ว่า ได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่บางท่าน ให้จับเรื่องคน
ควบคู่ไปด้วย พูดเสร็จ ต่างก็แยกย้ายกันไป ไม่มีโอกาส คุยรายละเอียด
ข้อสงสัยประการต่อไปก็คือ คงจะให้ตำแหน่งทดแทน ที่ผมเคยเชิญ ดร.ทักษิณ
เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ตอนนั้นกระมัง ผมอธิบายว่า ไม่ใช่แน่นอน เพราะตำแหน่งที่ปรึกษา
ที่ให้ผมเป็นนั้น ไม่ได้ใหญ่โตอะไร สั่งงานใครไม่ได้ ไม่มีอำนาจ ไม่มีงบประมาณ
ไม่มีแม้กระทั่งเงินเดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมพอใจ ในความ
ไม่มี ไม่มี ไม่มี
บางคนยังไม่วางใจอยู่ดี ปักใจว่ายังไงๆ ก็เป็นการสมนาคุณ ผมแสดงเหตุผลเพิ่มเติม
ถ้าอย่างนั้น ก็คงแต่งตั้งผม สมัยตั้งรัฐบาลใหม่ๆ แล้ว ซึ่งถ้ารัฐบาลอยู่ครบวาระ
ผมสามารถเป็นที่ปรึกษาถึง ๔ ปีเต็มๆ ไม่ใช่เหลืออีก สองปีกว่า อย่างตอนนี้
ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับท่านประธานวุฒิสภา พลตรีมนูญกฤต ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง
ซึ่งเชื่อกันว่า ทำให้ท่านนายกฯ ขอให้ผมไปช่วยเป็นที่ปรึกษา เพื่อจะได้อาศัย
ให้เป็นตัวเชื่อม ผมยืนยันว่า ท่านนายกฯ ทำได้เองอยู่แล้ว คนที่ผ่านโรงเรียนเตรียมทหาร
โรงเรียนนายร้อย มีความสนิทนับถือกัน ในฐานะรุ่นน้อง รุ่นพี่ จะพูดจะคุย
ด้วยความสนิทใจ ได้ทุกเวลา
ผมไม่มีเวลาเล่าให้สื่อมวลชนฟังว่า ผมกับท่านประธานวุฒิสภา เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่น
๗ ก็จริง แต่ ๗ คนละรุ่น เรียนมาด้วยกัน แต่ท่านจบก่อนผม ท่านรุ่น
๗ แต่ผม ๗/๒
พลตรีมนูญกฤต จบรุ่น ๗ เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๓ เพื่อนผมอีก ๓ คนจบรุ่น
๗/๑ เมื่อ ๒๕ กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน ส่วนผมกับเพื่อนอีก ๖ คน เป็นรุ่น
๗/๒ จบเมื่อ ๒๕ เมษายน ๒๕๐๓ รุ่น ๗/๑ กับ ๗/๒ ถูกลงโทษ หนักเบาต่างกัน
ตามบทบาท ที่ขัดคำสั่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์)
ระหว่าง ประกาศ กฎอัยการศึก เมื่อครั้งที่เราเป็นนักเรียนนายร้อย ปีสุดท้าย
ลือกันหนาหูว่า
ตำแหน่งที่ปรึกษา ที่ผมเป็นอยู่นี้ คือบันไดขั้นแรก ขั้นต่อไป ผมต้องไปเป็น
รัฐมนตรี มหาดไทย แทน ดร. ปุระชัย แน่เลย แล้ว ดร.ปุระชัย จะย้ายไปเป็น
รัฐมนตรีศึกษา (แต่ไม่ได้พยากรณ์ว่า คุณสุวิทย์ รัฐมนตรีศึกษา จะย้ายไปไหน)
ผมไม่มีเวลาเล่า ตอนให้สัมภาษณ์ เพราะแต่ละรายการ แม้จะจัดเวลา ให้มากอยู่แล้ว
ก็ยังมากไม่พออยู่ดี ถ้ามีเวลา ผมจะเล่าให้สื่อมวลชนฟังว่า ดร.ปุระชัย
ท่านดีใจแทนผม ที่ผมไม่เป็นอะไรเลย แม้ตอนที่มีการสมัคร เข้ารับเลือกตั้งเป็น
สว. ท่านก็เห็นด้วยกับผมว่า ไม่ควร ผมควรทำ อย่างที่ผมทำอยู่นี้ดีแล้ว
ท่านเองคงติดตามทราบว่า ผมลุยในวงการเมืองมา ๑๐ ปี เต็มๆ ซึ่งควรจะพอแล้ว
สำหรับนักการเมืองเสียสละ ที่ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ
แม้ผมจะไม่เคยกล่าวที่ไหนเลย ว่าผมเลิกแล้ว
ผมจะไม่เป็นนักการเมืองอีก ผมก็ยังไม่เห็นว่า
มีความจำเป็นอะไร ที่ผมต้องเป็นรัฐมนตรี
หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์บางฉบับ ช่วยนำเรื่องผมไปพิมพ์เต็มหน้า หน้าแรก
และ หน้าที่สองเต็มๆ พร้อมกับ ช่วยประชาสัมพันธ์ โรงเรียนผู้นำให้ด้วย
ซึ่งผมและชาวคณะโรงเรียนผู้นำ ขอขอบคุณอย่างยิ่ง (อยู่มา ๑๕ ปี เพิ่งจะเริ่มมีคนรู้จัก
ตอนนี้เอง)
ต้องขอขอบคุณท่านนายกฯในฐานะเป็นครูคนหนึ่งของโรงเรียนผู้นำ
ที่กรุณาช่วยบอกให้สาธารณชนทราบ ตอนกลับจากต่างประเทศ คราวที่แล้ว
ว่าเหตุผลหนึ่ง ที่ให้ผมเป็นที่ปรึกษา ด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะผมทำอยู่แล้วส่วนหนึ่ง
ด้วยการตั้งโรงเรียนผู้นำ
นักหนังสือพิมพ์ท่านหนึ่ง ถือบทความที่เขียนถึงผม ในกรณีรับตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ
ไปให้ผมด้วยตัวเอง ที่บ้านสวนไผ่สุขภาพ เป็นหนังสือที่ใหม่ ยังไม่มีใครอ่านมาก
สรุปได้ว่า ผมคิดอย่างหนึ่ง คนอีกหลายคน ก็คิดไปอีกอย่างหนึ่ง ไม่ตรงกับผม
"...คนเราโดยทั่วไป จะเอาความคิดของเราไปวาดวัด คนที่มีแนวคิดของตนเอง
อย่างเข้มงวด อย่าง พลตรีจำลอง ศรีเมือง นั้นคงไม่ได้"
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๔๕ สิงหาคม ๒๕๔๕)
|